Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 มาตรา 68 จาก“ขอบเขตการใช้สิทธิ”สู่“สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

1. สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ: เอกลักษณ์รัฐธรรมนูญไทย ไม่มีที่ใดในโลก?

หนึ่งในคำที่ได้ยินกันมากตลอดรอบสามสี่ปีแห่งห้วงความขัดแย้งทางการเมืองล่าสุด คือ คำว่า “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ”  โดยคำดังกล่าวเพิ่งถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในฐานะบทบัญญัติที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในมาตราใดมาตราหนึ่งแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงชื่อหมวดที่ 13 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบไปด้วยบทบัญญัติมาตรา 68 เกี่ยวกับการห้ามบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบรัฐธรรมนูญ และมาตรา 69 ที่เป็นเรื่องสิทธิต่อต้านขัดขืนผู้ปกครองที่ได้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบัญญัติมาตรา 68 (หรือมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญ 40) ถูกอธิบายว่าเป็นการให้ประชาชนมี “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เนื่องจากเขียนไว้ให้ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการใช้สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองโดยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนผู้ทราบ (หรือรู้เห็นตามรัฐธรรมนูญ 40) “มีสิทธิ” เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เลิกการกระทำที่เป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองโดยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญนั้น

ถ้อยคำที่ให้ประชาชนผู้ทราบเรื่อง “มีสิทธิ” ในที่นี้เองที่ถูกอธิบายว่า มาตรา 68 จึงเป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิของประชาชน และเมื่ออ่านรวมไปกับชื่อหมวดที่มาตรา 68 บัญญัติไว้ จึงเกิดความเข้าใจว่ามาตรา 68 นี้คือ “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

หากพิจารณาอย่างผิวเผิน ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดี(?)และเป็นเรื่องปกติ(?)ของมาตรฐานรัฐธรรมนูญนิติรัฐประชาธิปไตยที่จะรับรอง “สิทธิ” ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง เมื่อพยายามค้นหาบทบัญญัติเกี่ยวกับ “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ในรัฐธรรมนูญต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลองค้นหาด้วยคำว่า “Rights to Protect the Constitution” ตามที่ปรากฏในเอกสารแปลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่จัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กลับพบแต่ข้อมูลเกี่ยวกับข่าวและเหตุการณ์สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยเท่านั้น ข้อมูลเกี่ยวกับ “Rights to Protect the Constitution” ไม่ว่าจะในทางทฤษฎีหรือที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญต่างประเทศกลับไม่ได้มีอยู่ทั่วไปอย่างที่คิดไว้แต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเหตุให้ผู้เขียนต้องมาครุ่นคิดว่า แท้จริงแล้วแนวความคิดว่าด้วย “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” นั้นสอดคล้องกับระบอบรัฐธรรมนูญนิติรัฐประชาธิปไตยหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ที่บัญญัติหลักการในลักษณะ “ประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้” (Militant Democracy, Streitbare Demokratie) หรือว่าความคิดว่าด้วย “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” นั้นเป็นเพียง “สิ่งแปลกปลอม” ในคำอธิบายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นเอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของระบอบรัฐธรรมนูญ “แบบไทยๆ”

แนวความคิดว่าด้วย “ประชาธิปไตยที่ปกป้องตัวเองได้” ถูกพัฒนาขึ้นโดย Karl Loewenstein ซึ่งเป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญชาวเยอรมันที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองจากระบอบนาซีไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้จากการเฝ้ามองปรากฏการณ์ซึ่งลัทธิฟาสซิสต์ได้ขยายตัวขึ้นอย่างแพร่หลาย และได้อาศัยกลไกเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยเองเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุดังกล่าวระบอบประชาธิปไตยจึงจำเป็นที่จะต้อง “ติดอาวุธ” หรือเป็น “ระบอบประชาธิปไตยที่ปกป้องตัวเองได้” โดยต้องสร้างกลไกต่าง ๆ ที่จะเป็นไปเพื่อธำรงไว้ซึ่งคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่  และป้องกันระบอบประชาธิปไตยไม่ให้ถูกทำลายจากศัตรูของระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ “ประชาธิปไตยที่ฆ่าตัวเองได้” ขึ้นอีก

รัฐธรรมนูญและระบอบกฎหมายจึงบัญญัติกลไกเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้ ไม่ว่าจะเป็นจากการอาศัย “อำนาจหน้าที่” ตามรัฐธรรมนูญโดยองค์กรของรัฐมาทำลายรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อพิทักษ์ “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” โดยให้มีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย รวมไปถึงอำนาจในการพิจารณาคดีร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญของประชาชน การให้มีกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีหรือผู้พิพากษาที่ละเมิดหลักการพื้นฐานแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นต้น หรือจากการใช้ “สิทธิเสรีภาพ” ของประชาชนที่มีเป้าหมายเพื่อล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจประกาศการสูญไปซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน (กรณีกฎหมายพื้นฐานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มาตรา 18) การห้ามการสมาคมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ การห้ามการดำเนินกิจการพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ เป็นต้น นอกจากนี้ “ตัวบุคคล” ผู้ดำเนินการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ย่อมนำไปสู่กระบวนการพิจารณาความรับผิดทางกฎหมายอาญาที่บัญญัติเอาไว้เกี่ยวกับการคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ

เมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นได้ว่าการจัดโครงสร้างรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายให้สามารถ “พิทักษ์” ตนเองได้ เป็นหลักการที่สำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญ การรับรองให้การ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เป็นเรื่องของ “สิทธิเสรีภาพ” ของประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นของรัฐธรรมนูญที่รับรองหลัก “ประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้” และยังไม่สมเหตุสมผลอย่างมากที่เรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครอง จะถูกฝากไว้บน “สิทธิเสรีภาพ” ของปัจเจกบุคคล โดยที่บุคคลดังกล่าวนั้นจะใช้หรือไม่ก็ได้

หากเป็นเช่นนี้แล้วความคิดว่าด้วย “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ในระบอบรัฐธรรมนูญไทยมาจากไหน?

เมื่อพิจารณาในเชิงกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบแล้ว กลับสามารถค้นหา “รากเหง้า” ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 69 ได้ แต่กลับกลายเป็นว่าคำอธิบายเรื่องดังกล่าวต่างกับคำอธิบายเรื่อง “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ในระบอบรัฐธรรมนูญไทยราวกับเป็นคนละเรื่อง

ความคิดเกี่ยวกับ “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” นี้จะควรถือว่าเป็น “นวัตกรรมของระบอบรัฐธรรมนูญแบบไทยๆ” ที่ควรภาคภูมิใจ? หรือแท้จริงแล้ว เป็นเพียงการรับเอากฎหมายของประเทศอื่นเข้ามาอย่างเข้าใจผิด?

 

2. มาตรา 18 กฎหมายพื้นฐานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี : ต้นแบบของมาตรา 68?

 แนวความคิดเกี่ยวกับการจัดวางโครงสร้างรัฐธรรมนูญให้ “พิทักษ์” ตนเองได้นั้น มีแม่แบบที่สำคัญมาจากการจัดโครงสร้างของระบบรัฐธรรมนูญตามกฎหมายพื้นฐานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งมีประสบการณ์อันเลวร้ายจากรัฐธรรมนูญในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ที่ระบอบนาซีได้เถลิงอำนาจโดยอาศัยกลไกตามรัฐธรรมนูญและตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อทำลาย “สาระสำคัญ” และ “แก่น” ของรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย จึงทำให้สามารถสถาปนาระบอบเผด็จการได้ด้วยกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการพัฒนาแนวความคิดว่าด้วย “ประชาธิปไตยที่ปกป้องตัวเองได้” (Militant Democracy, Streitbare Demokratie) เพื่อ “ติดอาวุธ” ให้กับระบอบรัฐธรรมนูญนิติรัฐประชาธิปไตย เพื่อป้องกันมิให้มีการอาศัยกลไกสิทธิเสรีภาพหรือกระบวนการการใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยเองเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตย

หนึ่งในกลไกที่ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้แนวความคิดประชาธิปไตยที่ปกป้องตัวเองได้ ก็คือ กลไก “การประกาศการสูญไปซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน” กรณีที่มีการใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางที่ผิด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งกฎหมายพื้นฐาน

มาตรา 18 กฎหมายพื้นฐานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี บัญญัติไว้ว่า

“ผู้ใดใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพสื่อมวลชน (Art. 5 I) เสรีภาพในการสอน (Art. 5 III) เสรีภาพในการชุมนุม (Art. 8) เสรีภาพในการสมาคม (Art. 9) สิทธิความเป็นส่วนตัวในการติดต่อทางจดหมาย ไปรษณีย์ และโทรคมนาคม (Art. 10) สิทธิในทรัพย์สิน (Art. 14) หรือสิทธิในการลี้ภัยทางการเมือง (Art. 16 a) ไปในทางที่ผิดเพื่อต่อสู้กับระเบียบพื้นฐานทางเสรีประชาธิปไตย ย่อมต้องสูญไปซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ ทั้งนี้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐประกาศการสูญไปและขอบเขตการสูญไปซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน”

มาตรา 18 นี้ไม่ได้เป็นบทบัญญัติที่ก่อตั้งหรือประกันสิทธิเสรีภาพ โดยแนวความคิดเบื้องหลังนั้นเป็นเรื่อง “การห้ามใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางที่ผิด” ซึ่งมีรากเหง้ามาตั้งแต่ในคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 ที่จัดทำขึ้นสมัยภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส นอกจากที่ปรากฏในมาตรา 18 แห่งกฎหมายพื้นฐานแล้ว แนวความคิดดังกล่าวยังปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) รวมถึงในระดับกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป และกฎบัตรว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของสหภาพยุโรป

สิ่งที่แตกต่างไปจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญประเทศอื่น ๆ หรือในเอกสารกฎหมายระหว่างประเทศที่ยกมาข้างต้นก็คือ ในขณะที่บทบัญญัติอื่น ๆ เป็นเพียง “มาตร” วัดการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นมาแล้วเท่านั้น ไม่ได้มีมาตรการทางรัฐธรรมนูญอื่นใดเป็นผลที่ตามมาอีก มาตรา 18 แห่งกฎหมายพื้นฐานนั้นได้กำหนด “มาตรการที่มีผลไปข้างหน้า” สำหรับกรณีที่มีการใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางที่ผิด นั่นก็คือ โดยผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ผู้ใดใช้สิทธิเสรีภาพตามที่มาตรา 18 แห่งกฎหมายพื้นฐานบัญญัติไว้ “ไปในทางที่ผิดเพื่อต่อสู้กับระเบียบพื้นฐานทางเสรีประชาธิปไตย” ผู้นั้นจะ “สูญไปซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน” ซึ่งหมายความว่า ผู้นั้นไม่สามารถยกสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ในกรณีปกติขึ้นต่อสู้กับรัฐได้ เช่น บุคคลนั้นอาจถูกห้ามเข้าร่วมการชุมนุมใด ๆ ทั้งสิ้น โดยไม่สามารถยกเสรีภาพในการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ขึ้นกล่าวอ้างได้

ทั้งนี้ ผู้มีอำนาจเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีการประกาศการสูญไปซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน คือ สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ รัฐบาลแห่งสหพันธ์ หรือรัฐบาลแห่งมลรัฐ โดยบุคคลที่อาจถูกร้องให้ประกาศการสูญไปซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็คือ บุคคลผู้ทรงสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ตามที่มาตรา 18 แห่งกฎหมายพื้นฐานกำหนด

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้นบทบัญญัติว่าด้วยการสูญไปซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานแทบจะไม่ปรากฏบทบาทความสำคัญทั้งในทางการเมือง ทางกฎหมาย และในทางความเป็นจริง นับแต่มีการประกาศใช้กฎหมายพื้นฐาน มีคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เพื่อให้ประกาศการสูญไปซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานเพียงแค่ 4 กรณีเท่านั้น และไม่มีกรณีใดที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ประกาศการสูญไปซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตามบทบัญญัติว่าด้วยการสูญไปซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานก็มีฐานะเป็นบทบัญญัติในกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งใช้บังคับอยู่ และยังคงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ โดยเป็นบทบัญญัติที่สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนว่าจะต้องใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีฐานะเป็นบทบัญญัติสำรองในกรณีที่มาตรการอื่น ๆ ในระบบกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้

หากอ่านบทบัญญัติมาตรา 18 แห่งกฎหมายพื้นฐาน ประกอบเทียบกับบทบัญญัติมาตรา 68 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ 50 (หรือมาตรา 63 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ 40) ที่บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้” จะเห็น “จุดร่วม” คือ เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ “การใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางที่ผิด” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อทำลายหรือโดยเป็นปฏิปักษ์กับระบอบการปกครองที่รัฐธรรมนูญสถาปนาขึ้นและประกันรับรองไว้

จึงกล่าวได้ว่า ต้นแบบของมาตรา 68 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 50 นั้น ก็คือ มาตรา 18 แห่งกฎหมายพื้นฐาน

ทั้งนี้หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย แนวความคิดเกี่ยวกับการห้ามใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางที่ผิดนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญ 40 แต่ย้อนกลับไปได้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2495 (คือ ค.ศ. 1952 หรือหลังการประกาศใช้กฎหมายพื้นฐาน 3 ปี) ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนี้ให้เป็นปรปักษ์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญมิได้” โดยหยุด แสงอุทัย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาอธิบายว่าเป็นบทบัญญัติที่จำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพโดยวางขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพเป็นการทั่วไป ในลักษณะเดียวกับมาตรา 18 แห่งกฎหมายพื้นฐาน

หากเป็นเช่นนี้แล้ว ทำไมเรื่อง “การห้ามใช้สิทธิเสรีภาพในทางที่ผิด” จึงกลายมาเป็น “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ไปเสียได้???

 

3.  “ความไม่สมเหตุสมผล” ของบทบัญญัติมาตรา 68 รัฐธรรมนูญ 50 : อ่านผิด เขียนผิด หรือลอกผิด?

ปัญหาเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องถกเถียงในมุมจำกัดเฉพาะวรรคที่ 2 เรื่องการเสนอประเด็นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า “ผู้ทราบการกระทำ (ว่ามีการ “ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”)” เป็นเพียง “ผู้มีสิทธิเริ่มคดี” (โดยมีอัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ) หรือเป็น “ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง” ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เองโดยตรง รวมไปถึงการพยายามขยายความหมายของมาตรา 68 วรรค 1 เกี่ยวกับ “กรณีการใช้สิทธิเสรีภาพ” ว่ารวมไปถึงการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐ หรือกล่าวโดยเฉพาะก็คือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย (ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับทั้งสองประเด็นนี้ได้มีการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์เป็นการทั่วไปแล้ว)

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในภาพรวมของระบบรัฐธรรมนูญทั้งระบบ บทบัญญัติมาตรา 68 มีปัญหาในตัวเองมากไปกว่าที่ถูกจำกัดวงให้ถกเถียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง (1) ความหมายแท้จริง(ที่หายไป)ของมาตรา 68 วรรค 1, (2) ความมีผลบังคับได้จริงของสภาพบังคับที่มาตรา 68 ได้กำหนดเอาไว้ และ (3) ปัญหาเชิงโครงสร้างระบบรัฐธรรมนูญจากการก่อสร้าง “มายาคติ” ว่าสิทธิยื่นคำร้องตามวรรค 2 นั้นเรียกว่า “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

 

 (1) ความหมายแท้จริง (ที่หายไป) ของมาตรา 68 วรรค 1

มาตรา 68 วรรค 1 บัญญัติไว้ว่า

“บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้” และวรรค 2 บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ ดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว”

ที่ผ่านมามาตรา 68 วรรค 1 ถูกอ่านและถูกตีความให้อยู่ในฐานะเพียง “องค์ประกอบ” ของ “สิทธิเสนอเรื่อง” ตามวรรค 2 จนอาจกล่าวได้ว่าความหมายในตัวเองของบทบัญญัติมาตรา 68 วรรค 1 นั้นแทบจะถูกละเลยและไม่มีการพูดถึง

หากสาระสำคัญของมาตรา 68 คือเรื่อง “สิทธิเสนอเรื่อง” เหตุใดผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่บัญญัติเอาไว้โดยตรงว่า

ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” แล้วจึงรับรองต่อไปว่า “ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่อง...”

เมื่อมาตรา 68 ถูกออกแบบโครงสร้างไว้ดังที่เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 50 จึงไม่สามารถเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปได้ว่า มาตรา 68 วรรค 1 นั้นมีคุณค่าที่สมบูรณ์อยู่ในตัวเอง โดยที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่องค์ประกอบของ “สิทธิเสนอเรื่อง” ตามวรรค 2

คุณค่าที่สมบูรณ์ในตัวเอง หรือความหมายที่แท้จริงนั้นย่อมชัดแจ้งอยู่แล้วเมื่ออ่านถ้อยคำทั้งหมดของมาตรา 68 วรรค 1 นั่นก็คือ เป็นข้อจำกัดในการใช้สิทธิเสรีภาพ กล่าวคือ ในขณะที่รัฐธรรมนูญรับรอง, ประกัน และก่อตั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อไม่ให้ประชาชนอาศัยสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองให้นั้น มาเป็น “หอก” หรือ “อาวุธ” กลับมาทำลายระบอบรัฐธรรมนูญเสียเอง จึงต้องกำหนด “ขอบเขต” การใช้สิทธิเสรีภาพเอาไว้เพื่อ “ปกป้องตนเอง”

เมื่อเป็นเช่นนี้ มาตรา 68 วรรค 1 จึงมีหลักการและสารัตถะที่ไม่ได้แตกต่างไปจากบทบัญญัติมาตรา 28 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติเกี่ยวกับขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพเอาไว้ว่า “บุคคลย่อม...ใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”

มาตรา 28 วรรค 1 และมาตรา 68 วรรค 1 จึงมี “ผลทางกฎหมาย” ในเบื้องต้นที่เหมือนกันนั่นก็คือ หากปรากฏว่ามีกรณีการกระทำใด ๆ ก็ตามที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพประการใดประการหนึ่งที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ การกระทำนั้น ๆ ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ และรัฐย่อมดำเนินมาตรการที่เป็นการ “จำกัด” หรือ “ยกเลิก” การกระทำนั้น ๆ ต่อไปได้ภายใต้อำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้ตามหลักความชอบด้วยกฎหมาย

ผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่ากรณีการกระทำที่อ้างว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นอยู่ในขอบเขตที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้หรือไม่ ในเบื้องต้นคืออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกองค์กรที่มีภารกิจรับผิดชอบกับการกระทำนั้น ๆ ตามกฎหมายในแต่ละกรณี ว่าการกระทำใดการกระทำหนึ่งนั้นอยู่ภายใต้ขอบเขตสิทธิเสรีภาพ หรือเป็นการออกนอกกรอบที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยที่การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นอยู่ภายใต้การตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งโดยองค์กรตุลาการว่าเป็นการใช้อำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่

สิ่งที่มาตรา 68 วรรค 1 แตกต่างไปจากมาตรา 28 วรรค 1 ก็คือ หากเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ “ล้ำเส้น” ขอบเขตอันเป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ได้กำหนด “กระบวนการ” หรือ “มาตรการ” ทางกฎหมายที่ตามมาเอาไว้โดยเฉพาะ นั่นก็คือกระบวนการในชั้นของศาลรัฐธรรมนูญตามที่กำหนดในวรรค 2, 3 และ 4 ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการวินิจฉัยสั่งให้ “เลิกกระทำการ” ดังกล่าวนั้น รวมไปถึงผลที่อาจตามมากรณีเป็นการกระทำของพรรคการเมือง

เมื่ออ่านทำความเข้าใจ “สถานะ” ของมาตรา 68 ภายใต้ “โครงสร้าง” ของสิทธิเสรีภาพแล้ว “สิทธิเสนอเรื่อง” ตามวรรค 2 จึงเป็นเพียงกระบวนการเกี่ยวเนื่อง (ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้) เมื่อมีการกระทำเกินขอบเขตตามวรรค 1

มาตรา 68 วรรค 1 จึงเป็น “สาระสำคัญ” ทั้งในโครงสร้างมาตรา 68 เองและภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญที่กำหนดขอบเขตกรอบการอ้างสิทธิเสรีภาพทุกประการในรัฐธรรมนูญ

ไม่ใช่อ่านกลับหัวแล้วถูกลดคุณค่าลงจนกลายเป็นเพียงองค์ประกอบของ “สิทธิเสนอเรื่อง” ตามวรรค 2 เท่านั้น!!!

หลังจากได้พิจารณาความหมายและสารัตถะที่แท้จริงของมาตรา 68 วรรค 1 แล้ว เมื่อพิจารณาวรรคอื่น ๆ ที่ตามมาก็พบเห็นความ “ประหลาด” และ “ไม่สมเหตุสมผล” หลายประการในตัวเองอีกหลาย ๆ ประการของมาตรานี้

 (2) ความมีผลบังคับได้จริงของสภาพบังคับที่มาตรา 68 ได้กำหนดเอาไว้?

มาตรา 68 วรรค 2 กำหนดให้ในกรณีที่มีผู้ใช้ “สิทธิเสนอเรื่อง” ตามกระบวนการมายังศาลรัฐธรรมนูญกรณีปรากฏการกระทำที่เป็นการกล่าวอ้างว่าใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ (กรณีตามวรรค 1) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้ “เลิก” การกระทำดังกล่าว

มาตรา 68 วรรค 2 บัญญัติว่า “ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

เมื่ออ่านดูผ่าน ๆ ก็เหมือนจะดูดี ตรรกะง่าย ๆ คือ มีการกระทำอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็สั่งให้เลิกการกระทำนั้น

คำถามคือ หากลองนึกถึงสถานการณ์สมมติ (ที่อาจเคยเกิดขึ้นจริง) แล้วพิจารณากับสภาพบังคับที่มาตรา 68 กำหนดคือ “สั่งให้เลิกการกระทำ” นั้น ดูเป็นผลบังคับในบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ดู “ตลก” และ “ประหลาด”

เช่น หากมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งอ้างว่ากระทำการโดยใช้เสรีภาพในการชุมนุม,เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, สิทธิในทรัพย์สินทำการ ปลุกระดม ตระเตรียมกำลังพล สะสมอาวุธ เพื่อนำไปสู่การ “ฉีกรัฐธรรมนูญ” หรือเรียกร้องให้ “ยกเลิกระบอบประชาธิปไตย” บุคคลซึ่งมีเป้าหมายที่แน่ชัดขนาดนี้มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องยุติความเคลื่อนไหวของตนเพียงเพราะศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิก (ทั้งที่บางครั้งความประสงค์ของพวกเขาอาจรวมไปถึงการล้มศาลรัฐธรรมนูญ) หรือหากมีคำวินิจฉัยสั่งให้ “เลิก” การกระทำแล้ว กลุ่มคนดังกล่าวไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่ได้มีสภาพบังคับอะไรกำหนดไว้แต่อย่างใด

คำวินิจฉัยสั่งให้ “เลิก” การกระทำ ไม่ได้มีผลบังคับโดยตรงใด ๆ ไปสู่การพิจารณาการใช้อำนาจบังคับตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายปกครอง หรือนำไปสู่กระบวนการพิจารณาความรับผิดทางอาญาต่อไป กล่าวคือ หากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะสั่งยุติหรือสลายการชุมนุมดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ ลำพังจะอ้างคำวินิจฉัยสั่งให้ “เลิก” ของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างเดียวนั้นย่อมไม่เพียงพอ หรือกรณีการวินิจฉัยคดีอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 – 118 นั้น ก็ต้องวินิจฉัยไปตามองค์ประกอบความผิดแต่ละฐานความผิดเป็นกรณีไป การวินิจฉัยให้ “เลิก” กระทำนั้น ไม่ได้มีสภาพบังคับหรือผลใด ๆ ให้บุคคลที่ถูกวินิจฉัยว่ากระทำการตามมาตรา 68 วรรค 1 จะต้องรับผิดทางอาญาโดยอัตโนมัติอย่างใดอย่างหนึ่งแต่อย่างใด

ผลทางกฎหมายประการเดียวที่อาจเกิดขึ้นของคำวินิจฉัยสั่งให้เลิกกระทำก็คือ เป็นการวินิจฉัยยืนยันกรณีตามมาตรา 68 วรรค 1 ว่าการกระทำนั้นเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลผู้กระทำการดังกล่าวไม่อาจยกอ้างสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ขึ้นยันกับเจ้าหน้าที่รัฐที่จะใช้มาตรการต่าง ๆ ตามกฎหมายมาบังคับใช้ได้ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ยังคงผูกพันอยู่กับหลักไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ และหลักความชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการจะดำเนินการใด ๆ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามจาก “สารัตถะ” ของมาตรา 68 วรรค 1 ในฐานะบทบัญญัติที่เป็นข้อจำกัดในการใช้สิทธิเสรีภาพนั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าอำนาจวินิจฉัยว่าการกระทำใดเป็นการล้มล้างการปกครองตามวรรค 1 หรือไม่ ไม่ใช่เป็นอำนาจผูกขาดในการวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต่อให้ไม่มีคำวินิจฉัยสั่งให้เลิกกระทำโดยศาลรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็สามารถดำเนินการไปโดยพิจารณามาตรา 68 วรรค 1 ด้วยตนเองได้

การวินิจฉัยสั่งให้เลิกกระทำการจึงแทบไม่มีความหมายใด ๆ เลยในทางกฎหมาย นอกจากนี้การที่วรรค 2 กำหนดเนื้อหาของคำร้องว่าเป็น “คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว” จึงมีผลต่อไปถึงเงื่อนไขการเสนอคำร้องว่า การกระทำที่จะเป็นวัตถุในการเสนอคำร้องนั้นต้องเป็นการกระทำที่ “กำลังเกิดขึ้นอยู่” ไม่ใช่การกระทำที่เสร็จสิ้นไปแล้ว หรือยังไม่เกิดขึ้น ที่ไม่มี “การกระทำใด” เป็นวัตถุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเลิกได้ ขณะเดียวกันกรณีการวินิจฉัยให้ “เลิก” กระทำก็มีผลเฉพาะแต่การกระทำใน “ครั้งนั้น” เท่านั้น ไม่มีผลไปถึงการกระทำ “ครั้งอื่น” ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าแต่อย่างใด (ถึงแม้จะเป็นการกระทำอย่างเดียวกันก็ตาม)

(3) ปัญหาเชิงโครงสร้างระบบรัฐธรรมนูญจากการก่อสร้าง “มายาคติ” ว่าสิทธิยื่นคำร้องตามวรรค 2 นั้นเรียกว่า “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

การทำให้ “สิทธิยื่นคำร้อง” ต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรค 2 กลายเป็นเรื่อง “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” นั้น ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างของระบบรัฐธรรมนูญ 2550 กลายเป็นเรื่องบิดเบี้ยวแปลกประหลาดไปอย่างน้อยสามประการ

ประการแรก เป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ใช่ “รัฐธรรมนูญที่ปกป้องตัวเองได้” (โดยหากเป็นเช่นนี้ถือเป็นปัญหาที่ผู้ออกแบบและร่างรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบ) การที่รัฐธรรมนูญฝาก “ความหวัง” ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้กับประชาชนโดยการให้ “สิทธิยื่นคำร้อง” ต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด เพราะหากไม่มีการเริ่มเสนอเรื่องยื่นคำร้องมาตามขั้นตอน ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจพิจารณาได้ เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพที่เป็นการล้มล้างการปกครองและทำลายระบบรัฐธรรมนูญได้ หากไม่มีผู้ใช้สิทธิยื่นคำร้อง

ประการที่สอง การรับรองว่า “สิทธิยื่นคำร้อง” เป็นสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยเป็นการตั้งประเด็นที่เป็นปฏิปักษ์กับผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการตามวรรค 1 ทำให้เรื่องความมั่นคงของรัฐธรรมนูญนั้นลดคุณค่าลงเป็นเรื่องข้อพิพาทกล่าวหาระหว่างเอกชนกับเอกชนที่อาจกล่าวหากัน(โดยทางการเมือง) โดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย

ประการสุดท้าย เมื่อมาตรา 68 วรรค 1 เป็นเรื่องข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพ การขยายว่า “สิทธิยื่นคำร้อง” เป็นสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญย่อมทำให้การยื่นคำร้องอาจถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งมีความหมายในขณะเดียวกันว่าสิ่งที่เป็นข้อห้ามการใช้สิทธิเสรีภาพก็จะถูกตีความขยายตาม และมีผลให้สิทธิเสรีภาพอื่นๆของประชาชนที่ควรมีนั้นมีความหมายแคบลง

 

4.  ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิในนามของ “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

ผลข้างเคียงของการใช้ “สิทธิยื่นคำร้อง” ตามมาตรา 68 หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ “เลิก” กระทำการที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ หรือได้มาซึ่งอำนาจโดยวิถีที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ก็คือ หากเป็นกรณีการกระทำของ “พรรคการเมือง” ศาลรัฐธรรมนูญ “อาจ” สั่งยุบพรรคการเมือง โดยเป็นดุลยพินิจที่จะยุบหรือไม่ก็ได้ แต่หากยุบแล้วรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 4 กำหนดว่า “ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่ กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว”

การยุบหรือห้ามการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองนั้นถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญของ “หลักประชาธิปไตยที่ปกป้องตัวเองได้” (Militant Democracy, Streitbare Demokratie) โดยแม่แบบที่สำคัญของรัฐธรรมนูญหลายประเทศมาจากมาตรา 21 วรรค 2 ในกฎหมายพื้นฐานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“พรรคการเมืองซึ่งมีเป้าหมายหรือมีพฤติการณ์ของผู้สนับสนุนอันจะทำลายหรือล้มล้างระเบียบพื้นฐานทางเสรีประชาธิปไตย หรือเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นพรรคการเมืองที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์”

ในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเยอรมนีนั้นถือว่ากรณีการห้ามดำเนินกิจการพรรคการเมืองที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น เป็น “กรอบ” หรือ “ข้อจำกัด” ของการใช้เสรีภาพจัดตั้งและดำเนินกิจการของพรรคการเมือง ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากการบัญญัติต่อเนื่องในมาตราเดียวกับที่รับรองเสรีภาพพรรคการเมือง การใช้มาตรการที่มีผลเป็นการยุบพรรคหรือห้ามดำเนินกิจการพรรคการเมืองนั้น จึงต้องพิจารณาบนฐานของการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่จะนำไปสู่การห้ามดำเนินกิจการทางการเมืองนั้นต้องปรากฏว่า “เป้าหมาย” หรือ “โปรแกรม” ทางอุดมการณ์ของพรรคการเมือง หรือพฤติกรรมของผู้สนับสนุนพรรคการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองนั้นเป็นไปเพื่อ “ล้มล้างระเบียบพื้นฐานทางเสรีประชาธิปไตย” อันหมายถึง ระเบียบการปกครองแบบนิติรัฐ บนพื้นฐานหลักการการปกครองตนเองของประชาชนภายใต้หลักการตัดสินใจของเสียงข้างมาก หลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค ซึ่งปฏิเสธการปกครองโดยกำลังหรือตามอำเภอใจ ทั้งนี้หลักการพื้นฐานที่การปกครองนี้ต้องมีได้แก่ การเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนที่กฎหมายพื้นฐานได้รับรองไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในชีวิตและการพัฒนาบุคลิกภาพ หลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักความรับผิดชอบของรัฐบาล หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง หลักความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ หลักการมีพรรคการเมืองหลายพรรค หลักความเสมอภาคทางโอกาสของพรรคการเมืองกับสิทธิของฝ่ายค้านในการให้การศึกษาและแสดงออกภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้หลักการคุณค่าพื้นฐานดังที่กล่าวมานี้เป็นปฏิปักษ์กับรัฐสมบูรณาสิทธิ์ที่ปฏิเสธศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ และความเสมอภาค

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 นั้น หากอ่านมาตรา 68 ในฐานะบทบัญญัติที่ใช้กับพรรคการเมืองแล้วสามารถอ่านได้ว่า

“ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ อันเนื่องมาจากมีผู้ทราบการกระทำดังกล่าวใช้สิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ โดยหากมีคำสั่งยุบพรรค ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง”

เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรา 21 วรรค 2 ของกฎหมายพื้นฐานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อาจพิจารณาปัญหาเชิงทฤษฎีและเชิงโครงสร้างของการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 68 รัฐธรรมนูญ 50 ได้ดังนี้

ในขณะที่การห้ามดำเนินกิจการพรรคการเมืองของเยอรมนีปรากฏอย่างชัดเจนว่าอยู่ในฐานะกรอบหรือข้อจำกัดการใช้เสรีภาพพรรคการเมือง การยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญไทยกลับถูกก่อสร้างและสถาปนาให้เป็น “สถาบันทางกฎหมาย” ประการหนึ่งที่แทบจะเป็นเอกเทศออกจากเสรีภาพพรรคการเมือง แนวโน้มที่จะขยายอำนาจยุบพรรคการเมืองโดยละเลยที่จะให้คุณค่ากับการชั่งน้ำหนักเสรีภาพพรรคการเมืองจึงปรากฏให้เห็นเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำ “การยุบพรรคการเมือง” ไปประกอบกับ “สิทธิยื่นคำร้อง” ตามมาตรา 68 วรรค 2 ที่ถูกประกอบสร้างให้กลายเป็น “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ยิ่งทำให้เปิดโอกาสที่จะตีความไปในทางที่จำกัดเสรีภาพพรรคการเมืองและยุบพรรคการเมืองอย่างง่ายดาย

ปัญหาว่ากรณีที่จะถือได้ว่าการดำเนินกิจการลักษณะใดทำให้พรรคการเมืองนั้นมีสถานะที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็แตกต่างกัน กล่าวคือในระบบรัฐธรรมนูญเยอรมนีนั้นต้องเป็นกรณีที่ชัดเจนหรือพิสูจน์เชื่อมโยงได้ว่าเป็นนโยบายหรือกิจการของพรรคการเมืองนั้นอย่างแท้จริงที่มุ่งล้มล้างระเบียบพื้นฐานการปกครองเสรีประชาธิปไตย กรณีของประเทศไทยกลับแสดงให้เห็นถึงความพยายามเหมารวม ไม่ว่าจะกรณีตามมาตรา 68 ที่ไม่มีความชัดเจนว่ากรณีลักษณะเช่นใดจึงจะถือได้ว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตตามวรรค 1 หรือกรณีตามมาตรา 237 ที่ให้ถือเอาการกระทำของกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งลำพังมีผลนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้ โดยไม่ได้พิจารณาว่าเป็นเรื่องที่ทำไปโดยพรรคการเมืองหรือส่วนตัว  

อีกทั้งผลของการยุบพรรคการเมืองตามระบบรัฐธรรมนูญไทยนั้นนำไปสู่ผลที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการรับรองสิทธิเสรีภาพโดยสิ้นเชิง เมื่อนำไปสู่การตัดสิทธิทางการเมืองของบรรดากรรมการบริหารพรรคทั้งสิ้น แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำใด ๆ หรือไม่ได้รู้เห็นมีส่วนในการกระทำแต่อย่างใด

 

หมายเหตุ เรียบเรียงจากบทความของผู้เขียนซึ่งเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข คอลัมน์สนามรบกฎหมาย ฉบับวันที่ 8-14 พฤศจิกายน 2557, 15-21 พฤศจิกายน 2557, 22-28 พฤศจิกายน 2557, 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2557 และ 6-12 ธันวาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net