การสู้รบล่าสุดในดินแดนโกก้าง และการเจรจาสันติภาพทั่วพม่าที่ยังไม่คืบหน้า

การปะทะใหญ่ในเขตปกครองพิเศษโกก้าง ชายแดนรัฐฉาน-จีน หลัง "เผิง เจียเซิง" ผู้นำโกก้างให้สัมภาษณ์สื่อฮ่องกงล่วงหน้าว่าจะยึดพื้นที่คืน - ด้านภาพรวมเจรจาสันติภาพทั่วพม่ายังไม่คืบหน้า รบ.เต็งเส่งพับข้อเสนอ "หยุดยิงทั่วประเทศ" ในวันสหภาพ หลังหลายกลุ่มชาติพันธุ์ไม่พร้อมลงนาม เหลือเพียง เคเอ็นยู-ดีเคบีเอ-เคเอ็นแอลเอพีซี-กองทัพรัฐฉาน ที่ลงนามในหนังสือสัญญา "เพื่อสันติภาพและการปรองดอง"

แผนที่รัฐฉาน แสดงที่ตั้งเขตปกครองพิเศษโกก้าง และเมืองเหล่ากาย ที่มีการปะทะล่าสุดระหว่างกองกำลังโกก้างและกองทัพรัฐบาลพม่า (ที่มา: ดัดแปลงจาก Google Maps)

เหล่ากาย เมืองหลวงของเขตปกครองพิเศษโกก้าง (ที่มา: Google Maps)

เผิง เจียเซิง ผู้นำกองกำลังโกก้าง (MNDAA) ที่ถูกกองทัพพม่าโค่นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 (ที่มา: สำนักข่าว S.H.A.N./แฟ้มภาพ)

16 ก.พ. 2558 - การต่อสู้รอบล่าสุดระหว่างกองทัพรัฐบาลพม่าและ กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยพม่า (Myanmar National Democracy Alliance Army - MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ดำเนินมาตั้งแต่วันจันทร์ (9 ก.พ.) ที่ผ่านมา โดยฝ่ายกองกำลังโกก้างบุกโจมตีทหารพม่าที่เมืองเหล่ากาย เมืองเอกของเขตปกครองพิเศษโกก้าง บริเวณพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือใกล้ชายแดนจีน โดยฝ่ายกองกำลังโกก้างต้องการยึดพื้นที่เขตปกครองพิเศษโกก้างคืน หลังถูกกองทัพรัฐบาลพม่าบุกยึดเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2552 โดยการปะทะกันดังกล่าวทำให้มีผู้อพยพเข้าไปทั้งในชายแดนจีน และเมืองใกล้เคียงในรัฐฉาน อย่างเช่น ล่าเสี้ยว

ทั้งนี้วิทยุเอเชียเสรี (RFA) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่วอชิงตัน ดีซี และสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน ระบุตรงกันว่าการปะทะกันระหว่างวันที่ 9 ถึง 12 ก.พ. ทำให้ฝ่ายกองทัพพม่าเสียชีวิต 47 นายในจำนวนนี้เป็นนายทหาร 5 นาย และมีผู้บาดเจ็บกว่า 70 นาย

 

พม่าถอนข้อเสนอหยุดยิงทั่วประเทศ เปลี่ยนเป็นหนังสือสัญญา "เพื่อสันติภาพและการปรองดอง"

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมา ฉบับวันที่ 13 ก.พ. ลงข่าว ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จับมือทักทาย พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ทั้งนี้มีผู้นำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 13 กลุ่ม ได้รับเชิญจากรัฐบาลพม่า ให้เข้าร่วมงานรำลึกวันก่อตั้งสหภาพพม่า ครบรอบปีที่ 68 เมื่อ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทางการพม่าถอนข้อเสนอหยุดยิงทั่วประเทศ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มยังไม่พร้อมลงนาม โดยมีการเปลี่ยนแปลงเป็นการลงนามใน "หนังสือแสดงพันธะสัญญาเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติ" แทน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมลงนามมี 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) (2) กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (DKBA) (3)  สภาสันติภาพ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA PC) และ (4) สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) (ที่มาของภาพ: นิวไลท์ออฟเมียนมา, 13 ก.พ. 2558)

อนึ่ง ในช่วงที่เกิดการปะทะล่าสุดในพื้นที่ของโกก้างนั้น ตรงกับช่วงที่รัฐบาลพม่าจัดงานรำลึกวันก่อตั้งสหภาพพม่า หรือวันลงนามสัญญาปางโหลง เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ปี พ.ศ. 2490 หรือเมื่อ 68 ปีก่อน โดยมีการเชิญผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ 13 กลุ่ม รวมทั้ง พล.ท.เจ้ายอดศึก จากกองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) พล.อ.มูตู เซพอ ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) นาย หงสา เลขาธิการพรรคมอญใหม่ (NMSA) ซึ่งเป็นผู้นำของคณะประสานงานการหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Coordination Team/NCCT) ของกลุ่มชาติพันธุ์ 16 กลุ่ม เข้าร่วมงานฉลองที่เนปิดอว์ด้วย

โดยก่อนหน้านี้ อ่อง มิน รัฐมนตรีประจำสำนักงานประธานาธิบดีพม่า และประธานในคณะทำงานสันติภาพระดับสหภาพ (UPWC) ได้เจรจาและมีข้อเสนอต่อผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้ร่วมกันลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ ในช่วงที่มีการฉลองวันก่อตั้งสหภาพพม่า อย่างไรก็ตามผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มไม่พร้อมที่จะลงนามดังกล่าว เนื่องจากขั้นตอนเจรจาทางการเมืองหลายข้อไม่มีความคืบหน้า ทำให้ในวันสหภาพพม่า มีการเปลี่ยนเป็นการลงนามใน "Deed of Commitment for Peace and National Reconciliation" หรือ "หนังสือแสดงพันธะสัญญาเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติ" แทน

โดยหลักการของเอกสารดังกล่าวซึ่งมี 5 ข้อ ใจความคือยอมรับหลักของการสร้างสหภาพบนพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยและสหพันธรัฐ โดยมีน้ำใจปางโหลงและผลของการเจรจาทางการเมือง เพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และหลักกำหนดใจตนเองสำหรับพลเมืองทุกคน ความพยายามร่วมกันเพื่อให้เกิดความสำเร็จในกระบวนการสันติภาพ เพื่อทำให้บรรลุในสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนทุกคน

ทั้งนี้มีผู้ลงลายมือชื่อประกอบด้วย ประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีพม่า รัฐมนตรีระดับสหภาพ 14 คน สมาชิกรัฐสภา 5 คน ซึ่งรวมทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาชนชาติซึ่งทำหน้าที่คล้ายวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้แทนกองทัพพม่า 3 ราย รัฐมนตรีกระทรวงกิจการชนชาติ 29 คน และผู้แทนพรรคการเมือง 55 คน

ส่วนผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ที่ลงนามใน "หนังสือแสดงพันธะสัญญาเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติ" ได้แก่ (1) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) (2) กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (Democratic Karen Benevolent Army - DKBA) (3)  สภาสันติภาพ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army/Peace Council - KNLA PC) และ (4) สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (Restoration Council of the Shan State/Shan State Army - RCSS/SSA) ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นอีก 9 กลุ่มที่เหลือยังไม่พร้อมลงนาม โดยบางกลุ่มเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ ไม่ใช่ข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย

"พวกเขาพูดแต่สิ่งที่ฟังดูดี แต่เมื่อเราพิจารณาในแผน มันเป็นเรื่องพื้นฐานมาก สิ่งที่พวกเขาเสนอไม่มีข้อตกลงที่แน่ชัด และไม่มีคำมั่นสัญญาที่หนักแน่นใดๆ" นาย หงสา เลขาธิการพรรคมอญใหม่ (NMSP) และผู้นำของคณะประสานงานการหยุดยิงทั่วประเทศ (NCCT) ของกลุ่มชาติพันธุ์ 16 กลุ่ม กล่าวกับผู้สื่อข่าวอิระวดี

ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมงานวันสหภาพพม่าที่เนปิดอว์ ได้แก่ กองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta’ang National Liberation Army - TNLA) กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) และกองกำลังโกก้าง (MNDAA) ซึ่งทั้งหมดยังคงอยู่ในสถานการณ์สู้รบกับรัฐบาลพม่า

สำหรับกองกำลังโกก้าง (MNDAA) เป็นกองกำลังที่แยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) เมื่อปี 2532 ต่อมาได้เจรจาสงบศึกกับรัฐบาลทหารพม่า และได้พื้นที่สำหรับบริหารเป็นเขตปกครองพิเศษบริเวณแม่น้ำสาละวินตอนบนสุดของพม่า ติดชายแดนจีน โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่เหล่ากาย

สำหรับประชากรส่วนใหญ่ในดินแดนดังกล่าว เป็นประชากรกลุ่มชาติพันธุ์โกก้างที่มีเชื้อสายจีน และลงมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่กลางคริสต์วรรษที่ 17 โดยมีผู้นำเป็นคนในตระกูลหยาง ทีได้รับบรรดาศักดิ์จากทั้งราชวงศ์ชิงของจีน และได้บรรดาศักดิ์เป็นเจ้าเมืองหรือ "เมียวซา" จากราชวงศ์คอนบองของกษัตริย์พม่า โดยในสมัยที่พม่าอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ และรัฐฉานมีฐานะเป็นรัฐอารักขา ขุนนางตระกูลหยางยังได้รับการยกฐานะเป็นเจ้าฟ้าเมืองที่ 34 ของรัฐฉาน โดยเป็นการแยกตัวออกมาจากเมืองแสนหวี ก่อนที่ต่อมาพม่าในสมัยที่ได้รับเอกราชจะยกเลิกฐานะเจ้าฟ้าเมื่อปี พ.ศ. 2502

ทั้งนี้ก่อนถูกกองทัพพม่ากวาดล้างในเดือนสิงหาคมปี 2552 กองกำลังโกก้างที่ผ่านมาเป็นพันธมิตรกับกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) และกองกำลังเมืองลา (NDAA) ซึ่งแยกตัวออกมาจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเช่นกัน ทั้งนี้ หลิน หมิงเสียน หรือ จายลืน ผู้นำกองกำลังเมืองลา เป็นลูกเขยของ เผิง เจียเซิง ผู้นำกองกำลังโกก้าง

อนึ่งภายหลังขจัดอำนาจของเผิง เจียเซิง ในเดือนสิงหาคมปี 2552 ทางการพม่าได้ตั้งอดีตผู้ช่วยของเขาคือ ไป๋ เสอเฉียน ขึ้นมาเป็นผู้บริหารเขตปกครองพิเศษโกก้างแทน

 

กองทัพดาระอั้ง-อาระกัน ส่งกำลังรบสนับสนุนโกก้าง

ในรายงานเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ของหนังสือพิมพ์เมียนมาไทมส์ ระบุว่า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army - TNLA) กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ดาระอั้ง หรือปะหล่อง และกองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่บริเวณรัฐฉานตอนเหนือ ได้ต่อสู้ร่วมกับกองกำลังโกก้าง (MNDAA) ด้วย

ผู้ช่วยฝ่ายติดต่อประสานงานของกองกำลังดาระอั้ง (TNLA) ตาปานละ ยืนยันว่ากลุ่มของเขาได้ช่วยเหลือฝ่ายโกก้างเพื่อยึดคืนพื้นที่ใกล้เมืองเหล่ากาย ในพื้นที่ปกครองตนเองโกก้าง โดยการต่อสู้เริ่มต้นมาตั้งแต่คืนวันที่ 11 ก.พ. รอบๆ ตำบลเหล่ากาย และโกนจาน ใกล้ชายแดนจีน "พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นของฝ่ายโกก้าง เราพยายามช่วยเขายึดคืน" ผู้ประสานงานกองกำลังดาระอั้ง (TNLA) กล่าวกับเมียนมาไทมส์

ต่อคำถามที่กองทัพพม่ากล่าวว่าฝ่ายตรงข้ามเริ่มปะทะก่อน ตาปานละกล่าวว่า "เจอก่อนยิงก่อน นี่เป็นกฎของการรบในป่า"

ทุน เมียต ลิน เลขาธิการกองกำลังโกก้าง (MNDAA) กล่าวว่าในช่วงที่มีการปะทะ กองทัพพม่าใช้อากาศยานทิ้งระเบิดใส่พื้นที่ส่วนหน้าที่กองกำลังโกก้างยึด "เมื่อวันที่ 10 ก.พ. มีการใช้อากาศยานทางทหารสำรวจและโจมตีพวกเรา" เขากล่าว "กองทัพพม่าใช้เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ และเครื่องบิน MIG-29 5 ลำ ทิ้งระเบิด 2 รอบในการสู้รบ"

ในรายงานของเมียนมาร์ไทมส์ อ้างแหล่งข่าวที่เดินทางจากล่าเสี้ยวมายังย่างกุ้งเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ยืนยันว่าเห็นเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพพม่าลำเลียงเครื่องกระสุนที่สนามบินล่าเสี้ยว และมีเครื่องบินไม่ระบุประเภทมาจอดที่สนามบิน จากนั้นมีเจ้าหน้าที่กองทัพพม่าลงจากเครื่องบินลำดังกล่าวและเปลี่ยนไปโดยสารเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ ขณะที่ผู้โดยสารสายการบินย่างกุ้งแอร์เวย์ ต้องรอที่สนามบินเป็นเวลานับชั่วโมง ในช่วงที่อากาศยานของกองทัพพม่ากำลังลำเลียงอาวุธ

ในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมา ฉบับวันที่ 12 ก.พ. วันเดียวกับที่มีการรำลึกถึงวันก่อตั้งสหภาพพม่า ในหนังสือพิมพ์ซึ่งลงข่าวการโจมตีของโกก้างหน้า 11 ได้ยืนยันว่ามีการใช้การโจมตีทางอากาศ 5 ครั้งในวันที่ 9 และ 10 ก.พ. นอกจากนี้ในรอบ 2 วันดังกล่าวมีการปะทะกัน 8 ครั้ง

โดยรายงานของนิวไลท์ออฟเมียนมา ระบุว่า ฝ่ายโกก้างเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 8 นาย โดยตัวเลขนี้ได้รับการยืนยันจากเลขาธิการกองกำลังโกก้าง (MNDAA) เช่นกัน

"ไม่มีกองกำลังจากจีนช่วยสู้รบ พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรของเราคือ กองกำลังดาระอั้ง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) ในการเผชิญหน้ากับกองทัพพม่า" ทุน เมียต ลิน เลขาธิการกองกำลังโกก้างกล่าว

โดยการต่อสู้ระลอกใหม่กับกองกำลังโกก้างดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน และพื้นที่รัฐคะฉิ่น โดยในเดือนมกาคม กองทัพพม่าปะทะกับกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) ที่เมืองผาคาน ขณะที่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ กองกำลังดาระอั้ง (TNLA) ระบุว่า กองทัพพม่าเปิดการโจมตีทางอากาศใส่ฐานที่มั่นของพวกเขา

 

กระทรวงการต่างประเทศจีนหวังว่าจะมีการหยุดยิงและแก้ปัญหาผ่านการเจรจาสันติภาพ

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ฮวา ชุนยิง แถลงข่าวว่า มีประชาชนจากฝั่งพม่าอพยพข้ามชายแดนจีนเพื่อหลบภัยการสู้รบ รัฐบาลจีนได้พิจารณาช่วยเหลือในฐานะที่เป็นผู้ลี้ภัย "สถานการณ์ในพื้นที่ตอนเหนือของพม่า ส่งผลกระทบโดยตรงกับเสถียรภาพของชายแดนจีน-พม่า เราหวังว่ารัฐบาลพม่าและกองกำลัง MNDAA จะสามารถหยุดยิงและแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาสันติภาพ"

ในรายงานของเมียนมาร์ไทม์ ระบุว่า กองกำลังโกก้าง (MNDAA) มีกำลังถึง 1,000 นาย แต่ล่าถอยออกจากพื้นที่ตั้งแต่ปี 2552 หลังการบุกของกองทัพพม่า พร้อมกับมีการออกข่าวการค้ายาเสพติดของผู้นำโกก้าง โดยการบุกครั้งนั้นทำให้มีผู้อพยพถึง 30,000 คนเข้าสู่ชายแดนจีน

การกลับมาของกองกำลังโกก้าง (MNDAA) สร้างความประหลาดใจให้กับหลายฝ่าย อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์ของโกลบอลไทมส์ สื่อภาคภาษาอังกฤษของทางการจีน ได้เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของผู้นำกองกำลังโกก้าง (MNDAA) เผิง เจียเซิง ซึ่งระบุว่าเขาต้องการยึดคืนดินแดนที่ได้สูญเสียไป ในคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว เขาระบุว่า ได้เกณฑ์ทหารใหม่นับพันนาย นับตั้งแต่เขาล่าถอยออกจากดินแดนโกก้างในปี 2552 และทหารใหม่เหล่านี้ได้ต่อสู้กองทัพพม่า ร่วมกับกองกำลังคะฉิ่น (KIA) และกองกำลังดาระอั้ง (TNLA) เขาอ้างว่ากองกำลังของเขาสังหารฝ่ายรัฐบาลได้นับร้อย โดยรายงานดังกล่าวถูกลบออกจากเว็บโกลบอลไทมส์ไม่นานหลังถูกเผยแพร่

ทั้งนี้กองกำลังโกก้าง (MNDAA) ระบุในแถลงการณ์ที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ว่า จะต่อสู้จนกระทั่งได้รับสันติภาพ ความเสมอภาค ความสงบ การพัฒนา และอำนาจปกครองตนเองในเขตโกก้าง

นอกจากนี้ ยังไม่มีการยืนยันจากกองกำลังคะฉิ่น (KIA) ว่าให้การสนับสนุนกับกลุ่มโกก้าง (MNDAA)

 

ผู้นำโกก้าง "เผิง เจียเซิง" โทรศัพท์ให้สัมภาษณ์ "ทีวีฮ่องกง" บอกล่วงหน้าว่าจะโจมตี

การให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ของ เผิง เจียเซิง ผู้นำกองกำลังโกก้าง (MNDAA) ทางสถานีโทรทัศน์ "iFeng" ของฮ่องกง เมื่อวันที่ 24 ม.ค. หรือ 2 สัปดาห์ก่อนการโจมตีล่าสุด ทั้งนี้ไม่มีการระบุว่าผู้นำโกก้างให้สัมภาษณ์มาจากสถานที่ใด (ที่มาของภาพ: iFeng/YouTube)

ทั้งนี้แม้บทสัมภาษณ์ของเผิง เจียเซิง ในโกลบอลไทมส์จะไม่สามารถสืบค้นได้แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา หรือ 2 สัปดาห์ก่อนการโจมตีระลอกล่าสุด เผิง เจียเซิง ในวัย 84 ปี ซึ่งอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งไม่ได้เปิดเผย ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสถานีโทรทัศน์ของฮ่องกง "โฟนิกซ์เทเลวิชั่น" หรือ "iFeng" ระบุว่าจะต่อสู้กับกองทัพพม่า โดยเขากล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เป็นเวลาสั้นๆ ตอนหนึ่งว่า "กองทัพรัฐบาลมีอาวุธทันสมัย แต่ฝ่ายโกก้างมีแต่อาวุธพื้นฐาน เราต่อสู้ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของประชาชน เราจะชนะก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเท่านั้น"

ผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่มเมืองลา ซึ่งมีผู้นำเป็นเขยของท่าน (หมายถึง หลิน มิงเสียน หรือ จายลืน ผู้นำกองกำลังเมืองลา NDAA) รวมทั้งกลุ่มว้า (หมายถึงกองทัพสหรัฐว้า UWSA) สนับสนุนกลุ่มโกก้างหรือไม่ เผิง เจียเซิง ตอบว่า "เรามีจุดยืนร่วมกัน"

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีเพียงสงครามเป็นทางเลือกเท่านั้นหรือ มีความเป็นไปได้ในการเจรจาสันติภาพหรือไม่ เผิง เจียเซิง ตอบว่า "ความเป็นไปได้ในการเจรจาสันติภาพไม่มีอยู่เลย เพราะรัฐบาลพม่าไม่ซื่อตรงต่อข้อตกลงสันติภาพที่ทำมาก่อนหน้านี้" เผิง เจียเซิง กล่าวด้วยว่า ในการสู้รบนี้ พวกเขาไม่สามารถเอาชนะกองทัพที่แข็งแกร่งได้ แต่กองกำลังที่เล็กกว่าของเขาจะไม่ยอมแพ้

 

พันธมิตรฝ่ายโกก้างยืนยันว่าจีนไม่ได้สนับสนุน

วิทยุเอเชียเสรี (RFA) เมื่อวันที่ 13 ก.พ. รายงานคำกล่าวของเจ้าหน้าที่กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ดาระอั้งซึ่งใกล้ชิดกับกลุ่มโกก้าง โดยระบุว่า จีนไม่ได้สนับสนุนอาวุธกองกำลังโกก้าง

ทั้งนี้ พ.ท.ตะโปจ่อ เลขาธิการกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army - TNLA) กล่าวกับผู้สื่อข่าวของวิทยุเอเชียเสรีว่า "เป็นข้อกล่าวหาของรัฐบาลพม่าที่ว่าจีนหนุนหลังกองกำลังติดอาวุธกลุ่มนั้นกลุ่มนี้" "เท่าที่ผมทราบ โกก้างไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนโดยตรงจากจีน"

วิทยุเอเชียเสรีระบุว่า ฝ่ายกบฎโกก้าง ได้สู้ปะทะกับกองทัพพม่า 13 จุด นับตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 12 ก.พ. โดยฝ่ายกองทัพพม่าเสียชีวิต 47 นายในจำนวนนี้เป็นนายทหาร 5 นาย และมีผู้บาดเจ็บกว่า 70 นาย

โป่ถั่นจอง โฆษกอดีตพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ที่จีนจะส่งมอบอาวุธให้กับกองกำลังโกก้าง

ทั้งนี้กองกำลังโกก้าง (MNDAA) เป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ก่อนที่จะแยกตัวออกมาและลงนามหยุดยิงสองฝ่ายกับรัฐบาลพม่า หลังการแตกแยกภายในของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในปี 2532

"สิ่งนี้ไม่ปรากฏในข่าว แต่กองทัพว้ามีโรงงานผลิตอาวุธ" โป่ถั่นจองกล่าว "ดูเหมือนว่าอาวุธจะถูกส่งมาจากทางนี้และขายให้กับพวกเขา (โกก้าง)"

โฆษกอดีตพรรคคอมมิวนิสต์พม่าระบุว่า อาวุธเหล่านั้นถูกยึดเมื่อหนึ่งสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่จะเกิดการปะทะระหว่างกองกำลังโกก้างและกองทัพรัฐบาลพม่า

โป่ถั่นจองกล่าวด้วยว่า "จีนกลัวว่าถ้ามีการสู้รบเกิดขึ้นที่ชายแดน อาวุธจะไปตกอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ และพวกเขากลัวหากอาวุธไปอยู่ในมือของคนที่อยู่ในประเทศที่ไม่น่าไว้วางใจ"

พล.ต.ทุนมินหน่าย ผู้บัญชาการกองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมต่อสู้ของฝ่ายโกก้าง ระบุว่า รัฐบาลพม่าพยายามบ่อนทำลายการต่อสู้ของประชาชนชาวโกก้าง "เมื่อรัฐบาลทหารพม่าทำบางอย่างขึ้นมา ประชาชนก็เห็นว่า นี่ประชาชนพื้นเมืองฆ่ากันเอง และพูดว่า 'นี่ไงพวกเขาฆ่าประชาชนของพวกเขาเอง' "

"เป็นไปได้ที่รัฐบาลจะกล่าวเช่นนี้ เพราะรัฐบาลพม่าต้องการทำให้เห็นว่า พวกเขากำลังต่อสู้กับผู้รุกรานต่างชาติ" พล.ต.ทุนมินหน่าย กล่าวด้วยว่า "เราเคลื่อนไหวอยู่บริเวณชายแดนมาตั้งนาน ทำไมจีนถึงปล่อยให้มีผู้ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยและสวัสดิภาพของจีน ดังนั้นพวกเขา (รัฐบาลพม่า) จึงผสมข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ประชาชนคิดแบบนี้ เราอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาพยายามบ่อนทำลายการต่อสู้ของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์"

ทั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทหารรัฐบาลพม่า 7 นายเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ 20 นาย จากเหตุกองกำลังโกก้าง (MNDAA) บุกโจมตีป้อมแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างชายแดนจีนประมาณ 30 กม.

 

สื่อรัฐบาลพม่าระบุ ทหารโกก้างเสียชีวิต 27 นายจากกการปะทะรอบล่าสุด

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมา ฉบับวันที่ 16 ก.พ. เผยแพร่ภาพที่ระบุว่าเป็นอาวุธที่ยึดได้จากการปะทะกับทหารโกก้าง (ที่มา: นิวไลท์ออฟเมียนมา, 16 ก.พ. 2558)

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมา รายงานเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ว่าสมาชิกกองกำลังโกก้าง (MNDAA) 13 นาย เสียชีวิตระหว่างปะทะกับกองทัพรัฐบาลพม่าเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 14 ก.พ. ที่เมืองเหล่ากาย ทางตอนเหนือของรัฐฉาน โดยกองทัพรัฐบาลพม่าสามารถจับทหารโกก้าง ซึ่งอยู่ในสภาพบาดเจ็บได้ 8 นาย นอกจากนี้ยังสามารถยึดอาวุธปืนได้ 98 กระบอก และเครื่องกระสุนจำนวนหนึ่ง

รายงานในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมา ระบุว่า กองทัพรัฐบาลยังคงวางมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยรอบเมืองเหล่ากาย

ขณะที่รายงานของหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมา วันที่ 16 ก.พ. ได้เผยแพร่รูปที่ระบุว่าเป็นอาวุธปืนที่ยึดได้จากทหารโกก้าง และเพิ่มจำนวนทหารโกก้างที่เสียชีวิตจาก 13 นาย เป็น 18 นาย ส่วนทหารโกก้างที่ถูกควบคุมตัวไว้ 8 นาย ต่อมาเสียชีวิตทั้งหมดเนื่องจากอาการบาดเจ็บรุนแรง แม้จะได้รับการดูแลรักษาจากกองทัพพม่าซึ่งยังคงประจำการโดยรอบเมืองเหล่ากาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท