Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2558 สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(OHCHR) ได้ส่งหนังสือถึงผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี แสดงความเป็นห่วงกรณีการละเมิดสิทธิชุมชน กรณีการเรียกตัวแกนนำชาวบ้านชุมชนเพิ่มทรัพย์คือ เพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ ประธานสหกรณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เข้าปรับทัศนคติเป็นเวลา 3 วัน และกรณีที่เจ้าหน้าทหารจำนวน 5 นาย เข้าไปปิดล้อมชุมชนพร้อมสั่งให้ชาวบ้านกว่า 28 หลังคาเรือนออกนอกพื้นที่ ขณะเดียวกันเมื่อเพียรรัตน์ได้รับการปล่อยตัวออกมา เจ้าหน้าที่ทหารได้มีการสั่งให้เพียรรัตน์ เรียกประชุมชาวบ้าน เพื่อชี้แจงให้ออกนอกพื้นที่ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอนี้ชาวบ้านคนอื่นๆจะถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติอีก

สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เสนอว่า การหาทางออกต่อความขัดแย้งเรื่องสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของชาวบ้านต้องดำเนินการโดยให้การเคารพอย่างเต็มที่กับสิทธิชุมชน รวมถึงหลักกระบวนการอันควรปฏิบัติตามกฏหมายและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม พร้อมอยากทราบว่าเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2558 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี แนะถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ทางสำนักข้าหลวงใหญ่ฯต้องการทราบว่า ทางจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานีจะมีการดำเนินการต่อเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

ข้อมูลเบื้องต้นพื้นที่ชุมชนเพิ่มทรัพย์

แต่เดิมบริเวณพื้นที่ชุมชนเพิ่มทรัพย์ ได้มีชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อนที่จะประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้าน หมากและป่าปากพัง สืบเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านเข้าบุกรุกป่าทำไร่ปลูกข้าว สร้างบ้านเรือนอยู่กันหลายกลุ่มบ้าน หลังจากนั้นประมาณปี พ.ศ. 2527 มีกลุ่มนายหน้าเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน ราคาไร่ละ 200 ถึง 300 บาท และในปี พ.ศ. 2528 บริษัทไทยบุญทอง จำกัด ก็เข้ามาบุกเบิกขอใช้พื้นที่ในการปลูกปาล์มน้ำมัน บริษัทไทยบุญทอง จำกัดได้ขอจดทะเบียนเมือวันที่ 23 พ.ย. 2527 และขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวน วันที่ 3 ธ.ค. 2528 จำนวนเนื้อที่ 3,070 – 3 – 55 ไร่ และบุกรุกที่ ส.ป.ก. 1,114 ไร่  จนถึงวันที่  2  ธ.ค. 2543  เป็นวันสิ้นสุดสัญญา แต่บริษัทยังคงไม่ย้ายออกจากพื้นที่เป็นเวลา 14 ปี

ด้านสมาชิกใน ชุมชนได้เข้ามาจัดตั้งชุมชน และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในแปลงไทยบุญทอง เนื่องจากยึดตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2546 ซึ่งได้เริ่มเข้าสร้างบ้านตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2556 โดยเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่ จำนวน 265 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนขอเป็นพื้นที่โฉนดชุมชน และเข้าร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ในการดำเนินการประสานนโยบายกับทางภาครัฐ ร่วมกับทางเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จนมีข้อตกลง ( MOU )  สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อวันที่  22  พ.ค. 2556 ได้อนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net