'Jaris' เครือข่ายสภานักเรียน มุ่งสร้างพื้นที่กลางเพื่อสันติภาพปาตานี

กำเนิด “Jaris : Jaringan Dewan Siswa Patani” หรือเครือข่ายสภานักเรียนปาตานี องค์กรคนรุ่นใหม่มุ่งเป็นพื้นที่กลางให้สภานักเรียนโรงเรียนอิสลามในชายแดนภาคใต้ เสริมศักยภาพความเป็นผู้นำนักเรียนและชุมชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาสังคม ยาเสพติด ฯลฯ
 
 
มูฮำหมัดคอยรี หะยีบากา ประธาน Jaris
 
ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ก่อให้เกิดองค์กรภาคประชาสังคมหลายต่อหลายองค์กรขึ้นมาในพื้นที่ที่มีมีเป้าหมายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแก้ปัญหาในพื้นที่ ล่าสุดคือองค์กร “Jaris” มีชื่อเต็มว่า “Jaringan Dewan Siswa Patani” หรือคณะทำงานเครือข่ายนักเรียนปาตานี ซึ่งเป็นการรวมตัวของเครือข่ายสภานักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่
 
Jaris ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งนายมูฮำหมัดคอยรี หะยีบากา ประธาน Jaris เล่าว่า Jaris เกิดจากนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรของวิทยาลัยประชาชน (People College) เมื่อปี 2556 เทอมสุดท้าย ซึ่งขณะนั้นทุกคนต้องไปฝึกงานโดยให้แต่ละคนไปคิดเองว่าจะฝึกงานเรื่องอะไรและที่ไหน
 
นักศึกษาบางกลุ่มเลือกฝึกงานโดยการจัดอบรมเพิ่มศักยภาพแก่คณะกรรมการสภานักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยเริ่มจัดอบรมให้กับคณะกรรมการสภานักเรียนโรงเรียนบำรุงศาสน์วิทยา ต.กอตอตือร๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา
 
จากนั้นในปี 2557 นักศึกษากลุ่มนี้ได้ประชุมถอดบทเรียนจากการที่ฝึกงานดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมคิดว่าการอบรมดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมาก ที่ประชุมจึงมีมติที่จะเดินหน้าในการจัดอบรมเพิ่มศักยภาพแก่คณะกรรมการสภานักเรียนต่อไป จึงแต่งตั้งคณะทำงานเครือข่ายสภานักเรียนปาตานีขึ้นมา อย่างไม่เป็นทางการ
 
สำหรับคณะทำงานของ Jaris มาจากอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาและบางส่วนกำลังศึกษาอยู่ในจังหวัดยะลา 
 
นายมูฮำหมัดคอยรี บอกว่า หน้าที่หลักๆ ของ Jaris คือ การเพิ่มศักยภาพแก่คณะกรรมการสภานักเรียนในเรื่องต่างๆ เช่น เทคนิคการพูดในที่สาธารณะ เทคนิคการการควบคุมนักเรียน เทคนิคการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เทคนิคการสื่อสารกับนักเรียน เป็นต้น โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาเป็นวิทยากร
 
นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความรู้ความสามารถแก่คณะกรรมการสภานักเรียนโรงเรียนต่างๆ เพื่อพวกเขานำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการพัฒนากิจกรรมในโรงเรียนของตัวเองได้ รวมทั้งไปใช้ในการพัฒนาชุมชนของตัวเองได้ด้วย
 
หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของ Jaris คือการเปิดพื้นที่กลางให้แก่คณะกรรมการสภานักเรียนของโรงเรียนต่างๆ ได้พื้นที่ในการพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยมระหว่างสภานักเรียนของโรงเรียนต่างๆ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน
 
นายมูฮำหมัดคอยรี เล่าว่า ที่ผ่านมา Jaris ได้จัดอบรมไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2557 มีคณะกรรมการสภานักเรียนจาก 5 โรงเรียนเข้าร่วม ได้แก่ 1.โรงเรียนบำรุงศาสน์วิทยา 2.โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา อ.เมือง จ.ยะลา 3.โรงเรียนประทีปวิทยา อ.เมือง จ.ปัตตานี 4.โรงเรียนผดุงศาสน์ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 5.โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน อ.มายอ จ.ปัตตานี
 
ครั้งที่ 2 เดือนกันยายน 2557 จัดที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 อ.เมือง จ.ยะลา มีตัวแทนคณะกรรมการสภานักเรียนจาก 5 โรงเรียนเดิมเข้าร่วม รวมกับตัวแทนโรงเรียนอื่นๆ เช่น โรงเรียนวัฒนธรรมพ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี โรงเรียนอิสลามบาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลา เป็นต้น
 
 
การอบรมครั้งนี้ได้ให้ความรู้เรื่องบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการสภานักเรียน ความรู้ที่ทันสมัย ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน กฎหมายเบื้องต้น สิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นต้น โดยเชิญตัวแทนมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและเครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความมาให้ความรู้
 
หลังจากจัดอบรมไปแล้วปรากฏว่ามีอีกหลายโรงเรียนได้ขอให้จัดอบรมด้วย แต่ปัญหาคือทาง Jaris ไม่มีงบประมาณดำเนินการ เพราะการจัดอบรมที่ผ่านมาใช้เงินบริจาคเท่านั้น
 
ถึงแม้ Jaris มีงบประมาณจำกัด แต่ด้วยความที่ทีมงานต้องการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการสภานักเรียน จึงประสานงานกับวิทยาลัยประชาชนให้สนับสนุนการจัดอบรมอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 23 – 25 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ที่ Poksu Homestay ริมหาดตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ทั้งงบประมาณและวิทยากร
 
นายมูฮำหมัดคอยรี บอกด้วยว่า จากการถอดบทเรียนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า Jaris เองยังไม่มีเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน แต่มีจิตอาสาที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ ดังนั้นการจัดอบรมครั้งล่าสุดนี้ก็เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายของ Jaris ให้ชัดเจนมากขึ้น
 
เมื่อถามว่าอะไรคือเป้าหมายของ Jaris นายมูฮำหมัดคอยรี ตอบว่า “เราต้องการสร้างพื้นที่กลางสำหรับสภานักเรียนปาตานีได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันในประเด็กต่างๆ เพื่อให้สภานักเรียนในฐานะเยาวชนปาตานีได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติด ปัญหาความขัดแย้งและอื่นๆ รวมทั้งการสร้างคณะกรรมการสภานักเรียนรุ่นใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ”
 
ส่วนในอนาคตวางแผนไว้ว่า Jaris จะจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ มีสำนักงานและมีคนทำงานมากขึ้น และเพิ่มเครือข่ายให้มากขึ้นด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท