ภาษาในโลกประชาธิปไตย: Patronizing

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ในบทความแปลที่น่าสนใจยิ่งของคุณภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่อง "สลาวอย ชิเชค: อเทวนิยมคือมรดกที่ควรต่อสู้ให้ได้มา"[1] นั้น มีอยู่จุดหนึ่งที่ดิฉันใคร่ขอหยิบยกมากล่าวถึงสักเล็กน้อยในที่นี้ นั่นคือ การแปลความหมายของคำว่า patronizing อันปรากฏอยู่ในย่อหน้าก่อนสุดท้ายของบทความต้นฉบับ ดังที่ยกมาด้านล่างนี้

"While a true atheist has no need to bolster his own stance by provoking believers with blasphemy, he also refuses to reduce the problem of the Muhammad caricatures to one of respect for other's beliefs. Respect for other's beliefs as the highest value can mean only one of two things: Either we treat the other in a patronizing way and avoid hurting him in order not to ruin his illusions, or we adopt the relativist stance of multiple "regimes of truth," disqualifying as violent imposition any clear insistence on truth."[2]

คำกริยา patronize เป็นคำที่พบบ่อยในสังคมตะวันตก ที่น่าสนใจคือเป็นคำที่มีความหมายทั้งบวกและลบ ขึ้นอยู่กับบริบทที่นำไปใช้ กูเกิลอธิบายศัพท์คำนี้เป็น 2 ความหมายว่า

1. treat with an apparent kindness that betrays a feeling of superiority.

2. frequent (a store, theater, restaurant, or other establishment) as a customer. / give encouragement and financial support to (a person, especially an artist, or a cause).

ส่วนปทานุกรมอังกฤษเป็นไทยของ สอ เสถบุตร แปลคำนี้ว่า ผู้อุปการะ, คนชุบเลี้ยง, ผู้อุปถัมภ์, พระบรมราชูปถัมภ์; สนับสนุน, อุดหนุน; ทำทีกรุณา, วางโต

หากใช้คำว่า patronize ในบริบทของการให้เงินหรือทรัพย์สินเพื่ออุดหนุนร้านค้าหรือเป็นผู้อุปถัมภ์ คำนี้มักมีความหมายในเชิงบวกเสมอ แต่ถ้านอกเหนือไปจากนี้ ความหมายของคำก็มักจะกลายเป็นข้อที่ 1 คือหมายถึงการแสดงท่าทีกรุณา หากแฝงไว้ด้วยการยกตนเหนือผู้อื่น หรือดูถูกดูหมิ่นผู้อื่นอยู่ในที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนี้อยู่ในรูปของคำคุณศัพท์ คือ patronizing ดังเช่นในบทความนี้ ความหมายก็มักจะเป็นในเชิงลบเสมอ

 

ในบทความแปลของคุณภาคิน ซึ่งแปลย่อหน้าดังกล่าวไว้ว่า

"ในขณะที่ผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้าโดยแท้จริงไม่จำเป็นต้องสนับสนุนจุดยืนของตนเองด้วยการยั่วยุดูหมิ่นผู้ที่ศรัทธาในพระเจ้า พวกเขายังปฏิเสธการลดทอนปัญหาของการ์ตูนล้อเลียนนบีมุฮัมหมัด ให้กลายเป็นหนึ่งในวิธีการเคารพความเชื่อของผู้อื่นอีกด้วย การเคารพความเชื่อของผู้อื่นในฐานะคุณค่าอันสูงสุดมีความหมายเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ใช่การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเกื้อกูลและหลีกเลี่ยงการทำร้ายคนเหล่านั้นเพื่อรักษาภาพลวงตาของพวกเขาไว้ให้ปลอดภัย ก็เป็นการปรับใช้จุดยืนอันสัมพัทธ์ว่าด้วย “ระบอบแห่งความจริง” ที่หลากหลาย ซึ่งไม่มีคุณสมบัติของการยัดเยียดว่าความยึดมั่นอันแจ่มชัดใด ๆ คือความจริงแท้ด้วยวิธีการที่รุนแรง"

คุณภาคินเลือกใช้คำว่า "ความเกื้อกูล" ซึ่งมีนัยยะเชิงบวกไปในทิศทางเดียวกันกับคำว่าอุดหนุน อุปการะ หรืออุปถัมภ์ ซึ่งดิฉันเห็นว่า ไม่น่าจะใช่สาระที่บทความชิ้นนี้ต้องการสื่อ เพราะเมื่ออ่านบริบทโดยรวมแล้ว ผู้เขียนน่าจะต้องการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อทางศาสนา อันกระทำในนามของการเคารพความเชื่อของผู้อื่นในฐานะคุณค่าอันสูงสุด ดังที่ผู้เขียนได้สรุปไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของบทความว่า

"What about submitting Islam - together with all other religions - to a respectful, but for that reason no less ruthless, critical analysis? This, and only this, is the way to show a true respect for Muslims: to treat them as adults responsible for their beliefs."

(แล้วถ้าเราจะวิเคราะห์วิจารณ์ศาสนาอิสลามและศาสนาอื่นด้วยความเคารพ ทว่าตรงไปตรงมาอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมล่ะ นี่น่าจะเป็นวิธีเดียวกระมังที่เราจะแสดงออกถึงความเคารพต่อชาวมุสลิมได้อย่างแท้จริง นั่นคือ การปฏิบัติต่อพวกเขาเยี่ยงผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อความเชื่อของตนเอง)[3]

คำว่า patronizing ในบทความชิ้นนี้ จึงน่าจะหมายถึงการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยท่าทีกรุณาอันแฝงไว้ด้วยความรู้สึกเหนือกว่า

ศัพท์คำว่า patronize ตามความหมายในบทความนี้ แม้จะพบบ่อยในชีวิตประจำวันของชาวตะวันตก (ได้ยินบ่อยก็เช่นวลี "Don't patronize me!") แต่กลับหาคำแปลตรงตัวเป็นภาษาไทยไม่ได้ รวมถึงไม่พบการใช้คำศัพท์ที่ให้ความหมายเดียวกันนี้ในสังคมไทยสักเท่าไร ซึ่งอาจเป็นเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรม ในสังคมไทยที่ระบบอาวุโสมีความสำคัญและดำรงอยู่อย่างเข้มข้นและเข้มแข็งนั้น การที่คน ๆ หนึ่งจะใช้สถานะทางเพศ วัย หรือสังคมมา patronize คนอื่น จึงเป็นเรื่องที่กระทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นความแปลกประหลาดอะไร หรือถ้าคิดกันอย่างจริงจังแล้ว มันอาจจะกลับตาลปัตรเลยก็ได้ นั่นคือการ patronize อาจเป็น norm ของสังคมไทย ขณะที่ในสังคมประชาธิปไตยตะวันตกพฤติกรรมแบบนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับกันอีกต่อไปแล้ว

 

 

 

[2] Slavoj Zizek. “Atheism is a legacy worth fighting for” New York Times. http://www.nytimes.com/2006/03/13/opinion/13iht-edzizek.html?_r=0

[3] แปลโดยผู้เขียน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท