Skip to main content
sharethis
28 ม.ค. 2558 เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network หรื่อ MWRN) ตัวแทนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ร้องขอการสนับสนุนในการทำคดีของทีมทนายความที่ทำหน้าที่ให้ความยุติธรรมแก่ชาวพม่าสองคนในฐานะเป็นทนายความจำเลย โดยบุคคลทั้งสองถูกฟ้องคดีอาญาด้วยข้อหาว่า ข่มขืนกระทำชำเราแล้วฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า เมื่อเดือนกันยายน ปี 2557 ท่ามกลางความเป็นห่วงว่า จะเป็นการจับเเพะซึ่งไม่ใช่ฆาตกรแท้จริง เพราะน่าเชื่อว่า อาจมีการเก็บพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้อง ทั้งยังมีการร้องเรียนกับพนักงานอัยการว่า จำเลยทั้งสองถูกซ้อมให้รับสารภาพระหว่างการควบคุมตัวก่อนส่งให้พนักงานสอบสวน กองทุน MWRN ที่ได้จัดตั้งขึ้นนี้ จึงเป็นช่องทางสำคัญอีกทางหนึ่งที่จะรับประกันว่า การดำเนินคดีจะเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมแก่จำเลยทั้งสองและกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับคดี
 
“การพิจารณาคดีที่เป็นธรรมสำหรับ ซอ ลิน และเว พิว ในคดีที่ถูกฟ้องนี้ ควรทำให้เกิดความเชื่อมั่นให้ได้ว่า จะไม่มีการลงโทษผิดตัว โดยไม่ใช่เป็นการลงโทษผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งหากทีมทนายความจำเลยไม่สามารถทำหน้าที่ช่วยแก้ต่างให้จำเลยได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่แล้ว ก็จะทำให้จำเลยได้รับความไม่เป็นธรรมซ้ำซ้อน เพราะจะถูกดำเนินคดีอย่างเสียเปรียบและอาจถูกลงโทษประหารชีวิตได้ และถ้าหากจำเลยทั้งสองคนเป็นผู้บริสุทธิ์จริง คงจะไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ที่ผิดพลาด เช่นนี้ และนี่เป็นเหตุผลสำคัญในการจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้น เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอันเกิดจากการทำคดีนี้” เซนเทย์ ประธาน MWRN กล่าว
 
หากต้องการบริจาคเพื่อสนับสนุนให้จำเลยในคดีเกาะเต่า ได้รับการช่วยเหลือจนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริงแล้ว ท่านสามารถมีส่วนได้โดยเข้าไปที่ http://www.youcaring.com/nonprofits/justice-koh-tao-murder-case/246839 เงินทั้งหมดที่ได้จากการบริจาคทางเวปไซท์จะถูกโอนเข้าบัญชีเงินฝากของธนาคารในประเทศไทย ส่วนรายการใช้จ่ายเงินสามารถตรวจสอบได้ เพราะจะมีการบันทึกบัญชีการใช้จ่ายและจัดให้ทุกคนเข้าตรวจสอบบัญชีดังกล่าวได้เป็นระยะๆ โดยผ่านทาง YouCaring
 
ความเป็นมาของคดี
 
ฮันน่า วิทเทอริท อายุ 23 ปี และเดวิด มิลเลอ อายุ 24 ปี ถูกฆาตรกรรมอย่างทารุนโหดร้าย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 บนเกาะเต่า สถานที่ท่องเที่ยวในอ่าวไทยที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากชาวต่างประเทศ การสืบสวนสอบสวนคดีนี้ภายหลังเหตุการณ์ดูเหมือนเป็นไปอย่างยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ ทำให้หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ หรือทักท้วงอย่างกว้างขวาง ทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ และการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา รวมทั้ง ผู้ต้องสงสัยในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึงปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมคดีนี้ ทำให้เกิดความกังวลถึงความปลอดภัยต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทย
 
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557 แรงงานข้ามชาติ ซอ ลิน และ เว พิว ชาวพม่าที่มาจากรัฐยะไข่ ได้ถูกจับกุมตัวในข้อหาเข้าเมืองและอยู่ในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ต่อมา ถูกตั้งข้อหาว่า ข่มขืนกระทำชำเราและฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ในเบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งสองได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ผู้ต้องหาทั้งสองคนแจ้งแก่ทนายความของสภาทนายความ ว่า เป็นการรับสารภาพโดยไม่สมัครใจและไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามที่รับสารภาพ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่น ได้ร้องขอให้สภาทนายความพิจารณาช่วยเหลือและจัดหาทนายความมาต่อสู้คดีให้ โดยผู้ต้องหาทั้งสองได้ร้องขอความเป็นธรรมว่า ถูกซ้อมเพื่อบังคับให้รับสารภาพ และมีรายงานว่า ระหว่างสืบสวนสอบสวนคดีนี้ แรงงานข้ามชาติหลายรายได้ถูกละเมิดสิทธิในการสืบสวน และได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ไว้เพื่อที่จะยื่นเป็นหลักฐานเข้าไปในคดีนี้ด้วย
 
หลังจากรอคอยการฟ้องคดี ช่วงระหว่างที่มีการผลัดฟ้องของพนักงานอัยการหลายครั้ง ซึ่งจากการผลักดันของสื่อทั้งในและนอกประเทศ ในทางการทูต รวมถึง การเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้เเก่ผู้ต้องหาโดยครอบครัวของผู้ต้องหาทั้งสอง และจากการที่ทนายความคัดค้านการฝากขังของพนักงานอัยการ จนในที่สุดพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้อง ซอ ลิน และ เว พิว ต่อศาลจังหวัดเกาะสมุย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ด้วยหลายข้อหา ต่อมา มีการสอบคำให้การจำเลย ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองยังคงยืนยันให้การปฏิเสธตามฟ้อง จนมาในวันตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ศาลได้กำหนดวันสืบพยานของทั้งสองฝ่าย รวม 18 วัน โดยกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์วันแรก คือ วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ซึ่งทนายความจำเลยได้ระบุขอสืบพยานบางคน นอกศาลจังหวัดเกาะสมุย โดยจะขอสืบในศาลกรุงเทพมหานคร ซึ่งศาลไม่อนุญาต แต่อาจพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้สืบพยานผ่านทางจอภาพระหว่างประเทศหรือจากกรุงเทพมหานคร
 
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย ญาติของผู้เสียชีวิต จำเลยและครอบครัวในคดีนี้ ก็คือ การที่ทุกฝ่ายจะได้รับความยุติธรรมอย่างมีหลักประกัน รวมทั้ง จำเลยสามารถต่อสู้และแก้ต่างทางคดีได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรม อันถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ความยากลำบากเป็นพิเศษในการแก้ต่างคดีนี้ ก็เนื่องจากเป็นคดีที่มีพยานบุคคลมากถึง 100 ปาก รวมทั้ง พยานเอกสารกว่า 1,000 หน้า พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ แทบทั้งสิ้น
 
ส่วนความยากลำบากในการช่วยเหลือคดีในศาล ก็คือ การพิจารณาคดีที่กระทำกันบนเกาะสมุย โดยต้องใช้เวลาว่าความในศาลเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 18 วันเต็ม ซึ่งศาลจังหวัดเกาะสมุยกำหนดช่วงเวลาให้อยู่ภายในสามเดือน โดยที่ทนายความหลักของจำเลยล้วนอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น อีกทั้ง เกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทำให้มีค่าครองชีพสูง ส่วนสถานที่พักก็ต้องจ่ายในราคานักท่องเที่ยว รวมทั้ง การพิจารณาคดีในศาลจะต้องมีการใช้ล่ามถึงสามภาษา ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนที่ต้องให้พยานเบิกความในศาล และอาจต้องให้พยานบางคนเบิกความผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ การให้ความปลอดภัยแก่พยานที่มีความจำเป็นและต้องคุ้มครองพยานกันเอง ซึ่งหากปราศจากเงินทุนที่พอเพียงแล้ว ก็เป็นไปได้ยากที่จะมีพยานมาเบิกความเพื่อให้จำเลยทั้งสองได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม จนอาจเกิดความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรมได้
 
เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติเคยตั้งกองทุนฉุกเฉินขึ้นมาแล้วหนึ่งครั้ง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งสามารถระดมทุนได้เกือบ 20,000 เหรียญสหรัฐ แต่ได้ใช้จ่ายไปในช่วงการเตรียมคดีเบื้องต้นไปทั้งหมด จึงได้เริ่มต้นระดมทุนอีกเป็นครั้งที่สองเพื่อนำมาใช้ในการเตรียมคดีโดยละเอียดและการดำเนินคดีในศาล ซึ่งครอบคลุมระยะเวลา ทั้งสิ้น 10 เดือน ซึ่งนอกจากทนายความที่แก้ต่างทางคดีให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนของทีมงานที่สนับสนุนการจัดเตรียมพยานด้วย รวมทั้ง เงินช่วยเหลือจำเลยทั้งสองในการปรับสภาพชีวิตในเรือนจำ และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นระหว่างที่ถูกคุมขังตลอดช่วงเวลาของการพิจารณาคดี จนกว่าศาลจะมีคำสั่งปล่อย
 
การจ้างผู้ประสานงานและจัดการเรื่องต่างๆ ทางคดี คือ สิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการทันที เพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมทนายความ และทีมสนับสนุนที่เป็นนักสิทธิมนุษยชน ที่ช่วยเหลือคดีในด้านอื่นๆ ซึ่งทุกคนต่างเข้ามาช่วยคดีโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนั้นค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการเดินทางไป-กลับเกาะสมุย ที่จำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน การเดินทางและพักอาศัยระหว่างที่ต้องทำงานอยู่บนเกาะสำหรับทีมสนับสนุน และการช่วยเหลือจำเลยในสิ่งที่จำเป็นในเรือนจำ ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางและที่พักของพยานผู้เชี่ยวชาญ ค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองพยานและการย้ายถิ่นที่อยู่สำหรับพยานจำเลยบางคน รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการรวบรวมหลักฐาน และการดำเนินการให้พยานเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย เพื่อมาเป็นพยานในคดี เป็นต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net