Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


หลังรัฐประหารไม่นาน คณะรัฐประหารประกาศห้ามมิให้สื่อโดยเฉพาะทีวี สัมภาษณ์หรือจัดรายการให้นักวิชาการได้พูดอะไรแก่สาธารณชน ผมรู้สึกแปลกใจว่าเหตุใดจึงห้ามแต่นักวิชาการ ยังมีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ได้ถูกปรับทัศนคติเหลืออยู่ ที่พอจะพูดอะไรได้ ทหารนอกราชการที่มีความเห็นไม่ตรงกับ คสช.และเพราะไม่ได้อยู่ในราชการแล้ว ย่อมไม่อึดอัดที่จะแสดงความเห็นของตนเอง ก็คงมีอีกไม่น้อย (ที่นึกออกทันทีก็เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นต้น) แม้แต่ประชาชนคนธรรมดา ก็อาจมีความเห็นหรือทัศนคติที่ไม่ตรงกับ คสช.ได้เหมือนกัน... ทำไมต้องเป็นนักวิชาการ

เรามีวิธีพิจารณาเรื่องนี้ไปได้สองทาง หนึ่งก็คือมีนักวิชาการบางคนที่คณะรัฐประหารเหม็นหน้า จึงต้องป้องกันไม่ให้พูดอะไรกับสาธารณชนได้ อย่างน้อยก็ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ดังนั้นในปัจจุบัน จึงไม่มีทีวีช่องไหนเชื่อฟังคำสั่งเรื่องนี้ไปแล้ว แต่พิจารณาอย่างนี้มีปัญหาตรงที่ว่า เป็นการเดาใจผู้ถืออำนาจ ซึ่งผมไม่รู้จักสักคน โอกาสผิดจึงมีมากกว่าถูก นอกจากนี้ การห้ามนักวิชาการทั้งหมด ก็เท่ากับห้ามนักวิชาการฝ่ายรัฐประหารเองอีกมาก ไม่ให้ได้พูดแก่สาธารณชนถึงข้อดีวิเศษของการทำรัฐประหาร

หรือพิจารณาอีกทางหนึ่งคือดูที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-ทุน-นักวิชาการ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องจัดการในสังคมทุนนิยมส่วนใหญ่ ผมจึงขอนำความเข้าใจเรื่องนี้ในสังคมอื่นมาปรับใช้กับสภาพที่เป็นจริงในสังคมไทย

ก่อนอื่นต้องเตือนไว้ก่อนว่า นักวิชาการนั้นไม่มีประโยชน์อะไรแก่สังคมเลย ไม่ว่าเขาจะเก่งแค่ไหน หรือค้นพบอะไรที่สำคัญมากแค่ไหน หากเขาไม่สื่อสารกับคนอื่น จะเพราะไม่อยากสื่อสารเอง หรือถูกห้ามสื่อสารก็ตาม เขาก็ไม่ได้ทำอะไรให้สังคมเลย

ตามปกติแล้ว สื่อชอบหาข่าวจากราชการ เพราะสื่อมีอคติว่า ราชการรู้ดีที่สุด เพราะเป็นคนลงมือทำเอง หรือปรึกษาหารือเพื่อจะลงมือทำเอง ฉะนั้นจึงน่าจะเป็นคนรู้ดีที่สุด ทั้งสิ่งที่ราชการคิดและทำก็น่าจะมีผลต่อสังคมวงกว้าง จึงจะหาข่าวอะไรที่เป็นข่าวที่สำคัญยิ่งไปกว่าเอามาจากราชการไม่ได้ (แน่นอน รวมนักการเมืองทุกรูปแบบด้วย)

ในขณะเดียวกัน เมื่อเชื่อข่าวราชการเสียแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเจาะข่าวนั้นให้มากไปกว่าคำให้สัมภาษณ์ จึงไม่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นด้านข่าวสืบสวน

แต่มีสิ่งที่สื่อไม่ค่อยระแวงราชการอยู่หลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าจะวางนโยบายหรือทำอะไรก็ตาม ราชการย่อมคิดจากแนวทางอันเดียว คือแนวทางที่จะรักษาอำนาจของรัฐและทุนไว้เหนือสังคม เพียงแต่ไม่รักษาอำนาจไว้ด้วยกำลังบังคับ (จะเป็นนายกฯไปทำไมวะ) แต่ใช้วิธีสร้างความคิดที่ยอมรับระบบคุณค่า, ระเบียบ, มาตรฐานและระบบช่วงชั้น ซึ่งทำให้รัฐและทุนได้เปรียบ ภาษาของมาร์กซิสต์เรียกสิ่งนี้ว่าอุดมการณ์

ฉะนั้น สิ่งที่ราชการพยายามทำให้สื่อเชื่อคืออคติจากอุดมการณ์นี้

ในสหรัฐอเมริกา กระทรวง ทบวง กรม ลงทุนไปกับการ "ประชาสัมพันธ์" มากทีเดียว ขึ้นชื่อว่าประชาสัมพันธ์ย่อมไม่ได้มุ่งจะบอกความจริง เท่ากับบอกสิ่งที่อยากให้เชื่อ งานประชาสัมพันธ์ของราชการสหรัฐนั้น ทำงานกับสื่ออย่างมาก ไม่ใช่แค่ให้ข่าว แต่ใช้วิธีการอันหลากหลายที่จะทำให้สื่อยอมรับสารของตน แล้วนำไปเผยแพร่ รวมทั้งมีวิธีจะ "เลี้ยง" คอลัมนิสต์ดังๆ ให้ไม่วิจารณ์ออกไปนอกแนวที่ราชการต้องการ เช่นผู้ใหญ่ของกระทรวงให้ความสนิทสนม, แอบปล่อยข่าวให้เป็นพิเศษบางเรื่อง, อ้างถึงบทวิจารณ์ของเขาในการพูดสาธารณะ ฯลฯ (แน่นอนให้ผลประโยชน์ทางการเงินด้วยเป็นบางราย)

ผมคิดว่า ในเมืองไทย ราชการยังไม่เชี่ยวชาญกับการประชาสัมพันธ์แบบนี้นัก โดยมากนักการเมืองและเอกชนบางรายทำได้เก่งกว่ากันมาก แม้กระนั้นนักข่าว "สาย" ต่างๆ ก็มีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกับราชการ ทั้งข้าราชการและนักการเมือง เพราะถือว่าคนเหล่านี้เป็นแหล่งข่าวชั้นดี บางครั้งก็ทำให้น่าสงสัยว่าสิ่งที่นักข่าวรายงานนั้น เป็นการสืบค้นและตรวจสอบของนักข่าวเอง หรือเป็นข่าวปล่อยเพื่อผลทางการเมืองกันแน่

บริษัทยักษ์ใหญ่ ลงทุนกับการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน และแทรกเข้าไปอุดหนุนนักหนังสือพิมพ์กันอย่างเป็นระบบ ในเมืองไทยทำกันอย่างทื่อๆ โดยไม่ต้องอายเลย อย่างที่สำนักข่าว TCIJ เคยรายงานจนอื้อฉาวไปแล้ว

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่นอกราชการ แต่เข้าถึงสื่อได้ง่ายพอๆ กันคือนักวิชาการ คนเหล่านี้อ้างการวิจัยค้นคว้า หรือความเห็นของนักวิชาการดังๆ ระดับโลก เพื่อบอกว่ามี "ความจริง" อีกแง่หนึ่งซึ่งตนครอบครองอยู่ และสังคมควรรับรู้เหมือนกัน พลังความน่าเชื่อถือของนักวิชาการก็คือ ไม่แสดงให้เห็นว่ามีผลประโยชน์พัวพันอยู่กับนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง หากพลังนี้ถูกทำลายลง "ความจริง" ที่เขาเสนอก็มีน้ำหนักน้อยลง

(แต่ในความเป็นจริง นักวิชาการก็เป็นปุถุชน ย่อมไม่ปลอดพ้นจาก "ผลประโยชน์" โดยสิ้นเชิง เพียงแต่มักเป็นผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์หรือเชิงสังคม ตราบเท่าที่ไม่ใช่ผลประโยชน์เชิงวัตถุ สังคมก็พอรับได้)

ดังนั้น นักวิชาการจึงเป็นตัวอันตรายแก่การโฆษณาแนวนโยบายของรัฐและทุน เพราะพวกนี้อาจให้ข่าวที่ไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายได้ ร้ายยิ่งไปกว่านั้น คนกลุ่มนี้ยังอาจเข้าถึงสื่อได้หลายทาง ถึงไม่ลงหนังสือพิมพ์, ก็อาจให้ความเห็นในวงสัมมนา ส่งบทความไปลงสื่อต่างประเทศ ถูกสื่อต่างประเทศสัมภาษณ์ หรือคุยนอกรอบกับสื่อได้หลายชนิด

สื่อจึงชอบจับเอานักวิชาการเป็นแหล่งข่าว เพราะง่าย และดูเหมือนได้เสนอข่าวอย่างมีสมดุลแล้ว

ในสหรัฐซึ่งไม่สามารถใช้อำนาจรัฐประหารปิดปากใครอย่างเปิดเผยได้ รัฐและทุนมีวิธีที่จะทำให้เสียงของนักวิชาการค่อยลง หรือเข้ามาหนุนแนวนโยบายของรัฐและทุน วิธีโดยสรุปคือนำนักวิชาการเข้ามาอยู่ใน หรือเข้ามาสัมพันธ์กับองค์กรแห่งอำนาจ เช่น ตั้งเป็นที่ปรึกษา, เป็นกรรมการในคณะกรรมการที่รัฐตั้งขึ้น, ให้ทุนวิจัย, ให้รางวัล ฯลฯ เป็นต้น เมื่อถูกผนวกกลืนไปแล้ว นักวิชาการเหล่านี้ก็ได้รับการหนุนให้ส่งเสียงผ่านสื่อ แม้เป็นความเห็นที่อาจไม่ตรงกับของราชการและทุนนัก แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อรัฐและทุนทำงานร่วมกันอย่างแนบแน่นเช่นในสหรัฐ นักวิชาการหัวแข็งก็มักถูกเด็ดปีก ทำให้วงสื่อสารของเขาแคบลง เช่น Noam Chomsky แม้มีชื่อเสียงระดับโลก แต่งานของเขาเกือบทั้งหมด (นอกจากภาษาศาสตร์) ไม่เคยถูกตีพิมพ์ในสหรัฐเลย ภาพยนตร์สารคดีหลายเรื่องของไมค์ มัวร์ ไม่ได้เข้าโรงในเครือใหญ่ๆ

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้นักวิชาการเหล่านี้สามารถสร้างวงสื่อสารที่ไม่ต้องอาศัยรัฐและทุนด้วย เช่นงานของ Noam Chomsky หลายชิ้นได้รับการเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต ในรูปของไฟล์เวิร์ดธรรมดาๆ นี่เอง และหากอยากดูสารคดีของไมค์ มัวร์ ก็อาจหาซื้อแผ่นดีวีดีมาดูที่บ้านได้

สภาพของเมืองไทยนั้นแตกต่างจากสหรัฐมาก

ทุนกับรัฐในสังคมไทยผสานเข้าหากันก็จริง แต่ยังไม่แนบแน่นนัก เพราะชนชั้นนำของทั้งรัฐและทุนในปัจจุบันแตกร้าวกันเป็นเสี่ยงๆ ไม่เว้นแม้แต่ทุนสื่อสาร นี่อาจเป็นช่องทางที่ทำให้นักวิชาการนอกกระแสหลักยังพอเข้าถึงวงสื่อสารได้ ฉะนั้น คำสั่งของคณะรัฐประหารจึงไม่สัมฤทธิผลเต็มที่นัก

นักวิชาการไทยที่เคยเป็นขาประจำของสื่อจำนวนไม่น้อย เข้ารับตำแหน่งที่ คสช.จัดไว้ให้ จึงทำให้พลังของเขาต่อสังคมลดลงไป อย่างน้อยทุกคนก็เห็นว่าความเห็นของเขาย่อมสัมพันธ์กับผลประโยชน์ของ "ข้าง" ที่เขาเลือก อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เปรียบเทียบกับสหรัฐ อำนาจฝ่ายรัฐและทุนจะไม่ทำลายนักวิชาการที่ตน "เลี้ยง" ไว้อย่างง่ายๆ เช่นนี้ แต่รัฐรัฐประหารของไทยมีอำนาจน้อย จึงต้องอาศัยชื่อนักวิชาการเหล่านี้ แม้จะลดพลังลงแล้ว เข้ามาสนับสนุนอำนาจของตนเอง

นักวิชาการนอกกระแสหลักของไทยในช่วงนี้ จึงพยายามสร้างวงสื่อสารของตนในรูปอื่นๆ ที่อยู่พ้นจากอำนาจของคณะรัฐประหาร หลายคนมีเฟซบุ๊กที่เปิดค่อนข้างสาธารณะ บางคนจัดสัมมนาทางวิชาการ ซึ่งทำให้สิ่งที่พูดกันในวงสัมมนาถูกเผยแพร่ มากบ้างน้อยบ้างออกไปในวงกว้างกว่าห้องสัมมนา แต่ในปัจจุบันก็ถูกกรองไปมากแล้ว เพราะฝ่ายความมั่นคงวางกฎว่าจะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อนจึงจัดได้

แต่การสร้างวงสื่อสารใหม่ๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้อีก เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยบางท่าน ถอดคำบรรยายในชั้นเรียนออกเผยแพร่แก่สาธารณชน (อำนาจรัฐประหารพยายาม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จที่จะแทรกเข้าไปกำกับชั้นเรียนได้เด็ดขาด) บางท่านออกไปร่วมสัมมนาในต่างประเทศ ซึ่งสามารถพูดหรือเสนอบทความที่ตรงไปตรงมาอย่างไรก็ได้ คำพูดและบทความเหล่านี้ถูกสะท้อนกลับเข้าสู่สังคมไทยอย่างที่กีดกันไม่ได้ในภายหน้า ดูจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ก็เชื่อว่าก็คงมีการเปิดวงสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก รวมทั้งในงานศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งเป็นพื้นที่อันทรงพลัง แต่ยังถูกใช้เพื่อการสื่อสารทางสังคมและการเมืองในปัจจุบันน้อยเกินไป

คณะรัฐประหารจะทำอย่างไรกับนักวิชาการนอกกระแสหลักเหล่านี้ อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเปิดให้ทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ในรัฐรัฐประหาร อำนาจไม่ได้มาจากกฎหมาย (เพราะหากมาจากกฎหมาย ก็ไม่มีรัฐรัฐประหารมาแต่ต้นแล้ว) ผมไม่เชื่อด้วยว่าอำนาจจะมาจากปากกระบอกปืน เพราะไม่มีสังคมอะไรสักแห่งเดียวในโลกที่อำนาจมาจากปากกระบอกปืนจริงๆ (รวมทั้งรัฐสังคมนิยมแบบเหมาด้วย) ถึงที่สุดแล้ว อำนาจมาจากความเป็นไปได้ทางสังคมและการเมืองในรัฐนั้น และในช่วงนั้น การใช้อำนาจผิดที่ผิดจังหวะ จะเป็นผลให้อำนาจที่มีอยู่ถูกบั่นรอนลงด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ว่าอำนาจอะไรในโลกนี้ ล้วนมีข้อจำกัดทั้งนั้น

ดังนั้น นักวิชาการนอกกระแสหลักจึงไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่แท้จริงของ คสช. คู่ต่อสู้ที่แท้จริงคือสังคมไทย ซึ่งได้เปลี่ยนมาตรฐานความชอบธรรมทางการเมืองไปแล้วต่างหาก ตราบเท่าที่คนจำนวนมาก (จะเกินครึ่งหรือไม่ก็ตาม) ยังเห็นความชอบธรรมทางการเมืองแตกต่างจากคณะรัฐประหารและบริวาร ตราบนั้นนักวิชาการนอกกระแสหลักก็ยังคงสามารถสื่อสารของพวกเขาได้อยู่ตราบนั้น

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน 26 มกราคม 2558

ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net