มายาคติ ‘ความจริงของแผ่นดินไทย’ แบบประเวศ วะสี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี ในฐานะ “ราษฎรอาวุโส” แห่งสยามไทย หรือฐานะอื่นๆ อีกจำนวนมากที่สังคมให้ความยกย่องเชื่อถือ ท่านมักวิจารณ์สังคม เศรษฐกิจ การเมืองและเรื่องอื่นๆ อยู่เสมอๆ ทุกครั้งที่แสดงความเห็นอะไรสื่อก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษ แต่โดยรวมๆ แล้วท่านวิจารณ์เรื่องต่างๆ บนจุดยืน(ที่ท่านเข้าใจว่า) “ความเป็นไทย” และ “พุทธศาสนา” ล่าสุดท่านได้เขียนบทความเสนอ “วิธีแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ด้วย 3 ยุทธศาสตร์” (มติชนออนไลน์ 12 มกราคม 2558)

ด้วยสติปัญญาแค่หางอึ่ง ผมคงไม่บังอาจวิจารณ์ “3 ยุทธศาสตร์” ที่ท่านเสนอ แต่ผมสะดุดใจข้อความอารัมภบทของคุณหมอประเวศ ที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไรหรอก เพราะท่านก็พูดแบบนี้มาหลายปีแล้ว อย่างที่ท่านวิจารณ์ “การศึกษาแบบท่องจำ” นั่นแหละ ท่านก็พูดอะไรเดิมๆ แบบท่องจำเหมือนกัน แต่ที่ผมเขียนบทความนี้ เพราะเห็นว่ากระทั่งสังคมเดินมาถึงวันนี้แล้วท่านยังพูดแบบเดิมๆ ทำนองนี้อีกอยู่หรือครับว่า

เราแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่สำเร็จ ที่จริงแก้อะไรอะไรๆก็ไม่สำเร็จ เพราะระบบการศึกษาแผนปัจจุบันที่ดำเนินมา ๑๐๐ กว่าปี ที่ทำให้คนไทยไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย เพราะเป็นการศึกษาแบบท่องวิชา ที่ต่อท่อความรู้จากยุโรปมาไทย แล้วก็ไปเรียนเมืองนอก การไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทยทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ ภูมิปัญญาแบบอาณานิคม เมื่อใช้กับปะเทศไทยที่มี “ภูมิสังคม” แตกต่างกันก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง (เน้นโดยผู้เขียน)

ข้อความไม่กี่บรรทัดนี้มีประเด็นให้ถกเถียงเยอะมากเลยครับ เรื่อง “เรียนเมืองนอก” นั้นข้ามไปเลยว่าคุณหมอก็ไปเรียนเมืองนอกเหมือนกัน และเรื่องที่คุณหมอ “วิจารณ์สังคม” ก็ไม่ใช่ “ความจริงของแผ่นดินไทย” หรือ “ความเป็นไทย” อะไรเลย เพราะนักวิจารณ์สังคมไทยยุคแรกๆ เช่นเทียนวรรณ, ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นต้น ก็เรียนภูมิปัญญาวิจารณ์สังคมจากฝรั่ง วัฒนธรรมวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่วัฒนธรรมไทยเลยครับ

แต่ประเด็นที่ผมอยากขอแลกเปลี่ยนคือ ท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ “ภูมิปัญญาแบบอาณานิคม” นั้น มันเป็นท่าทีที่ “เก่า” จะเรียกว่า “ล้าหลัง” มากๆ เลยก็ว่าได้ นอกจากจะเก่าและล้าหลังแล้ว จุดเริ่มต้นของท่าทีแบบนี้ยังอยู่บนฐานของ “มายาคติ” ของความเป็น “ชาตินิยม” ฉาบฉวย ที่สร้างขึ้นในยุคเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคมยุโรปอีกด้วย

ในยุคนั้นประเทศต่างๆ ในเอเชีย รับไม่ได้กับการกดขี่ของประเทศเจ้าอาณานิคมยุโรป จึงหาวิธีต่อสู้ (ซึ่งก็มีเหตุผลที่ยอมรับได้และควรยอมรับ) เฉพาะชนชั้นนำ (elites) พระสงฆ์ และชนชั้นกลางใหม่ในประเทศที่นับถือพุทธเช่น ศรีลังกา พม่า ไทย เป็นต้น ลึกๆ แล้วต่างรู้สึกว่าภูมิปัญญาแบบยุโรป เช่นวิทยาศาสตร์ ความมีเหตุผล ความเป็นประชาธิปไตยก้าวหน้ากว่าภูมิปัญญาของตัวเอง แต่นั่นมันเป็น “ของตะวันตก” เป็นของประเทศที่กดขี่เรา จะยอมรับตามเขาไปเลยคงไม่ได้ ทางที่ถูกต้องแสดงให้เห็นว่าเรามีอารยธรรมทางปัญญาของตัวเองไม่ด้อยไปกว่าเขา หรือเหนือกว่าเขา

แล้วอะไรล่ะคือ “อารยธรรมทางปัญญา” ที่เรามี ชนชั้นนำ พระสงฆ์ และชนชั้นกลางใหม่เวลานั้นสำรวจดูแล้วก็ไม่มีอะไรที่เราจะแข่งกับฝรั่งได้ นอกจาก “ภูมิปัญญาพุทธศาสนา” ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมทางปัญญา(นอกเหนือจากความรู้ทางวิชาชีพ) ที่ประเทศตัวมีอยู่ในเวลานั้น แต่ภูมิปัญญาของ “พุทธศาสนาแบบประเพณี” (traditional Buddhism) ที่รับมาจากอินเดียก็ถูกผสมผสานกับผี พราหมณ์ ความเชื่อทางไสยเวทย์ต่างๆ จนเป็นเนื้อเดียวกันมานานมาก ซึ่งฝรั่งเขาก็ดูถูกว่าเต็มไปด้วยความงมงาย เป็นสัญลักษณ์ของสังคมล้าหลังแบบยุคกลาง (บางทีฝรั่งเขาเรียกพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในยุคนั้นที่เป็นศาสนายกสถานะของเจ้าให้เป็น “เทพ” ว่า “medieval Buddhism”)

แล้วจะทำอย่างไร ในที่สุดชนชั้นนำ พระสงฆ์ ชนชั้นกลางใหม่ที่มีการศึกษาก็อ้างว่า พุทธศาสนาแบบประเพณีเช่นนั้น ไม่ใช่ “พุทธศาสนาบริสุทธิ์” แต่เป็นพุทธศาสนาที่ “ถูกปลอมปน” ด้วยพราหมณ์ ผี ไสยเวทย์ต่างๆ ฉะนั้น จึงต้องกลับไปหาพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ผุดผ่องคือ คำสอนที่เป็น “แก่นแท้” ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา

แต่แล้ว แทนที่ชนชั้นนำ พระสงฆ์ ชนชั้นกลางใหม่ที่จะอ้างว่า พุทธศาสนาที่บริสุทธิ์นั้นเป็นภูมิปัญญาที่ก้าวหน้ากว่าภูมิปัญญาตะวันตกเพราะว่าเป็น “พุทธศาสนา” แต่กลับอ้างว่า “พุทธศาสนาบริสุทธิ์นั้นมีความเป็นเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตยไม่ด้อยไปกว่า หรือเหนือกว่าภูมิปัญญาตะวันตก เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบมาก่อนกว่าสองพันปีแล้ว”

ทว่าไอ้ที่ว่า “ไม่ด้อยกว่า” หรือ “เหนือกว่า” นั้น ก็ไม่ได้เกิดจากการพิสูจน์ให้เห็นในทางเหตุผลและข้อเท็จจริง (หรือพิสูจน์ให้เห็นอย่างเป็นวิชาการ) ว่า ความมีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตย “แบบพุทธบริสุทธิ์” นั้น “ไม่ด้อยกว่า” หรือ “เหนือกว่า” ความมีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตย “แบบตะวันตก” อย่างไร หรือสิ่งที่ว่านั้นมันมีรูปร่างหน้าตาให้เห็นเป็นรูปธรรมปรากฏอยู่จริงในสังคมของตัวอย่างไร

เพียงแต่อ้างเพื่อข่มฝรั่งว่า ประเทศของตัวมี “อารยธรรมทางปัญญา” ไม่ด้อยกว่าหรือเหนือกว่าตะวันตกมานานแล้ว แปลว่าเป็นการอ้างพุทธศาสนาเพื่อเป็นฐานสร้าง “เอกลักษณ์ของชาติ” หรือความเป็น “ชาตินิยม” เพื่อ “ปลุกใจ” คนในชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธให้มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการต่อสู้กับนักล่าอาณานิคมเท่านั้น ซึ่ง ณ “บริบท” ของยุคนั้นก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลเข้าใจได้

แต่ประเด็นสำคัญนั้น อยู่ที่ว่า การอ้างเช่นนั้นมันเป็นการสร้าง “มายาคติ” (การหลอกตัวเอง) ใน 2 เรื่องหลักๆ คือ

1. หลอกตัวเองว่าชาติของตัวมี “พุทธศาสนาบริสุทธิ์” เป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติมายาวนาน (แต่ความจริงคือ “พุทธศาสนาบริสุทธิ์” ที่ว่านั้นมีแต่ใน “คัมภีร์” ที่เชื่อกันว่าเป็นบันทึกภูมิปัญญาพุทธในอินเดียสมัยพุทธกาลโน้น ในวิถีการเมือง สังคม วัฒนธรรมประเพณีของชาติต่างๆ ในอุษาคเนย์จริงๆ แล้ว มีแต่ “พุทธแบบประเพณี” ที่ผมสมผี พราหมณ์ ไสยเวทย์) และ

2. หลอกตัวเองว่า ชาติของตนดีกว่าฝรั่ง เพราะมีภูมิปัญญาพุทธบริสุทธิ์ ที่มีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตยไม่ด้อยกว่า หรือเหนือกว่าตะวันตก (แต่จริงๆ คือ ชาติต่างๆ ที่นับถือพุทธเหล่านั้นไม่เคยปกครองด้วย “ระบบประชาธิปไตยแบบพุทธ” ไม่เคยเป็นสังคมที่ใช้ “ความมีเหตุผลและความเป็นวิทยาศาสตร์แบบพุทธ” สร้าง “ความรู้” หรือ “ศาสตร์” อะไรขึ้นมาที่เทียบกับตะวันตกได้เลย ดังนั้นในความเป็นจริงชาติต่างๆ เหล่านี้จึงต้องรับเอา “วิชาความรู้” หรือการศึกษาสมัยใหม่แบบยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความจริงคือเขาก้าวหน้ากว่า คุณจึงต้องไปเรียนเมืองนอก ชนชั้นนำในอุษาคเนย์คือ “คนรุ่นแรกๆ” ที่ส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอกและรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมา)

ฉะนั้น คำถามก็คือว่า ทำไมจนวันนี้แล้ว คุณหมอประเวศ (ซึ่งก็ได้ไปเรียนเมืองนอกมา) จึงยังใช้ “จุดยืน” ต่อต้าน “ภูมิปัญญาแบบอาณานิคม” เหมือนชนชั้นนำในยุคกว่าร้อยปีที่แล้วในการเสนอ “ทางออก” สำหรับสังคมไทยในศตวรรษที่ 21 ที่โลกทั้งโลกแทบจะไม่มี “เส้นแบ่ง” ที่ชัดเจนทางวิชาความรู้ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไปแล้ว

คุณหมอประเวศ ต้องการให้เรากลับไปอยู่กับ “ความจริงของแผ่นดินไทย” หรือ “ภูมิสังคม” แบบ “ชาตินิยมฉาบฉวย” ที่สร้างขึ้นบนฐานของ “มายาคติ” เพื่อสู้กับลัทธิอาณานิคมแบบในอดีตเช่นนั้นหรือ?

ป่านนี้แล้ว เรายังจะไม่ยอมรับความจริงกันให้ได้หรือครับว่า มายาคติที่สร้างขึ้นนั้นมันทำให้เกิดความเป็น “ชาติ” หรือ “ความเป็นไทย” ที่ไม่สามารถจะเป็นประชาธิปไตยได้เสียที ไม่มีระบบรับประกัน “เสรีภาพ” ให้ประชนชาสามารถใช้ความมีเหตุผลวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบทุกเรื่องได้เสียที และด้วยเหตุนี้ความคิดและจิตวิญญาณแบบวิทยาศาสตร์ก็เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้เสียที!

 

  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท