Skip to main content
sharethis

4 พ.ย. 2557 เมื่อเวลา 10.30 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘คืนความจริง’ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ความยาว 10 นาที ของ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน ถึงประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของเสรีภาพการแสดงออกกับการทำงานศิลปะ รวมทั้งกล่าวถึงละครเจ้าสาวหมาป่าที่ผู้เกี่ยวข้อถูกดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112

ไอดา มองว่าพื้นฐานของศิลปะก็คือการแสดงออก ดังนั้นโดยพื้นฐานสุดที่จะแสดงออกได้นั้นจะต้องมีเสรีภาพ  ทั้งนี้ไม่จำกัดเฉพาะศิลปะ แต่การแสดงออกอะไรก็ตามก็ต้องการเสรีภาพเช่นกัน แต่การทำงานศิลปะมันก็เรียกร้องไปอีกขั้นที่จะใช้ทักษะ ความคิด ที่จะถ่ายทอดออกมา และในกระบวนการนั้นยิ่งต้องอาศัยเสรีภาพในการที่จะสื่อสารเนื้อหาที่ไปได้ลึกขึ้น เทคนิควิธีและเนื้อหาที่อาจจะท้าทายมากขึ้น แต่โดยพื้นฐานแล้วแยกจากกันไม่ได้

“ถ้าไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีงานศิลปะ” ไอดา กล่าว

ไอดา กล่าวว่า มันเป็นไปไม่ได้ในทางความคิดว่าเสรีภาพอะไรมากไปอะไรน้อยไป มันมีแต่มีหรือไม่มีเสรีภาพ ในกรอบของการใช้เสรีภาพอาจจะเกิดความเสียหายได้ เช่น ใช้เสรีภาพในการทำลายชื่อเสียงของคนอื่น แต่นั้นหมายถึงว่าต้องมีกระบวนการอื่นๆ ที่จะมาตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ หรือว่าจัดการถกเถียงกับการใช้เสรีภาพนั้น แต่ต้องไม่ใช่การจำกัดเสรีภาพหรือการขีดเพดานแล้วบอกว่านี่คือมากไปน้อยไป เราอยู่ในสังคมที่กังวลเหลือเกินกับการมีเสรีภาพมากเกินไป จนกระทั่งเราคอยที่จะเพิ่มกลไกในการที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพในแต่ละกลุ่ม

นอกจากนี้ ไอดา ยังกล่าวถึงละครเวทีเรื่องเจ้าสาวหมาป่าว่า ไม่สามารถที่จะกล่าวถึงในเรื่องเนื้อหาเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกฏหมายในสังคมนี้ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอังกฤษที่มีละครล้อเลียนราชวงศ์แล้ว ถือว่าละครเจ้าสาวยังเบามาก เพราะที่อังกฤษมีการล้อเลียนกันตรงไปตรงมา แต่ไม่มีใครมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันฯ หรือกระทบกระเทือนศีลธรรมอันดีงาม ในประเทศเสรีทั่วไปที่เข้าใจเรื่องของการแสดงออก เรื่องศิลปะ การล้อเลียนในระดับละครเจ้าสาวหมาป่าทำนั้น ไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นตระหนกอะไร

ไอดา มองว่า เราอยู่ในสังคมที่เพดานต่ำมาก จนพูดอะไรก็ไม่ได้ ความท้าทายของศิลปินตอนนี้อยู่ที่ว่าขอแค่ได้พูด แต่ไม่สามารถไปถึงจะพูดแบบไหนด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับที่อื่นๆ พูดได้มากและแรงกว่านี้ด้วยซ้ำ แค่ขอให้ได้พูดได้เอ่ยก็ถือเป็นความท้าทายสุดขีดแล้ว เป็นการทะลุเพเดานสุดขีดแล้ว นี่คือสภาพที่น่าเห็นใจของงานศิลปะในเมืองไทย มากสุดที่จะทำได้คือการใช้สัญลักษณ์ ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานมาก

ระหว่างให้สัมภาษณ์ ไอดา ได้หยิบเสื้อสีแดงขึ้นมาสวม พร้อมกล่าวด้วยว่า ตอนนี้ถ้าใครรู้สึกอยากไว้ทุกข์ให้กับสถานการณ์การเมืองไทยก็ต้องใส่เสื้อดำ แต่ถ้าอยากท้าทายให้ถึงที่สุดก็คือต้องใส่เสื้อสีแดง เพราะตอนนี้สีแดงมีปัญหา หลายคนไม่กล้ามีวัตถุสีแดงอยู่ในบ้าน  ดังนั้นถ้าศิลปินหรือใครก็ตามที่ต้องการจะต่อต้านหรือคัดค้านก็ต้องใส่สีแดง 

นี่คือภาวะเดียวกันกับ"เจ้าสาวหมาป่า"คือขอให้ได้พูดถึง subject และ object ขึ้นมาซักอย่างก็คือบรรลุแล้ว ยังไม่ทันถึงว่าต้องไปถกเถียงให้ซับซ้อนกว่านั้น ไม่ต้องมาถกเถียงว่าคุณมีปัญหาอะไรกับ"สีแดง"

ในแง่ของศิลปะแล้ว สถานการณ์แบบนี้ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่มันเป็นโอกาสที่จะท้าทาย เพราะศิลปะคือการแสดงออก และความท้าทายคือการที่คุณจะมีเทคนิคหรือความสามารถที่จะแสดงออกนั้นมันเป็นไปได้อย่างไรภายในสภาพที่เขาจำกัดเสรีภาพ อันนี้น่าจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับคนทำงานศิลปะ

ไอดา กล่าวในตอนท้ายถึงข้อเสนอต่อศิลปิน 2 อย่าง ว่า หนึ่ง คือ ‘ดิ้นรน’ ที่จะหาวิธีการที่จะแสดงออกในทางศิลปะ ทั้งที่ในสภาพตอนนี้การวิจารณ์หรือเขียนงานวิชาการอาจจะไม่ใช่คำตอบ เพราะว่าเราพูดอะไรที่ชัดเจนโจ่งแจ้งไม่ได้ ศิลปะอาจเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจ แต่ถ้าไม่เช่นนั้น ในแบบที่สองก็คือ ‘ไม่ต้องทำ’ เหมือนยุค 2500 ที่พอปัญญาชนถูกปราบแล้วนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าก็ต้องไปเขียนนิยายประโลมโลกย์ คือให้เห็นไปว่าสังคมนี้ไม่สมควรที่จะมีงานศิลปะ ไม่สมควรที่จะมีความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม สติปัญญา ภายใต้ข้อจำกัดของเสรีภาพแบบนี้ ก็ไม่ต้องหลอกตัวเองว่าเราเป็นประเทศที่ก้าวหน้า มีศิลปิน เราก็คือประเทศล้าหลังประเทศหนึ่ง ไม่ต้องสร้างงานศิลปะเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการดำรงอยู่ของประเทศล้าหลังนี้

สำหรับวารสาร ‘อ่าน’ นั้นจากบางส่วนจากบทบรรณาธิการฯ ฉบับปฐมฤกษ์ ได้ประกาศตัวว่า "พื้นที่ของ อ่าน เป็นพื้นที่ของการวิจารณ์ที่เชิงอรรถไม่มีราคาเท่าการกล้าแสดงน้ำเสียง อคติ จุดยืน (และกระทั่งรวมถึงอารมณ์ขันทั้งที่ขื่นและไม่ขื่น) และเป็นพื้นที่ของการวิจารณ์ที่ต้องสามารถตรวจสอบ โต้แย้งได้ และไม่อนุญาตให้ผูกขาดการมี “judgement of taste” ไว้ที่อาวุโสหรือฐานันดรทางวิชาการใด ทว่าทั้งหมดนี้ต้องตั้งอยู่บนฐานของความรับผิดชอบ และรอบด้านในการกลั่นออกมาเยี่ยงงานวิชาการ และเหนืออื่นใด ต้องเป็นการวิจารณ์ที่ไม่บอดใบ้ต่อการเมืองวัฒนธรรมที่ดำเนินไปในโลกที่แวดล้อมการอ่านนั้น แม้จะตระหนักอยู่ร่วมกันถึงข้อจำกัดในสังคมที่เพดานการวิจารณ์ในทางการเมืองวัฒนธรรมต่ำใต้ธุลี

อ่าน เปิดกว้างสำหรับนักอ่านทุกท่าน ที่จะร่วมกันทำให้พื้นที่ของความขัดแย้งในตัวเองนี้ คือมาตรฐานที่ต่างออกไป ด้วยหวังให้เกิดบรรยากาศของวัฒนธรรมการวิจารณ์ที่เข้มแข็ง สร้างสรรค์ แต่สามัญพอที่จะไม่ต้องกีดกันคนส่วนใหญ่ เรียกมันง่ายๆว่า วิชาการในทางเนื้อหา สามัญสำนึกในทางจุดยืน หรือถ้าจะให้รื่นหูกว่านั้น อาจเรียกมันว่า งานวิชาการเพื่อความบันดาลใจ เช่นนั้นแล้ว อ่าน ไหม อ่านไปด้วยกัน



หมายเหตุ: แก้ไขรายละเอียดบางส่วนเมื่อ 5 ธันวาคม 2557  เวลา 11.45 น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net