สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ดูเหมือนว่าสวนโมกขพลารามได้ถูกใช้เป็นฐานที่มั่นในการใช้ศาสนาเพื่อเป้าหมายทางการเมืองของหลวงลุงกำนันสุเทพไปเรียบร้อย เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่อบรมปฏิบัติธรรมแก่มวลมหาประชาชน กปปส.ที่ศรัทธาในตัวหลวงลุงกำนันแล้ว ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรม “อุปสมบทถวายพระราชกุศล” ซึ่งมีนัยยะสำคัญในทางการเมือง

เนื่องจากพระสุเทพทั้งต้องคดีในฐานะผู้มีอำนาจสั่งสลายการชุมนมปี 2553 ที่เป็นเหตุให้ประชาชนล้มตายเกือบ 100 คน บาดเจ็บร่วม 2,000 คน และทั้งเป็นแกนนำหลัก กปปส.ที่ต่อสู้ทางการเมืองขัดขวางการเลือกตั้งจนเป็นเหตุให้เกิดรัฐประหาร 2557 และจนบัดนี้พระสุเทพยังใช้สถานะความเป็น “พระภิกษุ” เทศนาสนับสนุนแนวทางปฏิรูปของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร สถานะความเป็นพระกับความเป็น “นักการเมือง” และกิจกรรมทางศาสนากับกิจกรรมทางการเมืองจึงเป็นเนื้อเดียวกัน

ในแง่หลักการกว้างๆ อาจอธิบายได้ว่า ในฐานะสวนโมกข์เป็นสำนักปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนาที่เปิดสำหรับคนทั่วไป ดังนั้นใครจะมาปฏิบัติธรรมหรือบวชก็ย่อมได้ แต่ในกรณีของพระสุเทพยังมีข้อกังขาในแง่ของ “ความถูกต้อง” ตามพระธรรมวินัย เนื่องจากมีข้อบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการอุปสมบทว่า คนที่ต้องคดี (มีคดีความติดตัว) ไม่สามารถอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ ลองคิดดูว่าหากเป็นคนอื่นที่ต้องคดีเกี่ยวกับการทำให้คนตาย คณะสงฆ์สวนโมกข์หรือคณะสงฆ์ที่ไหนๆ จะทำการอุปสมบทให้หรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับคณะสงฆ์ไทยแล้วดูเหมือนจะมีประเพณีปฏิบัติแบบ “ยกเว้น” ให้สำหรับคดีทางการเมือง ดังในสมัยอยุธยา สมเด็จพระสังฆราชได้รับนิมนต์จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นำพระสงฆ์ผ่านกองทัพยึดอำนาจที่ล้อมวัง เข้าไปทำสังฆกรรมผูกสีมา และอุปสมบทข้าราชการผู้ใหญ่ แล้วนำพระใหม่อดีตขุนนางมาอยู่ในวัดอย่างปลอดภัย ในสมัยของเราก็มีกรณีตัวอย่างเช่น จอมพลถนอม กิตติขจร (ซึ่งสั่งใช้กำลังและอาวุธสงครามสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก) ได้อาศัยการบวชเณรเพื่อกลับเข้ามาประเทศไทยที่วัดบวรนิเวศวิหาร จนเป็นเหตุให้นักศึกษาออกมาประท้วงและนำไปสู่โศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม  2519

ตัวอย่างกรณีจอมพลถนอมสะท้อนให้เห็นว่า การที่คณะสงฆ์ไทยไม่นำ “คดีทางการเมือง” (โดยเฉพาะเกี่ยวกับคนระดับบนที่มีอำนาจ) มาอยู่ในเงื่อนไขข้อห้ามการอุปสมบทเหมือนคดีทั่วๆ ไป ทำให้คณะสงฆ์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาตลอด ผ้าเหลืองถูกใช้ชุบตัวทรราชมือเปื้อนเลือด

แต่นั่นคือองค์กรสงฆ์แบบทางการที่ผูกพันใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจรัฐ ส่วนสวนโมกข์ที่ก่อตั้งโดยท่านพุทธทาสนั้น เป็นสำนักปฏิบัติและเผยแผ่ธรรมที่พยายามเป็นอิสระจากอำนาจชี้นำและประเพณีปฏิบัติของคณะสงฆ์แบบทางการตั้งแต่แรก ตลอดชีวิตของท่านพุทธทาส ไม่เคยมีการจัดอุปสมบทหรือปฏิบัติธรรมถวายพระราชกุศลแต่อย่างใด

ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของปีเตอร์ แจ็กสัน ซึ่งปรับปรุงเป็นหนังสือและแปลเป็นภาษาไทยชื่อ “พุทธทาสภิกขุ : พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทและการปฏิรูปเชิงนวสมัยนิยมในประเทศไทย” อ้างถึงแกรนต์ โอลซัน (ติดต่อเป็นการส่วนตัว) กล่าวถึงเรื่องที่สุวรรณา สถาอานันท์ เล่าให้เขาฟังว่า 

“ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าพระองค์มีพระราชดำริที่จะไปเยี่ยมสวนโมกข์ เล่ากันว่าท่านพุทธทาสได้ตอบพระราชดำรินี้ โดยกล่าวแบบอาจารย์เซนว่า ‘มหาบพิตรคงจะไม่ทรงพบเห็นอะไรที่น่าสนใจที่สวนโมกข์  เพราะที่นี่มีแต่ก้อนหินกับต้นไม้เท่านั้น’ ” (น.583)

นอกจากนี้แจ็กสันยังเขียนว่า ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งสนิทกับท่านพุทธทาสและเป็นประธานองคมนตรีเคยกราบทูลอธิบายคำสอนพุทธศาสนาแนวเหตุผลของท่านพุทธทาสให้ในหลวงทรงทราบ ต่อมาในช่วงท่านพุทธทาสสุขภาพแย่ลง ว่ากันว่าในหลวงได้ทรงขอให้ท่าน “ยังอยู่สั่งสอนคนไทยต่อไปอีกสักระยะ” (น.469) อันเป็นเหตุให้คณะแพทย์และพยาบาลรักษาท่านพุทธทาสเป็นกรณีพิเศษในปี 2534 และในช่วงก่อนมรณภาพปี 2536 แจ็กสันมองว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า ท่านพุทธทาสถูกยอมรับอย่างเป็น “ทางการ” ซึ่งน่าจะมีผลให้ท่านถูกยอมรับในแวดวงของชาวพุทธสายอนุรักษ์นิยมมากขึ้นในเวลาต่อมา

พระสันติกโรชาวอเมริกันซึ่งบวชที่สวนโมกข์ เคยเห็นคนนำรูปภาพท่านพุทธทาสกับรูปพระเกจิอาจารย์ต่างๆ เช่นพระอาจารย์มั่นและหนังสือพระเครื่อง ดารา เดินขายที่สถานีขนส่ง แล้วนำมาเล่าให้ท่านพุทธทาสฟัง ท่านหัวเราะหึหึเหมือนกับรู้สึกอายที่มีผู้มองท่านในเชิงเป็นพระเกจิอาจารย์ศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้น เมื่อท่านมรณภาพได้มีสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ตีความสถานะของท่านพุทธทาสในมุมมองที่แตกต่างกันไป

เช่น หนังสือที่ระลึกงานมรณภาพของท่านพุทธทาสที่ตีพิมพ์โดยสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่งที่มุ่งเอาใจผู้อ่านตั้งชื่อเรื่องว่า “อรหันต์พุทธทาสภิกขุ” เนชั่นสุดสัปดาห์มีบทความรำลึกที่ตั้งชื่อว่า “พุทธทาส พระผู้ตื่นตราบนิรันดร์” ซึ่งชี้นัยว่าท่านพุทธทาสบรรลุธรรมชั้นสูงและเป็นพระอรหันต์ นอกจากนี้นิตยสาร “มหัศจรรย์” ซึ่งตีพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ก็เรียกท่านพุทธทาสว่า “นักบุญ” ซึ่งบ่งถึงความเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์มากกว่าความเป็นนักคิด ขณะที่นิตยสาร “ชีวิตต้องสู้” เขียนถึงท่านพุทธทาสในฐานะ “พระยอดนักรบแห่งกองทัพธรรม” ที่ให้ภาพความเป็นคนธรรมดาของท่านพุทธทาสและแง่คิดที่เป็นกำลังใจให้กับผู้อ่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นธรรมดาสามัญที่สู้ชีวิตด้วยกำลังแรงงานของตัวเอง

แปลว่า “ความเป็นพุทธทาส” และ “ความคิด” ของท่านถูกตีความอย่างสลับซับซ้อน จึงไม่แปลกที่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในทศวรรษนี้ ฝ่ายหนึ่งก็อ้างอิงใช้ความคิดทางการเมืองของท่านพุทธทาสสนับสนุนเป้าหมายทางการเมืองของตัวเอง จนนำไปสู่การใช้สวนโมกข์เป็นฐานที่มั่นทั้งการอบรมปฏิบัติธรรมและการบวชถวายพระราชกุศลเพื่อเติมเต็มให้กับความเชื่อทางการเมืองของฝ่ายตน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็วิจารณ์ตัวตนและความคิดของท่านพุทธทาส เสมือนว่าท่านกลายเป็น “จำเลย” ผู้สร้างแนวคิดทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ซึ่งมีนัยยะสำคัญสนับสนุนแนวทางของ กปปส.โดยตรง

แต่ที่จริงแล้วในช่วงรอยต่อประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 ที่ท่านพุทธทาสเสนอแนวคิด “ธรรมิกสังคมนิยม” และ “เผด็จการโดยธรรม”  นั้น เป็นบริบทที่อำนาจรัฐไทยเวลานั้นกำลังต่อต้านอุดมการณ์สังคมนิยมอย่างเข้มข้น มีการใช้ข้อหา “คอมมิวนิสต์” จัดการกับฝ่ายตรงข้ามแบบเหวี่ยงแห มีการรณรงค์ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยร้ายแรงต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ท่านพุทธทาสกลับเสนอว่า “หากคอมมูนิสต์เข้ามาพุทธศาสนาก็ยังอยู่ได้” (ตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ในปี 2517)

ขณะเดียวกันท่านพุทธทาสก็ถูกโจมตีอย่างหนักและถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แม้จะไม่ได้ถูกดำเนินคดีอย่างพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) แต่ท่านก็มีความคิดเชิงสนับสนุนอุดมการณ์สังคมนิยมมากกว่า ถึงขนาดตีความว่า “พระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างนักสังคมนิยม” ซึ่งไม่เคยมีใครกล้าตีความเช่นนี้มาก่อนในจารีตพุทธศาสนาแบบทางการ โดยเฉพาะการตีความที่สุ่มเสี่ยงเช่นนั้นในสถานการณ์ที่รัฐไทยกำลังมองอุดมการณ์สังคมนิยมเป็นปฏิปักษ์สำคัญ

ดังนั้น การสรุปว่า ท่านพุทธทาสมี “เจตนา” สนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมในการต่อสู้ทางการเมืองแบบเดียวกับแนวทางของมวลมหาประชาชน กปปส. น่าจะเป็นการสรุปที่คลาดเคลื่อนจาก “ระบบความคิด” ทางการเมืองของท่านพุทธทาส (แม้ว่า “บางข้อความ” ของท่านอาจจะถูกตีความได้เช่นนั้นก็ตาม)

และการใช้สวนโมกข์เป็นฐานที่มั่นของการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของคนบางกลุ่ม ก็น่าจะขัดกับเจตนารมณ์และแนวปฏิบัติของท่านพุทธทาสอย่างชัดเจน

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (15-21 พ.ย.2557)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท