Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



จากข้อมูลของคุณกานดา นาคน้อยได้แสดงให้เห็นจำนวนของนายพลในกองทัพไทยมีสูงถึง 1,400 นาย ส่วนนายพลในกองทัพอเมริกันมีเพียง 1,000 นายทั้งที่ขนาดประเทศ จำนวนประชากร งบประมาณและกำลังพล รวมไปถึงมวลผลิตภัณฑ์รวมของทั้ง 2 ประเทศห่างกันลิบลิ่ว  ผู้เขียนซึ่งสนใจความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนและกองทัพจึงใคร่อยากวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างของจำนวนนายพลทั้ง 2 ประเทศออกเป็นข้อๆ  ดังต่อไปนี้

1.เป็นค่านิยมมาเนิ่นนานในสังคมไทยว่าถ้าเป็นนายทหารโดยเฉพาะศึกษาจบจากโรงเรียนนายร้อยจุลจอมเกล้า ก่อนเกษียณก็ต้องเป็นนายพล (แม้จะเพียงยศพลตรีก็ตาม) ตามคติการเป็นเจ้าคนนายคนในวงการราชการไทย นอกจากนี้รัฐไทยเป็นรัฐแบบ  Praetorian  state  หรือรัฐที่กองทัพมีอิทธิพลเหนือการเมืองและสังคมของพลเรือนสูงมาก  อันเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการผลิตซ้ำอัตลักษณ์ทางการเมืองแบบศักดินาที่อิงกับขุนศึกตามตำนาน (ดังเช่นภาพยนตร์สุริโยทัยและสมเด็จพระนเรศวร) ผสมกับรูปแบบกองทัพยุคใหม่ที่จัดตั้งในสมัยรัชกาลที่  5  จน การเป็นนายพลนั้นเปรียบได้กับการเป็นขุนศึกแห่งสยามประเทศที่จะยืนอยู่หัวแถวในการค้ำจุนราชบัลลังก์และประเทศชาติ คอยรักษาความสงบและความมั่นคงทั้งในและนอกประเทศ เป็นพลังธรรมะในการต่อสู้กับฝ่ายอธรรมดังเช่นคอมมิวนิสต์และปัจจุบันก็คือทหารของประเทศเพื่อนบ้าน พ่อค้ายาบ้ารายใหญ่หรือพวกล้มเจ้า   อย่างน้อยที่สุดแม้พวกเขาจะเกษียณไปก็ตามก็ยังได้เป็นผู้ทรงอิทธิพลหรืออย่างน้อยก็มีเกียรติอย่างสูงในสังคมไทย  ดังจะดูได้จากอดีตนายทหารหลายคนสามารถใช้ตำแหน่งนายพลเป็นปัจจัยสำคัญในการเล่นการเมืองจนได้ประสบความสำเร็จในการเมืองทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น

ปรากฏการณ์เช่นนี้เหมือนกับค่านิยมการศึกษาที่คนรุ่นใหม่ของไทยต้องจบปริญญาตรีขึ้นไป ไม่เหมือนกับสหรัฐอเมริกาที่คนรุ่นใหม่สามารถจบทางปวช ปวส  หรือประกาศนียบัตรทางวิชาชีพก็พอไปประกอบอาชีพได้แล้ว

2.  ถึงนายทหารจำนวนมากจะไม่มีอำนาจและบทบาทในกองทัพมากนักเช่นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่พวกเขาก็พึงพอใจในการเป็นนายพล อันเป็นกุศโลบายของผู้นำในกองทัพหรือผู้นำรัฐบาลพลเรือนในการสร้างดุลแห่งอำนาจเสียมากกว่าการจัดการองค์กรรูปแบบใหม่โดยการลดแรงจูงใจไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหันมาแย่งชิงผลประโยชน์หรือกดดันพวกตนมากเกินไปและที่สำคัญยังเป็นการปูนบำเหน็จให้กับพวกเดียวกับตนเช่นเคยเรียนจปร.รุ่นเดียวกันมาหรือว่าร่วมกันทำรัฐประหาร  ข้อเสียที่เห็นได้ชัดเจนคือเกิดปรากฏการณ์นายพล (ที่มักเรียกกันว่าเสธ)  จำนวนหนึ่งที่ว่างงานจนสามารถเอาทรัพยากรของกองทัพเช่นกำลังพลในการประกอบธุรกิจแบบผิดกฎหมายหรือเป็นเจ้าพ่อมาเฟียซึ่งก็เป็นแรงจูงใจประการหนึ่งที่ทำให้นายทหารอยากเป็นนายพลมากขึ้น

3. ผู้เขียนคิดว่าภายหลังรัฐประหารปี 2557 นี้ กองทัพไทยได้ขยายตนเข้าไปควบคุมพื้นที่ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมสูงที่สุดในรอบสองทศวรรษ  นายพลซึ่งมีมากมายก็สามารถแสวงหาอำนาจ หน้าที่และผลประโยชน์ได้มากขึ้นและทั่วถึงทุกภูมิภาคและไม่ผิดกฎหมาย (ด้วยอย่างไรแล้วพวกเขาก็มีกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในมือคือกฎอัยการศึก)  ในอนาคตผู้เขียนเดาเอาว่าในอนาคตเมืองไทยต้องมีสัดส่วนนายพลมากขึ้น เพราะนายทหารทุกคนย่อมคาดหวังว่าการได้เป็นนายพลและเป็นพวกห้าเสือทบ.หรือกุมอำนาจในกองกำลังหลักสำหรับการทำรัฐประหาร พวกตนก็จะมีโอกาสเข้าสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี สมาชิกของคสช. (หรือชื่อของคณะรัฐประหารชุดใหม่) คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติ ฯลฯ ก็ยิ่งมีมากขึ้น โอกาสที่พวกเขาจะได้กลายเป็นผู้มีชื่อเสียง ได้ออกโทรทัศน์และสื่อต่างๆ เพื่อแสดงความเก่งกาจหรือวิสัยทัศน์ของตนยิ่งมีมากกว่าเดิม อันเป็นเรื่องที่ดีกว่าใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไปวันๆ โดยที่ไม่มีใครให้ความเคารพหรือใส่ใจอีกต่อไป  ปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้พยากรณ์ได้ว่ากองทัพคงไม่ได้จะก่อรัฐประหารในปี 2557 และตั้งรัฐบาลเองเป็นครั้งสุดท้าย (1)

4.สหรัฐอเมริกามีการปกครองแบบประชาธิปไตย กองทัพอยู่ใต้อำนาจของพลเรือน ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการสูงสุดที่มีอำนาจจริงๆ สามารถปลดนายทหารระดับสูงได้โดยไม่มีแรงต้านหรือการคัดค้านนัก เพราะกองทัพและนายทหารยึดถือนโยบายมืออาชีพ (Professionalism) โดยเคร่งครัด ไม่ยอมเอาเรื่องการเมืองเข้ามาวุ่นวายในกองทัพ นอกจากนี้การปกครองของสหรัฐฯ ที่เป็นสหพันธรัฐได้ทำให้แต่ละมลรัฐมีกองทัพเป็นของตัวเองมีอำนาจขึ้นตรงกับผู้ว่าการรัฐ อันเป็นการกระจายอำนาจทางการทหาร ไม่ใช่มากระจุกตัวอยู่ภายใต้คำสั่งของคนหรือกลุ่มๆ เดียวเหมือนกองทัพไทยที่รวมศูนย์อำนาจแบบของรัฐเดี่ยว

แม้ว่าคนอเมริกันให้ความเคารพต่อกองทัพและทหารเช่นเดียวกับไทยแต่ก็ไม่คุ้นชินกับการที่นายพลเข้ามาแสดงความคิดเห็นหรือเข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองภายใน  อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ว่าทำไมสหรัฐฯจึงไม่มีค่านิยมที่นายทหารจะต้องเป็นนายพลเท่านั้นเพราะไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเป็นแรงจูงใจเหมือนไทย   เช่นเดียวกับความสามารถของกระทรวงกลาโหมในการจัดวางแผนผังทางอำนาจของฝ่ายบริการกองทัพได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพโดยมีรัฐบาลพลเรือนเป็นศูนย์กลาง (2)   แม้ว่านายพลของกองทัพสหรัฐฯ จะมีแนวคิดหรือนโยบายอย่างไร รัฐบาลอเมริกันก็ไม่ต้องสนองตอบก็ได้ ดังกรณี สงครามเกาหลี วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่คิวบาในปี 1962 หรือสงครามเวียดนามที่ประธานาธิบดีสามารถหยุดยั้งไม่ให้สงครามแพร่ขยายหรือเกิดความรุนแรงไปกว่าเดิมตามการร้องขอของนายพลสายเหยี่ยว  ดังนั้นจำนวนนายพลอเมริกันจึงไม่จำเป็นต้องมีเป็นจำนวนมากเหมือนกับของไทย

5. อีกสาเหตุหนึ่งที่กองทัพสหรัฐฯ ไม่มีบทบาทต่อการเมืองภายในประเทศเท่ากับกองทัพไทยแม้ว่าสหรัฐฯ มีงบประมาณป้องกันประเทศสูงที่สุดในโลกและเหมือนจะพยายามทำสงครามกับประเทศอื่นได้เรื่อยๆ ดังที่เรียกว่าสงครามชั่วนิจนิรันดร (Perpetual war) ก็เพราะสหรัฐฯ มีวงการอุตสาหกรรมอาวุธหรือ Military Industrial Complex  ที่สามารถกระจายอำนาจของการทหารเช่นการผลิตและการวิจัยอาวุธ  ยุทโธปกรณ์ ให้ไปขึ้นอยู่กับ กลุ่มบริษัทค้าอาวุธ  ข้าราชการในกระทรวงกลาโหมซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลุ่มผลประโยชน์ และที่สำคัญรัฐสภาซึ่งอนุมติงบประมาณของกองทัพเช่นเดียวกับการแปรรูปกองทัพบางส่วนให้เป็นเอกชน (Privatization)  แม้แต่กำลังทางทหารอย่างเช่นรัฐบาลอเมริกันได้ใช้บริการของบริษัท Black Water เข้าร่วมภารกิจทางทหารสำคัญ ๆ ในสงครามอิรัก

สิ่งนี้แตกต่างจากประเทศไทยที่กองทัพมีอำนาจเหนือการทหารแบบเบ็ดเสร็จ กองทัพไทยยังไม่สามารถลดขนาดของกองทัพหรือการแปรรูปให้เป็นเอกชนในบางส่วนเพื่อแบ่งเบางบประมาณและเพิ่มประสิทธิภาพแม้ว่าผู้นำในรัฐบาลพลเรือนต้องการจะทำเช่นนี้แต่ด้วยการเป็นรัฐแบบ Praetorian ก็เหมือนกับหนูเอากระดิ่งไปผูกคอแมว และผู้นำรัฐบาลพลเรือนเองก็ถูกมองว่าเป็นนักการเมืองผู้ชั่วร้ายที่ต้องการเอาการเมืองเข้าไปยุ่งกับกองทัพ (ปัจจุบันแม้จะไม่มีรัฐประหารเพียง พรบ.กระทรวงกลาโหม ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ทำอะไรกับกองทัพไม่ได้ถนัดแล้ว)  แต่สาเหตุที่แท้จริงเพราะผู้นำทางทหารนั้นต้องการผูกขาดการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับบรรดานายพลทั้งหลายซึ่งจำนวนไม่น้อยอาจไม่มีหน้าที่และบทบาทเท่าไรนักเช่นมอบเงินเดือน สิทธิประโยชน์จากตำแหน่งรวมไปถึงผลประโยชน์จากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่กองทัพไทยร่วมผสมอยู่ด้วยอย่างแนบแน่น (3)  และสิ่งนี้จะน่าจะเป็นเป็นวงจรอุบาทว์ไปเสียแล้ว เพราะยิ่งผลประโยชน์มาก คนก็ยิ่งอยากเป็นนายพลมากขึ้น

 

หมายเหตุ

(1) เป็นเรื่องน่าเศร้าว่ามีนายพลจำนวนมากที่เป็นนายทหารที่ดี อุทิศตนให้กับกองทัพและประเทศชาติแต่ถือวินัยโดยเคร่งครัดเช่นเดียวกับนายพลอเมริกันว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่การเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากจนเกินไปของกองทัพนับตั้งแต่ปี 2549 ก็จะทำให้นายพลหรือคนที่ยังไม่ได้เป็นนายพลเริ่มเปลี่ยนใจจากการเห็นเพื่อนร่วมอาชีพได้ดีหรือได้ประโยชน์จากการเมือง สิ่งนี้ส่งผลให้อิทธิพลของกองทัพนั้นขยายตัวมาเรื่อยๆ และยิ่งในปี 2557 นี้ยิ่งเป็นตัวรับประกันว่ากองทัพจะไม่มีวันถอยห่างจากการเมืองเป็นอันขาด ขึ้นอยู่กับว่าจะอยู่ในรูปแบบใด จึงน่าสมเพชสำหรับนักวิชาหรือสื่อบางกลุ่มที่มองว่ากองทัพเข้ามาจัดระเบียบประเทศเพียงชั่วคราวก่อนจะจากไป

(2) ดังจะเห็นได้จากข่าวต่างประเทศในเรื่องการทหารของสหรัฐฯ แล้ว คนที่มีบทบาทที่สุดก็คือประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รวมไปถึงที่ปรึกษาความมั่นคง) เป็นคนวางนโยบายหลัก ส่วนนายพลไม่ว่า 5 ดาวหรือ 4 ดาวก็มักจะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับรายละเอียดหรือกลยุทธ์ของสมรภูมิเสียมากกว่า ส่วนเมืองไทย น้ำหนักจะมาลงที่ผู้บัญชาการทหารบกเสียมากกว่าใคร  อนึ่งเราสามารถดูความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำพลเรือนและนายทหารของสหรัฐฯ ผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง Thirteen Days  อันเป็นช่วงวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เวลา 13 วันในการทำให้ความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตคลี่คลายไปด้วยดี อันสะท้อนถึงการทำงานของ EXCOMM หรือกลุ่มที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนนาดี โดยนายพลของกองทัพในฐานะประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งเท่านั้น

(3)  อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความของคุณกานดา นาคน้อยในบทความที่ตีพิมพ์ในประชาไทคือ กานดา นาคน้อย: เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 1)  เมื่อผู้เขียนได้อ่านบทความนี้ก็ทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดคนไทยจึงไม่รังเกียจที่กองทัพได้ผูกตัวเองเข้ากับสถาบันทางธุรกิจและกลุ่มทุนได้อย่างแนบเนียนเหมือนกับที่รังเกียจนักการเมือง อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โอกาสที่กองทัพไทยจะลดขนาดลงมีน้อยมาก  ต่อมาผู้เขียนจึงหาคำตอบมาได้ดังนี้

1.สื่อมวลชนกระแสหลักไม่มีเวทีในการตีแผ่วงการธุรกิจของกองทัพมากนักและสื่อยังถูกกองทัพผูกขาดและปัจจุบันใช้ความกลัวจากการข่มขู่สื่อให้สยบยอมไม่กล้านำเสนอกองทัพในด้านลบ

2.การผลิตซ้ำทางค่านิยมที่คนไทยดูเหมือนจะคุ้นเคยกับการที่ขุนนางหรือข้าราชการตั้งแต่อดีตทำธุรกิจไปพร้อมกับงานหลวงจนเป็นเรื่องธรรมดาหรือการฉ้อราษฎรบังหลวงที่พอเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ได้ และความมั่งคั่งของกลุ่มคนเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจดังเช่นการเปิดเผยทรัพย์สินของอดีตนายพลซึ่งมาเป็นรัฐบาลอันรวมกันจนเป็นจำนวนมากและได้รับการโจมตีจากคนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะเรื่องที่ไม่สามารถเปิดเผยแหล่งที่มาที่ไปได้อย่างน่าพอใจ กระนั้นการต่อต้านก็กลายเป็นกระแสที่เกิดขึ้นมาและก็จางหายไปอันสะท้อนให้เห็นก็มีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยซึ่งรู้สึกเมินเฉยกับปรากฏการณ์ครั้งนี้

3.คนไทยคุ้นเคยกับรูปแบบผสมระหว่างกองทัพกับองค์กรธุรกิจตั้งแต่ยุคจอมพล            ป.  พิบูลสงครามจนแยกไม่ออก อีกทั้งมีความเชื่อจากการปลูกฝังผ่านรัฐแบบ Praetorian ว่ากองทัพย่อมทำในสิ่งที่ดีต่อประเทศชาติ ไม่แสวงหาผลประโยชน์เหมือนกับนายทุน
                                                     

ชี้แจง  
ผู้เขียนต้องขออภัยอย่างสูงจากบทความ วิจารณ์จดหมายรักของ ส ศิวรักษ์ถึงเผด็จการ          ที่ผู้เขียนไม่ได้แบ่งแยกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรมจากยุคกลางอย่างชัดเจน เพราะระบอบดังกล่าวนั้นได้อยู่ในยุคแห่งการรู้แจ้งและกษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจโดยล้นพ้นมากกว่ากษัตริย์ในยุคศักดินา
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net