5 วิธีใช้ 'โดรน' ให้เป็นประโยชน์ต่อโลก

แม้ว่า 'โดรน' หรือเครื่องบินไร้คนขับมักจะถูกใช้เป็นอาวุธโจมตีจนกลายเป็นกรณีอื้อฉาวสำหรับกองทัพสหรัฐฯ แต่สื่อต่างประเทศก็นำเสนอการใช้เทคโนโลยีนี้ในมุมอื่นๆ ที่บางมุมก็เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์เช่นการใช้ช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ หรือช่วยพัฒนาด้านการขนส่งลำเลียง


ภาพโดย Don McCullough (CC BY 2.0)
 

30 ต.ค. 2557 สำนักข่าวโกลบอลโพสต์นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องบินไร้คนขับควบคุมจากระยะไกลหรือ 'โดรน' โดยระบุว่าแม้โดรนจะถูกนำมาใช้เป็นอาวุธอันตรายที่สังหารคนจำนวนมาก แต่ก็มี 5 วิธีการที่จะทำให้เทคโนโลยีโดรนกลายเป็นประโยชน์ต่อผู้คนได้

สำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนของอังกฤษซึ่งเป็นผู้คอยติดตามเฝ้าระวังการใช้งานโดรนระบุว่ามีคนจำนวนมากถูกโดรนสังหารเช่นในประเทศปากีสถาน โซมาเลีย และเยเมน อย่างไรก็ตามในตอนนี้กำลังมีการจับตาโดรนในบทบาทใหม่ซึ่งไม่ใช่การสังหารผู้คนแต่เป็นการช่วยเหลือทำให้โลกดีขึ้น รวมถึงการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น โครงการ 'ไพร์มแอร์' ของอมาซอน และโครงการ 'โปรเจกต์วิง' ของกูเกิลซึ่งกำลังทดลองใช้โดรนในการช่วยส่งสินค้าตามบ้าน

ทางด้านนักช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก็กำลังศึกษาการใช้โดรนเพื่อช่วยงานในด้านนี้โดยมีการศึกษาประสิทธิภาพและผลกระทบเช่นงานศึกษาจากศูนย์วิจัยด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของนอร์เวย์

แพทริก ไมเออร์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมสังคมจากสถาบันวิจัยวิชาการคอมพิวเตอร์ของกาตาร์ประเมินว่าการใช้โดรนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนพบเห็นได้ทั่วไป จากช่วงเริ่มต้นที่อาจจะมีราคาสูงมากหลายแสนดอลลาร์ แต่จะเริ่มถูกขึ้นจนเท่ากับราคาโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังจะมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการใช้งานอัตโนมัติมากขึ้น มีความฉลาดมากขึ้น ขณะที่ขนาดจะเล็กลง เบาลง และปลอดภัยมากขึ้น

แต่ก็มีกรณีที่ผู้มีอำนาจควบคุมพยายามควบคุมการใช้โดรนและนักวิจัยก็ยังมีความกังวลว่าผู้ผลิตให้กองทัพอาจจะฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากกลุ่มผู้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อขยายตลาดใหม่ในขณะที่ทำให้ตัวเองมีภาพลักษณ์ดูดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการเอาป้ายแปะโดรนที่ตนเองต้องการจะโปรโมทว่า "เป็นการใช้ช่วยเหลือในเชิงมนุษยธรรม"

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวโกลบอลโพสต์นำเสนอวิธีการใช้งานโดรนในทางที่ไม่ใช่การสังหารผู้คนเอาไว้ 5 วิธีดังนี้

1. ใช้โดรนเพื่อคุ้มกันสัตว์ป่า

นักกิจกรรมด้านสัตว์ที่เป็นขาโหดอาจจะอยากได้โดรนล่าสังหารไว้จัดการกับพวกล่าช้างล่าแรด แต่ที่จะกล่าวถึงในตอนนี้ไม่ใช่โดรนจำพวกนั้น แต่เป็นโดรนที่ใช้ในการติดตามการเคลื่อนที่ของสัตว์ เช่นในองค์กรอนุรักษ์โอลเพฮาตาที่ประเทศเคนยามีการทดลองใช้โดรนขนาดกว้าง 6 ฟุตครึ่งเพื่อติดตามการเคลื่อนที่ของสัตว์

นอกจากนี้ยังมีการวางแผนใช้โดรนในการติดตามการบุกรุกล่าสัตว์ในพื้นที่ 90,000 เอเคอร์ ซึ่งถือว่ากว้างมาก หรือใช้โดรนเพื่อปฏิบัติงานประจำวันของอุทยาน ช่วยเหลือนำทางนักท่องเที่ยว รวมถึงช่วยงานเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งเป็นงานอันตรายเช่นการขับไล่ผู้บุกรุกล่าสัตว์

นอกจากในเคนยาแล้วประเทศนามิเบียและอินเดียยังวางแผนจะนำโดรนมาใช้ในการคุ้มครองสัตว์ป่าด้วย

2. ใช้ในการรับมือเชิงมนุษยธรรม

ถึงแม้ว่าคริสติน แซนด์วิค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของนอร์เวย์จะกล่าวว่า "การระบุถึงปัญหาวิกฤติด้านมนุษยธรรมเป็นคำถามเชิงการเมืองและการใช้โดรนจะไม่สามารถช่วยเหลือพวกเราด้านข้อจำกัดทางการเมืองหรือทรัพยากรได้" แต่ก็เริ่มมีการนิยมใช้โดรนเพิ่มมากขึ้นในการรับมือเชิงมนุษยธรรมแล้ว

ทางด้านแพทริก ไมเออร์ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโดยเครื่องบินไร้คนขับหรือ UAViators กล่าวว่า ในตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นสำหรับการใช้โดรนให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่การใช้โดรนในการนี้ก็สามารถช่วยชีวิตคนได้จริง และเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาสำนักงานสหประชาชาติในนิวยอร์กก็เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของเหล่าผู้กำหนดนโยบาย ผู้ผลิต และคนทำงานให้ความช่วยเหลือ เพื่อหารือเรื่องการใช้โดรนในทางมนุษยธรรม ซึ่งไมเออร์บอกว่ามีหน่วยงานราว 20 หน่วยงานที่สนใจการใช้โดรนในแง่นี้

วิธีการใช้โดรนในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ได้แก่ การช่วยฟื้นฟูและดูแลด้านสุขภาวะหลังเกิดภัยพิบัติ การทำแผนที่วิกฤตการณ์เพื่อส่งความช่วยเหลือ ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย รวมถึงการสอดส่องดูแลด้านสิทธิมนุษยชน ในบางกรณีโดรนยังอาจช่วยเหลือร่วมกับการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งนิยมใช้กันแพร่หลาย อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงวัตถุในสถานที่ๆ เข้าถึงยากหรือมีอันตรายด้วย

3. ใช้กับงานด้าน "รักษาสันติภาพ"

เมื่อเดือน ธ.ค. 2556 สหประชาชาติหรือยูเอ็นได้ใช้โดรนของพวกเขาเป็นครั้งแรกที่ทางภาคตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งเป็นเขตที่เต็มไปด้วยป่าเขามีกองกำลังติดอาวุธหลากหลายทั้งกลุ่มเล็กและใหญ่ ซึ่งถือเป็นการขยายผลภารกิจรักษาสันติภาพของยูเอ็น

โดรนที่ใช้นี้ไม่ใช่โดรนล่าสังหารแต่เป็นโดรนรุ่น 'เซเล็กซ์อีเอส ฟัลโค' (Selex-ES Falco) ซึ่งนำมาใช้ลาดตระเวนสอดส่องการค้าอาวุธผิดกฎหมายหรือการเคลื่อนพลของกลุ่มติดอาวุธ นอกจากนี้ยังช่วยค้นหาการค่ายของกลุ่มติดอาวุธเพื่อชี้นำปฏิบัติการของกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นและกองทัพคองโก ช่วงที่โดรนของยูเอ็นบินกลับในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีการพบเหตุเรือล่มระหว่างทางที่ทะเลสาบคีวูจนพวกเขาสามารถส่งเรือกู้ภัยช่วยเหลือคนได้ 17 คน

กลุ่มให้ความช่วยเหลือบางส่วนยังคงไม่ไว้ใจการใช้โดรนโดยปฏิเสธที่จะแบ่งปันข้อมูลเพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง แต่ฝ่ายปฏิบัติการรักษาสันติภาพของยูเอ็นเชื่อว่าพวกเขาประสบความสำเร็จโดยมีคองโกตะวันออกเป็น "หนูทดลอง" ซึ่งตอนนี้พวกเขายังได้นำโดรนไปใช้กับประเทศมาลี และกำลังวางแผนใช้กับสาธารณรัฐแอฟริกากลางรวมถึงปฏิบัติการในที่อื่นๆ ทั่วโลก

4. ใช้เพื่อขนส่งพัสดุ

ขณะที่กลุ่มให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกำลังพิจารณาใช้โดรนในการช่วยเหลือลำเลียงสิ่งให้ความช่วยเหลือไปในเขตที่เกิดภัยพิบัติ องค์กรบางแห่งก็กำลังคิดนำโดรนมาใช้กับการขนส่งเครื่องใช้ประจำวัน บ้างก็คิดว่าจะใช้โดรนในการพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานในระดับก้าวกระโดด เช่น โครงการ "ลาบินได้" ที่พยายามดัดแปลงการขนส่งสินค้าในเคนยาด้วยการใช้โดรนแทนลา ผู้นำเสนอพยายามอธิบายกับคนแก่ในเคนยาว่าโดรนก็เปรียบเสมือนลาที่บินบนท้องฟ้าได้

บริษัทอโฟรเทควางแผนออกแบบโดรนไว้ใช้ในเคนยาเพื่อ "ขนส่งพัสดุในระดับกลางเดินทางในระยะทางระดับกลางเพื่อส่งไปในเมืองระดับกลาง" แต่เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาความพยายามทดสอบโดรนนี้ก็ถูกทางการเคนยาควบคุมการดำเนินการ แต่ผู้วางแผนใช้โดรนยังคงเดินหน้าผลักดันให้มีการใช้ในประเทศใกล้เคียง

เจ.เอ็ม เลดการ์ด ผู้วางแผนริเริ่มใช้โดรนในประเทศแถบแอฟริกาบอกว่าเขามีเป้าหมายต้องการวางเส้นทางบินของโดรนเพื่อการค้าเป็นแห่งแรกในแอฟริกาภายในปี 2559 โดยพัสดุที่โดรนจะนำส่งอย่างแรกคือคลังโลหิตที่ใช้ถ่ายให้ผู้ป่วยหรือบาดเจ็บเพื่อช่วยชีวิตโดยวางเส้นทางนำส่งเป็นระยะทาง 50 ไมล์ หลังจากนั้นจะพัฒนาให้สามารถขนน้ำหนักได้มากขึ้นเป็น 44 ปอนด์ และมีระยะการเดินทางหลายร้อยไมล์เพื่อขนส่งพัสดุในเส้นทางกันดาร

5. ใช้เพื่อทำแผนที่วิกฤตการณ์

หลังเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนพัดถล่มฟิลิปปินส์ในเดือน ก.ย. ปี 2556 มีการใช้โดรนแบบ 4 ใบพัดเพื่อช่วยระบุตำแหน่งแก่นักให้ความช่วยเหลือว่าควรจะตั้งแคมป์ตรงไหนและมีจุดไหนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ขณะที่โดรนแบบปีกเครื่องบินจะทำหน้าที่เก็บภาพถ่ายทางอากาศเพื่อทำแผนที่รายละเอียดในแบบ 2D และ 3D ในเรื่องผลกระทบจากไต้ฝุ่นที่มีต่อเมืองทาโคลบาน

การทำแผนที่วิกฤตการณ์ด้วยโดรนจะช่วยให้การรับมือต่อเหตุฉุกเฉินของคนทำงานให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้พวกเขาไปยังสถานที่ซึ่งต้องการความช่วยเหลือได้เร็วขึ้น แซนด์วิคกล่าวว่ากรณีในเมืองทาโคลบานเป็นข้อพิสูจน์ว่าเครื่องบินโดรนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้ได้จริง
 

เรียบเรียงจาก

5 ways drones are making the world a better place (without killing anyone), Globalpost, 25-10-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/business/innovation/141024/drones-wildlife-humanitarian-peacekeepers

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท