ศูนย์นิติธรรมฯจัดงานครบรอบ 9 ปี เผยบทบาทช่วยประชาชนถูกคดีไฟใต้

ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเสวนาครบรอบ 9 ปี เผยบทบาทอาสาช่วยประชาชนถูกคดีไฟใต้ พร้อมเสวนาหัวข้อ “ครบรอบ 9 ปี สู่สันติสุขและความสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้” ประธานศูนย์ปัตตานีเผย เพื่อให้ประชาชนรับทราบผลการดำเนินงาน ตัวแทน 3 หน่วยงานรัฐเผยยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ปีหน้า

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2557 ที่โรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ท อ.เมือง จ.ปัตตานี ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์จัดเสวนาหัวข้อ “ครบรอบ 9 ปีสันติสุขและความสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้” มีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมจำนวนมาก

นายปรัชญา คณานุรักษ์ ประธานศูนย์นิติธรรมฯ ประจำจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า การเสวนาครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้ผลการดำเนินงานของศูนย์นิติธรรมฯในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา เช่น เป็นทนายความให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบจำนวน 83 คนในคดีแพ่ง โดยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐ แต่ต่อมามีการไกล่เกลี่ยจนสามารถตกลงจ่ายค่าเสียหายรวม 42 ล้านบาท (รายละประมาณ 5 แสนบาท) และต่อมาผู้เสียหายในคดีนี้ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐอีกรายละ 7.5 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเป็นทนายความคดีไต่สวนการเสียชีวิตกรณีสะบ้าย้อย ซึ่งต่อมาผู้เสียหายได้รับเงินเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาทเช่นกัน รวมทั้งเป็นทนายความให้แก่จำเลยในคดีฆ่าครูจูหลิง ปงกันมูล ที่มีจำเลยทั้งหมด 22 คน ซึ่งคดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง 18 คน ตัดสินจำคุก 4 คนในข้อหาขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ถูกจำคุกได้ไม่นาน เป็นต้น ปัจจุบันศูนย์นิติธรรมฯ ยังทำหน้าที่เป็นทนายความในคดีความมั่นคงอยู่

“สำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือจากศูนย์นิติธรรมฯ ในการทำคดีความต่างๆ สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานศูนย์นิติธรรมฯ ทุกแห่ง โดยเฉพาะคดีความมั่นคง ซึ่งผู้รับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น”
ศูนย์นิติธรรมฯ ยังอาสาเป็นทนายความในคดีความต่างๆด้วย และคดีอาญา แต่มีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นคดีที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและจำเลยมีฐานะยากจน” นายปรัชญา กล่าว

ตำรวจเข้าหาประชาชน-ครอบครัวนักต่อสู้มากขึ้น

ส่วนในเวทีเสวนา มีพล.ต.ท.อนุรูล กฤษณะการะเกตุ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) นายกิตติ สุระกำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายดือราแม สุกลดาราแม ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายสุทิพย์ ไชยเดช นักวิชาการชำนาญการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิภาค 4 และนายสายนูดีน มามุ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและสังคมส่งเสริมระบบงานยุติธรรม สำนักงานยุติธรรมจังหวัดปัตตานีและผู้แทนกระทรวงยุติธรรม เป็นวิทยากร

พล.ต.ท.อนุรูล กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปตำรวจต้องไม่สร้างเงื่อนไขต่อประชาชนในพื้นที่ทั้งสิ้น เพื่อลดความหวาดระแวงต่อกัน นอกจากนี้ต้องให้เกิดความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันแก่ทุกฝ่าย ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้าใจอัตลักษณ์คนในพื้นที่เป็นหลักส่วนกฎหมายอยู่ข้างหลัง เน้นพบปะประชาชน โดยเฉพาะครอบครัวนักสู้ผู้กล้าในพื้นที่ เพื่อถามความเดือดร้อนต่างๆ หากทางครอบครัวของเขาต้องการรับราชการเป็นตำรวจ ก็ยินดีจะดำเนินการให้

พล.ต.ท.อนุรูล กล่าวต่อไปว่า สำหรับคนที่ติดหมายคดีต่างๆ เช่น หมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ป.วิอาญา) หรือ หมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) สามารถเข้าพบตำรวจหรือให้คนใกล้ชิดติดต่อตำรวจได้ ทางตำรวจจะใช้มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ให้พวกเขาเข้าอบรมแทนการถูกดำเนินคดีเพื่อให้ได้กลับมาอยู่บ้านกับครอบครัว

5 ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ปี 58 ของศอ.บต.

ส่วนนายกิตติ กล่าวว่า ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ของการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2558 ศอ.บต.ให้ความสำคัญกับ

1.การศึกษาทุกระดับชั้นตั้งแต่โรงเรียนตาดีกา ประถม เป็นต้นไป และให้เด็กในพื้นที่ได้รับทุนไปเรียนต่อต่างประเทศจำนวนมาก
“เนื่องจากความมั่นคงยุคใหม่ ไม่ได้หมายถึงความมั่งคงของประเทศอย่างเดียว ประเทศมีความมั่นคงไม่ได้หากไม่มีความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ จึงเป็นยุทธศาสตร์หลักในการแก้ปัญหาในพื้นที่”

2.เรื่องศาสนา ศอ.บต.ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัดและผู้นำศาสนาในพื้นที่ร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่ด้วย โดยให้เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา

3.ภาษามลายู ต่อไปนี้ภาษามลายูไม่ใช่ภาษาของคนแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นภาษาของคนอาเซียน 300 ล้านคน ศอ.บต.จึงมีโครงการส่งเสริมภาษามลายู ด้วยการตั้งสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์และก่อตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู โครงการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านมาเป็น 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษามลายูและอังกฤษ

4.ความเป็นธรรม เกียรติยศและศักดิ์ศรีที่จะต้องอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน 5.การพัฒนาคุณชีวิตให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีงานทำ

8 นโยบายของกระทรวงยุติธรรม

นายสายนูดีน เปิดเผยว่า นโยบายในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกระทรวงยุติธรรม มีดังนี้

1.การเพิ่มประสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะคดีความมั่นคง โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสนับสนุนในการดำเนินงาน โดยมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

2.เร่งรัดพิจารณาคดีหรือเหตุการณ์ที่เกิดความสงสัยของประชาชนและต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมก็จะเข้าร่วมเร่งรัดในคดีเหล่านี้ด้วย

3.ส่งเสริมผู้นำศาสนาในพื้นที่เป็นผู้แก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน

4.สนับสนุนมาตรการการป้องกันหรือคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ที่ถูกดำเนินคดี และพยานในคดีต่างๆ

5.ส่งเสริมและปกป้องประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและอิทธิพลต่างๆ สามารถที่ร้องเรียกที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดและหน่วยงายอื่นๆในสังกัดของกระทรวงยุติธรรมได้

6.พัฒนาองค์ความรู้ในระบบงานยุติธรรม เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการงานอย่างราบรื่นและเกิดการบูรณะการในการทำงาน

7.ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

8.ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ได้รับกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท