ถามตอบเกี่ยวกับอาจารย์สุลักษณ์และคดีอาญามาตรา 112

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

1.มีคนสงสัยนายพลทั้ง 2 ท่านว่างมากหรือไรที่ไปแจ้งความเล่นงานอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์กรณีหมิ่นสมเด็จพระนเรศวร

ขอตอบว่า ไม่ใช่ว่างมากหรอก เพราะผู้เขียนบังเอิญรู้จักกับหนึ่งในนั้นซึ่งเป็นนายพลเกษียณอายุไปหลายปีแล้ว จึงไม่สามารถนำไปเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ได้ว่านายพลที่ยังประจำการในกองทัพไทยซึ่งมีจำนวนมากกว่านายพลในกองทัพอเมริกันเสียอีกว่ามีเวลาว่างมากน้อยเพียงใด (1)   ถึงแม้ผู้เขียนจะรู้จักกับนายพลท่านนั้นไม่สนิทนักแต่ก็รู้ว่าท่านมีความสนใจในประวัติศาสตร์ เพราะที่บ้านท่านมีหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยหลายเล่ม (หนึ่งในนั้นผู้เขียนจำได้แม่นยำว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม 2475  ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์)  แต่จะบอกว่าท่านมีความรู้ในประวัติศาสตร์อย่างดีก็พูดไม่เต็มปากนักเพราะผู้เขียนไม่เคยเสวนากับท่านอย่างจริงจังในเรื่องนี้จึงไม่ทราบว่าท่านอ่านหนังสือเหล่านั้นครบถ้วนจนสามารถนำไปครุ่นคิดได้ความรู้ใหม่ๆ หรือไม่
 

2.อย่างน้อยถ้าสนใจประวัติศาสตร์ไทยแล้วเหตุใดจึงใจคอคับแคบเช่นนี้

อดีตนายพลท่านนั้นเคยประจำอยู่ในค่ายทหารที่พิษณุโลกซึ่งถือว่าสมเด็จพระนเรศวรเป็นวีรบุรุษประจำท้องถิ่นที่ต้องเชิดชูอย่างสูง เหมือนความเคารพอย่างล้นพ้นที่ชาวโคราชมีต่อย่าโมหรือชาวอุตรดิตถ์มีต่อพระยาพิชัยดาบหัก  เป็นธรรมชาติสำหรับคนที่สนใจและศึกษาประวัติศาสตร์ แม้จะดีแค่ไหนก็อาจไปติดอยู่กับบางแง่มุมทางประวัติศาสตร์ไปตามความเชื่อหรือโลกทัศน์ที่ตัวเองยึดถืออยู่ผสมกับลัทธิบูชาบุคคลซึ่งจะกลายเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ตัวเองพัฒนาแนวคิดไกลไปกว่านั้น กับดักเช่นนี้แม้แต่นักคิดเสรีนิยมเองก็เจอมามากแล้วจากการเชิดชูบุคคลนอกกระแสหลักของรัฐเช่น คณะราษฎร นายปรีดี พนมยงค์ ท่านพุทธทาสหรือนายป๋วย อึ๊งภากรณ์จนไม่ยอมให้ใครมากล่าวถึงในด้านลบ

สำหรับมวลชนแล้ว เมื่อประวัติศาสตร์ได้ก้าวเลยไปสู่การเป็นกระบวนทัศน์ของคนในท้องที่หนึ่งๆ ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ความเชื่อหลักหลายประการจะสถิติอยู่อย่างมั่นคงในสำนึกของคนเหล่านั้นอย่างเช่น พระนเรศวรทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยหรือพระองค์ทรงทำยุทธหัตถีบนหลังช้างอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ฯลฯ  แม้เนื้อหารองอื่นๆ จะมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปดังเช่นภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรซึ่งมีการระดมใส่ฉากจากจินตนาการเข้าไปมากมายก็ตามแต่ก็ไม่ได้ถูกโจมตีจากคนที่เชิดชูพระนเรศวร ตราบใดที่ไม่ไปรบกวนความเชื่อหลักเหล่านั้น(2)

ดังนั้น สำหรับสังคมไทยหากแนวคิดหรืองานเขียนทางประวัติศาสตร์ออกมาท้าทายหรือหักล้างความเชื่อหลักก็ไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรต่อสาธารณชนในวงกว้าง ราวกับประวัติศาสตร์ทั้ง 2 ส่วนดำรงอยู่กันคนละมิติที่ขนานกันไป (3)  ยิ่งความเชื่อหลักของมวลชนได้ผสมผสานกับอารมณ์ความรู้สึก ความภาคภูมิใจ ความรักชาติ  ประพรมด้วยความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ บารมีและชาติภพ จนความเชื่อเหล่านั้นได้กลายมาเป็น       อัตลักษณ์หรือภาพตัวแทนของผู้ยึดถือ (ดังที่เราเห็นจากสติกเกอร์ติดหลังรถที่ว่า "ลูกองค์ดำ" หรือ "หลานย่าโม"หรือมีหลายปีก่อนที่คนพิษณุโลกคนหนึ่งได้บอกกับผู้เขียนว่าในอดีตชาติเขาเคยเป็นทหารเอกของพระนเรศวรมาก่อน)   ประวัติศาสตร์ตรงจุดนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ และกลายเป็นโทษต่อผู้ท้าทายเหล่านั้น    กรณีของอาจารย์สุลักษณ์ไม่ใช่กรณีแรกดังเช่นกรณีที่คนถูกดำเนินคดีหมิ่นรัชกาลที่ 4  หรือมีความพยายามที่จะฟ้องคนเขียนหนังสือ “นายใน”   แม้แต่กรณีสามัญชนในอดีตก็ตามอย่างกรณีคุณสายพิณ แก้วงามประเสริฐที่ถูกชาวโคราชออกมาเดินขบวนไล่เพราะวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับย่าโม

ในกรณีของคุณสายพิณนั้น เคยเห็นเธอแสดงความท้อใจต่อความล้มเหลวของวงการประวัติศาสตร์ไทย ผู้เขียนกลับคิดอีกอย่างว่าเธอควรภูมิใจว่า ความเป็นปรปักษ์ของคนในท้องถิ่นสะท้อนว่างานของเธอนั้นได้เป็น Masterpiece หรืองานยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง เพราะเป็นการเข้าไปคัดง้างกับการทำงานของกลไกอันมหึมาของความเชื่อมวลชนที่แอบอิงกับทุกอย่างที่ได้ยกมาเช่นอารมณ์ ชาตินิยม อัตลักษณ์ เสียมากกว่าเรื่องเหตุผล ยิ่งพวกเขาไม่พอใจเท่าไร ก็สะท้อนว่างานของเธอได้เป็น “ภัยคุกคาม” ที่จะทำลายอัตลักษณ์ของตนมากเท่านั้น  ในยุคกลาง มีนักคิดชาวยุโรปมากมายต้องเสียชีวิตหรือถูกคุมขังเพราะนำเสนอความคิดที่ท้าทายต่ออำนาจรัฐหรือกระบวนทัศน์หลัก กว่าคนจะเชื่อว่าโลกกลมและหมุนรอบพระอาทิตย์ ก็ต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้อไปมากโข

3.ตกลงนายพลทั้ง 2 ท่านผิดหรือไม่

ผู้เขียนไม่อยากบอกว่าประวัติศาสตร์ที่อาจารย์สุลักษณ์นำเสนอในงานเสวนากับประวัติศาสตร์ชุดที่นายพลท่านนั้นยึดถือใครถูกใครผิด เพราะเรื่องราวที่ถูกเขียนขึ้นมาผ่านพงศาวดารนั้นมีความหลากหลายและไม่ชัดเจน ผ่านการตีความมากมาย  แต่ขอสรุปว่ามักเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ของคนทั่วไปที่ว่าประวัติศาสตร์คือกระจกเงาที่สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มแจ้ง  อย่าว่าแต่เหตุการณ์เรื่องพระนเรศวรเมื่อ 400 ปีเลย แค่เหตุการณ์ยึดอำนาจของคสช.เมื่อหลายเดือนก่อนก็มีคนตีความกันไม่เหมือนกันแล้ว   ประวัติศาสตร์นั้นคือการสนทนาอย่างไม่รู้จบระหว่างอดีตและปัจจุบัน นั้นคือเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ความรู้จากปัจจุบันในการตีความอดีตไปได้  ยิ่งบริบทรอบตัวเราอยู่เปลี่ยนแปลงไปเท่าใด ประวัติศาสตร์ชุดเดิมที่เราคิดว่าหยุดนิ่งก็จะเปลี่ยนแปลงไปเพราะการตีความของเราที่มีผลจากบริบทรอบตัวนั้นรวมไปถึงปัจจัยที่ว่าใครเป็นผู้ตีความ จากมุมมองใด ชาติใด (เช่นคนพม่าก็มองพระนเรศวรอีกแบบหนึ่ง)  เราจึงไม่สามารถอ้างได้ว่าเราสามารถผูกขาดความเป็นจริงได้แต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้นเราจึงต้องตำหนิท่านนายพลว่าไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ในเชิงวิพากษ์หรือต้องการตั้งคำถามใหม่ๆ ต่อประวัติศาสตร์ (Skeptical mind)  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้วงการประวัติศาสตร์มีความก้าวหน้า (หรืออย่างน้อยก็มีการเคลื่อนไหว)  เช่นเดียวกับการเปิดใจกว้างยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง หากท่านนายพลถือว่าตนเป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่นก็คงยืนอยู่แค่ตรงกลางระหว่างชาวบ้านที่เชื่อตามกระแส กับนักวิชาการทางประวัติศาสตร์  ทั้งนี้ก็ต้องเห็นใจท่านนายพลในระดับหนึ่งว่า อาจารย์ สุลักษณ์เป็นที่รู้จักกันดีว่ามักใช้คำรุนแรงและขวานผ่าซาก อันอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจอย่างสูง (สมมติว่าเป็นนักวิชาการคนอื่นที่ใช้คำนิ่มนวลและมีลักษณะเป็นวิชาการกว่านี้ ก็อาจจะไม่โดนฟ้องก็ได้)

แต่ท่านนายพลยังต้องถูกต่อว่าไม่ได้เข้าใจต่อตัวกฎหมายมาตรา 112 ให้ดีว่าเฉพาะเจาะจงกษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการซึ่งดำรงตำแหน่งในปัจจุบันเท่านั้น แต่ก็น่าสนใจว่าแม้กฎหมายอาญามาตรานี้จะมีการถูกระบุไว้อย่างชัดเจนแต่ก็เป็นเพียงตัวหนังสือที่ไม่ทรงพลังเท่ากับความเข้าใจหรือการสื่อสารกันบนความเชื่อซึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดราชาชาตินิยมที่สามารถเลื่อนไหล เปลี่ยนแปลงจนเกินจริงได้อย่างน่าอัศจรรย์เหมือนดังคดีนี้   ผู้เขียนเคยอ่านกระทู้ที่กล่าวถึงกรณีอาจารย์สุลักษณ์เมื่อไม่กี่วันมานี้ บางคนยังเข้าใจว่ากฎหมายนี้ครอบคลุมกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี  ซ้ำร้ายเมื่อปีก่อนมีภาพอื้อฉาวที่นักข่าวของไทยซึ่งไปทำข่าวงานศพของกษัตริย์สีหนุที่กัมพูชาและเผลอเอารูปของพระองค์ไว้ที่ปลายเท้า ภาพเช่นนี้ถูกแชร์กันในเฟซบุ๊คและมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งหวั่นเกรงต่อความสัมพันธ์กับกัมพูชาออกมาขู่ว่า ถ้าแชร์หรือกดไลค์อาจถูกดำเนินคดีหมิ่นเบื้องสูง

หรือเราสามารถมองอีกแง่หนึ่งว่าท่านนายพลอาจทราบถึงตัวกฎหมายดีแต่อาจต้องการแอบผลักดันหรือลุ้นให้กฎหมายครอบคลุมถึงกษัตริย์ในอดีตด้วยเพราะทราบดีว่าปัจจุบันศาลมีอำนาจในการตีความคดีอย่างมากและมักใช้ความเชื่อที่อิงกับแนวคิดราชาชาตินิยมดังกล่าวเพื่อพิจารณาคดีหมิ่นเบื้องสูง ยิ่งเป็นศาลทหารในยุคของคสช.ด้วยแล้ว

4.คดีนี้มีความเกี่ยวข้องกับ คสช.หรือไม่ และสะท้อนความไม่มั่นคงของทหารจริงหรือเปล่า

ผู้เขียนไม่อยากกล่าวหาว่าคสช.มีส่วนเกี่ยวข้องดังข้อสงสัยของใครหลายคน เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจน เป็นเรื่องจริงที่ว่าคสช.พยายามใช้ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง แต่คสช.นั้นไม่ใช่ตัวแทนของทหารเสียทั้งหมด นายพลทั้ง 2 ท่านก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับคสช.ในการทำรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ ต่อให้คสช.ล่มสลายวันนี้ และรัฐบาลพลเรือนขึ้นมามีอำนาจแทน  กฎหมายมาตรา 112 ก็ยังอยู่เช่นเดียวกับอิทธิพลอันยิ่งใหญ่กองทัพซึ่งยังคงฝังอยู่กับสังคมไทยและยังคงยึดภาพของพระนเรศวรเพื่อเป็นอัตลักษณ์ของตนมาหลายทศวรรษแม้ว่าจะมีความสับสนในเรื่องข้อมูลบางประการดังเช่นการกำหนดว่าวันไหนที่พระนเรศวรกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราช เพราะนั้นเป็นเพียงความเชื่อรองที่มวลชนพร้อมจะไม่ใส่ใจเท่าไรนักแม้ว่าอาจจะขัดกับสามัญสำนึกในบางกรณีก็ตาม ดังนั้นไม่ว่ายุคไหน ก็สามารถมีนายทหาร (หรือพลเรือน) มาฟ้องคนที่หมิ่นพระนเรศวรด้วยมาตรา 112 เหมือนครั้งนี้ได้เรื่อยๆ  เราไม่สามารถบอกได้เลยทีเดียวว่าเพราะทหารมีความไม่มั่นคงจึงไม่กล้ายอมรับประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง

เป็นที่น่าสนใจว่ากองทัพดูจะเลือกพระนเรศวรเป็นภาพอันสูงส่งของอัตลักษณ์ตนทั้งที่พระองค์นั้นได้สิ้นพระชนม์ไปนานกว่า 400 ปี อันส่งผลต่อการทหารและการเมืองไทยในปัจจุบันได้น้อยมาก ไม่อาจเทียบได้กับกษัตริย์นักรบพระองค์อื่นซึ่งกลับได้รับความสำคัญน้อยกว่าเช่น  พระเจ้าตากสิน  รัชกาลที่ 1 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงให้กำเนิดกองทัพตามแบบตะวันตก แต่ก็ได้รับการยกย่องว่าทรงให้กำเนิดโรงเรียนนายร้อยเสียมากกว่า แม้แต่จอมพล ป.พิบูลสงครามเองซึ่งมีส่วนสำคัญให้กองทัพยุคใหม่เข้ามามีอิทธิพลเหนือการเมืองและวิถีชีวิตของคนไทยก็ไม่ได้รับการกล่าวถึงเท่าไร

ผู้เขียนคิดว่าโครงเรื่อง (Plot) ของการต่อสู้และพระชนม์ชีพของสมเด็จพระนเรศวรนั้นพอเหมาะพอเจาะสำหรับการสร้างอารมณ์ร่วมของชาตินิยมได้ดีที่สุดและยังสามารถถูกปรุงแต่งในรายละเอียดหลายส่วนได้อย่างแนบเนียนเพื่อเหมาะกับคติความนิยมของคนไทยที่มีต่อผู้นำในปัจจุบัน เช่นเป็นเลือดกษัตริย์แต่ต้องมาเป็นตัวประกันของศัตรู ได้รับการฝึกปรือฝีมือจนกลายเป็นแม่ทัพผู้กล้าในการกู้อิสรภาพของชาติ  อุปนิสัยเป็นคนดุ เด็ดขาด แต่แฝงด้วยความอ่อนโยนและมีเมตตา

ความสำคัญของมหาบุรุษหรือมหาสตรีในประวัติศาสตร์ไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อรัฐยุคปัจจุบัน แต่เป็นภาพลักษณ์และเรื่องราวของเขาหรือเธอจะสามารถสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับรัฐหรืออีกนัยหนึ่งคือทำให้ประชาชนรู้สึกภักดีต่อรัฐที่อาศัยภาพของบุคคลสำคัญเหล่านั้นได้อย่างไรเสียมากกว่า

5.จะเกิดอะไรขึ้นกับอาจารย์สุลักษณ์และวงการประวัติศาสตร์ไทย

อาจารย์สุลักษณ์เคยบอกกับตัวผู้เขียนเองว่าท่านเป็นอภิสิทธิชน ท่านเคยโดนคดีทำนองนี้มาหลายคดีและดูเหมือนกระบวนการทางกฎหมายจะหยุดชะงัก ไม่มีการกล่าวถึงอีก ยิ่งคดีหมิ่นพระนเรศวรก็ดูเป็นไปได้น้อยมากที่ท่านจะถูกลงโทษ (นอกจากนี้ยังน่าสนใจว่าสำนักข่าวกระแสหลักราวกับตั้งใจหุบปากไม่ยอมเสนอข่าวนี้กันเป็นแถว)   ผู้เขียนคิดว่ารัฐนั้นเข้าใจดีว่าการยอมปล่อยให้เนื้อหาของมาตรา 112 หลุดไปจนหาขอบเขตย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อดุลทางอำนาจ แต่การทำให้เนื้อหากฎหมายมีความชัดเจนแก่ประชาชนก็ไม่ใช่เรื่องเป็นคุณอีกเช่นกัน การปล่อยให้คดีความเงียบหายไปหรือขึ้นอยู่กับการตีความของศาลจนกลายเป็นตัวกฎหมายเสียเองจะดีกว่า  กฎหมายมาตรา 112 โดยเฉพาะต่อกษัตริย์ในอดีตจึงกลายเป็นสิ่งที่รัฐสามารถเลือกจะใช้หรือไม่ใช้กับใครก็ได้ (4)  ซึ่งย่อมไม่ดีต่อภาวะนิติรัฐซึ่งแทบจะไม่มีอยู่เลยในยุคนี้

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่ได้ต่อวงวิชาการย่อมมหาศาลนักหากเราไปดูงานประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีเป็นจำนวนมากที่พร้อมจะกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับการฟ้องในมาตรานี้ เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ผลิตผลงานอาจเกิดความหวาดกลัวหรือไม่สบายใจจึงไม่กล้าผลิตงานทางประวัติศาสตร์ที่ลุ่มลึกอีกต่อไปเพราะพวกเขาไม่ใช่อาจารย์สุลักษณ์(ยกเว้นจะลุ้นเอาว่าการนำเสนอแบบนิ่มนวลและแยบยลจะทำให้ตัวเองไม่โดนฟ้อง) ตามความคิดของผู้เขียนแล้ว การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์อย่างอิสระไม่ใช่สิ่งที่น่าอภิรมย์สำหรับรัฐนัก ประวัติศาสตร์เป็นเพียงเครื่องมือของรัฐในการสร้างความทรงจำร่วมเชิงบังคับอันนำไปสู่การจองจำประชาชนให้เป็นเครื่องจักรกลที่เชื่องๆ ของรัฐ ยิ่งมาผสมกับคดีมาตรา 112 ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือใครสามารถฟ้องใครก็ได้ อีกทั้งศาลมีอำนาจอย่างล้นพ้นในการตีความกฎหมายด้วยแล้ว คดีอาจารย์สุลักษณ์จึงเป็นการโหมโรงของรัฐในการเข้าโจมตีและยึดครองพื้นที่เสรีของวงการประวัติศาสตร์ซึ่งเหลือไม่มากนักจากการที่รัฐได้เข้ายึดครองหนังสือตำราเรียนสำหรับเยาวชนอย่างเหนียวแน่นมานานแล้ว

 

หมายเหตุ

(1)  หากคำนวณดูจากปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะกำลังพลและภัยคุกคามจากภายนอกแล้วจะพบว่าจำนวนของนายพลของไทยนั้นดูมีจำนวนมากจนเกินจริง อย่างไรก็ตามหลายทศวรรษที่ผ่านมา กองทัพได้ขยายความหมายของความมั่นคงเสียใหม่จนเป็นการล้ำพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานอื่นเช่นตำรวจ หน่วยงานเกี่ยวกับการพัฒนา  หน่วยข่าวกรอง ศาล ฯลฯ   โดยเฉพาะภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ดูเหมือนคสช.จะพยายามทำให้ภาพระหว่างกองทัพกับตำรวจนั้นมีความไม่ชัดเจนโดยเฉพาะเมื่อต้องจัดการกับกลุ่มที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร  และที่สำคัญรวมไปถึงการเข้าครอบครองพื้นที่ทางการเมืองซึ่งเคยเป็นของพลเมือง อันกลายเป็นการเพิ่มงานและผลประโยชน์ให้กับทหารในทุกระดับรวมไปถึงนายพลได้ เพราะฉะนั้นจึงพอเดาได้ว่าโอกาสของการว่างงานของนายพลก็น่าจะมีน้อยลงมากและคำว่า “ทหารแตงโม” ก็พลอยหายไปด้วย

(2)  กระนั้นเองหม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคลก็ได้เล่าในเว็บพันธ์ทิพย์ซึ่งท่านเป็นสมาชิกว่าท่านก็ถูกตำหนิว่าวางตัวผู้แสดงเป็นพระนเรศวรไม่ค่อยเหมาะสมนัก นอกจากนี้ท่านยังแสดงความหนักใจที่จะต้องแสดงฉากที่พระนเรศวรทรงสั่งให้ประหารแม่ทัพนายกองของตัวเองเป็นจำนวนมากเพราะจะเป็นแสดงภาพลบของพระองค์ไปโดยปริยาย  ทั้งนี้ผู้เขียนได้ติดตามชมภาพยนตร์ของท่านเพียง 2 ภาคแรก จึงไม่ทราบว่าท่านได้ใส่ฉากนี้ลงไปด้วยหรือไม่ หรือจะเขียนบทแก้ต่างแทนพระองค์อย่างไร

(3)   เส้นสองเส้นนี้อาจจะบรรจบกันก็ได้ในอนาคตเช่นความรู้ทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ของวงวิชาการอาจหักล้างกับความเชื่อเดิมจนได้รับการยอมรับจากมวลชนในที่สุด แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสังคมไทย

(4)    ดังนั้นจึงพอสบายใจได้สำหรับคนช่างสงสัยที่ว่าอนาคต หากมีผู้ฟ้องกันในคดีหมิ่นพ่อขุนรามคำแหง  พญางำเมือง หรือพระเจ้าเอกทัศน์  รวมไปถึงจิ๋นซี ฮ่องเต้  หรือพระเจ้านโปเลียนจะเกิดอะไรขึ้น เพราะรัฐจะไม่ยอมให้กฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้เสื่อมไปเป็นอันขาดด้วยคดีที่ไร้สาระ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท