Skip to main content
sharethis

กิจกรรม 180 วัน คิดถึงบิลลี่กับคังด้ง 1,000 ใย จึงไม่ได้เป็นเพียงพิธีเรียกขวัญบิลลี่เท่านั้นแต่ยังเป็นการปลอบขวัญชาวบ้านบางกลอย นำกำลังใจจากคนเมืองที่สนใจอยากให้ความช่วยเหลือไปสู่ชาวบ้านซึ่งกิจกรรมลำดับถัดไปกลุ่มดินสอสีได้จัดตั้งกองทุนบิลลี่เพื่อครอบครัวและต่อสู้คดีอีกด้วย

ที่มาของภาพ: กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

คังด้งหรือใยแมงมุม 1,000 ใย ที่ทางกลุ่มดินสอสีและประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม "เราทุกคน คือ บิลลี่" ร่วมกันทำขึ้น (ครั้งที่1 ‘WE ALL BILLY’ วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2557 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ, ครั้งที่ 2 วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม 2557 ณ สยามสมาคม สุขุมวิท 21) ถูกนำออกมาแจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเรียกขวัญบิลลี่ ที่สะพานแขวนระหว่างหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี วันที่ 19-20 ตุลาคม 2557 นำไปแขวนไว้ที่ราวสะพาน ตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง เรียกขวัญบิลลี่ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ถึง 6 เดือน (180 วัน) ให้กลับบ้าน โดย มีปู่คออี้ มิมี ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยง วัย 105 ปี เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม การประกอบพิธีกรรมเป็นไปอย่างเรียบง่ายโดยการนำคังด้งตบลงกับพื้นบริเวณสะพานและระหว่างประกอบพิธีห้ามผู้คนสัญจรผ่าน

กิจกรรมครั้งนี้ นำโดย กลุ่มดินสอสี เครือข่ายกระเหรี่ยงภาคตะวันออกและภาคเหนือกับชาวบ้านบางกลอย นักข่าวและช่างภาพจากหลายสำนัก รวมทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร เช่น แอมเนสตี้-ไทย รวมแล้วเกือบ 100 คน แม้ว่า ฝนจะตกแต่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างออกไปผูกคังด้งกับราวสะพานแขวนท่ามกลางสายฝนกระหน่ำ

“เมื่อกลไกรัฐทำงานล่าช้า เราต้องใช้วิธีนี้” ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงกล่าว คังด้ง เป็นสัญลักษณ์ของใยแมงมุมซึ่งตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงมีไว้สำหรับประกอบพิธีกรรมในงานบุญต่างๆ เรียกขวัญหรือวิญญาณให้มาอยู่ในคังด้ง มักติดเอาไว้ตามบ้านเพื่อเป็นเครื่องหมายนำทางให้ขวัญหรือวิญญาณกลับบ้าน คังด้งใช้เชือกไหมพรมหลายสีม้วนพันไว้บนไม้รูปกากบาทสี่แฉกหรือหกแฉกแล้วทำเป็นตุ้มสำหรับแขวน ทั้งนี้ นอกจากเรียกขวัญบิลลี่กลับบ้านยังเป็นการให้กำลังใจชาวบ้านบางกลอยซึ่งถูกอพยพโยกย้ายจากบางกลอยบนลงมาที่หมู่บ้านโป่งลึกในปัจจุบัน

ที่มาของภาพ: กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

ปัญหาอพยพโยกย้ายชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ปี 2554 กลายเป็นข่าวโด่งดังและยังเป็นคดีความในชั้นศาล เมื่อพบว่า มีการเผาไล่รื้อบ้านและฉางข้าวของพวกเขาเพื่อให้ออกมานอกเขตป่าแก่งกระจานที่กำลังถูกเสนอชื่อเป็นมรดกโลกและบิลลี่เป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องความเป็นธรรมก่อนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 6 เดือน

ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงขยายความต่อไปว่า บิลลี่เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตามกฏหมายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ระบุว่าบุคคลที่รับราชการหรือเป็นพนักงานของรัฐไม่ปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบงานเกินกว่า 180 วัน ให้หมดสิทธิ์ในหน้าที่ราชการทันที ตัวแทนชาวกะเหรี่ยง ชี้ว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือ คนของรัฐหายตัวไปอย่างไร้ร่อรอย ต้นสังกัดนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ลำดับต่อมาในช่วงเย็นเป็นพิธีการให้กำลังใจครอบครัวของบิลลี่ด้วยการจุดเทียนรำลึกถึงผู้หายไปพร้อมกับบทเพลงให้กำลังใจชาวบ้านและการแสดงเตหน่าของหญิงชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย โดย ลูกสาวของบิลลี่ร่วมจุดเทียนรำลึกถึงพ่อของเธอด้วย ต่อกรณีของบิลลี่ นับเป็นการบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพราะมีหลักฐานปรากฏเป็นที่ชัดเจนว่า ก่อนจะหายไปอย่างไร้ร่องรอย บิลลี่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินการสอบสวนในชั้นศาล

กิจกรรม 180 วัน คิดถึงบิลลี่กับคังด้ง 1,000 ใย จึงไม่ได้เป็นเพียงพิธีเรียกขวัญบิลลี่เท่านั้นแต่ยังเป็นการปลอบขวัญชาวบ้านบางกลอย นำกำลังใจจากคนเมืองที่สนใจอยากให้ความช่วยเหลือไปสู่ชาวบ้านซึ่งกิจกรรมลำดับถัดไปกลุ่มดินสอสีได้จัดตั้งกองทุนบิลลี่เพื่อครอบครัวและต่อสู้คดีอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net