Skip to main content
sharethis
จ้างชาวนาขุดคลอง 1,264 ล้านบาท
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งปี 2557/2558 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดย ครม.เห็นชอบให้งดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง และให้มีการออกประกาศทางราชการแจ้งพื้นที่ที่งดการส่งน้ำและงดทำนาปรังในพื้นที่ 26 จังหวัดให้ประชาชนรับทราบ หากเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองจะไม่ได้รับการช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติด้านการเกษตร
 
ขณะเดียวกันจะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและเจ้าพระยาทั้งในและนอกเขตชลประทานจากการที่ต้องงดทำนาปรังวงเงิน 1,264.43 ล้านบาทจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ประกอบด้วย มาตรการหลักคือ กรมชลประทานจะจ้างแรงงานเพื่อซ่อมคูคลองในฤดูแล้ง จำนวน 7.54 ล้านแรงคน ครอบคลุมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการงดปลูกข้าวนาปรังจำนวน 200,000 ราย
 
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมประกอบด้วยการอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านประมง 3,574 ราย, การอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ 13,389 ราย, การฝึกอาชีพในภาคเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรฝึกอาชีพเกษตรกรจำนวน 17,804 ราย สำหรับมาตรการเสริมยังมีการฝึกอาชีพนอกภาคเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจำนวน 1,385 ราย และยังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชปุ๋ยสดในพื้นที่พักนาที่มีความชื้นเพียงพอจำนวน 150,000 ไร่ โดยกรมพัฒนาที่ดิน
 
อย่างไรก็ตาม ทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริม เกษตรกรสามารถเลือกการช่วยเหลือตามความสมัครใจ ซึ่งเมื่อได้รับการช่วยเหลือมาตรการหลักแล้ว สามารถเลือกมาตรการเสริมได้ 1 มาตรการ หรือถ้าไม่เลือกมาตรการหลักก็ยังมีสิทธิ์เลือกมาตรการเสริมได้ ซึ่งจะเลือกได้เพียงมาตรการเดียวเช่นกัน เพื่อกระจายการช่วยเหลือไปให้เกษตรกรรายอื่นๆ อย่างเป็นธรรม โดยกำหนดจะเริ่มมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2557-30 เม.ย.2558
 
“กระทรวงเกษตรฯเสนอของบประมาณมาครั้งแรกวงเงิน 2,401.04 ล้านบาท แต่ รมว.เกษตรฯชี้แจงในที่ประชุม ครม.ว่าไม่มั่นใจว่ามาตรการที่เสนอประชาชนจะเห็นพ้องด้วยมากน้อยแค่ไหน ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความเห็นว่า มีคนออกมาท้วงติงว่าการจ้างแรงงานเกษตรไปขุดลอกคูคลอง คนทำนาขณะนี้เป็นคนแก่จะทำไหวหรือไม่ หรือการลดต้นทุนการผลิต ชาวนาที่เป็นคนแก่ก็ต้องจ้างเขาทำจะลดต้นทุนได้อย่างไร กระทรวงเกษตรฯจึงขอปรับลดงบประมาณลงโดยตัดในส่วนที่ขอใช้งบกลางจำนวน 1,136.61 ล้านบาทออกไปก่อน”
 
(ไทยรัฐ, 15-10-2557)
 
เตือนหา “จ๊อบ” ผ่านเน็ตเสี่ยงถูกหลอก 11 เดือนร้องเรียน 472 คน
 
(15 ต.ค.) นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีแรงงานที่ถูกหลอกโดยนายหน้าเถื่อนว่าสามารถช่วยให้ไปทำงานต่างประเทศผ่านเฟซบุ๊กว่า ล่าสุดมีแรงงานที่ถูกหลอกร้องเรียนต่อกรมการจัดหางานแล้ว 27 คนแยกเป็นแรงงานจาก จ.บุรีรัมย์ 6 คน ลำพูน 3 คน มหาสารคาม 3 คน ร้อยเอ็ด 2 คน ขอนแก่น 2 คน สกลนคร 2 คน นครพนม 2 คน พะเยา 2 คน เชียงใหม่ 1 คน แพร่ 1 คน หนองคาย 1 คน ฉะเชิงเทรา 1 คน บึงกาฬ 1 คน ซึ่งได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายหน้าเถื่อนแล้วที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) หัวหมาก กรุงเทพฯ และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) โดยเอาผิดโทษฐานหลอกลวงคนไปทำงานต่างประเทศ ตามมาตรา 91 ของพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มีโทษปรับ 60,000 - 200,000 บาท จำคุก 3 - 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับต่อการหลอกลวงหนึ่งครั้ง
       
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ช่วงตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 - ก.ย. 2557 มีแรงงานที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศร้องทุกข์กับกรมการจัดหางานรวม 472 คนแยกเป็นร้องทุกข์กรณีบริษัทจัดหางาน 142 คน สาย/นายหน้าเถื่อน 330 คน ขณะที่ในปี 2556 มีแรงงานร้องทุกข์ 955 คนแยกเป็นร้องทุกข์กรณีบริษัทจัดหางาน 427 คน และกรณีสาย/นายหน้าเถื่อน 528 คน โดยช่วง 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือแรงงานที่มาร้องทุกข์ได้ 1,473 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงงานที่เคยมาร้องทุกข์ไว้แต่ตกค้างยังไม่ได้รับความช่วยเหลือภายในปีงบประมาณที่มาร้องทุกข์
       
ทั้งนี้ สาเหตุที่แรงงานร้องทุกข์กรณีบริษัทจัดหางาน เนื่องจากเก็บเงินค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายแล้วไม่สามารถจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศได้ เดินทางแล้วประสบปัญหาไม่สามารถทำงานได้ เมื่อกลับมาจึงต้องร้องทุกข์ขอค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืน รวมทั้งเดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้วนายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา เช่น ให้ทำงานไม่ตรงกับตำแหน่ง ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าในสัญญาจ้าง ไม่มีสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ตรงกับสัญญาจ้าง
       
ส่วนการร้องทุกข์กรณีสาย/นายหน้าเถื่อนนั้น เนื่องจากถูกหลอกเก็บเงินค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายแล้วไม่สามารถจัดส่งแรงงานไปทำงานได้ จัดส่งแรงงานไปทำงานแบบผิดกฎหมายหรือไม่มีงานทำ รวมทั้งกรณีเก็บค่าใช้จ่ายไปแล้วมีการจัดส่งไปทำงาน ปล่อยทิ้งให้แรงงานหาทางกลับประเทศไทยเอง ทั้งนี้ จึงขอเตือนผู้ที่ต้องการจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศให้ระมัดระวังในการหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ โดยขอให้ติดต่อสอบถามข้อมูลกับกรมการจัดหางานได้ที่สายด่วน 1694 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-10-2557)
 
ไอแอลโอ แนะตรวจสอบ ย้ายถิ่น แรงงาน
 
(15 ต.ค.) นายมอริซิโอ บุซซี่ (Mr.Maurizio Bussi) รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ประจำประเทศไทย กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP Roadmap Workshop) โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน เช่น กรมประมง นายจ้างและสมาคมอุตสาหกรรม องค์การช่วยเหลือเด็กเข้าร่วมเป็นต้นว่า ต้องการเน้น GLP ที่โปร่งใส ซึ่งการร่วมกันทุกฝ่ายถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง การมีโรดแมปของ GLP นั้นถือเป็นจุดเริ่มต้น แต่ GLP นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง จะต้อง เพิ่มความเข้มแข็งในการตรวจแรงงาน การย้ายถิ่นที่มีความยุติธรรม การเคารพลูกจ้างอย่างเท่าเทียม
       
ด้านนายสนาน บุญงอก ประธานคณะกรรมการประสานงานสหพันธ์แรงงานขนส่งแห่งประเทศ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ต้องทำให้นายจ้างปฏิบัติตาม GLP และควรจูงใจให้เลิกรูปแบบการจ้างแบบเหมาเพราะทำให้แรงงานมักไม่ได้รับการคุ้มครอง ควรบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตาม GLP มากกว่าใช้ระบบสมัครใจ เพราะมีกฎหมายด้านนี้อยู่แล้ว
       
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย กล่าวว่า หากประเทศไทยส่งเสริมการปฏิบัติตาม GLP จะทำให้แรงงานข้ามชาติสนใจมาทำงานในไทยมากขึ้น เพราะนอกจากค่าจ้างที่ดีแล้วก็ต้องมีเรื่องการใช้แรงงานที่ดีด้วย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่สะสมมานาน
       
ด้านนางสาวกนกวรรณ โมรัฐเสถียร หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า ควรมีการควบคุมไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานโดยเด็ดขาด รวมถึงมีการควบคุมเรื่องลักษณะการทำงานและช่วงเวลาพักผ่อนของเด็กที่ทำงานซึ่งมีอายุระหว่าง 16 - 18 ปี
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-10-2557)
 
รมว.แรงงาน เผยกัมพูชาขอชะลอส่งเจ้าหน้าที่ร่วมพิสูจน์สัญชาติแรงงาน เหตุการประสานงานภายในประเทศยังไม่ลงตัว 
 
(16 ต.ค.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังนางอีต โซเฟีย เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย เข้าหารือเกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติแรงงานกัมพูชา ว่า ที่ผ่านมา ทางกัมพูชาได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาทดลองระบบการพิสูจน์สัญชาติเพื่อคำนวณว่าจะสามารถดำเนินการได้วันละกี่ราย โดยทางการกัมพูชามีปัญหาการดำเนินการระหว่างหน่วยงานของตนเอง จึงได้เดินทางกลับประเทศ และยังไม่ได้เริ่มพิสูจน์สัญชาติแรงงานกัมพูชาที่จดทะเบียน ซึ่งทางการกัมพูชาจะจัดส่งเจ้าหน้าที่กลับมาดำเนินการภายหลัง
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-10-2557)
 
ทอท.หั่นโบนัสพนักงาน ไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง
 
ที่ประชุม บอร์ด ทอท. มีมติปรับลดโบนัสพนักงานจาก 11 เดือน เหลือ 6.5 เดือน เหตุกันเงินเพื่อนำมาลงทุน ยัน ไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง
 
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมิมติจ่ายเงินโบนัสพนักงาน 6.5 เดือนจาก 11เดือน สาเหตุที่ปรับลดลงเนื่องจากได้กันเงินจากผลกำไรไว้มากกว่า ร้อยละ 50 ของกำไร เพื่อใช้ในการลงทุนของบริษัทฯ ในอนาคต ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุการปรับลดการจ่ายเงินโบนัสพนักงานลงนั้น ทางบริษัทฯ ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับทางพนักงานแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของบริษัทตั้งแต่ปี 2558-2562 ทางบริษัทฯ จะไม่มีปัญหาในการขาดสภาพคล่อง
ในการนำเงินมาลงทุนโครงการ เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการควบคุมรายจ่ายภายในและการกันเงิรจากผลกำไร ร้อยละ 50 ของกำไรทั้งหมด เพื่อใช้เป็นงบเป็นงบประมาณในดำเนินโครงการอยู่แล้ว โดยปัจจุบันขณะนี้ บริษัทฯ มีกระแสเงินสดอยู่ 44,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าการลงทุนในโครงการแต่ละโครงการจะไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณในการดำเนินโครงการแน่นอน
 
(ไอเอ็นเอ็น, 16-10-2557)
 
รุกจัดระเบียบแรงงานเรือประมง นำร่องดันผู้ประกอบการ 500 รายใช้ GLP สกัดค้ามนุษย์
 
ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานภาคการประมงทั้งระบบให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายใต้การสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานในสถานประกอบการในภาคการประมง ซึ่งมี GLP 4 ฉบับ ได้แก่ 1.สำหรับสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) 2.สำหรับโรงงานแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล 3.สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง และ 4.สำหรับเรือประมง
 
โดยในส่วนของ GLP สำหรับผู้ประกอบการแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล หลังจากที่ได้ลงนามแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมแนวปฏิบัติตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2556 มีผู้ประกอบการประสงค์เข้าร่วมจำนวน 178 ราย และมีการดำเนินการที่คืบหน้าไปมาก โดยผู้ประกอบการดังกล่าวได้ผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว 81 ล้ง 73 โรงงาน รวมเป็น 154 ราย ซึ่งได้ผ่านระบบการติดตามการดำเนินการปรับปรุงสภาพการทำงานของสถานประกอบการดังกล่าวแล้วอีกด้วย
 
นอกจากนี้ กรมประมงยังเร่งขับเคลื่อนการทดสอบความเหมาะสมในการนำ GLP สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ไปใช้กับกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งของไทย โดยมีกำหนดจะดำเนินการร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ ILO ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล จากนั้นจะนำมาปรับปรุง GLP สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปปฏิบัติใช้อย่างแพร่หลายต่อไป
 
สำหรับ GLP เรือประมง ซึ่งเป็น GLP ที่กรมประมงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการร่างแล้วเสร็จมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปรับปรุงสภาพการทำงานในกิจการทำการประมง โดยกรมประมงจะนำไปใช้กับผู้ประกอบการเรือประมง เพื่อให้เกิดผลการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแรงงานบนเรือประมงได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณให้มีการฝึกอบรมผู้ประกอบการเรือประมง 500 ราย ให้ได้รับทราบแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีเพื่อนำไปปฏิบัติ
 
ดังนั้นการเร่งดำเนินการทดสอบความเหมาะสมในการใช้ GLP สำหรับเรือประมงกับผู้ประกอบการในกลุ่มชาวประมง หรือสมาคมท้องถิ่นต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการประมงสามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย อันจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาสำคัญของแรงงานในเรือประมงได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
 
(แนวหน้า, 17-10-2557)
 
เครือข่ายแรงงาน ชู 4 ข้อเรียกร้องปฏิรูปประกันสังคม
 
(17 ต.ค.) ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายประกันสังคมทำงาน (คปค.) 14 องค์กร นำโดยนายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ และ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงข่าวและประกาศเจตนารมณ์ปฏิรูปประกันสังคมคนทำงานถ้วนหน้า เท่าเทียม และเป็นธรรมโดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อคุ้มครองคนทำงานที่มีรายได้ทุกคน ป้องกัน หรือลดการทุจริตที่อาจเกิดจากการบริหารจัดการกองทุนที่ขาดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิที่ควรพึงได้รับจากการร่วมจ่ายในระบบสวัสดิการต่างๆ และลดภาระการเงินการคลังที่รัฐจะต้องแบกรับในอนาคตจากการที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2558
       
การขอให้ปฏิรูปประกันสังคมโดยยึดหลัก 4 ข้อ ได้แก่ 1. หลักความครอบคลุม ผู้ทำงานทุกคนทุกอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับประโยชน์ทดแทนเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องได้เท่ากันหรือแบบเดียวกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายเงินสมทบ 2. หลักความเป็นอิสระในการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจและยึดหลักธรรมาภิบาลโดยต้องบูรณาการเพื่อประสานสิทธิประโยชน์และการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงร่วมกับสวัสดิการอื่นๆ เช่น ระบบสุขภาพ ระบบประกันชราภาพ 3. หลักการความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนทุกระบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนทุกระดับ เช่น มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมโดยตรง มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนกรรมการประกันสังคม รวมทั้งมีระบบตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และ 4. หลักยืดหยุ่นเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสามารถออกแบบและปรับปรุงให้เหมาะสม เช่น การจ่ายเงินสมทบที่สัมพันธ์กับฐานรายได้ การปรับปรุงเกณฑ์ เงื่อนไขอัตราเงินสมทบและการบริการ ระยะเวลาได้รับสิทธิประโยชน์เร็วขึ้น
       
นายมนัส กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานเป็น 1 ใน 38 ร่างกฎหมายเร่งด่วนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ขาดการมีส่วนร่วมและการบูรณาการข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงาน จึงได้ไปยื่นหนังสือต่อประธาน สนช. ขอให้ชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานเข้าสู่การพิจารณาเพื่อให้นำ 4 ประเด็นหลักข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานไปบูรณาการบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานก่อนเสนอต่อ สนช. และได้นำข้อเรียกร้องข้างต้นไปเสนอต่อ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานด้วย
       
“หากกระทรวงแรงงานไม่นำข้อเรียกร้องทั้ง 4 ของเครือข่ายแรงงานไปบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานภายใน 1 เดือน ทางเครือข่ายแรงงานจะตั้งโต๊ะล่ารายชื่อแรงงานทั่วประเทศรวบรวมรายชื่อ พร้อมนำข้อเรียกร้องไปยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายมนัส กล่าว
       
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า ช่วง 24 ปี ที่ผ่านมา ระบบประกันสังคมพัฒนาไปไม่มากนัก และขาดการมีส่วนร่วมไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน เครือข่ายจึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับผู้ใช้แรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้ทหารต้องเข้ามาบริหารประเทศและรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไป เครือข่ายแรงงานไม่สามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับผู้ใช้แรงงานต่อ สนช. จึงใช้วิธีเสนอ 4 ประเด็นหลัก ในการปฏิรูประบบประกันสังคมตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงาน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ คสรท. ได้เข้าพบ รมว.แรงงาน เพื่อเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าว รวมทั้งเสนอให้ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้เป็นองค์กรอิสระและตรวจสอบการใช้เงินของ สปส. ซึ่ง รมว.แรงงาน เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องแต่ในส่วนของการปฏิรูปให้ สปส. เป็นองค์กรอิสระนั้นขอเวลาศึกษาก่อนว่าควรดำเนินการอย่างไร
       
ด้านนายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จะรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานเพื่อนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว หลังจากนั้น จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจาก 3 ฝ่ายทั้งภาครัฐ นายจ้างและลูกจ้างเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-10-2557)
 
โฆษกกต.ไทยโต้ BBC ยันช่วยโรฮิงญาเหยื่อค้ามนุษย์
 
นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีสำนักข่าว บีบีซี นำเสนอรายงานระบุไทยยังเต็มไปด้วยปัญหาการค้ามนุษย์ว่า ข่าวที่ปรากฏเป็นการนำเอาเหตุการณ์จับกุมชาวโรฮิงญาในหลายครั้งที่ จ.พังงา นับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยผู้อพยพกลุ่มแรกได้รับการยืนยันว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และได้รับการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ขณะที่กลุ่มอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยมีชายไทย 2 คนที่ถูกจับกุมพร้อมกับผู้อพยพและถูกตั้งข้อหาแล้ว
 
นายเสข กล่าวว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ทำให้มีผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่องผ่านพรมแดนทางบกของไทย ระยะกว่า 5,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับปัญหานี้ หน่วยงานราชการไทยและภาคเอกชนร่วมกันทำงานอย่างหนัก เริ่มด้วยการเปิดให้มีการลงทะเบียนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน กว่า 1 ล้านคน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทย และขจัดการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ
 
นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับรัฐบาลพม่า ลาว กัมพูชาเพื่อหาทางออกที่ปฏิบัติได้จริงและแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว โดยยึดหลักปฏิบัติและกฎเกณฑ์ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและตลาดแรงงานสากล
 
(ไอเอ็นเอ็น, 21-10-2557)
 
จบ ป.ตรีเตะฝุ่นกว่า 1 แสนคน พบสายสังคมมากสุด
 
(21 ต.ค.) นายธนิช นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลสำรวจการมีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือนก.ย.2557 ซึ่งพบว่ามีผู้ว่างงานกว่า 3.1 แสนคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เรียนจบอุดมศึกษากว่า 1 แสนคน ว่า เชื่อว่า ผู้ว่างงานระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่จะเป็นผู้จบปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ เนื่องจากมีงานรองรับน้อยแต่มีคนเรียนจบสายนี้มาก ตรงข้ามกับผู้ที่จบสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีงานรองรับมากแต่มีคนเรียนด้านนี้น้อย 
       
ทั้งนี้ กกจ. มีแนวทางช่วยเหลือผู้ที่เรียนจบสายสังคมศาสตร์แล้วยังว่างงานโดยขอให้มาลงทะเบียนหางานทำได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th ของ กกจ. หรือสอบถามสายด่วน โทร. 1694 คาดว่ามีตำแหน่งงานรองรับได้ 3-4 พันอัตรา ส่วนผู้มาลงทะเบียนที่เหลือจะคัดเลือกผู้ที่เคยเรียนด้านอาชีวะระดับ ปวส. หรือเรียนจบในสาขาที่สามารถต่อยอดพัฒนาทักษะวิชาชีพ หรือทักษะภาษาอังกฤษได้ ก็จะอบรมเพิ่มเติมและหางานตำแหน่งงานรองรับ เช่น ช่างฝีมือ พนักงานต้อนรับในโรงแรม โดยเฉพาะขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวแล้วมีต้องการแรงงานจำนวนมาก และหากต้องการประกอบอาชีพอิสระจะอบรมวิชาชีพและหากองทุนให้กู้ยืม
       
รองอธิบดี กกจ. กล่าวอีกว่า กกจ. จะให้บัณฑิตอาสาสมัครของกระทรวงแรงงานในแต่ละหมู่บ้านช่วยสำรวจว่าในหมู่บ้านมีแรงงานว่างงานจำนวนเท่าใด เพื่อจัดหาตำแหน่งงานรองรับและอบรมความรู้ด้านวิชาชีพให้เพิ่มเติม ส่วนมาตรการระยะยาวนั้น กกจ. ตั้งเป้าหมายจะจัดโครงการแนะแนวอาชีพให้กับเด็ก ม.ต้น ทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กรู้ถึงความชอบและความถนัดด้านอาชีพของตนเองเพื่อเลือกเรียนได้อย่างเหมาะสมและมีงานทำ นอกจากนี้ กกจ.จะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมวิชาชีพต่างๆ สำรวจความต้องการแรงงานในสาขาต่างๆ ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558 - 2562 และเสนอข้อมูลต่อรัฐบาลเพื่อจะได้ผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net