เหตุปะทะที่เมืองทอง: ความรุนแรงในฟุตบอลกับภาวะหวาดระแวงของสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

สำหรับผู้เขียนแล้ว เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างแฟนบอลเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ดกับสิงห์ท่าเรือ เอฟซีเมื่อกลางดึกวันเสาร์ 18 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นแค่อีกครั้งหนึ่งของความรุนแรงในฟุตบอลไทยเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นน่าสนใจที่ควรยกมากล่าวถึงในหลายด้าน ทั้งที่เหตุการณ์นี้นับได้ว่าเป็นหมุดหมายใหม่ของปรากฏการณ์ความรุนแรงในฟุตบอลไทย และทั้งที่มันได้สะท้อนภาวะหวาดระแวงเกินเหตุของสังคมไทยด้วย

จากในสนามสู่ท้องถนน: รูปแบบใหม่ของความรุนแรงในฟุตบอลไทย

เหตุการณ์เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายใหม่ของความรุนแรงในฟุตบอลไทย เพราะหากเทียบเหตุการณ์นี้กับความรุนแรงในฟุตบอลไทยครั้งก่อนๆแล้วจะเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบหลายข้อที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ข้อแรก สถานที่เกิดเหตุ ที่ผ่านๆมานั้นเหตุความรุนแรงในฟุตบอลไทยมักจะเกิดเฉพาะในตัวสนามหรือบริเวณอัฒจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นการขว้างปา ปิดล้อม หรือเข้าปะทะกันโดยตรง แต่เหตุล่าสุดนี้จุดปะทะระหว่างแฟนบอลทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นบริเวณสี่แยก-กลางถนน ไล่ไปจนถึงจุดขึ้นทางด่วนหน้าสนาม SCG สเตเดียมของสโมสรเมืองทองฯ จะเห็นได้ว่าความรุนแรงเริ่มขยายวงกว้างออกไปนอกสนามฟุตบอลมากขึ้น

ข้อสอง ความเกี่ยวข้องกับเกมในสนาม เหตุครั้งนี้เรียกได้ว่าแทบจะไม่เกี่ยวกับเกมการแข่งขันในสนามเลย แม้ว่าเมืองทองฯจะพลิกยิงแซงเอาชนะท่าเรือฯไปได้ในครึ่งหลัง แต่ระหว่างเกมก็ไม่ได้เกิดจังหวะกังขาหรือสร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายใด หลังการแข่งขันจบลงสถานการณ์ยังดูปกติ แฟนบอลหลายคนเดินทางกลับไปและกว่าจะรู้ว่าเกิดเหตุขึ้นก็เมื่อถึงที่พักแล้ว กระทั่งเพื่อนของผู้เขียนที่กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับฟุตบอลไทยก็กลับไปก่อนโดยไม่เอะใจว่าจะเกิดเหตุเสียด้วยซ้ำ กว่าเหตุรุนแรงครั้งนี้จะเริ่มประทุขึ้นก็หลังจบการแข่งขันแล้วเกือบครึ่งชั่วโมง ต่างกับเหตุรุนแรงครั้งอื่นๆที่มักจะเกิดขึ้นโดยมีแรงส่งจากเกมในสนามและเกิดทันทีหลังจบหรือระหว่างการแข่งขันเสียด้วยซ้ำ

ข้อสาม การต่อสู้ที่ยืดเยื้อ ความหนักหน่วงของเหตุการณ์เมื่อคืนวันเสาร์อยู่ที่ว่ามันเป็นการปักหลักต่อสู้กันของแฟนบอลทั้งสองฝ่ายที่กินเวลานานร่วมชั่วโมง โดยทั่วไปแล้วความรุนแรงในฟุตบอลไทยครั้งก่อนหน้านี้มักจะมีแฟนบอลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามหนีออกไปจากจุดปะทะทันที ทำให้แต่ละครั้งนั้นกินเวลาไม่นาน อย่างมากเพียงไม่เกิน 20-30 นาที แต่สำหรับครั้งนี้แล้วปรากฏว่าแฟนบอลทั้งสองฝ่ายต่างปักหลักต่อสู้กัน เมื่อฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ อีกฝ่ายหนึ่งจะบุกเข้าไป เป็นอย่างนี้สลับไปมา ยื้อยุดกันอยู่เป็นเวลาร่วมชั่วโมง มีทั้งการจุดประทัด ขว้างปาขวด ก้อนหิน และสิ่งของตามแต่จะหาได้ ฉากหลังฉาบไปด้วยแสงสีส้มแดงจากพลุไฟ รวมถึงมีการเข้าประชิดถึงเนื้อถึงตัวกันเป็นระยะ บรรยากาศราวกับม็อบการเมืองช่วงที่มีการปะทะกัน

งานวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงในฟุตบอลยุโรปชิ้นหนึ่งเสนอว่า ลักษณะของความรุนแรงในฟุตบอลโดยทั่วไปมักจะมีพัฒนาการอยู่ 3 ลำดับขั้น ขั้นแรกคือเป็นความรุนแรงเล็กน้อยที่ปรากฏขึ้นเป็นครั้งคราวในสนาม มีเป้าหมายที่นักฟุตบอลหรือผู้ตัดสิน ขั้นที่สองจะรุนแรงขึ้น ยังคงเกิดในสนาม แต่จะเริ่มเป็นการปะทะกันระหว่างแฟนบอล-เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือแฟนบอล-แฟนบอล ส่วนขั้นที่สามนั้นเป็นขั้นที่รุนแรง เกิดขึ้นนอกสนาม เป็นการปะทะกันระหว่างแฟนบอล-แฟนบอลหรือแฟนบอล-ตำรวจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับเกมการแข่งขันเลย[2]

หากอิงตามผลวิจัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เหตุความรุนแรงในฟุตบอลไทยก่อนหน้านี้ยังคงอยู่ในขั้นแรกหรืออย่างมากที่สุดก็เริ่มคาบเกี่ยวมาถึงขั้นที่สอง แต่เหตุปะทะที่เมืองทองครั้งนี้กลับเป็นการก้าวกระโดดไปสู่ขั้นที่สามทันที เหตุครั้งนี้จึงนับเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของความรุนแรงในฟุตบอลไทย ทั้งที่ความรุนแรงเริ่มขยายวงกว้างจากในสนามไปสู่ท้องถนน เกิดขึ้นโดยแทบจะไม่สัมพันธ์กับการแข่งขันในสนาม และเป็นการปะทะที่อาจนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างรุนแรง

 

เรื่องเล่าสองชุดของแฟนบอลกับความหวาดระแวงของสังคมไทย

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของเหตุการณ์นี้คือมันไม่ได้บอกกับเราแค่เรื่องความรุนแรงในฟุตบอล แต่มันยังอาจเป็นภาพสะท้อนอาการเจ็บป่วยของสังคม ซึ่งผู้เขียนเรียกมันว่าเป็นภาวะหวาดระแวงเกินเหตุของสังคมไทย

ในช่วง 1-2 ปีนี้มี “เรื่องเล่า” สองชุดที่เกิดขึ้นมาและถูกผลิตซ้ำอย่างแพร่หลายในกลุ่มแฟนบอลไทย เรื่องเล่าชุดแรกว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสโมสรเมืองทองฯกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ โดยเฉพาะในช่วงหลายปีมานี้ที่สมาคมฟุตบอลฯเองก็ถูกแฟนบอลตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานมาโดยตลอด จนนำมาซึ่งข้อครหาถึงความไม่เป็นกลางในการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินและการทำงานขององค์กรจัดการแข่งขัน เรื่องเล่าชุดนี้ทำให้เมืองทองฯถูกแฟนบอลจำนวนมากมองในแง่ลบ ซึ่งผลของมันก็แสดงตัวออกมาอย่างชัดเจนผ่านการแสดงออกในสนามของแฟนบอลฝ่ายตรงข้ามที่มักจะไม่พอใจการตัดสินแล้วพร้อมใจกันตะโกน “ขี้โกง ขี้โกง” หรือที่แปลงมาเป็น “กี่โมง กี่โมง” และ “ซี่โครง ซี่โครง” ในช่วงต่อมา

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องเล่าอีกรูปแบบหนึ่งที่แพร่หลายในกลุ่มแฟนบอลเมืองทองฯ เรื่องเล่าชุดที่สองนี้ว่าด้วย “ขบวนการล้มเมืองทอง” คือเป็นการตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีการกระทำในลักษณะจงใจบ่อนทำลายชื่อเสียงของสโมสรเมืองทองฯผ่านการวางแผนและดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยมีผู้อยู่เบื้องหลังคือฝ่ายตรงข้ามที่กำลังแย่งชิงความเป็นใหญ่ในวงการฟุตบอลไทย รวมไปถึงการมองว่ามีการใช้ “เล่ห์เหลี่ยมแบบนักการเมือง” ในการพยายามสร้างภาพด้านลบให้กับสโมสรเมืองทองฯ  กระทั่งการจัดตั้งหรือยั่วยุกลุ่มบุคคลให้ก่อความรุนแรงกับแฟนบอล

ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุปะทะเมื่อวันเสาร์ ผู้เขียนได้เห็น/ได้ยินการกล่าวถึงเรื่องเล่าทั้งสองชุดนี้จากแฟนบอลไทยซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง ยิ่งมันถูกผลิตซ้ำมากขึ้นเพียงใด มันก็ยิ่งไปสุมฟืนไฟแห่งความเกลียดชังให้มากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งเมื่อพิจารณาถึงสถิติการเกิดความรุนแรงกับแฟนบอลเมืองทองฯในฤดูกาล 2557 ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด (จากที่ปีก่อนๆไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก) แล้ว ก็ยิ่งชัดเจนว่าเรื่องเล่าทั้งสองชุดนี้ส่งผลต่อการเกิดความรุนแรงอย่างปฏิเสธไม่ได้

ประเด็นที่ผู้เขียนให้ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเรื่องเล่าทั้งสองชุดนี้เป็นจริงหรือเป็นเท็จ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการเกิดขึ้นมาและผลิตซ้ำเรื่องเล่าทั้งสองชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะหวาดระแวงเกินเหตุ ภาวะดังกล่าวเป็นผลมาจากการสูญเสียความเชื่อมั่นต่อสถาบันต่างๆของสังคมฟุตบอลไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบยุติธรรม สื่อ หรือกระทั่งความไว้วางใจต่อผู้คนรอบข้างในสังคมแฟนบอลด้วยกัน ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับแฟนบอลไทยเท่านั้น แต่เป็นในทางกลับกัน มันเป็นภาวะป่วยไข้ของสังคมไทยในภาพรวมที่ย่อส่วนลงมาให้เห็นผ่านความรุนแรงในฟุตบอลเสียมากกว่า

นอกจากฟุตบอลแล้ว ความหวาดระแวงของสังคมไทยนี้ยังแสดงตัวออกมาในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความไม่เชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรม ความไม่ไว้วางใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ราชการ/ตำรวจ/ทหาร ความไม่ไว้วางในนักการเมือง รวมไปถึงทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมากในสังคมไทย ในด้านหนึ่ง ความไม่ไว้วางใจนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เพราะมันก็สามารถนำไปสู่การตรวจสอบซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมสมัยใหม่ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ความหวาดระแวงที่เกินเหตุก็อาจเป็นปัญหา เพราะ “ความเชื่อใจกันได้” นั้นก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมด้วยเช่นกัน[3]



[1] ขอบคุณ อ.แบ้งค์, อ.วสันต์, และนก ที่ช่วยยุ ช่วยคิดจนเขียนบทความนี้ขึ้นมาจนได้

[2] Carnibella, Giovanni, Anne Fox, Kate Fox, Joe McCann, James Marsh, and Peter Marsh (1996). Football Violence in Europe. Oxford: The Social Issues Research Centre.

[3] ซึ่งก็ไม่ใช่แค่การเชื่อใจอย่างไม่มีที่มาที่ไป แต่สถาบันทางสังคมต่างๆก็ย่อมต้องพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าตนเองนั้นเป็นที่เชื่อใจได้ด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท