Skip to main content
sharethis

นางคริสตี้ เคนนีย์เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ประกาศอำลาตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมาหลังจากที่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้เกินกว่าวาระตามปกติ 3 ปีมาเกือบ 1 ปีแล้วชี้ว่าอาจเป็นปัญหามาจากการเมืองภายในของสหรัฐฯเอง หรือปัญหาความเหมาะสมของบุคลากรที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนทางการทูตของสหรัฐฯ ในประเทศไทย แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มิได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับประเทศไทยเท่านั้นจากการเปิดเผยของแหล่งข่าวในกรุงวอชิงตันดีซีสรุปได้ว่าพันธมิตรของสหรัฐฯอีกหลายสิบประเทศก็ยังคงปราศจากเอกอัครราชทูตซึ่งอาจจะเป็นผลเสียต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้

ในกรณีของไทยนั้น การไม่ส่งเอกอัครราชทูตมาดำรงตำแหน่งต่อจากนางเคนนีย์ทันทีอาจมีนัยยะสำคัญหลายประการ แต่ก่อนอื่นนั้นจำเป็นต้องมีการชี้แจงให้ชัดเจนว่าการที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จะไม่มีเอกอัครราชทูตมาประจำการในอีกหลายเดือนข้างหน้านี้โดยจะมีอุปทูตเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนั้นมิได้หมายความว่าสหรัฐฯ ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตต่อไทยแต่อย่างใด

แต่ในทางหลักปฏิบัติทางการทูตนั้น เมื่อใดที่เอกอัครราชทูตไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานเอกอัครราชทูต ก็จะมีการมอบหมายให้อัครราชทูตขึ้นดูแลหน้าที่แทนซึ่งในกรณีนี้อัครราชทูตจะได้รับตำแหน่ง “อุปทูต” แทนชั่วคราวที่มีหน้าที่เฉกเช่นเดียวกับเอกอัครราชทูตนี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นปกติกับทุกประเทศแม้แต่ในกรณีของไทย

เมื่อใดก็ตามที่เอกอัครราชทูตคนใหม่ยังไม่สามารถเดินทางไปประจำการในต่างประเทศได้ ก็จะมีการมอบหมายให้อัครราชทูตปฏิบัติหน้าที่เป็นอุปทูตดูแลสถานเอกอัครราชทูตแทนจนกว่าเอกอัครราชทูตจะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการดังนั้นการที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จะมีอุปทูตปฏิบัติหน้าที่แทนนั้นจึงเป็นเรื่องของปัญหาทางเทคนิคมากกว่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองใดๆ

แต่อย่างที่ผู้เขียนได้เกริ่นก่อนหน้านี้ในกรณีของไทย ณ วันนี้อาจมีการตีความที่แตกต่างไปได้และสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ทางการเมืองไทยนั่นเอง กล่าวคือนับจากที่ได้มีการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ถูกข้อจำกัดทางกฎหมายภายในประเทศในการต้องประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อไทย

เกี่ยวกับเรื่องนี้นายจอห์น แครรี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ออกมาแสดงความกังวลใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทยก่อนหน้านี้ซึ่งต่อมารัฐบาลสหรัฐฯประกาศยุติความช่วยเหลือทางการเงินต่อกองทัพไทยที่มีมูลค่า 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯรวมถึงการไม่เชิญกองทัพเรือของไทยเข้าร่วมการประชุม RIMPAC หรือThe Rim of Pacific Exercise ซึ่งเป็นการซ้อมรบร่วมทางทะเลที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งได้มีการจัดและเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และ ณ จุดนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการซ้อมรบร่วมภายใต้ชื่อโครงการ Cobra Gold นั้นสหรัฐฯจะยังเชิญไทยเข้าร่วมหรือไม่มี

กระแสข่าวว่าการซ้อมรบ Cobra Gold ปีนี้อาจจะย้ายไปจัดที่ออสเตรเลียแทนซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากไทยไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการฝึกซ้อมรบดังกล่าวเพราะ Cobra Gold ถือว่าเป็นการฝึกซ้อมรบร่วมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีความเป็นมายาวนานที่สุดในภูมิภาคนี้โดยเริ่มมาจากความร่วมมือทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯและไทย ต่อมาได้มีประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯได้ขอเข้าร่วมด้วยในฐานะผู้สังเกตการณ์ดังนั้นการไม่เชิญกองทัพไทยเข้าร่วมจึงน่าจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความไม่พอใจของสหรัฐฯต่อความล่าช้าด้านการปฏิรูปการเมืองของไทยและอาจต้องการกดดัน คสช. ให้คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว

จึงอาจเป็นเรื่องไม่แปลกที่หลายคนอาจตีความว่าการที่สหรัฐฯยังไม่ส่งเอกอัครราชทูตมาประจำการที่ไทยต่อจากนางเคนนีย์นั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ ซึ่งอาจฟังดูมีเหตุผล แต่หากพิจารณาในกรอบที่กว้างกว่านั้นโดยเฉพาะจากมุมมองของสหรัฐฯแล้ว การตีความอาจมีความแตกต่างออกไป กล่าวคือในขณะนี้รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังไม่สามารถแต่งตั้งเอกอัครราชทูตเข้าดำรงตำแหน่งในประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศซึ่งรวมถึง ตุรกี เซียร์ราลีโอน และประเทศในยุโรปตะวันออกอีก 9 ประเทศ ปล่อยให้นักการทูตในระดับอัครราชทูตดำรงตำแหน่งอุปทูตต่อไปก่อนซึ่งน่าจะมาจากเหตุผลของภาวะตีบตันทางการเมืองของสหรัฐฯ เอง โดยเฉพาะการที่ปัญหานี้กลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองที่พรรครีพับรีกันใช้โจมตีรัฐบาลว่า ได้ใช้ตำแหน่งเอกอัครราชทูตในการปูนบำเหน็ดให้กับบุคคลทางการเมืองที่รัฐบาลสนิทสนม แทนที่จะแต่งตั้งนักการทูตอาชีพให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตซึ่งความไม่สามารถแต่งตั้งผู้แทนทางการทูตโดยเร็วไปประจำการในประเทศต่างๆ นั้นอาจจะส่งผลเสียต่อสหรัฐฯทั้งในแง่การดำเนินนโยบายต่างประเทศและในแง่การกำหนดยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในประเทศที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของแห่งชาติ

สถานการณ์การขาดแคลนเอกอัครราชทูตยังส่งผลกระทบต่อช่วงที่สหรัฐฯ ประสบกับสิ่งท้าทายระหว่างประเทศในเวลานี้สหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากกลุ่มติดอาวุธนักรบญิฮาด รัฐอิสลาม(ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย นอกจากนี้ยังมีปัญหาสงครามกลางเมืองในยูเครนความไม่มั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลีการท้าทายอำนาจสหรัฐฯทั้งด้านเศรษฐกิจและทหารจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนรวมถึงปัญหาที่จัดอยู่ในกลุ่ม non-traditional security นั่นคือปัญหาที่มาจากภัยธรรมชาติและโรคระบาด เช่นที่แอฟริกากำลังประสบกับการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาและอาจแพร่ไปยังภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นอกจากไทยแล้วสหรัฐฯ ก็ยังไม่ส่งเอกอัครราชทูตไปประจำการ ณ กรุงฮานอยประเทศเวียดนาม ซึ่งถือว่าเป็นประเทศพันธมิตรใหม่ของสหรัฐฯ ที่มีความสำคัญยิ่งในภูมิภาคนี้

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเวียดนามนั้นแหล่งข่าวที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯเปิดเผยว่า ได้มีความพยายามจากพรรครีพับรีกันในวุฒิสภาที่จะเหนี่ยวรั้งการรับรองนายเท็ด โอซิอัสที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ณ กรุงฮานอยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาโดยวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับรีกันได้กล่าวว่ารัฐบาลโอบามาได้พยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับเวียดนามโดยยอมผ่อนคลายการคว่ำบาตรด้านอาวุธที่มีมานานถือว่าเป็นการปฏิเสธหลักการของสหรัฐฯโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจมากเกินไป

นับตั้งแต่ที่นายโอบามาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ได้มีความพยายามจากทำเนียบขาวในการปรับความสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านี้ภูมิภาคนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้นำสหรัฐฯนักสะท้อนจากการที่สหรัฐฯ ไม่ให้ความสำคัญกับการส่งผู้นำระดับสูงในการเข้าร่วมการประชุมอาเซียน หรือในบางครั้งไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมเลยด้วยซ้ำ

สหรัฐฯยังคงมองว่าผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญกว่ายังอยู่ที่ภูมิภาคตะวันออกกลางรองลงมาอาจได้แก่ยุโรปหรือถ้าในเอเชียนั้นสหรัฐฯให้ความสนใจต่อเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งรวมถึงจีนญี่ปุ่นและเกาหลี มากกว่าที่จะสนใจความเป็นไปหรือพัฒนาทางการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่นับจากที่จีนเริ่มแผ่อิทธิพลมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหลังจากเกิดความขัดแย้งบ่อยครั้งในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสรีภาพในการเดินเรือของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ทำให้สหรัฐฯเริ่มหันมาให้ความสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลโอบามาได้ประกาศใช้นโยบายใหม่ที่เรียกว่า Pivot to Asia ที่จะเปลี่ยนภูมิภาคเอเชียให้เป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์หลักของสหรัฐฯ

แนวโน้มนี้เห็นได้จากการที่สหรัฐฯยอมร่วมลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือกับอาเซียนในปี ค.ศ.2008เพื่อจะได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม East Asia Summit ที่มีอาเซียนเป็นแกนนำจากเหตุการณ์นั้นนางฮิลลารี คลินตันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นถึงกับผลิตวาทกรรมที่ว่า “สหรัฐฯพร้อมจะหวนคืนสู่แปซิฟิกแล้วเพราะเราคือมหาอำนาจแปซิฟิก”

สุดท้าย เมื่อกลับไปสู่เรื่องการไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตมาดำรงตำแหน่งในประเทศที่มีความสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯและนโยบาย Pivot to Asiaซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าและสหรัฐฯอาจจะปล่อยให้จีนรุกคืบขยายเขตอิทธิพลในภูมิภาคนี้ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net