Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


จากกรณีข่าวเกี่ยวกับ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นเกี่ยวกับบั้งไฟพญานาค ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในแนวทางวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลานาน และในรอบปีนี้ก็เช่นกัน เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูกาลของประเพณีบั้งไฟพญานาค ก็มีเหตุการณ์ที่เรียกว่า “โดนถล่ม” ในโลกออนไลน์จากผู้คนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่อาจยอมรับในสิ่งที่ท่านได้พิสูจน์ออกมาได้ รวมไปถึงเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ M2F ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม 2557 ที่พาดหัวข่าวใหญ่โตว่า “เดชบั้งไฟพญานาค อ.จุฬาฯขอขมาล้ำเส้นศรัทธา” ซึ่งจากกรณีนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าทำไมวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยจึงกลายมาเป็นเสมือนคู่ขัดแย้งกับศรัทธาและความเชื่อของผู้คนไปได้

จากประสบการณ์ ผู้เขียนได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตในต่างแดน และได้มีโอกาสพบปะกับคนไทยด้วยกันตามสถานประกอบการของคนไทยที่คนไทยในต่างแดนมักจะนิยมทำกัน นั่นก็คือร้านอาหารไทย จากการใช้ชีวิต ทำงาน สังเกตและพูดคุยซักถาม คนไทยที่ทำร้านอาหารไทยหลายแห่ง จะมีสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าแสดงถึง ”ความเป็นไทย” ไว้ในร้านเสมอ เช่น รูปปั้นนางกวัก พระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ พระพุทธรูป รวมไปถึงรูปของวีรบุรุษ วีรสตรีของแต่ละถิ่นพื้นที่ที่คนไทยในที่แห่งนั้นได้จากมา เป็นต้น และผู้เขียนเองได้ตั้งคำถามถึงเหตุผลของการนำสิ่งเหล่านี้มาไว้ในร้านอาหาร ซึ่งคำตอบที่ได้ครั้งแรกก็มีแตกต่างกันออกไป แต่เมื่อลองถามลึกลงไปเรื่อยๆนั้น ก็ได้คำตอบที่คล้ายกันว่า สิ่งเหล่านี้นั้นถูกใช้เป็น “ที่ยึดเหนี่ยว” และแสดงถึง “ความเป็นไทย”

จากประสบการณ์ดังกล่าวของผู้เขียน ทำให้พอจะเข้าใจได้ว่า มีสิ่งต่างๆมากมายที่ถูกรวมเข้าไว้กับ “ความเป็นไทย” และถูกใช้เป็น “ที่ยึดเหนี่ยว” ทางจิตใจของผู้คน นอกเหนือจากความหมายที่ปรากฏอยู่บนสีธงชาติ นั่นคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ วีรบุรุษ วีรสตรีในแต่ละพื้นที่ ตำนานเล่าขาน เรื่องราวอิทธิฤทธิ์ต่างๆนั้นก็ถูกผูกโยงเข้าไปกับ “ความเป็นไทย” ด้วยเช่นกัน

และเนื่องจากลัทธิชาตินิยมในแบบของไทยที่ถูกเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่พยายามสร้างชาติไทยขึ้นมาในรูปแบบที่รัฐบาลต้องการ มีการส่งเสริมให้ประชาชนรักชาติรักประเทศในรูปแบบต่างๆ มีการสร้างเรื่องราวของวีรบุรุษ วีรสตรี รวมไปถึงเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นเกิดความภูมิใจหรือเลื่อมใสศรัทธา และนำเรื่องราวในแต่ละท้องถิ่นมาผูกเข้ากับความเป็นชาติไทยที่เป็นแกนกลาง เพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ต่างรู้สึกต่อชาติไทยที่เป็นแกนกลางของทั้งหมดไปในตัว และเมื่อประชาชนในแต่ละพื้นที่นั้นต่างยึดถือเรื่องราวต่างๆที่ส่วนมากถูกสร้างขึ้นมาว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ และเป็นความเลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและถูกถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่น และในที่สุดความเชื่อเหล่านี้ก็กลายเป็นตัวตนของผู้คน ที่จะไม่ยอมให้อะไรมาสั่นคลอนสิ่งยึดเหนี่ยวของพวกเขาได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ อย่างเช่น กรณีบั้งไฟพญานาคก็เช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นบางส่วนว่า แนวคิดชาตินิยมอันล้าหลังและมรดกของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามยังคงทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพสืบมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้มุมมองของผู้เขียนเห็นว่า ความเป็นไทยคืออะไรที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เพราะสังคมเรายืนอยู่บนความเชื่อและศรัทธาและผลักไสวิทยาศาสตร์ออกไป และอธิบายด้วยความเป็นไทยและข้อยกเว้นต่างๆ

เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของโลกตะวันตก พบว่าวิทยาศาสตร์นั้นเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาของอารยธรรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อโลกตะวันตกเริ่มพัฒนาและหลุดออกมาจากการครอบงำของศาสนาในยุคยุคกลางหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่ายุคมืด(Dark age) เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา(Renaissance) และหลักเกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตก ก็เข้าสู่ยุคเรืองปัญญา(Age of Enlightenment) หรือที่รู้จักกันในนามของ ยุคสว่าง หรือ ยุคแห่งเหตุผล อีกด้วย ตั้งแต่การหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์มากมาย เช่น  นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส(Nicolaus Copernicus), กาลิเลโอ กาลิเลอี(Galileo Galilei) มาจนถึง เซอร์ไอแซก นิวตัน(Isaac Newton) ก็ทำให้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกอปรกับนักปรัชญาที่มีแนวคิดใช้เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์อย่าง ฟรานซิส เบคอน(Francis Bacon) และ เรอเน เดการ์ต(René Descartes) ก็ทำให้ระบบการคิดหาคำตอบและการให้เหตุผลของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างมาก แนวคิดแบบเป็นเหตุผลเข้ามาแทนที่แนวคิดและอำนาจที่ปลูกฝังผ่านประเพณี ที่มีมานานในโลกตะวันตก ซึ่งส่งผลให้โลกตะวันตกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ตามมา ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างเป็นวงกว้าง การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งก็มีสาเหตุมาจากการเข้ามาแทนที่ของความเป็นเหตุเป็นผลและวิทยาศาสตร์ ผู้คนปลดแอกตัวเองได้โดยเริ่มจากการคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ผู้คนจะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียมได้อย่างไร ถ้าพวกเขายังคงอยู่ใต้ความเชื่อเดิมที่ตัวแทนพระเจ้าบอกว่าพวกเขาไม่เท่าเทียมกับขุนนาง พระ และกษัตริย์ ที่เปรียบเสมือนเทพเจ้าอันสูงส่ง กล่าวคือวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาปลดพันธนาการอำนาจและแนวคิดเดิมๆออกไปได้ในที่สุด และสังคมโลกตะวันตกก็พัฒนามาจากจุดนั้นมาเรื่อยๆ

ย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย เรายังคงติดอยู่กับพันธนาการของความเชื่อและประเพณีแบบเก่าอยู่ ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้เก่าเป็นพันปีแบบโลกตะวันตก แต่ความเชื่อเหล่านี้ก็ได้ถูกฝังตัวลงไปในผู้คนส่วนมากอย่างแยกไม่ออกแล้ว ซึ่งดูเหมือนภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างกระตือรือร้นมาเป็นเวลานานหลายสิบปี แต่ดูเหมือนผลที่ออกมาในระดับทั่วไปไม่ได้ดีขึ้นสักเท่าไรนัก ผู้เขียนก็สงสัยว่า ทำไมประเทศที่มีการส่งเสริมการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้นทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา อย่างประเทศไทยจึงไม่สามารถสลัดหลุดจากพันธนาการเหล่านี้ออกไปได้ ทั้งๆที่จำนวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาก็มีมากขึ้นทุกวัน ผู้สำเร็จการศึกษาออกมาทำงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ก็มีมากมาย แต่ทำไมเราจึงไม่สามารถสลัดหลุดจากพันธนาการอันเก่าเหล่านี้ได้

จากประสบการณ์และการพูดคุยกับคนจำนวนมากทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ พบว่า มุมมองต่อวิทยาศาสตร์ของคนไทยส่วนมากนั้นมีการแบ่งแยกต่างจากของโลกตะวันตกหรือในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น คนไทยจะมองวิทยาศาสตร์ในลักษณะที่เป็นวิชาหนึ่งที่ประกอบด้วยฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการสอบหรือมีเอาไว้เพื่อทำงานในสายอาชีพเป็นหลัก ไม่ได้นำระบบเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันหรือด้านอื่นๆ เช่น มุมมองทางการเมือง เรื่องลี้ลับที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งต่างจากคนชาติอื่น ที่จะแยกระหว่างการคิดแบบวิทยาศาสตร์กับการคิดแบบธรรมดาไม่ออกเสียแล้ว เนื่องจากการให้เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์กลายเป็นพื้นฐานในการคิดของพวกเขาไปเสียแล้ว

และสภาพแวดล้อมในสังคมไทยก็ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย เพื่อนของผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่าในโรงเรียนของเขา หลังเลิกคาบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ก็จะมีการเล่าเรื่องผีเรื่องสิ่งลี้ลับเพื่อความสนุกสนาน และคนเล่าเรื่องก็คือครูสอนวิทยาศาสตร์คนเดิมนั่นเอง ซึ่งพอนักเรียนเหมือนจะไม่เชื่อ ก็จะวนเข้ามาสู่ประโยคคลาสสิคคือ “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว วิทยาศาสตร์ที่ควรจะเติบโตในขณะที่นักเรียนอยู่ในโรงเรียนก็ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรเป็น ยังไม่นับเรื่องมายาคติและความเชื่ออีกมากมายที่ไม่ควรอยู่ในโรงเรียนหรือสถานศึกษา และเมื่อนักเรียนกลับบ้านหรือออกไปอยู่ในสังคม ก็จะโดนการขัดเกลาทางสังคมอีกครั้งหนึ่งตามแต่ละพื้นที่ไป ซึ่งผลก็ออกมาอย่างที่เราทราบอยู่ในปัจจุบัน

แต่ผู้เขียนเองก็ไม่ได้มองว่าวิทยาศาสตร์คือศาสตร์แห่งความถูกต้องและดีเลิศที่สุดเสมอไป ในโลกปัจจุบัน วิทยาศาสตร์สถาปนาตัวเองว่าเป็นความรู้อันจริงที่สุด ถูกต้องที่สุด และก็ได้รับการยอมรับมากที่สุด แต่ในความจริงแล้ววิทยาศาสตร์อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่เราจะนำมาใช้ค้นหาคำตอบของความจริง และวิทยาศาสตร์อาจจะกลายมาเป็นพันธนาการใหม่ของสังคมมนุษย์ในยุคต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับสังคมไทยที่ดูเหมือนจะยังไม่เข้าสู่ยุคใหม่อย่างเต็มตัว วิทยาศาสตร์และการให้เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ย่อมเป็นทางเลือกที่ชัดเจนที่สุดต่อการพัฒนาสังคมไปข้างหน้า  โดยเห็นได้จากตัวอย่างของโลกตะวันตกเมื่อราวสามถึงสี่ร้อยปีก่อน ความเชื่อและประเพณีเก่านั้นสามารถอนุรักษ์ไว้ได้ แต่ไม่ใช่การให้พื้นที่ต่อสิ่งนั้นๆมากไปกว่าการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและการค้นหาความจริงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเราสามารถทำได้สำเร็จ เมื่อนั้นสังคมไทยอาจจะพัฒนาไปในทุกทางได้อย่างสังคมโลกตะวันตกในยุคนั้น มีคำกล่าวของอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประโยคหนึ่งซึ่งผู้เขียนชอบมากคือ "สิ่งที่เราอยากได้ยินมากกว่าคือไม่เชื่อต้องพิสูจน์ ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อต้องลบหลู่ มันฟังดูเป็นลบไปหน่อย แต่ไม่เชื่อต้องพิสูจน์ พิสูจน์จากทฤษฎีก็ได้ จากการปฏิบัติก็ได้ หรือจากการลงไปดูพื้นที่ก็ได้ทั้งนั้น ใช้หลากหลายวิธีดีกว่ามาบอกว่าอย่าลบหลู่ อย่าไปยุ่งกับเรื่องนี้ แบบนี้ไม่ใช่ มันต้องหาทางพิสูจน์"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net