กสทช. ให้ช่องดิจิตอลเด็กและเยาวชนปรับผังและเนื้อหา

ประชุมวิเคราะห์ผังและเนื้อหารายการของทีวีดิจิตอลช่องเด็ก เยาวชนและ ครอบครัว กสทช.ให้ปรับผังและเนื้อหาเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเด็กที่มีหลากหลายกลุ่มวัย ทั้งให้ลดเรต “ท” ที่มุ่งผู้ชมทุกวัย
 
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กสทช.ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ได้สั่งการให้สำนักงาน กสทช.เชิญ ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ มานำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ผังและเนื้อหารายการของทีวีดิจิตอลช่องเด็ก เยาวชนและ ครอบครัว  คือ ช่อง 3 Family  ช่อง MCOT family  และ ช่อง Loca  ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ  สาระสำคัญของผลการศึกษาครั้งนี้ คือ  ทีวีทั้ง 3 ช่อง ไม่มีการนำเสนอเนื้อหาสำหรับเด็กปฐมวัย (3-5 ปี) หรือ ไม่มีเรต ป+3  และมีเนื้อหาสำหรับเด็กวัย 6-12 ปี หรือเรต ด+6 ในจำนวนที่น้อยมาก โดยรายการส่วนใหญ่จัดเรต “ท” คือ ชมได้ทุกวัย  ทั้งยังมีเนื้อหาไม่เหมาะสมสำหรับเด็กในด้าน เพศ ภาษา ความรุนแรง  แม้มีประกาศ กสทช.ระบุ ”..ต้องไม่มีเนื้อหาความรุนแรง ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย หรือใช้ภาษาหยาบคาย ..”  การศึกษา ทีวีช่องเด็ก ทั้ง 3 ช่อง ครั้งนี้ มีเดียมอนิเตอร์ ยังพบเนื้อหาเกี่ยวกับ การพนัน  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ซึ่ง Ofcom หน่วยงานหลักที่กำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมของประเทศอังกฤษ ระบุ ให้สื่อระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหาต่อไปนี้ในรายการที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้ชมอายุต่ำกว่า 18 ปี คือ การพนัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเชื่อเรื่องผี/เรื่องเหนือจริง อาชญากรรม  และให้คำนึงถึงสวัสดิภาพร่างกายและศักดิ์ศรีของผู้ร่วมรายการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งข้อกำหนดของ Ofcom ที่กล่าวมานี้ ไม่มีการระบุในประกาศหรือระเบียบของ กสทช.
 
ในเรื่องนี้ พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กสทช.ประธานอนุกรรมการด้าน  ผังรายการและเนื้อหารายการ กล่าวว่า ประกาศ กสทช.กำหนดหลักการไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อให้สถานีโดยเฉพาะช่องน้องใหม่อย่าง Loca ได้ปรับตัว และขณะนี้ กสทช.กำลังจัดทำคำอธิบายรูปแบบรายการ อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ประกอบการช่องเด็กทั้ง 3 ช่อง ไปปรับผังและเนื้อหาที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มวัยต่างๆ  อย่าเน้นแต่เนื้อหาที่ชมได้ทุกวัย  พลโท พีระพงษ์ กล่าวอย่างเห็นใจทีวีช่องเด็กว่า อาจมีปัญหาในด้านรายได้จากการโฆษณา กสทช.น่าจะนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ มาสนับสนุน
 
ในขณะที่ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย กล่าวว่า เด็กช่วงวัย 3-5 ปี ยังไม่ควรดูโทรทัศน์มากนัก แต่ก็ควรมีรายการสำหรับเด็กกลุ่มนี้บ้าง ทั้งนี้ ในการกำหนดผังและเนื้อหารายการสำหรับช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว สถานีควรปรึกษาหารือกับนักจิตวิทยาพัฒนาการ เพื่อให้รายการมีลักษณะตามข้อกำหนดในใบอนุญาต ที่ระบุว่า “...ต้องมีเนื้อหาส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก และเยาวชน ทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกในครอบครัว...” ขณะเดียวกันต้องผลิตรายการให้มีคุณภาพ ด้วยความระมัดระวัง เช่น เนื้อหาของวัยรุ่นก็ต้องคำนึงว่าอาจมีกลุ่มเด็กเข้าไปดูด้วย  การ์ตูนทุกเรื่องไม่ใช่เหมาะสำหรับเด็กเสมอไป ต้องดูที่เนื้อหาด้วย และฝากให้ระมัดระวังการนำเสนอโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็กด้วย “การวางแผนงานรายการของสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ต้องใช้องค์ความรู้เฉพาะ ต้องมีทักษะ กสทช.จะพิจารณาจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนา ความรู้ และทักษะนี้แก่ผู้ประกอบการโทรทัศน์ช่องเด็ก”  กสทช.สุภิญญา กล่าวเสริม  
 
ในการนี้ มีตัวแทนภาครัฐจากกระทรวงวัฒนธรรม และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ที่อนุกรรมการเชิญมาร่วมฟังและให้ความเห็น  ด้านนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวว่า เด็กโดยเฉพาะวัยรุ่น นิยมรับสื่อทางออนไลน์  จึงน่าเป็นห่วงในเนื้อหาที่นำเสนอ ขณะที่ นายศุภวัฒน์ หนูพริก ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัด กระทรวง พม. กล่าวว่า สื่อต้องระมัดระวังการนำเสนอเนื้อหาที่อาจละเมิดสิทธิเด็ก ตามสาระในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความด้วยรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในขณะที่ควรนำเสนอเนื้อหาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550  “...ที่ผ่านมา ทางกระทรวงต้องไปขอให้รายการดังทางช่อง 9 งดเสนอรายการความขัดแย้งและความรุนแรงในครอบครัวนักร้องชายชื่อดัง เพราะจะกระทบต่อสิทธิของเด็กที่เป็นลูกของคู่ขัดแย้งที่เป็นพ่อแม่”
 
สำหรับผู้แทนจาก ช่อง3 Family  ช่อง MCOT family  และ ช่อง Loca  มิได้ซักถาม หรือ โต้แย้งผลการศึกษาที่มีเดียมอนิเตอร์นำเสนอ มีเพียงผู้แทนช่อง 9 กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ ทำในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งยังเป็นช่วงทดลองออกอากาศอยู่ ทั้งที่ในความเป็นจริง กสทช.กำหนดให้การทดลองออกอากาศดำเนินการได้ตั้งแต่เมษายน 2557 จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2557 กสทช.ประกาศว่าเป็นการเริ่มออกอากาศจริงของทีวีดิจิตอลภาคธุรกิจ ที่ได้รับใบอนุญาติ
 
ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวในต้อนท้ายว่า กสทช.กำหนดให้มีทีวีดิจิตอลช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ด้วยพันธกิจเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน กับเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ทั้งยัง เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ ที่จ่ายค่าประมูลในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับหมวดอื่น การจัดทำผังรายการและเสนอเนื้อหารายการที่มุ่งกลุ่มผู้ชมทั่วไป อย่างที่เป็นอยู่ จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และไม่ควรกำหนดเนื้อหาด้วยเหตุผลว่ากลุ่มผู้ชมทั่วไป คือ รายการสำหรับครอบครัว เพราะรายการสำหรับครอบคัวต้องมีเนื้อหามุ่งสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว  ผู้ประกอบการทีวีช่องเด็ก ต้องไม่บริหารงานรายการเหมือนกับโทรทัศน์ธุรกิจทั่วไป  ท้ายที่สุด  ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ได้เสนอให้ กสทช. ออกระเบียบหรือแนวปฏิบัติให้ชัดเจน ทั้งควรมีกลไกติดตามประเมินและให้คำแนะนำเพื่อการพัฒนาให้ทีวีดิจิตอลช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีผังและเนื้อหารายการ ตามข้อกำหนดในเงื่อนไขใบอนุญาต และเมื่อไม่เป็นไปตามนั้น ก็ต้องมีการดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
 
ในโอกาสนี้ ผอ. โครงการมีเดียมอนิเตอร์ ได้มอบสรุปสาระ “ผลการศึกษาวิเคราะห์ผัง และเนื้อหารายการทีวีดิจิตอล กลุ่ม ข่าวสาร และสาระ” ซึ่งมีเดียมอนิเตอร์ ทำการศึกษาเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 แก่ พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท