Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

"บ้านใครไม่โดน ไม่รู้หรอก"

นี่คือประเด็นที่มักจะถูกตั้งขึ้นหากมีการเรียกร้องให้เพิ่มโทษทางอาชญากรรมกับ "ฆาตกร" ผู้โหดเหี้ยมไร้ความเมตตาปราณี ซึ่งมันเป็นความโกรธแค้นที่พอจะเข้าใจได้เพราะหากพบเจอกับบ้านของใคร คน ๆ นั้นย่อมบันดาลโทสะแบบนี้ออกมาได้เสมอ

แต่ในโลกของความเป็นจริง กฎหมาย อันเป็นข้อตกลงในการอยู่รวมกันอย่างสงบสุขในสังคม มีมันหลักการ มีเหตุมีผลในการให้โทษคนร้ายตามเหตุที่สมควร แต่ไม่ได้มีไว้เพื่อความสะใจของใครคนหนึ่งแบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" โดยเฉพาะ

นายแคร์โรว์ พิคเก็ต ศาสนาจารย์ที่เรือนจำฮันท์สวิลล์ ที่รัฐเท็กซัส เคยคิดเช่นนั้น เขาเคยเป็นศาสนาจารย์ที่โบสถ์ชุมชน แล้วเคยเจอเหตุการณ์สะเทือนใจ นั่นคือ มีนักโทษจับครูและบรรณารักษ์ของเรือนจำฮันท์สวิลล์ เป็นตัวประกัน เขาเข้าร่วมงานกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้กำลังใจตัวประกันเหล่านี้ แต่สุดท้าย มีผู้บริสุทธิ์ 2 คนที่เป็นลูกศิษย์ประจำโบสถ์ของเขาถูกคนร้ายสังหาร ซึ่งมันเป็นเหตุการณ์ที่พิคเก็ตยอมรับได้ยากจริง ๆ ทำให้เขาคิดว่า โทษประหารชีวิตของคนร้ายในคดีอุกฉกรรจ์เป็นเรื่องที่สมควร

แต่หลังจากที่วิคเก็ตรับงานศาสนาจารย์ที่เรือนจำฮันท์สวิลล์ แล้วมีหน้าที่ให้สติและชี้ทางแก่นักโทษก่อนจะถูกประหาร เขาบันทึกคำพูดของพวกเขาเหล่านั้นผ่านเครื่องอัดเสียงซึ่งตลอดชีวิตการทำงานที่นี่ 15 ปี ระหว่างปี ค.ศ.1982 1995 วิคเก็ตได้บันทึกความในใจของนักโทษประหารที่ถูกบันทึกไว้ในนาทีสุดท้ายของพวกเขาเป็นจำนวนถึง 95 คนด้วยกัน

การนั่งคุยกับคนที่ใกล้ตายเพราะโทษประหาร ทำให้พิคเก็ตมองเห็นแง่มุมในความเป็น "มนุษย์" อีกแง่มุมหนึ่งที่เหมือนกับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่อยู่นอกเรือนจำ จนท้ายที่สุด หลังจากที่เขาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นศาสนาจารย์แล้ว พิคเก็ตก็เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อนักโทษประหาร และเป็นหนึ่งในแนวร่วมที่ต่อต้านการประหารชีวิตนักโทษ

นี่คือเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่อง At the Death House Door(2008) หนังสารคดีผลงานกำกับของ สตีฟ เจมส์ และปีเตอร์ กิลเบิร์ท ที่ตามติดชีวิตของแคร์โรว์ พิคเก็ต ศาสนจารย์ผู้สอนศาสนาในรั้วเรือนจำ สถานที่สนธยาที่บุคคลภายนอกไม่รู้จัก

เราต่างได้ยินเรื่องราวที่ไม่น่าฟังมากมาย จนกลายเป็นภาพจำว่า สภาพความเป็นอยู่และผู้คนในเรือนจำดูไม่น่าไว้วางใจ ทั้งที่ว่า มันอาจจะมีทั้งภาพเสื่อมทรามและภาพดีงามอยู่ในนั้นก็ได้ เพียงแต่ว่ามันถูกเป็นสถานที่โดดเดี่ยวไร้ซึ่งการรับรู้แบบเปิดเผยเหมือนสถานที่อื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ เรือนจำ หรือ คุก จึงถูกทำให้ "เป็นอื่น" ทั้งเรื่องคนสถานที่ และนักโทษ

กระบวนการสร้างความเป็นอื่น เหมือนกับการผลักตัวเองออกไปเป็น "พวกเขา" และ "พวกเรา" ซึ่งมันง่ายต่อการทำให้เกิดอคติที่จะมองว่า อีกฝ่ายไม่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับเรา เหมือนอย่างตอนช่วงสงครามเวียดนาม ในช่วงทศวรรษที่ 50-70 ที่ทางกองทัพอเมริกันพยายามสอนทหารว่า คนเวียดนามทานเนื้อสุนัข ซึ่งสำหรับคนอเมริกันแล้ว สุนัขเป็นเหมือนคนสำคัญในครอบครัว การตอกย้ำภาพอันเลวร้ายในฐานคิดแบบ (กองทัพ) อเมริกัน ผลักให้เกิดความรู้สึกเป็นอื่นต่อฝั่งตรงข้ามที่เป็นชาวเวียดนาม ซึ่งกองทัพอเมริกันเชื่อว่ามันจะมีมากพอที่จะทำให้ทหารของพวกเขากล้าที่จะเอาปืนจ่อหน้าศัตรูในสมรภูมิสงครามเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ At the Death House Door นำเสนอ กลับพยายามละลาย “ความเป็นอื่น” แล้วดึงเราให้เข้าใกล้นักโทษเพื่อทำความรู้จักกับพวกเขามากขึ้น หากเราไม่มองแบบเหมารวมว่า พวกนักโทษดูเลวร้ายไปเสียหมด ก็จะมีนักโทษอีกหลายคนที่อยู่ในกระบวนการสำนึกผิดเพื่อกลับมาใช้ชีวิตนอกรั้วสูง ๆ โดยหนังได้เจาะลงไปในหลาย ๆ กิจกรรมของแคร์โรว์ พิคเก็ต อย่างเช่น การฝึกร้องเพลงคอรัส จนนักโทษเหล่านั้นสามารถออกมาจากโบสถ์ชั่วคราวเพื่อทำการแสดงเล็ก ๆ บริเวณภายนอกได้

At the Death House Door ได้พยายามสลายอคติ "ความเป็นอื่น" ที่คนภายนอกเรือนจำก่อขึ้นมาในใจด้วยมุมมองหลายมุมมอง ที่นอกจากนักโทษเหล่านี้จะมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างการร้องเพลงคอรัสแล้ว ช่วงที่แหลมคมที่สุดช่วงหนึ่งในหนัง At the Death House Door นั่นคือ การเปิดลังที่เก็บบันทึกเสียงของนักโทษทั้ง 95 คน ว่าก่อนตายเขาได้พูดอะไรบ้าง? เป็นคนแบบไหน? มีความฝันอย่างไร? ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่า แม้แต่คนทำผิดที่โดนโทษสูงสุดที่รัฐหยิบยื่นให้ นั่นคือ โทษประหาร เขาก็ยังมีแง่มุมของความเป็น "มนุษย์" มีความกลัว ความเสียใจ ความสำนึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป

แต่สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้แคร์โรว์ พิคเก็ตออกมาร่วมขบวนต่อต้านการประหารชีวิต นั่นก็เพราะกรณีของคาร์ลอส เดลูน่า ที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปปล้นร้านค้าและฆ่าพนักงานในร้าน ในปี 1989 แต่ภายหลังทีมข่าวอาชญากรรมของชิคาโก ทริบูน ได้แสดงหลักฐานว่า คาร์ลอส เดลูน่า คือ ผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการฆาตรกรรมในครั้งนั้น

เพราะมนุษย์สามารถผิดพลาดได้เสมอ การตัดสินของกระบวนการยุติธรรม คือการตัดสินจากมนุษย์ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะตัดสินพลาด แล้วคนที่เป็น "แพะ" ก็ได้รับความโชคร้ายไป เราจะคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะประเด็นนี้มันเกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นความตายของคน ความผิดพลาดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ควรเกิดขึ้น กรณีของคาร์ลอส เดลูน่า จึงค่อนข้างจะกระทบจิตใจของพิคเก็ต ในทำนองที่ว่า โทษประหารชีวิตอาจจะทำให้คนอีกหลายคนไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่า ไม่ได้กระทำความผิด หรือหากเป็นคดีที่ร้ายแรงมาก ๆ โทษจำคุกตลอดชีวิตก็คงจะทำให้นักโทษได้ใช้เวลาทบทวนตัวเองภายในพื้นที่ที่ถูกกักกันไว้ชั่วอายุหนึ่ง ก็เป็นทางเลือกในการลงโทษอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ

สำหรับหลายคน การงดเว้นโทษประหารชีวิต อาจจะเป็นเรื่องไม่เห็นด้วย มันไม่น่าแปลกใจ เพราะอคติของเรามันผลักนักโทษออกไปจากการอยู่ฝั่ง "พวกเรา" ไปแล้ว แต่หากจะเปิดใจสักนิด การให้ "โอกาส" ให้กับคนที่เดินทางผิดมาก่อน ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมร่วมกันของคนในรัฐเช่นกัน

มันไม่ใช่การมองแบบ "โลกสวย" ต่อคนทำผิด และไม่ใช่เพียงการยกระดับศีลธรรมทางจิตในให้เหนือขึ้นไปด้วยการ "ให้อภัย" แต่มันคือความจำเป็นทางการเมือง ในการทำความเข้าใจในหลักการอยู่ร่วมกันว่า กฎหมายบ้านเมืองซึ่งถือเอาเป็นหลักการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นที่ตั้ง การลงโทษคนผิดในฐานะ "มนุษย์" ที่มีจิตใจเหมือนกัน ต้องทำอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลเช่นกัน

 

 

 

***ชวนดูหนังฟรี "At the Death House Door" ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2551 โดยการกำกับของ ปีเตอร์ กิลเบิร์ต และ สตีฟ เจมส์ ที่สามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองแอตแลนตา และเข้าชิงรางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้านสารคดีจากสมาพันธ์ผู้กำกับแห่งอเมริกา (DGA)

 

ฉายครั้งแรกและครั้งเดียวในเมืองไทย

10 ตุลาคม 2557 เวลา 18.00 น. โรงภาพยนตร์ SF World Cinema ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 7 กรุงเทพ ฯ


จัดโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net