Skip to main content
sharethis

กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงมุ่งปักหลักชุมนุมไปจนถึงช่วงการจัดงานวันชาติจีน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เหลียงชุนอิง ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงให้เห็นทัศนคติของรัฐบาล แต่ฝ่ายเหลียงเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมสลายการชุมนุมโดยอ้างว่าการชุมนุมเริ่ม 'ควบคุมไม่ได้'

30 ก.ย. 2557 เหลียงชุนอิง ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงเรียกร้องให้แกนนำผู้ชุมนุมสลายการชุมนุมที่ย่านใจกลางเมืองโดยทันที หลังจากที่ผู้ชุมนุมในฮ่องกงเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง

สำนักข่าวเดอะ การ์เดียนรายงานว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนมากที่หน่วยงานกองทัพเรือ ย่านคอสเวย์เบย์ และย่านมองก็อก ซึ่งผู้จัดการชุมนุมเรียกร้องให้ประชาชนปักหลักชุมนุมไปจนถึงวันชาติจีนซึ่งตรงกับวันพุธนี้ (1 ต.ค.) นอกจากนี้การชุมนุมยังมีลักษณะผลัดเปลี่ยนกันระหว่างช่วงกลางวันกับกลางคืน

เหลียงชุนอิง ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงกล่าวว่า แกนนำกลุ่มยึดครองย่านใจกลางซึ่งเป็นผู้นำการชุมนุมเป็นผู้บอกเองว่าถ้าหากการชุมนุมเริ่มควบคุมไม่ได้พวกเขาจะขอให้หยุดการชุมนุม ตัวเขาก็ต้องการให้แกนนำปฏิบัติตามที่สัญญาไว้

เจ้าหน้าที่ตำรวจในฮ่องกงใช้แก็สน้ำตาสลายการชุมนุมตั้งแต่วันอาทิตย์ (28 ก.ย.) ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถสลายผู้ชุมนุมได้

ทั้งนี้ผู้ชุมนุมยังได้เสนอข้อเรียกร้องใหม่โดย ชาน คินแมน หรือ 'เฉินเจี้ยนหมิน' (陳健民) หนึ่งในแกนนำของกลุ่มยึดครองย่านใจกลางได้เรียกร้องให้เหลียงชุนอิงลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแลกกับการให้กลุ่มผู้ชุมนุมหยุดการชุมนุมชั่วคราวแล้วจะตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เฉินบอกอีกว่าการลาออกของผู้บริหารสูงสุดคนปัจจุบันมีความสำคัญเนื่องจากจะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและต้องการจะแก้ไขปัญหาจริง

ก่อนหน้านี้มีการสำรวจโพลล์ความคิดเห็นของประชาชนโดยมหาวิทยาลัยฮ่องกงในช่วงก่อนการประท้วง ผลระบุว่าเหลียงมีความนิยมลดลงร้อยละ 35 จากเดิมคือร้อยละ 57 เหลือเพียงร้อยละ 21 ส่วนความนิยมของรัฐบาลลดลงร้อยละ 20 นอกจากนี้ผลโพลล์ยังแสดงให้เห็นอีกว่าประชาชนชาวฮ่องกงเริ่มไม่มั่นใจในหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" โดยมีผู้ที่ไม่มั่นใจร้อยละ 56 เทียบกับจำนวนผู้ที่มั่นใจร้อยละ 38

อย่างไรก็ตามเดอะ การ์เดียนระบุว่า กลุ่มยึดครองย่านใจกลางจะสามารถควบคุมมวลชนทั้งหมดได้หรือไม่นั้นยังเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ การประท้วงของเหล่านักเรียนนักศึกษาเป็นตัวจุดชนวนให้ฝูงชนเข้าร่วมจำนวนมาก และหลายคนที่อยู่บนท้องถนนก็ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่มยึดครองย่านใจกลาง

ทางด้านฝ่ายต่อต้านกลุ่มยึดครองย่านใจกลางดูค่อนข้างเงียบไป โดยโรเบิร์ต เชา จากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มพลังเงียบของเสียงข้างมาก" (Silent Majority) อ้างว่ากลุ่มยึดครองใจกลางใช้ฮ่องกงเป็นตัวประกันและขัดขวางชีวิตประจำวันของชาวฮ่องกง

ทำเนียบประธานาธิบดีได้แถลงเมื่อวันจันทร์ (29 ก.ย.) เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทางการฮ่องกงแสดงความอดกลั้นต่อการตอบโต้กลุ่มผู้ประท้วงและเรียกร้องให้กลุ่มผู้ประท้วงแสดงออกอย่างสันติวิธี

โจซ เอิร์นเนสต์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่า "พวกเราเชื่อในสังคมที่เปิดกว้าง มีความเป็นไปในได้ในการจัดการตนเองสูง และมีการปกครองเป็นไปตามหลักนิติธรรม ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อความมั่งคั่งและเสถียรภาพของฮ่องกง"

เอิร์นเนสต์กล่าวอีกว่าผู้บริหารสูงสุดในฮ่องกงจะมีความชอบธรรมเพิ่มขึ้นถ้าหากมีการเลือกตั้งโดยที่ผู้สมัครเป็นตัวแทนในการชิงชัยเป็นไปตามกระบวนการอย่างแท้จริง

การประท้วงใหญ่ในครั้งนี้เริ่มต้นมาจากความไม่พอใจที่ทางการจีนต้องการควบคุมการเลือกตั้งในปี 2560 โดยการเป็นผู้คัดเลือกผู้ลงชิงชัยในการเลือกตั้งเองแทนที่จะมีการเปิดรับสมัครตามกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นสากล


เรียบเรียงจาก

Hong Kong's chief executive calls for protests to end, resisting calls to quit, The Guardian, 30-09-2014
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net