Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อเดือนสิงหาคม ประชาไทพาดหัวข่าวบทความว่า "สาวเกาหลีเหนือตาสว่างหลังลอบดูไททานิก" ผมรีบอ่านรายละเอียดทันที ในฐานะคนที่เคยดูหนังเรื่องนี้มาแล้ว ย่อมแปลกใจว่ามันทำให้ตาสว่างได้ยังไงวะ

แน่นอนว่าในเนื้อข่าวก็ไม่ถึงกับดูหนังเรื่องเดียวแล้วตาสว่างหรอกครับคุณปาร์กยอนมี ซึ่งบัดนี้ได้หลบหนีมาอยู่ในเกาหลีใต้แล้วเล่าว่า คนเกาหลีเหนือจำนวนหนึ่งนิยมดูหนังต่างชาติ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงในเกาหลีเหนือ ถ้าเป็นหนังอินเดียหรือรัสเซียก็จะโดนจำคุก 3 ปี แต่หากเป็นหนังอเมริกันก็ตายลูกเดียว แม้กระนั้นก็มีคนแอบซื้อหนังต่างชาติ แล้วแลกกันดูอยู่เสมอ

คุณปาร์กมีชีวิตอยู่ในรูเล็กๆ ที่แอบเจาะไว้ในระบอบเผด็จการซึ่งพยายามจะเบ็ดเสร็จของเกาหลีเหนือ ไม่แต่เพียงแอบดูหนังต่างชาติเท่านั้น พ่อของเธอถูกจำคุกฐานลักลอบขายเหล็กให้จีน และเธออาจเคยเกี่ยวข้องกับการค้าขายในตลาดมืดด้วย

คุณปาร์กเล่าถึงไททานิกว่า "ฉันรู้สึกแปลกใจมากเมื่อได้ชมไททานิกแล้ว เห็นว่ามีชายคนหนึ่งยอมสละชีวิตให้ผู้หญิงคนหนึ่ง แทนที่จะเป็นเพื่อประเทศชาติ... ในตอนนั้น ฉันรู้สึกว่ามีอะไรผิดแปลกไป คนทุกคนไม่ว่าจะมีผิวสีไหน วัฒนธรรมไหน หรือใช้ภาษาอะไร ต่างก็สนใจในเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ซึ่งต่างจากพวกเรา"

ผมคิดว่าคุณปาร์กกำลังพูดว่า ความรักเป็นธรรมชาติของมนุษย์ การที่รัฐบาลเกาหลีเหนือบังคับและกล่อมเกลาให้ประชาชนไม่ใส่ใจกับความรัก จึงเป็นการฝืนธรรมชาติ

ในเมืองไทย นักเขียนและกวีจำนวนมากก็มีความคิดอย่างเดียวกับคุณปาร์ก คือความรักเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติ อย่างเดียวกับความง่วง, ความหิว, หรือความกลัว ความรักจึงสามารถ "ผุดขึ้นกลางหว่างหทัย" ได้ โดยไม่ต้องมีที่มาที่ไป

ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะความรักเป็นวัฒนธรรมต่างหาก ไม่ได้มีมาเองตามธรรมชาติ ความเข้าใจผิดเรื่องนี้อาจไม่สู้สำคัญเท่าไรนัก แต่ผลของมันก็คือทำให้ไม่เข้าใจว่าทำไมเผด็จการเบ็ดเสร็จ จึงต้องตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับความรัก

เราคงต้องเริ่มต้นด้วยการแยกระหว่างความรักกับความผูกพันออกจากกันก่อนที่เรา "รัก" พ่อ-แม่นั้น ก็เพราะเราผูกพันกับความสัมพันธ์ที่มีกับท่านมาตลอดชีวิต ไม่ใช่ผูกพันกับตัวท่านเท่านั้นนะครับ แต่ผูกพันหรือเคยชินยอมรับกับความสัมพันธ์นานาชนิดที่เคยมีกับท่านตลอดมาด้วย ผูกพันกับความสัมพันธ์นั่นแหละครับ ที่สำคัญกว่าผูกพันกับตัวบุคคล ฉะนั้น ถึงแม้ท่านถึงแก่ชีวิตแล้ว ก็ยัง "รัก" อยู่ไม่เสื่อมคลาย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือยังผูกพันอยู่กับความสัมพันธ์นั้นสืบมา (ซึ่งบัดนี้เหลือแต่ความทรงจำ)

ความรักเป็นความรู้สึกที่บุคคลหนึ่งมีต่ออีกบุคคลหนึ่ง แม้ยังไม่มีความสัมพันธ์กันเลย หรือแม้ยังมีความสัมพันธ์กันไม่มากหรือยาวนาน ความรักจึงแตกต่างจากความผูกพัน เพราะไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ และเมื่อไม่เกี่ยวก็ย่อมไม่ถูกกำกับด้วยกฎหมาย, เศรษฐกิจ, ประเพณี ฯลฯ ทำให้เราอดรู้สึกไม่ได้ว่าความรักนี่เป็นธรรมช้าติ ธรรมชาติ

แต่ไม่ใช่หรอกครับ มันเป็นวัฒนธรรม คือเป็นความรู้สึกที่เราสร้างมันขึ้นมาท่ามกลางความสัมพันธ์ทางสังคมของโลกยุคใหม่ สิ่งใหม่ที่เราได้รับมาจากโลกยุคใหม่คือสำนึกในปัจเจกภาพ (individuality) ของตนเอง ผมไม่ได้หมายความว่าคนโบราณไม่มีสำนึกนี้เสียเลย แต่ถึงจะมีก็ไม่ใช่สำนึกที่สำคัญ คือไม่ใช่สำนึกที่เขาจะใช้เป็นมาตรฐานความสัมพันธ์กับผู้อี่น

ถ้าไม่มีสำนึกนี้ ก็จะมีความรักอย่างที่เรารู้จักในปัจจุบันไม่ได้ และจะว่ากันไป ก็มีสำนึกของเสรีนิยมไม่ได้ด้วย เพราะเสรีนิยมตะวันตกวางอยู่บนฐานคิดของปัจเจกชน กล่าวคือ คนแต่ละคนย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกัน และมีเสรีภาพที่จะแสดงปัจเจกภาพของตนเองซึ่งมีความเฉพาะไม่เหมือนคนอื่น

ตรงนี้แหละครับ ที่ทำให้ความรักเป็นอันตรายต่อระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างที่เกาหลีเหนือพยายามจะเป็น หรือรัฐโอเชิยเนียในนวนิยาย 1984 ของ จอร์จ ออร์เวล

ท้องเรื่องแกนหลักของ 1984 คือความรักหรือปัจเจกภาพของพระเอกและนางเอก ซึ่งทั้งคู่ได้ค้นพบมันในมุมอับเล็กๆ ที่กล้องของรัฐส่องไปไม่ถึง ยิ่งสำนึกต่อปัจเจกภาพหรือความรักเพิ่มพูนขึ้นเท่าไร ความรู้สึกต่อรัฐของคนทั้งคู่ก็ยิ่งเลวร้ายลง เพราะรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จเช่นนั้น ไม่มีพื้นที่ให้แก่ปัจเจกภาพของใครทั้งสิ้น

เมื่อ "อาชญากรรม" ของคนทั้งคู่ถูกรัฐจับได้ แทนที่รัฐจะฆ่าคนทั้งสองทิ้งเสีย รัฐกลับนำเขาไป "ปรับทัศนคติ" เพราะภยันตรายต่อรัฐเผด็จการนั้นไม่ได้อยู่ที่หญิงชายคู่นี้ แต่อยู่ที่ความรักหรือสำนึกในปัจเจกภาพต่างหาก รัฐต้องฆ่าสำนึกนี้ ไม่ใช่ฆ่าคน

และรัฐก็ทำสำเร็จ เมื่อคนทั้งสองพบกันอีก ต่างก็เป็นแค่คนแปลกหน้าต่อกัน ไม่ใช่ในฐานะของวินสตันกับจูเลียอีกแล้ว แต่ต่างเป็นพลเมืองผู้ภักดีของรัฐเผด็จการ ทั้งการกระทำและความรู้สึกนึกคิด เขาอาจคุยกันถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาเหมือนเป็นข้อมูลอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีความหมายอะไรแก่เขาในฐานะปัจเจกบุคคล เพราะข้อมูลเหล่านั้นมีความหมายเท่าที่รัฐบอกเขามาเท่านั้น

ความรักเช่นนี้แหละครับที่เผด็จการเบ็ดเสร็จรับไม่ได้เพราะมันตั้งอยู่บนสำนึกปัจเจกภาพของแต่ละคน แกนเรื่องของไททานิคคือนิยายน้ำเน่าทั่วไป เป็นเรื่องของความรักที่ข้ามพรมแดนชนชั้น ครอบครัว และตระกูล จบลงด้วยการเสียสละชีวิตแก่คนที่รัก จะมีน้ำเน่าอะไรที่เน้นความเป็นปัจเจกภาพของความรักยิ่งไปกว่านี้ได้ล่ะครับ

จึงน่าซาบซึ้งแก่คนในสังคมที่เคยชินกับปัจเจกภาพของคนแต่ละคน แต่น่าตระหนกแก่คนในสังคมเผด็จการที่รัฐขวางกั้นมิให้เกิดสำนึกปัจเจกภาพของบุคคล ดังที่คุณปาร์กอุทานว่าชีวิตมีไว้เสียสละแก่ชาติ ไม่ใช่แก่คนรักหรือผู้หญิงคนหนึ่ง

ประเด็นที่น่าสนใจแก่ผมอีกอย่างหนึ่งคือ การปิดกั้นข่าวสารข้อมูลของรัฐบาลเกาหลีเหนือ โทษทัณฑ์ของการแอบดูหนังต่างชาติมีสูงมาก เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนรับรู้ความเป็นจริงของโลกภายนอก ทั้งหมดนี้บอกให้เรารู้อะไร?

บอกให้เรารู้ว่า "ความเป็นจริง" ที่รัฐสร้างขึ้นให้แก่พลเมืองไม่แข็งแกร่งเพียงพอ จึงทำให้ระแวงว่า "ความเป็นจริง" จากอีกมุมหนึ่งอาจบ่อนทำลาย "ความเป็นจริง" ของรัฐได้ง่ายๆ เช่นนั้น

เผด็จการที่ไหนๆ ก็พยายามปิดกั้นข้อมูลข่าวสารทั้งนั้น แต่นั่นไม่ใช่ที่มาสำคัญของอำนาจเผด็จการ หรือการธำรงรักษาอำนาจเผด็จการ โดยเฉพาะเผด็จการเบ็ดเสร็จ

ในทัศนะของ Hannah Arendt เผด็จการเบ็ดเสร็จเป็นปรากฏการณ์ของโลกยุคใหม่ ไม่มีอะไรเหมือนในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น ผมอยากขยายความของ Arendt ไปด้วยว่า เผด็จการยุคใหม่แตกต่างจากเผด็จการยุคโบราณทั้งหมด โลกรู้จักระบอบที่ขอเรียกว่าทรราชมาแต่บรมสมกัลป์ แต่เผด็จการของโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือไม่ แตกต่างจากทรราช

ผมขอมองเรื่องนี้จากทฤษฎีเผด็จการเบ็ดเสร็จของเธอ

เครื่องมือสำคัญของเผด็จการเบ็ดเสร็จ(หรือเผด็จการในโลกยุคใหม่ตามทัศนะของผม) ตามทัศนะของ Hannah Arendt มีอยู่สองอย่างคือ การสร้างความสะพรึงกลัว และอุดมการณ์

ทรราชก็ใช้การสร้างความสะพรึงกลัวเหมือนกัน แต่แตกต่างจากเผด็จการในโลกยุคใหม่ตรงที่ว่า ทรราชอาจฆ่าหรือทรมานคนที่เป็นศัตรูกับตน หรือถูกระแวงว่าจะเป็นศัตรูกับตน แต่เผด็จการใช้มาตรการความน่าสะพรึงกลัวแก่ทุกคน รวมทั้งคนที่เป็นพรรคพวกของตนเองด้วย เพราะเป้าหมายของการใช้ความน่าสะพรึงกลัวของเผด็จการ ไม่ใช่แค่ขจัดศัตรูของตนเท่านั้น แต่ต้องการจะครอบงำอย่างสุดตัว ทั้งร่างกาย ทั้งจิตใจ ทั้งความฝัน ทั้งความอยาก (total domination) แก่ประชาชนทุกคน

ในเกาหลีเหนือ คนดูหนังต่างชาติก็เพียงต้องการหาความสนุกที่แตกต่างจากที่ตนเคยชินเท่านั้น มิได้คิดล้มล้างรัฐ แต่ต้องถูกลงโทษอย่างหนัก เพื่อจะสร้างความสะพรึงกลัวแก่คนอื่นๆ ทั้งหมด (คุณปาร์กเล่าถึงการเปิดสนามกีฬาประหารชีวิตคน เพื่อรับผู้ชมได้เต็มๆ ด้วย)

ฉะนั้น ภาพของผู้บริสุทธิ์ หรือแม้แต่พวกเดียวกันเองกับเผด็จการ ต้องหนีซุกซุนไปบวชบ้าง ไปต่างประเทศบ้าง หรือโดนใส่ร้ายตั้งคดีที่เป็นเท็จอย่างชัดเจนบ้าง ถูกอุ้มหายบ้าง ถูกจับกุมเพราะสวมเสื้อผิดสีบ้าง ถูกค้นบ้านบ้าง ถูกนำไปจำขังโดยไม่ให้ประกันตัวบ้าง ฯลฯ จึงไม่ได้กระทำขึ้นเพื่อมุ่งทำร้ายเหยื่อเหล่านั้นโดยตรง แต่เป็นการสร้างความสะพรึงกลัวแก่คนทุกคน เพื่อนำไปสู่การสยบยอมอย่างสุดตัวของประชาชนทั้งหมด

เผด็จการอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับเผด็จการเบ็ดเสร็จของฮิตเลอร์หรือสตาลิน แต่เป้าหมายของการใช้ความสะพรึงกลัวไม่ได้แตกต่างจากกัน

ยิ่งกลัวมาก เราก็ยิ่งสูญเสียปัจเจกภาพของตนเอง เพราะแม้แต่ความเหมือนก็ยังอาจมีอันตรายได้ ไม่ต้องพูดว่าความต่างจะยิ่งมีอันตรายสักเพียงไหน กลัวจนลนลานนั่นแหละคือเป้าหมายของเผด็จการในโลกยุคใหม่ เพราะทำให้เราไม่กล้าใช้สติปัญญาของตนเอง ไม่กล้าแม้แต่จะรู้สึก (เช่นความรักอย่างที่กล่าวแล้ว)

ผมเคยได้ยินภาษิตฝรั่งว่า แม้แต่พระเจ้าก็เปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เหมาเปลี่ยนประวัติศาสตร์จีนมาแล้ว อย่างเดียวกับที่ฮิตเลอร์และสตาลินได้เคยเปลี่ยนมาแล้วเช่นกัน และเผด็จการของโลกยุคใหม่อื่นๆ ก็พยายามทำอย่างเดียวกัน

เครื่องมือสำคัญของเผด็จการเบ็ดเสร็จอีกอย่างหนึ่งคืออุดมการณ์แต่เป็นอุดมการณ์ที่สามารถกุมอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของมนุษยชาติได้หมด เช่น เชื้อชาติที่เป็นนายย่อมกำหนดความเป็นไปของโลกมาตั้งแต่อดีต และกำหนดอนาคตของโลกว่าจะเป็นอย่างไร ชนชั้นหรือการต่อสู้ระหว่างชนชั้นซึ่งมีมาแต่อดีต ย่อมกำหนดได้ว่าชนชั้นใดจะกลายเป็นชนชั้นปกครองในอนาคต

ในแง่นี้ เผด็จการเบ็ดเสร็จจึงไม่ได้เพียงแต่ทำให้คนสยบยอมจนหมดตัวเท่านั้น สยบยอมก็เพื่อเผด็จการเบ็ดเสร็จจะได้สร้างคนชนิดใหม่ขึ้นมาซึ่งไม่เหมือนกับคนที่เคยมีมาในอดีต คนจึงเป็นเพียงวัตถุดิบสำหรับสร้างสังคมใหม่ มนุษย์ใหม่เท่านั้น และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่ได้มีค่าในตัวของมันเอง รมก๊าซเสียก็ได้ ไล่ไปหนาวตายในไซบีเรียก็ได้ เอาไปทำปุ๋ยก็ได้ ไล่ออกไปจากประเทศก็ได้ เอาไปขังลืมก็ได้ ฆ่า "ตัวตน" ของเขาด้วยการนำออกมาประณามทางทีวีก็ได้

ในปัจจุบัน เรามักพูดถึงการไหลอย่างค่อนข้างอิสรเสรีของข่าวสารข้อมูล แต่ผมคิดว่าความไม่สามารถปิดกั้นข่าวสารข้อมูลเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะสั่นคลอนอำนาจของเผด็จการเบ็ดเสร็จ ที่สำคัญกว่าคืออุดมการณ์ เผด็จการทั้งเบ็ดเสร็จและไม่เบ็ดเสร็จต้องประสบความสำเร็จในการทำให้อุดมการณ์ของตนครอบงำผู้คนได้ถึงหัวจิตหัวใจข้อมูลข่าวสารที่ไหลเข้ามาจึงมีอันตรายน้อยลง เพราะคนรับข้อมูลนั้นด้วยความเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง เช่น ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, เยอรมนี รวยพอที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงได้หลายสาย ผู้คนก็อาจรับรู้ด้วยความเข้าใจว่า แรงงานของประเทศเหล่านั้นถูกกดขี่มากขึ้นจนทำให้มีเงินพอไปสร้างรถไฟความเร็วสูงให้กระฎุมพีใช้ได้

ลองคิดเปรียบเทียบสิครับว่า ปราศจากอุดมการณ์อะไรเลย เราไม่สามารถให้เหตุผลแก่การไม่มีรถไฟความเร็วสูงได้มากไปกว่าเรายังไม่พร้อม และพิสูจน์ความไม่พร้อมนี้ด้วยถนนลูกรังหรือไม่มีผู้โดยสาร หรือเอาไปขนกะหล่ำปลี เป็นต้น

เผด็จการในโลกสมัยใหม่ที่ไม่ถึงกับเบ็ดเสร็จ (เรียกว่าเผด็จการกระจอกงอกง่อยก็จะกระเทือนใจกันเปล่าๆ) ก็ต้องหาอุดมการณ์มาค้ำจุนระบอบของตนเหมือนกัน เพียงแต่อุดมการณ์ที่นำมาใช้ ไม่ครอบคลุมกว้างขวางเท่าลัทธิเชื้อชาตินิยม หรือมาร์กซิสม์ จึงพอใจแต่เพียงอ้างเอาชาตินิยมมาเป็นอุดมการณ์

แต่ชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ที่มีปัญหาแก่เผด็จการมากพอสมควรก็รู้ๆ กันอยู่ คนเรารักชาติได้หลายแบบ รักแบบกูไม่เหมือนรักแบบมึง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คืออุดมการณ์ชาตินิยมยังเปิดให้คนใช้สติปัญญาและปัจเจกภาพของตน อันที่จริงความรักชนชั้น ก็เปิดเหมือนกัน แต่ง่ายกว่าแก่เผด็จการที่จะบังคับว่ารักชนชั้นต้องหมายความอย่างเดียวเท่านั้น คืออย่างที่เผด็จการตีความ

ยิ่งไปกว่านี้ ความรักชาติก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่คนน้อยกว่า เพราะชาตินิยมไม่ได้มุ่งจะสร้างสังคมและมนุษย์ชนิดใหม่ขึ้นเหมือนชนชั้นนิยม เผด็จการจึงอาศัยชาตินิยมเข้ามาแทรกแซงชีวิตผู้คนได้จำกัดกว่า ในขณะที่ชนชั้นนิยมมอบภาระอันยิ่งใหญ่แก่ประชาชน นั่นคือสร้างโลกของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นทั้งโลก เป็นภาระแก่มนุษยชาติ จนทำให้ประชาชนแต่ละคนเหลือตัวเล็กนิดเดียว เผด็จการจะเอาไปเข่นฆ่ากดขี่อย่างไรก็ดูมีเหตุผล แต่เผด็จการภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยมทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะดูไร้เหตุผลและเบาปัญญาเกินไป

เผด็จการเกาหลีเหนือก็เช่นกัน แม้เป็นคอมมิวนิสต์แต่อุดมการณ์ที่ถูกเน้นย้ำมากกว่าคือชาตินิยม และด้วยเหตุดังนั้นจึงเกรงกลัวต่อการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารที่รัฐคุมไม่ได้มาก

เผด็จการชาตินิยมที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าเกาหลีเหนือยิ่งควบคุมข่าวสารข้อมูลได้ยากขึ้น จึงต้องใช้มาตรการอย่างเดียวกับที่ทรราชใช้ แต่ทรราชเป็นเผด็จการที่ล้าสมัยไปแล้วในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเรียกชื่อมันว่า "กษัตริย์นักปรัชญา" อย่างเพลโต หรือ "ธรรมราชา" อย่างชาวพุทธ ตัวระบอบก็เป็นระบอบที่ล้าสมัยอยู่ดี และคงตั้งอยู่ในโลกและรัฐสมัยใหม่ได้ยาก นอกจากการปราบปรามอย่างรุนแรง

แต่การปราบปรามก็ทำให้ภาพของ "กษัตริย์นักปรัชญา" หรือ "ธรรมราชา" หายไป

จะเอาไงดีล่ะครับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ 19-25 กันยายน 2557

ที่มา:  มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net