วงเสวนาตั้งคำถาม ฟ้องหมิ่นประมาท เพื่อความยุติธรรมหรือยับยั้งกระบวนการตัดสินใจ?

25 ก.ย.2557 วานนี้ (24) ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้จัดกิจกรรม NBTC Public Forum ครั้งที่ 5 ประจำปี 2557 เสวนาหัวข้อ “ฟ้องหมิ่นประมาท”: เครื่องมือปิดกั้นการตรวจสอบ/การทำหน้าที่ ! วิทยากร ประกอบด้วย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  นางสาวชุติมา สีดาเสถียร เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ภูเก็ตหวาน นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นายสุปัน รักเชื้อ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)  ดำเนินรายการโดย นางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน

ช่วงเปิดงานเสวนา นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา  กสทช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดเวทีครั้งนี้ว่า ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อเฉพาะกิจแต่อย่างใด แต่เป็นการจัดตามเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เพราะในช่วงหลัง การฟ้องร้องต่อศาล กลายเป็นหวังผลข้างเคียงการฟ้องคดี ในหลายคดีพบว่าเป็นการฟ้องเชิงกลยุทธ์ ทั้งที่การฟ้องเพื่อความยุติธรรม ดังนั้น เราจึงเห็นการฟ้องสื่อมวลชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และล่าสุดเป็นภาครัฐ คือกรรมการกำกับดูแล

นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า คำถามก็คือ แล้วเหตุผลการฟ้องคืออะไรถ้าไม่ใช่ความยุติธรรม หากอีกฝ่ายหนึ่งกำลังทำหน้าที่ตามกรอบกฎหมาย ตามกรอบวิชาการ หรือการทำหน้าที่ตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพแล้ว การสะดุดที่เกิดขึ้นนั้นจะกระทบต่อสิทธิประโยชน์และสาธารณะ เพราะต่อให้ศาลยกฟ้อง จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วก็ตาม แต่ผลที่โจทก์หรือผู้ฟ้องคดีได้รับอาจถึงจุดคุ้มทุนแล้ว เพราะผู้ฟ้องอาจไม่ได้หวังผลแพ้ชนะ แต่หวังผลให้เกิดอะไรบางอย่างไปเรียบร้อยแล้ว ยิ่งหากชนะในคดีแล้วก็เหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้กำไรไปใหญ่ไม่มีขาดทุน ดังนั้นการจัดครั้งนี้ หวังให้สังคมได้เห็นกรอบแนวคิดการฟ้องร้องคดี หรือการฟ้องที่ไม่สุจริตเกิดขึ้นบนผลประโยชน์สาธารณะในสังคมไทย

นายประวิทย์ กล่าวว่า การฟ้องเป็นเครื่องมือไปปิดกั้นประโยชน์สาธารณะ ยิ่งทำให้สังคมไม่ยอมรับ แม้ยังไม่ทันแก้กฎหมาย หวังว่ากระบวนการฟ้องจะใช้ด้วยความระมัดระวังขึ้น การช่วยเหลือด้านข้อมูลทางกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งการโดนฟ้องที่เกิดจากการตรวจสอบ แล้วไปแตะถูกจุดของเรื่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมต้องช่วยจับตาต่อไป รวมทั้งคนที่ถูกฟ้องเองต้องระมัดระวังมากขึ้น

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวถึงสถิติงานวิจัยหัวข้อ “ผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ว่า ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีคดีฟ้องร้องเรื่องหมิ่นประมาณโดยฟ้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุจากสื่อกระแสหลักมีการใช้งานสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากคดีดำเนินถึงชั้นศาลแล้ว ไม่สามารถยอมความหรือถอนฟ้องได้

“ส่วนการฟ้องหมิ่นประมาท มองว่ามี 2 เหตุผล คือ ฟ้องเพื่อรักษาหน้า และหยุดกระบวนการไม่ให้เดินหน้า ซึ่งจุดประสงค์ของการเขียน มาตรา 14(1) เพื่ออุดช่องโหว่การปลอมเอกสาร phishing แต่ปัจจุบันถูกนำมาใช้เกี่ยวกับการโพสต์เฟซบุ๊กและโพสต์ข้อความออนไลน์อื่นๆ จึงเกิดการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ตรงกับเจตนารมณ์ ทางออกของเรื่องนี้คือ ควรยกเลิกเรื่องของหมิ่นประมาทออกจากพ.ร.บ.คอมฯ” นายยิ่งชีพ กล่าว

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวว่า หลายครั้ง การฟ้องร้องหมิ่นประมาทก็พ่วงกับการฟ้องการทำผิด พ.ร.บ.คอมฯ ส่วนตัวมองว่า โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้แสดงความคิดเห็น เช่นเดียวกับสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นต้องหาจุดสมดุลของสังคม เสรีภาพในการใช้งาน และความรับผิดชอบ คำว่าจุดสมดุลนี้ต้องดูว่าถึงกับต้องเปลี่ยนกฎหมายเลยหรือไม่ หรือเพียงสร้างบรรยากาศในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ อย่างกรณีตนมองว่า สามารถคุยได้ว่าขอให้ยกเลิกรีทวีต หรือรีทวีตข้อความใหม่ เพราะทวิตเตอร์เป็นช่องทางหนึ่งที่เข้าถึงประชาชน และวันนี้เทคโนโลยีก้าวไกลไปมากแล้ว แทนที่จะใช้หลักฟ้องร้องกัน น่าจะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท