Skip to main content
sharethis

แม้ว่าการใช้กำลังจัดการกับกลุ่มไอซิสจะสร้างความสะใจได้ชั่วคราว แต่จะไม่สามารถจัดการกับปัญหาก่อการร้ายได้อย่างยั่งยืน ฟิลลิส เบนนิส ผู้ศึกษาเรื่องตะวันออกกลางได้นำเสนอ 6 ขั้นตอน ที่จะสามารถแก้ไขปัญหากลุ่มไอซิสได้ในระยะยาว

พื้นที่ซึ่งกลุ่มไอซิสยึดครองในซีเรีย และอิรัก (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ฟิลลิส เบนนิส นักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลางเขียนบทความลงในเว็บไซต์ของสถาบันศึกษาด้านนโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy in Focus หรือ FPIF) ถึงเรื่อง 6 วิธีการชนะกลุ่มติดอาวุธไอซิสโดยไม่ต้องใช้วิธีการรบ

เบนนิสเริ่มต้นกล่าวถึงสิ่งที่ประธานาธิบดีโอบาม่าเคยบอกว่าการแก้ไขปัญหากลุ่มไอซิสไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยวิธีการทางทหาร ปฏิบัติการทางทหารไม่สามารถสร้างหนทางไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองได้ และจะทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ยั่งยืนด้วย

เบนนิสระบุว่าแม้ว่าทางสหรัฐฯ จะให้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศอย่างตรงเป้าหมายเท่าใดก็ตามแต่ก็ไม่มีใครสามารถทำลายอุดมการณ์หรือองค์กรลงได้ โดยยกตัวอย่างองค์กรก่อการร้ายอัลเคดาที่สมาชิกถูกสังหารจำนวนมากในอัฟกานิสถานแต่อัลเคดาก็ยังคงมีปฏิบัติการในประเทศอื่น

เบนนิสวิจารณ์วิธีการติดอาวุธกลุ่มกบฏ "สายกลาง" ในซีเรียว่าไม่ได้เป็นการส่งเสริมคนที่ดีจริง ดังเช่นกลุ่มกองกำลังฟรีซีเรียนอาร์มี (FSA) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏที่มีความขัดแย้งกับไอซิส พวกเขาได้สังหารตัดคอนักรบไอซิส 6 ราย แล้วโพสต์รูปลงบนเฟซบุ๊ค

"การโจมตีทางทหารอาจจะทำให้เกิดความสะใจในตอนนั้น แต่พวกเรารู้ดีว่าการแก้แค้นเป็นสิ่งที่แย่สำหรับนโยบายการต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมันทำให้เกิดผลลัพธ์ที่อันตราย" เบนนิสกล่าว

บทความของเบนนิสเสนอว่าในเมื่อวิธีการทางหารไม่สามารถบรรลุผลได้เห็นได้จากความล้มเหลวในเรื่องตะวันออกกลางช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาควรหันมามองการแก้ปัญหาในระยะกลางและยาวแทน เพราะนอกจากการใช้กำลังทหารจะเป้นความผิดต่อกฎหมายนานาชาติ เสี่ยงต่อการทำให้พลเรือนเสียหายล้มตาย และเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากวิธีการทางการทูตซึ่งควรนำมาใช้แล้ว การใช้วิธีการทางทหารกลับยิ่งปิดกั้นหนทางแก้ไขปัญหา และอาจจะยิ่งส่งเสริมทำให้กลุ่มติดอาวุธที่ปรากฎตัวขึ้นมาใหม่อย่างไอซิสมีความเข้มแข็งด้วย

ทำความเข้าใจเหตุไดไอซิสถึงเข้มแข็ง

บทความของเบนนิสพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมกลุ่มไอซิสถึงเติบโตและเข้มแข็งขึ้นมาได้ โดยแยกออกเป็น 4 สาเหตุ

สำหรับสิ่งที่ทำให้ไอซิสเข้มแข็งได้ใสาเหตุแรกคือ อาวุธของสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นอาวุธชั้นดีมีถูกส่งเข้าไปในพื้นที่ตะวันออกกลางมากกว่า 15 ปีแล้ว แล้วก็ตกไปอยู่ในมือของไอซิส ทำให้ต้องคิดถึงเรื่องการคว่ำบาตรอาวุธจากทุกฝ่าย

สาเหตุที่สอง ไอซิสมีผู้ทำทางทหารที่ดี มีบางส่วนเป็นนายพลนิกายซุนนีที่ถูกปลดจากตำแหน่งในกองทัพอิรักช่วงที่สหรัฐฯ บุกเข้าโจมตี ซึ่งในตอนนี้ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกฝน ผู้วางแผน และผู้นำการรบ ให้กับไอซิสและกลุ่มพันธมิตรของไอซิส

เบนนิสระบุว่า กลุ่มอดีตนายพลจากอิรักเหล่านี้ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตแบบไม่อิงศาสนา มีการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และคงไม่ยึดติดกับไอซิสมากนัก พวกเขาคงจะออกมาถ้าหาหนทางกอบกู้เกียรติยศ ศักดิ์ศรี และตำแหน่งการงานคืนมาได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงแค่การตั้งรัฐบาลใหม่ในอิรักจะทำให้เกิดขึ้นได้

สาเหตุที่สาม คือไอซิสได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชนเผ่านิกายซุนนี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่โอบาม่าบอกว่าอยาก "เจรจาต่อรองด้วย" เพื่อให้ออกห่างจากกลุ่มไอซิส แต่กลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกทุกข์ยากในช่วงที่สหรัฐฯ บุกโจมตีอิรักและอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลนิกายชีอะอ์ของนูรี อัลมาลีกิ พวกเขาถูกทำให้เป็นผู้ร้าย ถูกโจมตี และถูกยึดทรัพย์ โดยรัฐบาลอิรัก ทำให้พวกเขาไอเข้ากับไอซิสเพราะคิดว่ามีความสามารถท้าทายรัฐบาลได้

สาเหตุที่สี่ คือการสนับสนุนจากชาวนิกายซุนนีที่เป็นประชาชนทั่วไปในอิรัก ซึ่งจริงๆ แล้วคนนิกายซุนนีในอิรักส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่เคร่งศาสนามาก พวกเขาอาจจะเกลียดไอซิสในบ้างด้านเช่นการใช้ความรุนแรงและความสุดโต่งด้วยซ้ำ แต่พวกเขาก็ทนทุกข์จากการถูกรัฐบาลมาลีกิจับกุมตัว ทารุณกรรม วิสามัญฆาตกรรม และถูกกระทำแบบอื่นๆ ทำให้พวกเขายอมร่วมกับไอซิสเป็นการชั่วคราว

6 ขั้นตอนจัดการกับไอซิส

เบนนิสระบุว่าการทำให้ไอซิสอ่อนแอลงได้ต้องทำลายการสนับสนุนจากผู้นำเผ่า ผู้นำกองทัพ และชาวนิกายซุนนีในอิรักลง โดยเบนนิสได้เสนอวิธัการไว้ 6 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 คือการยกเลิกปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ เพราะกลุ่มผู้นำซุนนีมองว่าสหรัฐฯ กำลังทำตัวเป็นกองทัพอากาศให้กับชาวเคิร์ดและนิกายชีอะฮ์เพื่อต่อต้านนิกายซุนนี ทำให้การโจมตีทางอากาศไม่สามารถบรรลุเป้าหมายปลดการสนับสนุนของกลุ่มไอซิสได้ และอาจจะยิ่งทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น

ขั้นตอนที่ 2 การกระทำตามคำมั่นว่าจะไม่ส่งกองกำลังทหารภาคพื้นดินไปในอิรัก ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาทำเนียบขาวได้ยอมรับว่าพวกเขาส่งกองกำลังภาคพื้นดินไปในอิรักแล้ว 1,300 นาย และไม่ทราบว่ามีหน่วยสืบราชการลับและหน่วยพิเศษเข้าไปอยู่ในนั้นแล้วเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังต้องยังยั้งการส่งอาวุธเข้าไปในพื้นที่ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับพลเรือน นอกจากนี้ประเทศพันธมิตรยังต้องยกเลิกนโยบายที่ส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดกฎหมายนานาชาติ อีกทั้งยังควรมีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันไม่ให้มีการสนับสนุนกองทัพต่างชาติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ขั้นตอนที่ 3 จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือทางการทูตเพื่อจัดการปัญหาไอซิสโดยเฉพาะ ในเมื่อปฏิบัติการทางทหารไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง จึงควรให้ปฏิบัติการทางการทูตเป็นวิธีการแก้ปัญหาหลักๆ โดยการเชื่อมสัมพันธ์กับอิหร่านซึ่งมีอิทธิพลต่ออิรักมากกว่าสหรัฐฯ แม้ว่าอิหร่านจะมีผู้นำเป็นนิกายชีอะฮ์ แต่เหล่าผู้นำอิหร่านก็เป็นห่วงเรื่องความมั่นคงของประเทศใกล้เคียงเนื่องมาจากการแบ่งแยกนิกายของชีอะฮ์เองในอิรัก และที่ผ่านมาการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ก็ดำเนินไปด้วยดี จึงควรใช้โอกาสนี้เพื่อให้เกิด "การหารือต่อรองครั้งใหญ่" ที่มีการพูดเรื่องวิกฤติของภูมิภาคด้วย

ขั้นตอนที่ 4 คือการที่สหประชาชาติควรพยายามหาแนวทางทางการทูตหลากหลายแนวทางมากขึ้น โดยเน้นเรื่องการกดดันทางการทูตและการเงิน ทั้งอิรักและซีเรียต่างก็มีความกังวลของตัวเองในประเด็นระดับนานาชาติ ทางด้านตุรกีจะมองว่าการเข้าร่วมรบกับสหรัฐฯ จะเป็นการเสี่ยงทำให้มีการสังหารนักการทูตและครอบครัวที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ดังนั้นจึงต้องกดดันชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างซาอุฯ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรคไม่ให้ส่งเสริมด้านอาวุธหรือการเงินกับกลุ่มหัวรุนแรงรวมถึงไอซิส กดดันตุรกีไม่ให้อนุญาตคนข้ามแดนไปยังซีเรียเพื่อเดินทางไปสมัครเป็นนักรบ

ขั้นตอนที่ 5 คือการผลักดันให้สหประชาชาติเริ่มต้นการเจรจาหารือเพื่อยับยั้งสงครามกลางเมืองในซีเรียอีกรอบ โดยต้องให้ผู้ที่มีส่วนร่วมทุกฝ่ายขึ้นโต๊ะเจรจา ทั้งรัฐบาลซีเรีย ภาคประชาสังคมในซีเรีย ทั้งนักกิจกรรมที่ไม่ใช้วิธีการรุนแรง, ผู้หญิง, คนหนุ่มสาว, ผู้ลี้ภัย และประชาชนภาคส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกบฎติดอาวุธ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนอกประเทศ รวมถึงผู้นำโลกที่มีส่วนร่วมทั้งระดับภูมิภาคและระดับสากล ซึ่งอาจจะทำให้มีโอกาสเสนอนโยบายกรณีซีเรียร่วมกับรัสเซีย เพื่อช่วยกันกำจัดอาวุธเคมีและลดความตึงเครียดกรณียูเครนได้ นอกจากนี้การคว่ำบาตรอาวุธจากทุกฝ่ายควรจะเป็นวาระในระยะยาว

ขั้นตอนที่ 6 คือ สหรัฐฯ ต้องเพิ่มการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านองค์กรสหประชาชาติ เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจำนวนมากทั้งจากซีเรียและอิรัก ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยสัญญาว่าจะให้การสนับสนุนด้านนี้แต่องค์กรด้านมนุษยธรรมก็ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งเบนนิสระบุว่าสหรัฐฯ ควรต้องให้สัญญาและให้ความช่วยเหลือมากกว่านี้

เรียบเรียงจาก

Six Steps Short of War to Beat ISIS, Foreign Policy In Focus, 10-09-2014 http://fpif.org/six-steps-short-war-beat-isis/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net