นักวิชาการต่างชาติวิเคราะห์การใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อของ 'ไอซิส'

สิ่งหนึ่งที่ทำให้กลุ่มติดอาวุธไอซิส แตกต่างจากกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ไม่เพียงแค่เรื่องการแสดงออกโหดเหี้ยมอย่างโจ่งแจ้งเท่านั้น แต่มีผู้วิเคราะห์ว่าไอซิสมีความสามารถในการทำสื่อวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อ การพยายามสื่อสารในลักษณะที่ทำให้รู้สึกเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงมีการพยายามสื่อสารกับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศตะวันตก

15 ก.ย. 2557 ในช่วงที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศวิเคราะห์เรื่องการใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มไอซิส (ISIS) ที่เปลี่ยนชื่อเรียกตัวเองเป็นไอเอส (IS) ไว้หลายแง่มุม ทั้งทางด้านเทคนิค เป้าหมายของการสื่อสาร และข้อถกเถียงที่ว่าสื่อของพวกเขามีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนคนเดินทางไปสมัครร่วมเป็นนักรบด้วยหรือไม่

เว็บไซต์พับลิกเรดิโออินเตอร์เนชันแนลหรือพีอาร์ไอ (PRI) ระบุว่ากลุ่มไอซิสมักจะใช้สื่อที่ทันสมัยอย่างโซเชียลมีเดียในการเข้าถึงผู้คนและดูเหมือนว่าสามารถใช้สื่อวิดีโอที่มีความซับซ้อนได้ พีอาร์ไอรายงานอีกว่าเมื่อไม่นานมานี้กลุ่มไอซิสได้จัดตั้งหน่วยงานด้านการสร้างโฆษณาชวนเชื่อโดยเฉพาะชื่อหน่วยงาน "ศูนย์สื่ออัลฮายัต"

พีอาร์ไอได้ให้ผู้สร้างภาพยนตร์จากนิวยอร์กชื่ออีเลียต กรีนน์บัม ผู้ทำงานด้านโฆษณาดูวิดีโอของไอซิส หลังจากนั้นเขาก็บอกว่าไอซิสมีฝีมือด้านนี้อยู่พอสมควร กรีนน์บัมแจงว่าผู้สร้างสื่อให้ไอซิสใช้เทคนิคนำภาพประวัติศาสตร์มาเสริมฟิลเตอร์ในการตัดต่อและมีการวางเลเยอร์ของภาพให้ดูมีพลัง ซึ่งวิดีโอที่กรีนน์บัมพูดถึงเป็นวิดีโอเฉลิมฉลองการก่อตั้ง "รัฐอิสลาม" ตามความหมายที่พวกไอซิสนิยามกันเองได้

กรีนน์บัมกล่าวอีกว่าระดับฝีมือของไอซิสไม่ใช่สิ่งที่จะเรียนรู้ได้ในเวลาสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมง และดูจากการออกแบบตัดต่อแล้วดูเหมือนว่าเป็นงานของคนที่ทำเป็นอาชีพหรือทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ไอซิสยังนำเสนอโฆษณาชวนเชื่อชุด "มูจาทวีตส์" ที่พยายามแสดงให้เห็นว่าผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีภายใต้การปกครองของไอซิส

สถาบันวิจัยสื่อตะวันออกกลางซึ่งมีสำนักงานในสหรัฐฯ ระบุในรายงานเกี่ยวกับอัลฮายัตว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้น่าจะเป็นนักร้องเพลงแร็พชาวเยอรมันที่ชื่อเดโซ ด็อกก์ ซึ่งกลายเป็นผู้เข้าร่วมกลุ่มติดอาวุธ

นอกจากมีโปรดักชั่นระดับสูงแล้ว วิดีโอโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ยังดูเหมือนพยายามเข้าถึงกลุ่มผู้ชมตะวันตก โดยมีการแปลซับไตเติ้ลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาของชาติยุโรปอีกหลายภาษา บางวิดีโอมีผู้พูดเป็นนักรบที่ใช้ภาษาอังกฤษได้

พีอาร์ไอระบุอีกว่าวิดีโอจากไอซิสไม่เพียงแค่มีการผลิตที่มืออาชีพกว่าของกลุ่มติดอาวุธอิสลามกลุ่มอื่นๆ แต่ยังออกมาเร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ ด้วย ทำให้แม้ว่าไอซิสจะบอกว่าพวกเขาเกลียดชังสังคมและค่านิยมสมัยใหม่ แต่วิดีโอของพวกเขาก็แสดงให้เห็นความสามารถและความรู้ด้านเทคโนโลยี

ฌอง ฮิวสตัน ศาตราจารย์วิชาภาษาอังกฤษและการศึกษาภาพยนตร์จากสถาบันเดอะซิตาเดล วิทยาลัยทหารนอร์ทแคโรไลนา วิเคราะห์ว่า ไอซิสใช้ลักษณะแบบสมัยนิยมที่ดู 'ฮิป' เพื่อส่งเสริมค่านิยมในแบบยุคกลาง โดยได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์บู๊ ภาพยนตร์ผจญภัย ภาพยนตร์ระทึกขวัญ หรือแม้กระทั่งวิดีโอเกมส์ แต่เป็นการนำเสนอในแบบที่ไม่ได้วางน้ำหนักด้านจริยธรรมลงไปด้วย จากการที่พวกเขาไม่สนใจชีวิตของเหยื่อที่ถูกสังหารหรือทำร้ายว่ามีความเป็นมนุษย์และมีครอบครัว

กรีนน์บัมเห็นด้วยว่าวิดีโอของไอซิสลดทอนความรู้สึกของผู้ชมให้เหลือเพียงความรุนแรง แต่ขณะเดียวกันก็พูดถึงงานโปรดักชั่นระดับสูงว่าแสดงให้เห็นถึงอำนาจการควบคุมให้สื่อออกมาดูเนี้ยบ อย่างไรก็ตามกรีนน์บัมคิดว่าแม้วิดีโอของไอซิสจะมีเทคนิคที่ดี แตมันก็ไม่น่าจะช่วยเรียกให้มีคนเข้าร่วมเพิ่มขึ้นได้จากในแง่นี้

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีนักวิเคราะห์มองว่าปัจจัยต่างๆ อย่างการส่งเสริมความรุนแรงของสื่อไอซิส การเชื่อมต่อกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก และการโฆษณาที่ชวนให้รู้สึกเข้าถึงตัวผู้ปฏิบัติการได้ง่าย ล้วนเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนเดินทางไปเข้าร่วมรบกับไอซิส

ในบทสัมภาษณ์ของสื่อเอนพีอาร์ คลิน วัตต์ จากสถาบันนโยบายการต่างประเทศ (Foreign Policy Institute) กล่าวว่า เมื่อเทียบกับในอดีตการที่กลุ่มติดอาวุธจะสามารถติดต่อสื่อสารกับชุมชนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการต่อสู้ได้มีจำกัดมาก แต่หลังจากยุคที่ชาวตะวันออกกลางและแอฟริกามีสมาร์ทโฟนใช้ทำให้กลุ่มติดอาวุธสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
วัตต์ยังได้กล่าวถึงผู้ปฏิบัติการซึ่งคอยเกณฑ์คนเข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธ บอกว่ากลุ่มเหล่านี้สามารถติดต่อกับผู้ที่สนใจเข้าร่วมขบวนการเพื่อแนะนำช่องทางเดินทางไปสมัครได้ง่าย และในอีกแง่หนึ่งพวกเขาก็ใช้โซเชียลมีเดียพูดถึงเรื่องประสบการณ์การสู้รบในซีเรียและอิรัก บางครั้งก็เป็นเรื่องการพูดถึงเหตุการณ์ในลักษณะเหมือนต้องการสื่อสารกลับไปยังชุมชน

วัตต์กล่าวถึงอีกมุมหนึ่งในการนำเสนอตัวเองของไอซิสว่า สมาชิกไอซิสมีการนำเสนอภาพของกิจกรรมที่ดูเหมือนเป็นกิจกรรมของคนทั่วไปในโลก เช่น ภาพตอนทานอาหาร ภาพตอนกำลังเล่นกับสัตว์ ซึ่งขัดแย้งกับการนำเสนอภาพความโหดเหี้ยม ซึ่งวัตต์บอกว่าเป็นสิ่งที่ดู "ขัดแย้งกันอย่างประหลาด"

อย่างไรก็ตามวัตต์ยังกล่าวว่าสื่อของกลุ่มไอซิสทำให้ชาติตะวันตกสามารถรับรู้สถานการณ์ได้ในสถานที่ซึ่งไม่มีนักข่าวหรือการรายงานจากรัฐบาล และเมื่อถูกถามว่าทำไมบริษัทเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของโซเชียลมีเดียทั้งหลายถึงไม่ปิดกั้นสื่อเหล่านี้เสียทั้งหมด วัตต์ตอบว่าพวกเขาทำไม่ได้เพราะขัดกับนโยบาย อาจจะมีบ้างที่เป็นการลบบัญชีของผู้ที่ข่มขู่หรือแสดงออกเชิงความรุนแรง แต่การพูดในเชิงความคิดเป็นเรื่องตัดสินได้ยาก

"มันยากเพราะใครจะเป็นคนตัดสินล่ะว่าความคิดหรือแนวคิดของคนๆ หนึ่งควรจะทำให้แนวคิดอื่นถูกดีดกระเด็นออกไป" วัตต์กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

ISIS has mastered high-end video production in its new propaganda wing, PRI, 11-09-2014
http://www.pri.org/stories/2014-09-11/isis-has-mastered-high-end-video-production-its-new-propaganda-wing

ISIS Runs A Dark Media Campaign On Social Media, NPR, 06-09-2014
http://www.npr.org/2014/09/06/346299142/isis-runs-a-dark-media-campaign-on-social-media

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท