Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในช่วงเทศกาลต้อนรับน้องใหม่เช่นนี้ นอกจากบรรยากาศของลัทธิอำนาจนิยมที่แผ่กระจายปกคลุมไปทั่วแล้ว ยังคงมีสิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นท่ามกลางบรรยากาศเผด็จการนี้อย่างท้าทาย นั่นคือการถกเถียงต่อประเด็นการรับน้องที่แพร่กระจายไปทั่วทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยเองและในโลก social network แม้ว่าจะเป็นเพียงจุดเล็กๆที่กระจัดกระจายแบบสะเปะสะปะก็ตามที

อย่างไรก็ดี การถกเถียงเรื่องการรับน้องไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นกระบวนการที่มีมาไม่ต่ำกว่า 3-4 ปีแล้วในความรับรู้ของผม กระนั้นเองการถกเถียงเหล่านี้มักจบลงที่ข้อสรุปว่า “การเข้ารับน้องควรเป็นสิทธิของนักศึกษาปี 1 ว่าจะเลือกเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมก็ได้” แล้วข้อสรุปนี้ก็จะปิดบรรยากาศการถกเถียงลง กลายเป็นคำตอบสุดท้ายและความจริงสูงสุดของเรื่องการรับน้อง จากนั้นการถกเถียงในประเด็นนี้ก็จะเลือนหายไปจากความรับรู้ของเรา จนเมื่อมีการรับน้องในปีการศึกษาใหม่ เราก็จะขุดเอาชุดตรรกะและข้อถกเถียงเดิมๆขึ้นมาถกเถียงกันต่อแล้วจบลงที่ข้อสรุปเดิมๆ วนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยมา

ประเด็นที่ผมต้องการเสนอในบทความนี้คือ เราควรก้าวไปให้ไกลกว่าข้อสรุปอะไรทำนองนี้ได้แล้ว ในเมื่อมีการพูดกันอยู่เสมอว่าระบบการรับน้องแบบ SOTUS นั้นเป็นอุปสรรคต่อบรรยากาศประชาธิปไตย มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นเผด็จการ ฯลฯ การถกเถียงจึงควรยกระดับไปให้ไกลกว่าข้อสรุปที่ว่า “เป็นสิทธิของปี 1 ที่จะเข้ารับน้องหรือไม่ก็ได้” เพราะถึงที่สุดแล้วการรับน้องก็จะยังมีกระบวนการผลิตซ้ำตัวเองและดึงเอานักศึกษาไปปลูกฝังแนวคิดอำนาจนิยมได้เช่นเดิมอยู่ดี ในจุดนี้เราจึงควรตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ว่า “ระบบรับน้องยังจำเป็นต่อสังคมปัจจุบันอยู่อีกหรือ?”

ซึ่งจากคำถามเบื้องต้นนี้ผมแทบจะไม่ต้องนำเสนอต่อถึงเหตุผลที่สนับสนุนให้ยกเลิกการรับน้องเสียด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่าท่านผู้อ่านย่อมรู้อยู่แล้ว หากนำมากล่าวซ้ำอีกก็คงจะซ้ำซากจนเกินไป อย่างไรก็ดีผมได้สังเกตและรวบรวมเอาเหตุผลสนับสนุนที่ผู้นิยมการรับน้องยกมาอ้างบ่อยๆในการถกเถียงเพื่อสนับสนุนการรับน้องหรือกิจกรรมในการรับน้องมาย่อยสรุปได้บ้าง จึงจะขอนำเสนอและเขียนตอบประเด็นเหล่านี้เป็นรายประเด็นไปดังนี้

1.การรับน้องทำให้นักศึกษาปี 1 ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้รู้จักรุ่นพี่ ประเด็นนี้นับเป็นเหตุผลพื้นฐานที่ผู้นิยมการรับน้องยกขึ้นมาอ้าง ซึ่งผมก็ค่อนข้างโอเคกับเหตผลนี้นะ เพราะดูจะเป็นรูปธรรมที่สุด อย่างไรก็ดีกระบวนการสร้างเพื่อนใหม่นี้ไม่ได้มีแค่ทางเดียว และกระบวนการสร้างเพื่อนใหม่ที่เป็นอยู่นั้นก็สร้างจากความรุนแรง [การสั่งลงโทษ การว้าก] และสร้างความแปลกแยกให้แก่ผู้ที่ไม่เข้ารับน้องด้วยกระบวนการคัดแยกคัดออกว่าคนที่ไม่มาลำบากรับน้องด้วยนั้นคือคนที่เห็นแก่ตัว ซึ่งกระบวนการคัดแยกนี้ก็เป็นปัญหาเพราะมันจะบีบให้ปี 1 ต้องเข้ารับน้องอยู่ดี

2.การรับน้องทำให้เกิดความรักสามัคคีในกลุ่มเอก สาขา คณะ มหาวิทยาลัย ประเด็นที่สองนี้ก็ถูกยกมาอ้างบ่อยไม่แพ้กันนัก แต่ผมไม่นิยมเรียกว่าเป็นความรักสามัคคี เพราะเห็นว่าเป็นกระบวนการสร้างระดับชั้นทางสังคมและการปฏิเสธความหลากหลายเสียมากกว่า หรือหากจะให้กล่าวแบบรุนแรงก็คือ “เป็นการสร้างภาพ” เพราะความสามัคคีที่รุ่นพี่กล่าวอ้างนั้นมาจากการเชื่อฟังโดยไร้การถกเถียง เป็นระบบสังคมที่กำหนดให้ทุกคนต้องอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของตน รุ่นน้องต้องเคารพเชื่อฟังรุ่นพี่ คนมาก่อนเป็นพี่ คนมาหลังต้องเป็นน้อง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ปฏิเสธความหลากหลายทางความคิดของมนุษย์อย่างสิ้นเชิงและปฏิเสธเรื่องการคิดเองเป็นของมนุษย์อย่างน่ารังเกียจที่สุด

3.การรับน้องต้องมีการละเล่นให้สนุกสนาน สร้างสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ประเด็นนี้อาจจะซ้ำกับในข้อ 1. แต่ผมอยากเจาะจงไปที่ประเด็นเรื่องการละเล่นซักนิด กิจกรรมรับน้องนี้ส่วนมากมักประกอบด้วยการเต้นในท่าทางประหลาดๆที่ผู้นิยมการรับน้องเรียกว่า “สันทนาการ” การติดเครื่องประดับเพื่อบ่งบอกคณะสาขาที่เรียน [มีตั้งแต่ป้ายชื่อ สายรัดข้อมือ ไปจนถึงหมวกหรือเครื่องประดับหัวทรงประหลาด ฯลฯ] การล่ารายชื่อรุ่นพี่ ไปจนกระทั่งการลงโทษ [การสั่งลงโทษ และการว้าก] ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมค่อนข้าง Serious มากๆเพราะผมมองว่ามันเป็นการ dehumanize ซึ่งลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเราด้วยการเครื่องแต่งตัวบ้าๆบอๆ ไปจนถึงละเมิดสิทธิเหนือร่างกายด้วยการมาสั่งให้เราต้องสวมใส่เครื่องประดับไร้แก่นสารเหล่านี้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรอยู่บนข้อสรุปว่า “เป็นสิทธิของปี 1 ที่จะเลือกทำหรือไม่ก็ได้” เพราะถึงที่สุดแล้วมันไม่ควรจะมีใครต้องกลายเป็น “ทาสทางความคิด” หรือ “ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์”  ไม่ว่าจะโดยการบังคับ หรือการสมัครใจเอง

นี่เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ผมยกมาเท่านั้น ยังมีเรื่อง “จารีต วัฒนธรรมการรับน้องที่ทำตามๆกันมา” ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหลักที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึงอีก หรือเหตุผลยิบย่อยๆอีกมากมาย อย่างไรก็ดีบทความนี้มุ่งมั่นนำเสนอและตั้งคำถามต่อยอดจากข้อสรุปแบบเดิมๆ อย่างที่ผมได้กล่าวเอาไว้ กระบวนการ dehumanize ไม่ควรเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

สุดท้ายนี้คงต้องขอย้ำอีกครั้งว่าเราควรตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของระบบการรับน้องที่เต็มไปด้วยการ dehumanize ควรถกเถียง หาคำตอบ และออกไปให้ไกลกว่าวัฏจักรของข้อสรุปว่า “การรับน้องเป็นสิทธิของปี 1 ที่จะเลือกเข้าหรือไม่ก็ได้” กันเสียที.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net