Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis





วิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วง 6-7 เดือนของการออกมาเคลื่อนไหวขับไล่นายกรัฐมนตรีของมวลมหาประชาชนสืบเนื่องจากสาเหตุการออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสุดซอย หรือ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ลักหลับในคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน เวลาตี 4 พร้อมกับการลุกฮือออกมาของมวลมหาประชาชนจำนวนมากตามท้องถนน และจบลงด้วยการก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจโดย คสช. ของ 6 โมงเย็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อคืนความสุขให้กับคนในชาติ

สถานการณ์ที่วุ่นวายในช่วง 6-7 เดือนตลอดมาได้สงบลงในวันต่อมาหลังจากมีการยึดอำนาจของ คสช.  สื่อวิทยุ โทรทัศน์กระแสหลักเปิดเพลงปลุกใจรักชาติกันอย่างพร้อมเพียง สลับกับมีการนำเสนอประกาศคำสั่งของ คสช. เป็นระยะ พร้อมกับมีการเรียกผู้ประชาชนไปรายงานตัวโดยอ้างว่าเพื่อเป็นการปรับทัศนคติ ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

ผ่านมาสองเดือนที่ คสช. ได้ทำการยึดอำนาจ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ กระแสหลัก นำเสนอรายการและข่าวตามปกติแต่ก็ยังมีการขอความร่วมมือจาก คสช. ไม่ให้สัมภาษณ์นักวิชาการหรือนักการเมืองต่อความเห็นทางการเมืองเพื่อไม่ให้เกิดการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในสังคม

หากมองภาพรวมโดยทั่วไปจากการดูข่าวประจำวันจะพบได้ว่าบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ประชาชนใช้ชีวิตประจำวันตามปกติพร้อมกับการแถลงผลงานของ คสช. ทุก 6 โมงเย็น และกิจกรรมคืนความสุขต่างๆที่ทางคณะ คสช. ที่ได้จัดเพื่อสลายสีเสื้อ สลายความขัดแย้งระหว่างขั้วทางการเมืองที่เผยแพร่ออกมาตามสื่อกระแสหลักมากมาย มองไปแล้วทำให้คิดได้ว่าบ้านเมืองกำลังกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และมีความสุข อย่างที่ คสช. ได้ให้คำมั่นไว้

แต่ท่ามกลางความสงบสุขที่เราเห็นผ่านหน้าจอทีวีและฟังจากวิทยุ ข่าวความเดือดร้อนและปัญหาความไม่เป็นธรรมของคนตัวเล็กๆได้หายออกไปจากหน้าสื่อกระแสหลัก โดยมีข่าวกิจกรรมคืนความสุขเข้ามาแทนที่พื้นที่ข่าวปัญหาของคนชายขอบเช่น ราคายางพาราตกต่ำ การไล่รื้อคุกคามชาวบ้านโนนดินแดง การเข้าจับกุมนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน เป็นต้น

ในสถานการณ์คืนความสุขให้กับคนในชาติ คนตัวเล็กๆและปัญหาความไม่เป็นธรรมได้หายไปจากพื้นที่ข่าว เพื่อกลบเกลื่อนความไม่มีความสุขในท้องถิ่นที่ห่างไกลจากกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาค

หากเป็นในช่วงสถานการณ์ปกติที่เป็นประชาธิปไตยการนำเสนอข่าวเหล่านี้ย่อมนำเสนอได้อย่างเปิดเผยและมีการติดตามตรวจสอบความคืบหน้าทั้งจากนักข่าวและสังคมอย่างต่อเนื่อง แม้ข่าวเหล่านี้จะสะท้อนความเป็นจริงของสภาพปัญหาทางสังคม ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมของคนที่เข้าไม่ถึงโอกาสและความเป็นธรรม สื่อสารมวลชนย่อมทำหน้าที่ตัวกลางในการเปิดเผยปัญหาที่คนห่างไกลความเจริญจะต้องพบเจอในชุมชนในท้องถิ่นของเขา เพื่อให้สาธารณะชนได้รับรู้ แม้ว่าสิ่งทีนำเสนอจะค่อนข้างขัดแย้งกับความเชื่อและจินตนาการที่สวยงามที่มีต่อคนท้องถิ่นและชุมชนที่ห่างไกล

ในช่วงระยะเวลาของการปกครองประชาธิปไตย การเดินขบวนเรียกร้องหรือการออกสื่อเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมนั้นสามารถทำได้ และเป็นเครื่องมือสำคัญของเหล่าผู้คนที่จนอำนาจในการต่อรอง ระบบประชาธิปไตยอนุญาตให้คนเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวตามสื่อและตามท้องถนนได้อย่างเสรีและไม่มีความผิดอะไรเพื่อจะบอกต่อสังคมถึงความไม่เป็นธรรมที่ตนต้องประสบและเรียกร้องให้สังคมช่วยร่วมกดดันในการแก้ปัญหาความทุกข์ยากเหล่านี่ ซึ่งในระบบประชาธิปไตยมองการเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่า ไม่ใช่ปัญหาที่น่ากลัว ไม่ใช่ความวุ่นวายและไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ แต่เป็นสิทธิและเสรีภาพในการเข้ามามีพื้นที่ต่อรองผลประโยชน์และเรียกร้องความเป็นธรรมของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน หรือไร้อำนาจอย่างไร

การควบคุมสื่อในการเสนอข่าวในสภาวการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นการปฎิเสธความมีอยู่ของปัญหาและนำปัญหาลงไปซุกไว้ใต้พรม เพื่อสั่งสมและรอวันปะทุออกมาในวันที่บ้านเมืองกลับมาสู่สภาวะที่เป็นประชาธิปไตย  เหมือนกับช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  ซึ่งเกิดการเดินขบวนเรียกร้องจากปัญหาสังคมที่สั่งสมมานานของประชาชน ในสภาวะการที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500-2516 ประมาณครั้งของการเดินขบวนตลอด 3 ปีตั้งแต่ช่วง 14 ตุลา 2516-6 ตุลา 2519 ประมาณ 900 กว่าครั้ง

ถึงอย่างนั้นแล้วในความสงบสุขของประเทศชาติที่เราดูผ่านโทรทัศน์ ฟังจากวิทยุ ผิวเผินนั้นอาจจะดูเรียบร้อยเป็นระเบียบ ทุกคนมีรอยยิ้มให้แก่กันหลังจากผ่านช่วงวิกฤตการทางการเมืองมาแล้ว แต่ภายใต้ความสุขและความเงียบสงบที่เราเห็นนั้น ยังมีปัญหาที่สั่งสม รอวันระเบิดขึ้น ในวันที่ คสช. จากไป และบ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย เราอาจจะได้ตาสว่างจากความสุขชั่วขณะจากปัญหาที่ถูกเก็บงำไว้ไม่นำเสนอในพื้นที่สื่อกระแสหลัก ก็เป็นได้

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net