ชำนาญ จันทร์เรือง: จากใจนักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ผมไม่อาจกล่าวแทนนักสิทธิมนุษยชนทั้งหมดได้ แต่ผมสามารถกล่าวในฐานะนักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งที่เคยมีความไม่เข้าใจ ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยกับการกระทำหรือแนวความคิดของนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลายว่า เหตุใดจึงต้องออกมาคัดค้านกระแสสังคม คัดค้านการใช้อำนาจรัฐที่จะทำให้บ้านสงบเรียบร้อยปราศจากการเดินขบวนหรือคัดค้านโครงการสำคัญๆที่จำเป็นจะต้องละเมิดสิทธิของผู้คนเพื่อให้โครงการของรัฐดำเนินไปได้ ฯลฯ

แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาค่อนชีวิตทำให้ผมเปลี่ยนไปเพราะพบว่าในโลกอันโหดร้ายนี้ ผู้คนถูกปฏิบัติต่อกันเสมือนหนึ่งว่าอีกฝ่ายหนึ่งมิใช่มนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน ข่าวคราวคนถูกอุ้มหาย ถูกซ้อมทรมาน ถูกไล่ที่ด้วยวิธีการนอกกฎหมาย ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐทุบตี ถูกจับกุมคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือตกเป็นแพะรับบาปในคดีอาญาและที่ร้ายที่สุดก็คือการถูกประหารชีวิตโดยกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาด ฯลฯ จึงทำให้ผมหันกลับมาทำความเข้าใจในสาเหตุและวิธีการที่จะสามารถป้องกันหรือบรรเทาสิ่งต่างๆเหล่านี้มิให้บังเกิดแก่เพื่อนร่วมโลกเดียวกัน เท่าที่จะสามารถทำได้ตามกำลังความรู้ความสามารถที่มีอยู่

สิทธิมนุษยชนคืออะไร

สิทธิมนุษยชน คือ สิทธิประจำตัวของมนุษย์ทุกคนที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคนที่ต้องได้รับในฐานะที่เป็นมนุษย์ เพื่อทำให้คนๆ นั้นมีชีวิตอยู่รอดและมีพัฒนาการ

                 

สิทธิมนุษยชนมี 2 ระดับ

ระดับแรก เป็นสิทธิที่ติดตัวทุกคนตั้งแต่เกิด ไม่สามารถถ่ายโอนให้กันได้ อยู่เหนือกฎหมายและอำนาจใดๆของรัฐทุกรัฐ สิทธิเหล่านี้ได้แก่ สิทธิในชีวิต ห้ามฆ่าหรือทำร้ายชีวิต ห้ามการค้ามนุษย์ ห้ามการทรมานอย่างโหดร้ายทารุณ คนทุกคนมีสิทธิในความเชื่อ มโนธรรมหรือสิทธิทางศาสนา ทางการเมือง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกหรือการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นใด สิทธิมนุษยชนเหล่านี้ไม่ต้องมีกฎหมายรับรอง สิทธิเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างน้อยก็คือมโนธรรมสำนึกในบาปบุญคุณโทษที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน เช่น หากแม้ว่าจะมีหรือไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการฆ่าคนเป็นความผิดตามกฎหมายก็ตาม แต่ทุกคนย่อมมีสำนึกรู้ได้เองว่า การฆ่าคนย่อมเป็นสิ่งต้องห้ามหรือเป็นบาป เป็นต้น

ระดับที่สอง เป็นสิทธิที่ต้องได้รับรอง ในรูปแบบของกฎหมาย หรือต้องได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ ได้แก่ การได้รับสัญชาติ การมีงานทำ การได้รับการคุ้มครองแรงงาน ความเสมอภาคของหญิงชาย สิทธิของเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ การได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การประกันการว่างงาน การได้รับการบริการทางสาธารณสุข การสามารถแสดงทางวัฒนธรรมอย่างอิสระ สามารถได้รับความเพลิดเพลินจากศิลปวัฒนธรรมในกลุ่มของตน เป็นต้น

สิทธิมนุษยชนระดับที่สองนี้ต้องเขียนรับรองไว้ในกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐแต่ละประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนทุกคนที่อยู่ในรัฐนั้นจะได้รับความคุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ให้มีความเหมาะสมแก่การเป็นมนุษย์

จึงจะเห็นได้ว่า "สิทธิตามกฎหมาย" ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชน มีสิทธิบางอย่างเท่านั้นถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชน และสิทธิที่เป็นสิทธิมนุษยชนนั้น ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์ เช่น การฆ่าหรือทำร้ายกัน แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การทำร้ายหรือการฆ่าเป็นความผิด คนทุกคนก็รู้แก่ใจว่าการฆ่าเป็นความผิด แต่การที่คนในชาติไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอแก่การยังชีพ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่งคือสิทธิทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องจัดการให้คนในชาติได้รับอาหารเพียงพอแก่การมีชีวิตอยู่รอด สิทธิมนุษยชนจึงเป็นของมนุษย์ทุกคนไม่จำเพาะแต่ฝรั่งมังค่าหรือจำเพาะตามกฎบัตรสหประชาชาติเท่านั้น

ฉะนั้น การที่นักสิทธิมนุษยชนออกมาเรียกร้องในเรื่องต่างๆมิได้หมายความว่านักสิทธิมนุษยชนจะเป็นพวกโลกสวยทำสิ่งในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เช่น การยกเลิกโทษประหารชีวิตหรือการห้ามซ้อมทรมาน ฯลฯ หรือนักสิทธิมนุษยชนจะเห็นแก่นักโทษคดีฆ่าข่มขืนมากกว่าสิทธิคนตายหรือคนที่ถูกข่มขืนแต่อย่างใด แต่การลงโทษควรเป็นไปตามหลักนิติปรัชญา อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา มิใช่วูบวาบเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคม

ประเด็นสำคัญก็คือว่าต่อให้เรามั่นใจว่าตัวเราเองนั้นเป็นคนดีเลิศประเสริฐศรีที่สุด แต่หากยังใช้ชีวิตอยู่ในผืนแผ่นดินที่มียังมีประเพณีปฏิบัติในเรื่องของการประหารชีวิตหรือจับกุมคุมขังผู้ที่เห็นต่าง หรือนักโทษที่ถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราหรือคนในครอบครัวเราจะไม่กลายเป็นแพะที่ต้องโดนซ้อมให้รับสารภาพหรือเป็นคนที่โดนประหารเพราะพิษทางการเมืองอย่างเช่นคนอียิปต์ถูกศาลสั่งประหารทีละเป็นร้อยๆคน หรืออยู่ดีๆถูกถล่มด้วยอาวุธร้ายแรงจนประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องต้องสูญเสียชีวิตไปด้วย เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปก็คือที่ผมในฐานะนักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งพยายามทำนั้นก็คือพยายามให้รัฐไม่ว่ารัฐไหนในโลกนี้ ไม่มายุ่งกับพื้นที่ส่วนตัวของเรา  ไม่มายุ่งกับสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเชื่อ หรือไม่มายุ่งเกี่ยวกับร่างกายของเราหรือในที่สุดคือการพรากเอาชีวิตของเราไปนั่นเอง

 

                                                                          

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 23 กรกฎาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท