Skip to main content
sharethis

แม้ว่าวาทกรรม ‘มนุษย์ป้า’ จะเกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียอธิบายถึงหญิงสูงวัยที่มักชอบแซงคิว แย่งขึ้นรถไฟฟ้า ไม่แคร์สายตาใคร ฯลฯ แต่เนื่องจากคำนี้เพิ่งเกิดมาไม่นานนักและคำนิยามยังไม่ปักหลักมั่นคง เราจึงนำเสนอ ‘มนุษย์ป้า’ ในอีกมุมหนึ่ง

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาภาพการต่อต้านการรัฐประหารที่เราเห็นมักมี ‘มนุษย์ป้า’ หรือหญิงสูงวัยเป็นส่วนประกอบอยู่ไม่น้อย และที่ผ่านมามีผู้หญิงอย่างน้อย 6 รายถูกจับกุมจากการออกมาทำสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว ชูป้าย ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ในจำนวนนี้มี 4 รายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจนกระทั่งถึง 70 กว่าปี

ป้าสองคนแรก คือ ป้าที่เป็นข่าวโด่งดังเห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ‘ป้าเล็ก’ อายุ 50 ปี ถือป้าย No Fascist   ‘ป้ายุ’ อายุ 71 ปี ถือป้าย Prayudh get out อีกคนหนึ่งคือ ป้าวารี อายุ 71 ปี ไม่ได้ถือข้อความใดๆ นอกจากคำว่า people บนหน้ากากที่ประดิษฐ์และตกแต่งขึ้นเอง สุดท้ายคือ ป้านิด อายุ 50 กว่าปีถูกจับเพราะชูสามนิ้วกับคนอื่นๆ ที่หน้า Terminal 21

ทั้งหมดมีจุดร่วมที่สำคัญคือ ไม่มีภาระทางบ้าน หลายคนเป็นหญิงโสดที่มีหน้าที่เพียงดูแลหลาน และส่วนใหญ่มักจัดสรรหาเวลาว่างได้ในตอนกลางวัน ‘อิน’ กับการเมือง ‘รู้สึก’ กับความไม่เป็นธรรมอย่างมาก และไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม...
 

บรรดาป้าเหล่านี้ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากนั้นจะถูกพาตัวไปบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจ ก่อนถูกนำไปสอบสวนโดยทหาร ณ ค่ายทหารที่พวกเธอก็ไม่รู้แน่ชัด จากนั้นในช่วงดึกจึงถูกนำตัวมาขังยังกองปราบ นอนห้องขังกัน 2-3 คืน แต่ป้าเล็กดูเหมือนจะนอนนานกว่าใครถึง 5 วัน อาจเพราะคำให้การของเธอที่ตรงไปตรงมาและดูเป็นระบบ 

“เขาถามว่าใครจ้างเรามา เราก็อธิบายกับเขาไปว่าเราคิดยังไง เราไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเพราะอะไร เรายืนยัน ใครก็มาบังคับให้เปลี่ยนความคิดไม่ได้ คุณล้มกติกาทั้งหมด เอาปืนมาขู่แล้วบอกว่าจะปรองดอง คนที่เห็นต่างจากคุณไม่ใช่คนไทยหรือ จะให้เราไปยืนตรงไหนในสังคม ที่ผ่านมาเราก็เจ็บปวดจากความไม่ยุติธรรมมามากแล้ว....” ป้ากล่าวผ่านลูกกรง

ระหว่างที่เธอถูกคุมขัง ภายนอกลูกกรงเต็มไปด้วย ‘แก๊งป้า’ ที่จับแท็กซี่ตุปัดตุเป๋เดินทางมาเยี่ยมเพื่อนฝูง บางคนน่าจะล้ำเส้นรุ่นป้ามาถึงรุ่นยายแล้ว

แก๊งค์ป้าเล่าฟังถึงประวัติป้าเล็กว่า เขาเรียนเกือบจบรามคำแหง แต่เนื่องจากแม่ป่วยหนักจึงต้องออกมาดูแล จากนั้นก็เป็นหลักของบ้านคอยดูแลพ่อแม่และหลานๆ เรื่อยมา จนกระทั่งพ่อแม่เสียและหลานๆ โตเป็นหนุ่มเป็นสาว

“เราเห็นสัจธรรมของชีวิต เพราะเราอยู่ดูแลคนรุ่นหนึ่งที่กำลังจะจากไปกับอีกรุ่นหนึ่งที่กำลังงอกงามเติบโต” ป้าเล็กยิ้มภูมิใจกับหน้าที่ของเธอ

แก๊งค์ป้ายังเล่าว่า ป้าเล็กเป็นรุ่นเล็กสุดในแก๊งป้า ผู้คอยดูแลผู้สูงวัยคนอื่นๆ เพราะคล่องตัวและมีความรู้ ไม่ว่าใครต้องการอะไร อยากจะเบิกเงินคนแก่ เปิดบัญชีธนาคาร ทำธุรกรรมหรือกิจธุระใด ป้าเล็กเป็นผู้อาสาดูแลให้ทั้งหมด จึงไม่น่าแปลกที่บรรดาแก๊งป้าจะมาเยี่ยมกันมากมาย หลายคนร้องห่มร้องไห้เป็นห่วงเพื่อนที่นั่งจับเจ่าอยู่หลังลูกกรง

นอกจากนี้เรายังได้รู้อีกว่า ป้าเล็กและป้ายุนั้นเป็น ‘คู่หู’ แนวหน้าของแก๊งค์ เนื่องจากป้าคนอื่นๆ นั้นมีเงื่อนไขข้อจำกัดทั้งด้านสุขภาพ ด้านครอบครัว ดังนั้น คู่หูที่คล่องตัวและลุยแบบถึงไหนถึงกันนี้จึงเป็นผู้ปฏิบัติการและนำเรื่องราวมาถ่ายทอดต่อให้บรรดาเดอะแก๊งที่คอยฟังอยู่ทางบ้าน

“สองคนนี้เขาลุยมาก ตอนพฤษภา 53 เขาก็อยู่ในวัดปทุมจนคืนสุดท้าย ที่เขายิงกันเลย” ป้าคนหนึ่งเล่าด้วยว่า เวลาที่มีการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ป้าเล็กมักจะหาลำไพ่พิเศษตอนกลางคืนด้วยการรับจ้างรีดผ้า เพื่อหาค่ารถไปร่วมชุมนุม

เมื่อถามป้าเล็กถึงความสนใจทางการเมือง เธอเล่าว่าเธอสนใจอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก หากแต่มาสนใจจริงจังหลังรัฐประหาร 49 เพราะเธอชื่นชอบนโยบายหลายอย่างของพรรคไทยรักไทย แม้เธอไม่ได้ใช้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านั้นเองแต่ได้เห็นว่าคนที่ลำบากนั้นสามารถพึ่งพิงได้

ท้ายที่สุด ป้ายุได้ปล่อยตัวก่อน และข่าวที่แก๊งป้าอัพเดทก็คือ ลูกหลานโกรธป้ายุและกลัวผลกระทบมาก ป้ายุจึงถูกส่งต่อไปปฏิบัติธรรมที่วัดทันทีที่ออกจากลูกกรง

ขณะที่ป้านิดเข้ามาทีหลัง ป้านิดผู้มีเชื้อสายจีนมีบุคลิกกระตือรือร้นตลอดเวลาและพูดเก่งมาก เธออธิบายความอัดอั้นตันใจมากมาย สิ่งที่สร้างความหวาดหวั่นที่สุด มิใช่การถูกควบคุมตัวแต่คือการที่ออกไปแล้วจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อีก

“ไม่รู้จะอยู่บ้านได้ไหม พูดจริงๆ เลย เราอึดอัดมาก มันร้อนรน อยู่ไม่ไหวแน่....ทำไมต้องทำขนาดนี้ เราก็แค่ออกมาแสดงออกถึงความรู้สึก ความคิดเรา ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ทำอะไรรุนแรง ไม่รู้ว่าถ้าได้ออกไปแล้วจะอยู่ได้ยังไงนะคุณ เขาบอกถ้าเห็นอีกโดนหนักแน่” ป้านิดว่า

จนถึงวันนี้มนุษย์ป้าทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่โทรศัพท์ยังคงไม่ได้คืน และต้องลงชื่อรับรองว่าจะไม่ร่วมชุมนุมทางการเมืองใดๆ อีก หลายคนที่ถูกควบคุมตัวก่อนหน้าเหล่ามนุษย์ป้าต่างก็ประสบกับชะตากรรมเดียวกัน คือ หากเขาไม่ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีต่อ เขาก็จะได้รับการปล่อยตัว หลังจากขังที่กองปราบมาแล้ว 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วันแล้วแต่กรณี โดยต้องลงนามยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว และจะมีทหารคอยโทรศัพท์ติดตามหลังจากออกไปแล้วด้วย

ที่น่าสนใจคือ บรรดามนุษย์ป้าเล่าให้ฟังว่า พวกเธอได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านอย่างตรงไปตรงมาแม้ในระหว่างการสอบสวนของทหาร มีป้าคนหนึ่งเล่าว่า ทหารคนแรกที่สอบสวนเธอโกรธเธอจนต้องลุกออกไป และมีทหารอีกคนเข้ามาเกลี้ยกล่อม จนกระทั่งเธอเห็นว่าการต่อต้านไม่ช่วยอะไรและน่าจะส่งผลต่อระยะเวลาที่เธอจะถูกขัง สุดท้ายเธอยอมรับเหตุผลที่นายทหารพยายามอธิบายถึงความจำเป็นในการทำรัฐประหารว่าเป็นไปเพื่อหยุดการเสียเลือดเนื้อของประชาชนสองฝ่าย

“ใช่ ฉันเห็นด้วยกับการรัฐประหาร” ป้าคนนั้นยอมกล่าวคำนี้ เจ้าหน้าที่ให้เธอกล่าวอีกครั้ง พร้อมบันทึกวิดีโอ “ ใช่ ฉันเห็นด้วยกับการรัฐประหาร”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net