เปิดรายงานสถานการณ์ประหารชีวิตปี 56 ไทยติด 1 ใน 58 ประเทศที่ยังใช้โทษประหาร

           
27 มี.ค. 2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2556 พบว่าการประหารชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศ จีน อิหร่าน อิรัก ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐฯ  ส่วนไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 58 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิต ในขณะที่แนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต

ในรายงาน “สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ในปี 2556” (Death Sentences and Executions in 2013) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่ในวันนี้ ยืนยันว่าแนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยในปี 2556 มีเพียง 22 ประเทศหรือหนึ่งใน 10 ของประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่ยังทำการประหารชีวิต

มีประชาชนอย่างน้อย 778 คนทั่วโลกถูกประหารชีวิต ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่รวมจำนวนผู้ถูกประหารชีวิตในประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลถือว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับของชาติ เกือบ 80% ของการประหารชีวิตทั่วโลกเกิดขึ้นในสามประเทศ คือ อิหร่าน อิรัก และซาอุดิอาระเบีย

ปัจจุบันมี 140 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของ ประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (หมายถึงการที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตเป็นระยะเวลา 10 ปี)  ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

อินโดนีเซียและเวียดนามได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตอีกครั้ง หลังจากพักการประหารชีวิตมาเป็นเวลานาน การประหารชีวิตในเวียดนามเริ่มขึ้นอีกครั้งในรอบ 18 เดือน หลังจากที่ปี 2555 รัฐบาลเวียดนามไม่สามารถประหารชีวิตนักโทษได้เนื่องจากทางประชาคมยุโรปมีคำสั่งห้ามส่งออกยาที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการฉีดให้เสียชีวิต ดังนั้นในปีที่ผ่านเวียดนามจึงกลับมาใช้การประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าแทน

อย่างไรก็ตามในภูมิภาคนี้ ยังมีพัฒนาการเชิงบวกอยู่ เพราะเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ไม่มีรายการการประหารชีวิตในสิงคโปร์ และยังมีการเปลี่ยนแปลงจากโทษประหารชีวิตของนักโทษหกคนเป็นโทษจำคุกแทน ภายหลังที่มีการทบทวนกฎหมายบังคับใช้โทษประหารชีวิตของประเทศเมื่อปี 2555         

เดือนธันวาคม ปี 2557 จะมีการลงมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อพักใช้โทษประหารชีวิตขึ้นอีกครั้ง เราคาดหวังว่าประเทศไทยจะลงมติ “เห็นชอบ” รับมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ประเทศไทยได้ “งดออกเสียง” ในปี 2553 และ 2555 ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกครั้งหนึ่งเมื่อเทียบกับการลงมติ “คัดค้าน” เมื่อปี 2550 และ 2551

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตน์จำนงที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชน ประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ รวมทั้งให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (OP-ICCPR)” ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าว
 

วิธีการที่ใช้ในการก่ออาชญากรรม
วิธีการที่ใช้ในการประหารชีวิตในปี 2556 ประกอบด้วยการตัดศีรษะ ช็อตด้วยไฟฟ้า การยิงเป้า แขวนคอ และการฉีดยาพิษ และมีการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะในอิหร่าน เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาระเบีย และโซมาเลีย 
ผู้ต้องโทษประหารมีสาเหตุมาจากการกระทำความผิดที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ได้แก่ การลักทรัพย์ ความผิดด้านยาเสพติดและเศรษฐกิจ รวมทั้งการกระทำใดๆ ที่ควรถือเป็นอาชญากรรมเลยด้วยซ้ำ เช่น “การมีชู้” หรือ “การหมิ่นศาสนา” หลายประเทศใช้คำว่า “อาชญากรรม” ทางการเมืองที่กำกวมเพื่อลงโทษประหารฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

รายละเอียดตามภูมิภาค
ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ 

อิรักมีจำนวนการประหารชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมากติดต่อกันเป็นปีที่สาม โดยมีการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อย 169 คน เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งในสามของปีก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาถูกลงโทษตามกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่มีถ้อยคำกำกวม

ในอิหร่าน ทางการยอมรับว่ามีการประหารชีวิตอย่างน้อย 369 ครั้งในปี 2556 แต่แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ระบุว่ามีการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นอีกหลายร้อยครั้งแต่ถูกปิดเป็นความลับ ทำให้จำนวนรวมของการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 700 ครั้ง

ซาอุดิอาระเบียยังคงประหารชีวิตบุคคลในอัตราที่ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกับสองปีก่อนหน้านี้ (อย่างน้อย 79 ครั้งในปี 2556) และเป็นครั้งแรกในรอบสามปีที่ซาอุดิอาระเบียประหารชีวิตเยาวชน ซึ่งขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ
อิหร่าน อิรัก และซาอุดิอาระเบียทำการประหารชีวิตคิดเป็นอย่างน้อย 80% ของการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่นับรวมในประเทศจีน

มีการพัฒนาในเชิงบวกอยู่บ้างในภูมิภาคนี้ กล่าวคือเป็นครั้งแรกในรอบสามปีที่ไม่มีการประหารชีวิตบุคคลเลยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจำนวนการประหารชีวิตในเยเมนก็ลดลงเป็นปีที่สองติดต่อกัน

แอฟริกา
ในทวีปแอฟริกาส่วนที่ต่ำกว่าทะเลทรายสะฮาราลงมา มีเพียงห้าประเทศที่ยังประหารชีวิตบุคคล ได้แก่ บอตสวานา ไนจีเรีย โซมาเลีย ซูดานใต้ และซูดาน ในขณะที่ไนจีเรีย โซมาเลีย และซูดานรวมกันมีการประหารชีวิตคิดเป็นกว่า 90% ของภูมิภาค รายงานการประหารชีวิตในโซมาเลียเพิ่มขึ้นจาก 6 ครั้งในปี 2555 เป็นอย่างน้อย 34 ครั้งในปีทีแล้ว

ในไนจีเรีย ชายสี่คนถูกแขวนคอในการรื้อฟื้นการประหารชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบเจ็ดปี ภายหลังจากประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธาน (Goodluck Jonathan) แถลง เปิดสัญญาณไฟเขียวให้กับการรื้อฟื้นการประหารชีวิตในประเทศ

หลายประเทศทั่วภูมิภาครวมทั้งเบนิน, กานา, ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอนดำเนินการอย่างเข้มแข็งไปในแนวทางยกเลิกโทษประหาร ทั้งโดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและการเสนอร่างประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิกโทษประหาร

ทวีปอเมริกา
สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีการประหารชีวิตบุคคล โดยในปี 2556 มีการประหารชีวิตบุคคล 39 ครั้งน้อยกว่าปี 2555 สี่ครั้ง เฉพาะเทกซัสรัฐเดียวมีการประหารชีวิตคิดเป็น 41% ของการประหารชีวิตทั้งหมด ในเวลาเดียวกัน แมรีเลนด์กลายเป็นรัฐที่ยกเลิกโทษประหารรัฐลำดับที่ 18 หลายประเทศในอนุภูมิภาคแคริบเบียนไม่มีรายงานจำนวนนักโทษในแดนประหารเลย เป็นครั้งแรกนับแต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเริ่มบันทึกข้อมูลในปี 2523  

เอเชีย
เวียดนามและอินโดนีเซียได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตเมื่อปีที่แล้ว โดยอินโดนีเซียประหารชีวิตบุคคลเป็นครั้งแรกในรอบสี่ปี เป็นการประหารชายห้าคนในปี 2556 โดยสองคนต้องโทษคดียาเสพติด

จีนยังคงประหารชีวิตบุคคลเป็นจำนวนมากกว่าการประหารชีวิตทั่วโลกรวมกันต่อไป แต่เนื่องจากทางการจีนถือว่าข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โทษประหารเป็นความลับของรัฐ ทำให้เราไม่สามารถหาข้อมูลได้ แต่จีนก็มีความก้าวหน้าอยู่บ้าง เนื่องจากมีการประกาศใช้มาตรการใหม่เพื่อคุ้มครองด้านกฎหมายในคดีที่มีโทษประหารชีวิต และศาลสูงสุดประกาศแผนยุติการนำอวัยวะของนักโทษประหารชีวิตไปใช้ประโยชน์

ไม่มีรายงานการประหารชีวิตในสิงคโปร์ และนักโทษประหารหลายรายได้รับการเปลี่ยนโทษ อนุภูมิภาคแปซิฟิกยังคงเป็นเขตปลอดโทษประหารต่อไป แม้จะมีความเสี่ยงว่าปาปัวนิวกินีจะเริ่มรื้อฟื้นการประหารชีวิตขึ้นมาใหม่

ยุโรปและเอเชียกลาง
เป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2552 ที่ยุโรปและเอเชียกลางเป็นภูมิภาคปลอดการประหารชีวิต ประเทศเดียวที่ยังมีแนวโน้มใช้โทษประหารชีวิตได้แก่ เบลารุส แม้ไม่มีการประหารชีวิตใครเลยในปี 2556

 

 

5 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับโทษประหารชีวิต
รายงานโดย แอมเนสตี้ฯ

แม้หลายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนพยายามรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต ด้วยเหตุผลที่ว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม แต่ยังมีอีกหลายคำถามเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต วันนี้จึงขอนำเสนอ 5 ความเชื่อและความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตที่คุณอาจยังไม่รู้ เพื่อเป็นการเปิดอีกหนึ่งมุมมองในประเด็นนี้

 

ความเชื่อ – โทษประหารชีวิตสามารถป้องกันอาชญากรรมและทำให้สังคมมีความปลอดภัยขึ้น

ความจริง – ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าโทษประหารชีวิตจะสามารถป้องกันอาชญากรรมได้

อย่างเช่นที่ประเทศแคนาดา ปัจจุบันหลังจากที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตมากว่า 30 ปี สถิติการก่ออาชญากรรมลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2519 ที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่

และจากการศึกษาในระยะเวลา 35 ปี เพื่อเปรียบเทียบสถิติการฆาตกรรมระหว่างฮ่องกงซึ่งไม่มีโทษประหารชีวิตกับสิงคโปร์ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน แต่ยังมีโทษประหารชีวิต พบว่าโทษประหารชีวิตนั้นมีผลกระทบที่น้อยมากต่อสถิติการก่ออาชญากรรม

 

ความเชื่อ – การประหารชีวิตเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย

ความจริง – การประหารชีวิตไม่สามารถป้องกันไม่ให้คนใดคนหนึ่งวางแผนเพื่อที่จะฆ่าหรือทำร้ายคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรืออุดมการณ์ได้

เจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการต่อต้านการก่อการร้ายได้เปิดเผยหลายครั้งว่าผู้ก่อการร้ายที่ถูกประหารชีวิตนั้นเปรียบได้กับการพลีชีพเพื่อศาสนาหรืออุดมการณ์

และกลุ่มต่อต้านติดอาวุธได้ออกมาเปิดเผยด้วยว่าโทษประหารชีวิตนั้น เป็นเหมือนข้ออ้างที่จะใช้ในการแก้แค้นและมันก็จะนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงไม่จบไม่สิ้น

 

ความเชื่อ – โทษประหารชีวิตนั้นเป็นสิ่งดีตราบใดที่ยังมีคนส่วนใหญ่สนับสนุนอยู่

ความจริง – ในอดีตนั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายจากการสนับสนุนของคนหมู่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปการกระทำเหล่านั้นกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าหวาดกลัว

การตกเป็นทาส การแบ่งแยกเชื้อชาติ และการลงประชาทัณฑ์ ได้รับการสนับสนุนจากคนหมู่มากทั้งนั้นซึ่งมันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด
และรัฐบาลก็ควรมีหน้าที่ที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนทุกคน ถึงแม้ว่าบางครั้งมันจะขัดกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ก็ตาม

นอกจากนี้ ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่นั้นจะเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมืองและการให้ข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต

 

ความเชื่อ – คนที่ถูกประหารชีวิตทุกคนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าผิดจริงในการก่อคดีอาชญากรรม

ความจริง – มีนักโทษเป็นร้อยจากทั่วโลกที่ถูกประหารชีวิตจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการเค้นเอาคำสารภาพจากนักโทษโดยการทรมานและการปฏิเสธให้นักโทษได้ใช้ทนายความ

ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดนั้นเป็นประเทศที่มีความจริงจังอย่างมากด้านกระบวนการยุติธรรม อย่างเช่น จีน อิหร่าน อิรัก

และจากการที่อเมริกาละเว้นโทษประหารชีวิตให้กับนักโทษ 144 คนในปี 2516 แสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะมีมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายมากมายแค่ไหน กระบวนการยุติธรรมก็มีการผิดพลาดได้อยู่ดี และตราบเท่าที่คนเรามีการผิดพลาดกันได้ ความเสี่ยงในการที่จะประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

 

ความเชื่อ – ญาติของผู้ถูกฆาตกรรมต้องการการลงโทษที่สาสม

ความจริง – การเคลื่อนไหวคัดค้านโทษประหารชีวิตทั่วโลกมีผู้เข้าร่วมหลายคนที่สูญเสียคนที่ตนเองรัก หรือแม้กระทั่งเป็นเหยื่อของความรุนแรงและอาชญากรรมเอง แต่เพราะเหตุผลทางจริยธรรมและความเชื่อทางศาสนาจึงไม่อยากให้มีโทษประหารชีวิตในนามของพวกเขา และในสหรัฐอเมริกา องค์กร “Murder Victims’ Families for Human Rights” ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อญาติของเหยื่อที่ถูกฆาตกรรม ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มเลิกโทษประหารชีวิต อย่างเช่น ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท