‘แทบลอยด์’ สัมภาษณ์ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: ลุ้นศาลโลกไม่ตีความ

คำสั่งศาลโลกเมื่อ 18 ก.ค. ในทางกฎหมายใช้คำว่าข้อสันนิษฐานเบื้องต้น หรือ prima facie หมายความว่าสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ก่อนว่า น่าจะเข้าไปตีความคำพิพากษาได้ แต่สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ตีความเลยก็ได้ แต่การที่ศาลไม่จำหน่ายคดีออกไป แปลว่าผู้พิพากษาเห็นว่ามันมีมูลเบื้องต้น ส่วนจะตีความเรื่องอะไรนี่สำคัญ เพราะถ้าตีความเรื่องแผนที่ภาคผนวก 1 ว่ามีความผูกพันทางกฎหมายหรือเปล่า ไทยอาจจะชนะในประเด็นนี้ และมีผู้พิพากษาชื่อ Joan Donoghue พูดไว้ชัดเจนเลยว่า การจะกลับมาตีความเรื่องอะไรนั้น ใช้หลัก Long but Narrow ก็คือตีความย้อนกลับไปได้นาน แต่ต้องตีความอย่างแคบๆ ฉะนั้นคุณจะมาตีความสะเปะสะปะตะแบงไปในทางที่กัมพูชาต้องการมันทำไม่ได้ 0 0 0 ผ่านไปครบสัปดาห์หลังจากศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้พื้นที่พิพาทรอบปราสาทพระวิหารเป็นเขตปลอดทหาร จนถึงวันนี้ทั้งไทยและกัมพูชาก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ชัดเจน และมีอีกไม่น้อยที่ยังตะแบงว่าไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม หนำซ้ำอาจตีความกฎหมายถึงขนาดส่ง ตชด.เข้าไปแทนทหาร มีข้อเท็จหลายอย่างที่คนไทยควรรู้ก่อนลุ้นว่า ปีหน้าศาลโลกจะรับตีความในคดีหลักที่กัมพูชายื่นหรือไม่ โดยเฉพาะความเป็นห่วงว่าไทยจะเสียเปรียบ แต่ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังบอกว่า 50:50 ตีความแค่รอบประสาท ให้เคลียร์เลยว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่มีพันธกรณีทางกฎหมายอย่างที่กลุ่มชาตินิยมอ้างหรือเปล่า “ถามว่ามีพันธกรณีทางกฎหมายหรือไม่มันต้องถามว่าเราไปตกลงอะไรกับเขาไว้หรือเปล่า คำตอบคือเราตกลงไว้ เราตกลงที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และในข้อกำหนดขององค์การสหประชาชาติบอกว่าเรารับที่จะเป็นภาคีของธรรมนูญศาลศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าเป็นภาคีแล้วมันก็จะมีเงื่อนไขของมันว่าทำอย่างไรที่จะต้องมีพันธกรณี ที่บอกว่าเราไม่เคยรับอำนาจศาลมาตั้ง 50 กว่าปีแล้ว นั่นจริงอยู่ แต่หมายความว่าไม่สามารถไปขึ้นคดีใหม่ที่ศาลได้ แต่คดีนี้เป็นการตีความคดีเก่า ซึ่งข้อกฎหมายเปิดช่องว่าหากคุณเคยรับอำนาจศาลในคดีเก่าไปแล้ว เวลาจะผ่านมาเท่าไหร่กฎหมายไม่ได้พูดไว้ คุณสามารถกลับมาตีความใหม่ได้ ต้องเข้าใจตรงนี้ว่าการที่จะบอกว่าศาลสามารถมีเขตอำนาจเข้ามาตีความได้ ไม่ได้แปลว่าศาลจะต้องตีความเสมอไป ศาลอาจจะไม่รับตีความก็ได้ เหมือนกับเวลาเราฟังข่าวว่าศาลพิจารณาคำร้องแล้วไม่รับคำร้อง คำร้องฟังไม่ขึ้นหลักฐานพยานไม่พอ ก็เหมือนกันครับคดีศาลโลกก็หลักการคล้ายๆ กัน สมมติว่าพิจารณาไปแล้วศาลเอาคดีเข้ามาดูในเขตอำนาจของตัวเอง แต่ปรากฏว่าดูไปดูมาไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดี ศาลก็อาจจะบอกว่าไม่วินิจฉัยคดี ซึ่งผมคิดว่าเป็นไปได้พอสมควร เพราะว่าสิ่งที่กัมพูชาขอมันมีทั้งสิ่งที่อาจจะต้องตีความและสิ่งที่ตีความไม่ได้” เหตุผลหลักที่ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพราะไม่ต้องการให้เกิดการสู้รบ “ใช่ครับ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมีขึ้นในระหว่างที่คดีหลักยังไม่เสร็จ มันอาจจะทำให้สิ่งที่เขาทะเลาะกันอยู่ในคดีหลักเสียหายไปได้ ซึ่งคำว่าสิ่งที่ทะเลาะกันอยู่ในทางกฎหมายก็คือสิทธิของกัมพูชาในการที่จะรักษาทรัพย์สิน ผู้คนของเขาในพื้นที่ที่เขาถือว่าเป็นของเขา แต่เราก็บอกว่าพื้นที่ตรงนั้นจะบอกว่าเป็นของเขาไม่ได้ พื้นที่นั้นคือ 4.6 ตร.กม. ถ้าก็พิจารณาว่าขืนปล่อยให้คุณยังดำเนินการสู้รบต่อไปโดยไม่มีคนเข้ามาห้ามปราม ก็จะเกิดความเสียหายต่อสิ่งที่กัมพูชาเขาอ้าง ตลาด วัด หมู่บ้านก็อาจจะถูกกระสุน ถูกระเบิด ประชาชนก็อาจจะเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในทางกฎหมายถ้าเกิดขึ้นแล้วมันยากที่จะเยียวยา ฉะนั้นศาลก็เลยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ได้หมายความศาลจะต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่กัมพูชาบอกในคดีหลัก ฉะนั้นเมื่อคดีเดินไปจนถึงปีหน้าศาลอาจจะรับตีความบางข้อไม่ตีความบางข้อก็ได้” แต่ก็เคยมีกรณีตัวอย่างที่ศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไปแล้วกลับไม่พิจารณาตีความในคดีหลัก “เป็นคดี Avena เป็นคดีระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก ซึ่งทะเลาะกันว่าสหรัฐมีสิทธิที่จะประหารคนเม็กซิโกไหม บังเอิญมีข้อกฎหมายบางประเทศว่าถ้าจะประหารชาวต่างชาติจะต้องแจ้งกงสุลของชาตินั้นให้เขาเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือในการสู้คดี แต่บังเอิญศาลเทกซัสของสหรัฐไม่ได้แจ้งกงสุลเม็กซิโก อยู่ดีๆ ก็ไปจับเขามาเอามาดำเนินคดี และจะประหารตามกฎหมายของเขา เม็กซิโกบอกคุณทำอย่างนี้ไม่ได้เป็นการข้ามขั้นตอนทางกฎหมาย เม็กซิโกก็เลยเอาคดีไปฟ้องศาลโลก แต่ระหว่างศาลยังตัดสินไม่เสร็จว่าสหรัฐผิดหรือไม่ผิด แต่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนเพราะถ้าขืนปล่อยให้ประหารชีวิตไปแล้วมันก็ไม่มีอะไรมาให้ว่ากันต่อแล้ว ศาลก็สั่งคุ้มครองชั่วคราวไป สหรัฐก็พยายามทำตาม ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ออกคำสั่งในฝ่ายบริหารออกมาไปยังอัยการสูงสุด รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมบอกว่าจะต้องหยุดการประหารชีวิตไว้ก่อน เพราะเรามีหน้าที่ต้องทำตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ฉะนั้นนี่เราเห็นแล้วว่าที่มีบางคนบอกว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวประเทศอื่นเขาไม่ปฏิบัติตาม มันไม่จริง” “สหรัฐก็พยายามจะปฏิบัติตาม แต่บังเอิญประธานาธิบดีบุชสั่งลงไป แต่ศาลเทกซัสไม่ทำตาม เพราะว่าในประเทศของเขารัฐธรรมนูญเขาแบ่งแยกอำนาจฝ่ายตุลาการกับฝ่ายบริหารออกอย่างชัดเจน ตุลาการก็บอกว่าคนที่จะสั่งฉันได้คือสภา สภาต้องออกกฎหมายมา แต่สภาคองเกรสออกกฎหมายมาไม่ทันว่าจะรับรองคำสั่งของศาล พอไม่มีกฎหมายก็เลยไปสู้ถึงศาลฎีกาสหรัฐ ศาลฎีกาบอกว่าถึงแม้คำสั่งศาลจะมีผลทางกฎหมายต่อฝ่ายรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหาร แต่มันไม่สามารถผูกพันศาลได้ ถ้าปราศจากข้อกฎหมายของสภาคองเกรส สุดท้ายก็เลยต้องประหารชีวิตไป แต่ท้ายที่สุดถึงประหารชีวิตไปแล้วศาลก็ยังดำเนินคดีต่อไป และก็วินิจฉัยว่ามันไม่มีเรื่องที่ต้องมาตีความ เพราะฉะนั้นก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าถึงแม้ศาลคุ้มครองไปก่อนก็ไม่ได้แปลว่าสุดท้ายจะต้องตีความ” กรณีปราสาทพระวิหารมีแนวโน้มที่ศาลจะรับตีความตามคำร้องของกัมพูชาหรือไม่นั้น วีรพัฒน์ ให้ดูความเห็นส่วนตนของผู้พิพากษา “มันก็มีแนวโน้มที่เราสังเกตได้จากความเห็นส่วนตนของผู้พิพากษาในการออกคำสั่ง เพราะเวลาศาลโลกออกคำสั่งศาลท่านจะให้คำสั่งมา 1 ฉบับ แต่ผู้พิพากษาแต่ละท่านถ้าอยากจะเขียนความเห็นอธิบายออกมาท่านก็จะเขียนแยกออกมา ซึ่งวันนี้เราเห็นแล้วว่าแต่ละท่านเริ่มแบไต๋ออกมาแล้ว บางท่านตีความในลักษณะที่ว่า ถ้าคดีเดินต่อไปก็อาจจะต้องรับคดีมาพิจารณา เพราะท่านมองว่ามันมีเหตุให้ตีความ แต่ว่าเหตุที่จะต้องตีความในที่นี้หมายความว่าอะไร ก็คือหนึ่งมันมีข้อพิพาทความเห็นทางกฎหมายที่ต่างกัน ฝ่ายหนึ่งบอกอย่างหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งบอกอีกอย่าง เรื่องนี้มันชัดว่ากัมพูชากับไทยก็อ้างกันว่าพื้นที่รอบปราสาทเป็นของใคร” “แต่พอมาถึงขั้นที่สองบอกว่าถึงแม้คุณจะเห็นไม่ตรงกันแต่สิ่งที่คุณเห็นไม่ตรงกันต้องเป็นสิ่งที่อยู่ในขอบเขตของคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ยกตัวอย่างนะครับ คำพิพากษาปี 2505 พูดว่าปราสาทเป็นของใคร แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่าเส้นเขตแดนหรือเส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่ 1:200000 โดยมันเองถือว่าเป็นกฎหมายผูกพันอะไรยังไง ศาลไม่ได้วินิจฉัยตรงนั้น กัมพูชาพยายามจะบอกว่าการที่ศาลบอกว่าปราสาทเป็นของเขามันก็มีอยู่เหตุผลเดียวที่เป็นไปได้คือเส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1 มันมีผลทางกฎหมาย แต่ไทยกำลังจะบอกว่าศาลไม่ได้พูดอย่างนั้น ฉะนั้นตรงนี้มันก็มีความเห็นไม่ตรงกันแล้ว ถามว่าไม่ตรงกันแล้วศาลจะไปตีความได้ไหม ศาลต้องดูก่อนว่าเรื่องแผนที่ 1:200000 หรือแผนที่ภาคผนวก 1 มันตกอยู่ในขอบเขตของคำพิพากษาเดิมหรือเปล่า” “ซึ่งในความเห็นส่วนตัวผมถ้าเรากลับไปอ่านคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ศาลเขียนไว้ชัดเจนว่าศาลนำเรื่องแผนที่และเส้นตามแผนที่มาพิจารณาในฐานะข้อเท็จจริงประกอบเท่านั้น ข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยคือเรื่องว่าปราสาทเป็นของใครตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904 ผมย้ำนะครับว่าคนส่วนใหญ่นึกว่าแผนที่ผูกพันเรา ความจริงไม่ใช่ สิ่งที่ผูกพันไทยทุกวันนี้ก็คืออนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส 1904 ที่เราไปทำเอาไว้ แต่บังเอิญวิธีการตีความของศาล ศาลดันเอาแผนที่มาตีความประกอบ แต่ถามว่าตัวที่ผูกพันคืออะไร ก็คืออนุสัญญา เพราะอนุสัญญาคือกฎหมายระหว่างประเทศ แผนที่ไม่ใช่กฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นถ้าเดินคดีต่อไปศาลก็อาจจะรับพิจารณาว่าที่กัมพูชาขอให้ตีความว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เส้นตามเขตแดนมีความผูกพันทางกฎหมายหรือไม่ ศาลไม่รับตีความ ผมคิดว่าศาลไม่รับตีความ” “แต่มันจะมีบางประเด็นที่ศาลรับตีความ คือประเด็นที่ว่าถึงแม้แผนที่ภาคผนวก 1 ศาลจะไม่บอกว่ามันมีอะไร แต่มันอยู่ในอำนาจขอบเขต แต่คำว่าบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาท มันกว้างแคบแค่ไหน กัมพูชาไม่ได้ถามศาลว่ากว้างแคบแค่ไหน แค่บอกว่าไทยมีหน้าที่ต้องถอนทหารออกไป ที่เราอ้างว่าเป็นดินแดนของเรา และเราไม่ถอนทหารออกไปมันก็เหมือนกับไปกินบริเวณรอบตัวปราสาทเขา ฉะนั้นท้ายที่สุดศาลก็ต้องเอาเข้ามาวินิจฉัยว่าบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทเป็นแค่ไหน ซึ่งประเด็นนี้ผมวิเคราะห์ว่าถ้าเราไปดูความเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษาแต่ละท่านเวลาออกสั่งชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 ก.ค. เราจะเห็นเลยว่าผู้พิพากษาทุกคนให้ความสำคัญกับประเด็นตรงนี้มากว่าบริเวณรอบปราสาทมากน้อยแค่ไหน” นี่เป็นความเห็นของส่วนผู้พิพากษาในฝ่าย 11 เสียง หรือ 5 เสียง “ทั้งใน 11 และ 5 เลยครับ แม้แต่ผู้พิพากษาที่ชื่อ Jean-Pierre Cot ซึ่งเป็นผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสที่ไทยแต่งตั้งเข้าไปเป็นผู้พิพากษาเฉพาะกิจ หมายความประเทศที่ไม่ได้มีผู้พิพากษาที่เป็นคนชาติตน คือไทยไม่มีผู้พิพากษาไทยอยู่บนบัลลังก์ กัมพูชาไม่มีผู้พิพากษาชาวกัมพูชาอยู่บนบัลลังก์ ก็แต่งตั้งผู้พิพากษาเฉพาะกิจเข้าไปได้ โดยสถิติผู้พิพากษาเฉพาะกิจจะวินิจฉัยคดีไปในแนวทางที่ต้องตรงกับประเทศที่แต่งตั้งเข้าไป เพราะเวลารัฐบาลเขาแต่งตั้งใครเขาไม่ได้ไปบอกว่าคุณต้องตัดสินให้เราชนะ แต่เขาจะเลือกว่าผลงานทางวิชาการหรือแนวคิดสอดคล้องกับแนวต่อสู้ของใคร ผู้พิพากษา Cot ก็ตีความค่อนข้างจะสอดคล้องกับเมืองไทย แต่ท่านก็บอกชัดเจนว่าท่านเห็นว่ามันมีข้อพิพาทอยู่ว่าพื้นที่รอบๆ ตัวปราสาทเป็นของใคร” “ถ้าเราดูคะแนนเสียงโดยรวมที่ออกมา 16 เสียงวันนั้น มันมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะรับตีความในประเด็นว่าพื้นที่รอบตัวปราสาทมันกว้างแคบแค่ไหนที่ไทยต้องถอนทหารออกไป ทีนี้มันก็มีประเด็นอีกว่าแล้วถ้าเดินคดีต่อไปเราจะถูกตีความแล้วเสียเปรียบหรือเปล่า ซึ่งก็มีคนไปตีความว่าหวยออกมาเรียบร้อยแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะการตีความก็อย่างที่บอกแล้วว่ามันต้องตีความอย่างแคบในสิ่งที่คำพิพากษาเมื่อปี 2505 ได้บอกเอาไว้ เพราะฉะนั้นเราจะมาดูว่าพื้นที่รอบปราสาทเป็นของใคร ถ้าสมมติเราชัดเจนว่าแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่ได้มีผลทางกฎหมายอย่างชัดเจนในตัวของมันเองมันก็เป็นไปได้ที่จะตีความว่าตัวบริเวณรอบตัวปราสาทก็น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าส่วนประกอบของตัวปราสาทอย่างแท้จริง หมายความว่าเวลาเราไปวัด ไม่ได้มีแค่เจดีย์มีอุโบสถ มันมีลานวัดมีศาลาวัด ไปจนสุดกำแพงวัด แต่ปราสาทพระวิหารปัจจุบันไม่มีแนวกำแพงให้เราเห็นแล้ว แต่ถ้าไปฟังความเห็นของนักโบราณคดีก็อาจจะตีความว่าบริเวณตัวปราสาทก็คือบริเวณที่เป็นของตัวปราสาท จะมีกินความรวมถึงพื้นที่รอบๆ ไม่ได้ อันนี้คือเรื่องที่ต้องไปต่อสู้ในอนาคตแล้ว” “แต่ก็จะมีผู้พิพากษาบางท่านที่ตีความกว้างไปกว่านี้อีก ที่ท่านบอกว่ากฎหมายระหว่างประเทศเวลาตีความต้องตีความไปเพื่อปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของมวลมนุษยชาติ จะไปเน้นเรื่องเขตแดนจะไปเน้นเรื่องระหว่างรัฐบาลอาจจะไม่สำคัญเท่ากับความเป็นจริงในพื้นที่ว่าชาวบ้านเขาอยู่ด้วยกัน พอตีความอย่างนี้มันก็ทำให้เกิดความน่าสงสัยว่าผู้พิพากษาท่านนี้ซึ่งก็คือผู้พิพากษาชาวบราซิล ท่าน Antônio A. Cançado Trindade ท่านก็บอกไปในทางนั้น ถ้าเรามองว่ามันมีความเป็นได้ว่าท่านอาจจะเป็นห่วงประชาชนมากกว่าเป็นห่วงเขตแดน ก็อาจจะตีความลักษณะว่าขีดเส้นออกมาเลยให้ชัดเจนจะได้ไม่ต้องมีเรื่องมาทะเลาะกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังเร็วเกินไปที่เราจะบอกว่าผู้พิพากษาท่านไหนจะตัดสินมาอย่างไร เพราะต้องไม่ลืมว่าคำสั่งศาลโลกเมื่อ 18 ก.ค. ในทางกฎหมายใช้คำว่าข้อสันนิษฐานเบื้องต้น หรือ prima facie หมายความว่าสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ก่อนว่าน่าจะเข้าไปตีความคำพิพากษาได้ แต่สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ตีความเลยก็ได้ เหมือนกับเราสันนิษฐานว่าผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ นั่นคือข้อสันนิษฐานว่าเรื่องที่ไทย-กัมพูชา ทะเลาะกันอยู่ ศาลมีอำนาจจะเข้าไปตีความในเบื้องต้น แต่หากคดีเดินต่อไปจนถึงปีหน้าแล้วศาลอาจจะไม่รับตีความก็ได้” หากศาลโลกไม่รับตีความคดีหลัก คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะยังมีผลเพียงใด “ศาลพูดไว้ชัดเจนว่าตราบใดที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาในการตีความมาตรการชั่วคราวก็ยังดำเนินต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าศาลพิพากษามาแล้วไม่รับตีความมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก็จะสิ้นผลไปโดยอัตโนมัติ หรือศาลอาจจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่จะมีคำพิพากษาในปีหน้าก็เป็นไปได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไทยหรือกัมพูชา เห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปหรือมีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น เราสามารถไปยื่นคำร้องต่อศาลโลก ศาลที่เคารพครับ บัดนี้ผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามาแล้ว เรามีการทำการเจรจาข้อตกลงร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา และอาเซียน สถานการณ์ดูดีมากขึ้น รัฐบาลไทยชุดใหม่เข้ามามีการเจรจาตกลงร่วมมือกันอย่างชัดเจน จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องมาออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเรื่องเขตปลอดทหาร สมมติกัมพูชาก็เห็นด้วยกับไทย และทั้งสองฝ่ายก็ไปยื่นต่อศาล ศาลก็อาจจะยกเลิกก็ได้โดยที่ไม่ต้องถึงปีหน้าก็ได้” กรณีนี้จะต่างจากกัมพูชาไปถอนคดีจากศาลโลก “มันไม่เหมือนกัน การไปขอให้ศาลแก้ไขคำสั่งคดียังเดินต่อ เพราะฉะนั้นคดีที่กัมพูชาขอให้ตีความก็เดินต่อไปจนถึงปีหน้า แต่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมันจะหายไปแล้ว แต่ในประวัติศาสตร์ของศาลศาลไม่เคยใช้อำนาจเข้าไปแก้ไขคำสั่งในลักษณะนั้น นอกจากจะมีกรณีที่จำเป็นจริงๆ หรือชัดเจนจริงๆ เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะต้องลุ้นต่อไปว่าถ้าเราจะเอาคำร้องไปยื่นต่อศาลมันต้องมีความจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ ผมยกตัวอย่างมีคนถามเยอะเหลือเกินว่าบริเวณตลาด วัด ชุมชน ที่เราเป็นห่วงกัน ศาลไม่ได้สั่งให้หยุดสร้าง แปลว่ากัมพูชาสามารถสร้างต่อได้โดยสบายๆ เลยหรือ ก็ต้องตอบว่าพอเราไปอ่านคำสั่งศาลก็อาจจะไม่ได้พูดไว้ชัดเจน แต่ว่าศาลเปิดช่องไว้ว่าห้ามทั้งไทยและกัมพูชาไปดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีก หรือทำให้สถานการณ์มันแก้ไขได้ยากเย็นขึ้น” “เพราะฉะนั้นถ้าทะเลาะกันอยู่ แต่ว่ามีการไปสร้างสิ่งปลูกสร้าง สร้างชุมชน ตัดถนน สุดท้ายศาลตีความออกมาแล้วกัมพูชาต้องถอยออกมันก็ทำให้มีความยุ่งยากเกิดขึ้น ทำให้การเจรจาของทั้งสองฝ่ายยากขึ้น ผู้สังเกตการณ์อาเซียนก็ทำงานไม่สะดวก เราก็เอาเรื่องเหล่านี้แหละไปยื่นต่อศาลได้ว่า ได้โปรดแก้ไขคำสั่ง สั่งลงไปเลยว่าให้หยุดการก่อสร้างหรือขยายชุมชนของกัมพูชา เพราะต้องอย่าลืมว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ภาษาอังกฤษใช้คำ preserve คือรักษาสิ่งที่มีอยู่ไม่ให้ถูกทำลายไป แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เพิ่มพูนสิ่งที่มีอยู่ให้มากขึ้น ฉะนั้นกัมพูชาจะเอาคำสั่งศาลโลกมาตีความว่าต้องขยายพื้นที่ ขยายชุมชน ผมว่าไม่ถูกต้อง เพราะศาลสั่งว่าคุณต้องร่วมมือกัน” “ส่วนอีกข้อหนึ่งที่คนไทยเป็นห่วงคือศาลบอกว่าห้ามไปขัดขวางกัมพูชาในการเข้าไปถึงตัวปราสาทอย่างอิสระ เรื่องนี้เราก็ต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจน คำสั่งศาลบอกไว้ว่าห้ามไปขัดขวางหากกัมพูชาจะเข้าไปที่ตัวปราสาท ไม่ใช่ว่าจะเข้าไปในบริเวณ 17 ตร.กม. ศาลบอกว่าห้ามไปขัดขวางในกรณีที่กัมพูชาจะเข้าไปที่ตัวปราสาทเท่านั้น” ก็เพราะตัวปราสาทเป็นของเขา “ถูกต้องครับ และคำว่าห้ามขัดขวางก็ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งข้ออื่นๆ เช่น ห้ามเอาทหารเข้าไป ห้ามไปซ่องสุมกำลังอาวุธข้างใน และถ้าหากเขาจะผ่านในบริเวณที่เป็นของเราก็ต้องคุยกันก่อน คำว่าห้ามขัดขวางมันไม่เหมือนกับคำว่าต้องอนุญาต ห้ามขัดขวางหมายความว่าห้ามไปขัดขวางอย่างไร้เหตุผล คือถ้าจู่ๆ เขาจะยกกำลังเข้ามาเราก็ต้องไม่อนุญาต เพราะถือว่าคุณทำผิดคำสั่งศาลแล้ว แต่ถ้ากัมพูชาจะเอารถขนอิฐขนปูนเข้าไปซ่อมแซมปราสาทเราก็ถือว่าไม่ได้ขัดคำสั่งศาล ส่วนเขตปลอดทหารผมก็มีข้อสังเกตเพิ่มอีกอย่างหนึ่ง ก็คือหากเราไปดูคำสั่งส่วนตนของผู้พิพากษา ซึ่งกัมพูชาแต่งตั้งเข้าไปผมฟังดูแล้วค่อนข้างเป็นห่วง เพราะท่านตีความไปทางกัมพูชาพอสมควร คือท่านบอกว่าที่ศาลสั่งให้มีเขตปลอดทหาร 17 ตร.กม. ท่านไม่เห็นด้วยในแง่ที่ว่าบริเวณตัวปราสาทที่อยู่ตรงกลางของเขตนั้นควรจะถูกแยกออกไปว่าไม่ต้องปลอดทหารก็ได้ ในเมื่อเป็นของกัมพูชา กัมพูชาก็ควรต้องมีทหารประจำอยู่ มันก็ทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างว่าถ้าเขตทหารออกแบบมาเพื่อเลี่ยงการปะทะแล้วคุณมาบอกว่าไม่ให้มีทหารอยู่เลยยกเว้นตรงกลางพื้นที่มีทหารมีปืนใหญ่ตั้งอยู่ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ถูกไหมครับ แต่บังเอิญศาลส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ก็ทำให้เราเห็นแล้วผู้พิพากษาที่กัมพูชาแต่งตั้งเข้ามามีแนวโน้มที่จะตีความไปในทางที่เห็นอกเห็นใจกัมพูชาพอสมควร” แถลงการณ์ฝ่ายเดียวโชว์ภาวะผู้นำ “รัฐบาลไทยในวันนี้ต้องมีความชัดเจนในแง่ของจุดยืนว่าเราได้รับคำสั่งศาลมาแล้วเราถือว่าคำสั่งศาลมีความชัดเจน แปลว่าอะไร สมมติมีคนบอกว่า ตชด.เข้าไปได้ไหม ถ้าผมเป็นท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ผมต้องชัดเจนว่าเข้าไปได้หรือเข้าไม่ได้ เราอย่าไปบอกว่าต้องรอดูก่อนว่าเป็นอย่างไร ต้องฟังกัมพูชาก่อนว่าอย่างไร ไม่ใช่นะครับ เพราะว่าคำสั่งศาลค่อนข้างจะชัดเจนว่าต้องเอาทหารออกไป และก็จะต้องไม่มีกองกำลังติดอาวุธหรือกิจกรรมทางทหารในบริเวณนั้น เพราะฉะนั้นสมมติเราส่ง ตชด.เข้าไปแต่เราส่งไป 1 กองร้อยเลย แต่แต่ละคนก็ถืออาวุธหนัก มีระเบิดมีเครื่องมือพร้อมที่จะรบกันแล้ว มันก็เสมือนกับว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธที่พร้อมจะรบ แต่สมมติเราส่งเข้าไปเป็นอาวุธขนาดเบา ส่งเข้าไปประจำเป็นแต่ละจุดๆ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย” “ศาลก็บอกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าไปได้ แต่คำว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเวลาตีความเราต้องตีความให้ตรงกับข้อเท็จจริงปกติ เวลาเราอยู่ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เราไม่ได้มี ตชด.มาเดินดูแลทรัพย์สินของชาวบ้าน อย่างมากก็ตำรวจจราจรที่พกปืน ตำรวจนครบาลคอยดูแลความเรียบร้อย ก็ต้องเป็นลักษณะนั้น กำลังตำรวจเจ้าหน้าที่ของเราก็ไม่ได้ถูกห้าม สามารถส่งเข้าไปได้ และเรื่องนี้เราต้องคุยกับผู้สังเกตการณ์อาเซียนให้ชัดเจนว่าเราจะให้เขาเข้ามาในหน้าที่อย่างไร เพราะที่ศาลบอกว่าจะต้องให้ผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามาศาลไม่ได้บอกว่าให้เข้ามาโดยอิสระ แค่บอกว่าต้องร่วมมือกัน คำว่าร่วมมือกับอาเซียนหมายความว่าเราต้องร่วมมือกับอาเซียน แต่อาเซียนก็ต้องร่วมมือกับเรา ไม่ใช่อาเซียนจะเข้ามาได้ตามสบาย แต่ส่วนจะอนุญาตในลักษณะไหนนั้น เป็นเรื่องที่ไทย กัมพูชา และอาเซียน ต้องพูดคุยกัน” ทั้งไทย-กัมพูชา ยังตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย ฝ่ายเราก็จะส่งตชด.เข้าไป กัมพูชาก็รอผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามาก่อน “คือคำสั่งเนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติพร้อมกันก็เป็นเรื่องปกติว่าคุณทำก่อนสิ กัมพูชาบอกว่าเอาอาเซียนเข้ามาก่อน ไม่อย่างนั้นไม่ถอนทหาร มันก็กลับไปสู่เรื่องเก่า วิธีแก้ปัญหาคือบัดนี้ทั้งสองฝ่ายรู้แล้วว่าศาลสั่งมาแล้วว่าต้องทำทั้ง 2 อย่าง วิธีที่ง่ายที่สุดคือมาเจรจากันว่าเราจะทำทุกอย่างในเวลาเดียวกันเลย นัดกันมาเลย สมมติพรุ่งนี้ผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามาปุ๊บ ทั้งสองฝ่ายถอนทหารพร้อมกัน และต้องมีบริเวณเขตปลอดทหารชั่วคราวที่ชัดเจน ตรงนี้ผมขอย้ำนิดหนึ่งว่าภาพที่สื่อมวลชนเสนอไป ที่เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมคางหมู ความจริงนั่นเป็นเพียงแค่ร่างแผนที่ ศาลใช้คำว่า sketch map ซึ่งศาลอธิบายไว้ในคำสั่งหน้า 17 ว่าร่างแผนที่นี้เป็นเพียงตัวอย่างให้ไทย-กัมพูชา นำไปพอให้เห็นรูปเห็นร่างเท่านั้น ฉะนั้นเขตปลอดทหารสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของไทยและกัมพูชาที่ต้องเอาพิกัดแผนที่ เส้นรุ้งเส้นแวงไปคุยกับกรมแผนที่ทหาร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำแผนที่ในพื้นที่นั้น ศาลท่านอยู่ที่กรุงเฮกท่านไม่เคยมาเห็นหรอกว่าบริเวณนี้เป็นอย่างไร” “ซึ่งจุดนี้แหละที่ผมบอกว่าเวลาศาลบอกว่าต้องดำเนินการตามคำสั่งทันที มันไม่ใช่ว่าเราเหมือนหุ่นยนต์ที่กดปุ่มปุ๊บถอนปุ๊บ การดำเนินการมันมีขั้นมีตอนของมัน ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ก็ดำเนินการนะครับ วันรุ่งขึ้นท่านนัดประชุมทันทีเลย กระทรวงกลาโหม กฤษฎีกา อัยการสูงสุด กรมแผนที่ทหาร และท่านก็สั่งการไปว่าไปจัดทำแผนการให้เรียบร้อย แต่ข้อสำคัญมันอยู่ที่ว่ากัมพูชาก็ต้องทำขั้นตอนเดียวกัน และสุดท้ายพอได้แผนที่ที่ตัวเองจะเอาไปใช้ในการถอนทหารก็ต้องเอามาเทียบกันว่ามันตรงกันหรือเปล่า สมมติว่าตรงกันทั้งสองฝ่ายก็นัดกันเลยว่าเราจะคุยกับอาเซียนเพื่อให้เข้ามาบนเงื่อนไขที่เราเห็นด้วยตรงกัน เช่น เวลาคุณจะเดินลาดตระเวนก็ขอให้แจ้งมาก่อนว่าจะเดินตรงไหน และให้มีฝ่ายไทยและกัมพูชาเดินพร้อมๆ กัน และตกลงถอนทหารพร้อมกัน คราวนี้ก็ติดปัญหาอีกว่าถ้ารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลรักษาการ คุณยิ่งลักษณ์จะเปิดสภาเมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรี ครม. จะทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อไหร่ ขอยังไม่แน่ใจ ถ้าจะไปเซ็นตกลงอะไรกันรัฐบาลชั่วคราวทำได้หรือเปล่า อันนี้มันไม่ใช่กฎหมายระหว่างประเทศแล้ว เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญของบ้านเราแล้ว” เพราะหากไปทำหนังสือสัญญาโดยไม่ผ่านสภา ก็จะเข้ามาตรา 190 แบบสมัยคุณนพดล “มาตรา 190 ไม่ได้ห้ามให้รัฐบาลไปทำหนังสือสัญญากับประเทศอื่น แค่บอกว่าหากคุณไปทำหนังสือสัญญาแค่บางประเภทเท่านั้นที่ต้องผ่านสภา หนึ่งก็คือไปเปลี่ยนแปลงเขตแดน หรือเขตอธิปไตย สองคือต้องมีกฎหมายออกตามมา สามไปมีผลผูกพันหรือกระทบทางการค้า เศรษฐกิจ และสังคมอย่างมีนัยสำคัญ เพราะฉะนั้นข้อเหล่านี้ถ้าเราทำไปแล้วมันไม่เข้าข้อเหล่านี้มันก็ย่อมไม่ใช่กรณีที่ต้องไปผ่านสภา เพราะว่าในรัฐธรรมนูญ การทำสัญญามันเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะอยู่แล้ว มันมีแค่ข้อยกเว้นที่ต้องไปเข้าสภาบางเรื่องเท่านั้นเอง ฉะนั้นถ้าเราบอกว่าจะถอนทหารพร้อมๆ กัน ถามว่าเรื่องการถอนทหารมันอยู่ในอำนาจของฝ่ายไหน อยู่ในอำนาจฝ่ายบริหาร เวลาเราจะส่งกองทัพไปปกป้องประเทศชาติต้องถามสภาก่อนหรือเปล่า ต้องถามศาลก่อนหรือเปล่า มันไม่ใช่เรื่องนิติบัญญัติหรือตุลาการ ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร จึงไม่เข้ามาตรา 190” “คราวนี้มาถึง step ที่สอง ถามว่าไม่เข้ามาตรา 190 แล้วมันติดขัดมาตรา 181 หรือเปล่า มาตรา 181 บอกว่ารัฐบาลชั่วคราวต้องดำเนินการต่างๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็น และต้องไม่ดำเนินการที่กฎหมายห้ามไว้ กฎหมายห้ามเรื่องอะไรบ้าง หนึ่งห้ามโยกย้ายข้าราชการ ห้ามไปใช้งบประมาณฉุกเฉิน ห้ามไปให้คุณให้โทษเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มันมีข้อสุดท้ายที่บอกว่าห้ามอนุมัติหรือโครงการที่มันมีผลผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดหน้า เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าเราจะมาถอนทหารกันมันเป็นโครงการหรือเปล่าเป็นงานหรือเปล่า อันนี้ต้องตีความให้ชัดนะครับว่าการเคลื่อนย้ายทหารภายในเขตแดนของประเทศไทย มันไม่ใช่เรื่องโครงการ มันเป็นเรื่องปกติของการใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ฉะนั้นผมก็มองว่ามาตรา 181 ก็ไม่ได้ห้ามรัฐบาล ไม่เช่นนั้นอยู่ดีๆ รัฐบาลชั่วคราวมีความจำเป็นที่ต้องย้ายกำลังพล ปกป้องอธิปไตยของชาติ จะบอกว่าไปติดขัดมาตรา 181 จะเป็นการตีความกฎหมายที่แย่มากนะครับ” “ดังนั้นโดยสรุปแล้วมาตรา 181 มาตรา 190 ไม่เข้าทั้งคู่ รัฐบาลรักษาการก็ยังเป็นรัฐบาลที่มีหน้าที่ที่ต้องเป็นรัฐบาลของคนไทย คุณจะมาใส่เกียร์ว่างบอกว่าโอ้ยรอรัฐบาลชุดหน้าเข้ามาเพราะผมไม่อยากจะโดนคนนั้นคนนี้ว่า นั่นคือคุณไม่รับผิดชอบต่อประชาชนแล้ว ซึ่งไม่ได้นะ คุณยังมีหน้าที่ต้องทำ แต่ก็ถามอีกว่ากลัวศาลปกครองศาลรัฐธรรมนูญเดี๋ยวบอกว่าทำไปแล้วผิด ผมก็เสนอย่างนี้ว่าคุณก็ต้องใช้นักกฎหมายเก่งๆ กำหนดเอกสารให้ชัดเจน สมมติว่ากลัวเข้ามาตรา 190 ซึ่งบอกว่าห้ามไปทำหนังสือสัญญาที่เข้ากรณีมาตรา 190 ก็ไม่เห็นต้องทำหนังสือสัญญาเซ็นด้วยกันนี่ ต่างฝ่ายต่างก็ทำแถลงการณ์ฝ่ายเดียวก็ได้ แต่ว่าเป็นแถลงการณ์ฝ่ายเดียวที่มีผลมาจากการเจรจากันมาก่อนแล้ว เช่นสมมติเราบอกจะถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวเราจะให้ผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามา ไทย-กัมพูชา ต่างฝ่ายต่างแถลงพร้อมกันเลย บัดนี้เรามีคำสั่งศาลโลกมาแล้วประเทศไทยพร้อมที่จะทำตามโดยตีความคำสั่งว่าเราจะถอนทหารจากบริเวณนี้ เราจะให้ผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามาแบบนี้ และก็ต้องคุยกับกัมพูชาให้ชัดเจนว่ากัมพูชาก็ต้องแถลงในลักษณะเดียวกัน แต่ถามว่าทั้งสองฝ่ายมาตกลงกันไหม ไม่ได้ตกลงกัน ถ้าเกิดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะถอนคำพูดของตัวเองก็ถอนได้ ไม่ผูกพันอะไร แต่อย่างน้อยมันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งสองฝ่ายว่าเรามีอะไรที่มันชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่” “มันก็เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและก็ชาวโลกว่าบัดนี้ไทยและกัมพูชาพร้อมที่จะปฏิบัติตามที่ศาลบอก โดยที่ไม่ต้องไปเป็นห่วงว่ามันจะเข้ามาตรา 190 หรือเปล่า เพราะไม่ได้เซ็นหนังสืออะไรกัน มันเป็นการแถลงการณ์ฝ่ายเดียวของแต่ละรัฐบาล และถ้าทำให้ชัดก็ต้องแถลงการณ์ในงานเดียวกันด้วย อาจจะมีท่านสุรินทร์ พิศสุวรณ ซึ่งเป็นเลขาธิการอาเซียน เป็นเจ้าภาพจับมือถ่ายรูปต่างคนต่างแถลง ส่วนจะไปเข้ามาตรา 181 ที่ห้ามไปผูกพันรัฐบาลชุดหน้าไหม ก็ต้องชัดเจนในแถลงการณ์ว่านี่คือแถลงการณ์ที่รัฐบาลชุดคุณอภิสิทธิ์ต้องการจะทำ และก็เป็นไปตามคำสั่งศาลโลก แต่ทั้งนี้ย่อมเป็นดุลยพินิจของรัฐบาลต่อไปว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร” นี่คือขั้นตามกฎหมายที่ควรจะดำเนินต่อไป และเป็นการทูตในอุดมคติ แต่สำหรับการเมืองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะความขัดแย้งกับกัมพูชาก็เป็นประโยชน์กับฝ่ายการเมืองของทั้งสองประเทศ และเมื่อรัฐบาลเพื่อไทยเข้ามาทุกอย่างก็จะเปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ “ผมคิดว่าเราต้องอย่าลืมว่าการที่เราหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะแก้สถานการณ์ได้ มันยังเป็นเพียงแค่ความหวัง และเราก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดนที่เอารถถังเอาเครื่องยิงระเบิดมาประจันหน้ากันมันมีความเสี่ยงที่การปะทะกันมันจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ถามว่ามันคุ้มไหมถ้ามันเกิดขึ้น มันคุ้มไหมที่ชาวบ้านต้องมาวิ่งหนีอุตลุด ผมมองว่ามันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาลปัจจุบันนี่แหละที่ต้องดำเนินการทุกอย่าง ถามว่าจะดำเนินการอย่างไรให้มันสมกับความเป็นจริงหน่อย ผมก็จะบอกว่าคุณอภิสิทธิ์ก็ต้องคุยกับคุณยิ่งลักษณ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เลยว่าทีมที่จะมาเป็นทีมที่คุมกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง ในพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะมีใครบ้าง และคุณอภิสิทธิ์วางแผนจะคุยอะไรก็ต้องให้ชัดเจนกับกัมพูชาว่าวันนี้ไม่ได้คุยเฉพาะกับคุณอภิสิทธิ์นะ คุยพร้อมกับรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ที่กำลังจะเข้ามา กัมพูชาเขาจะได้สบายใจว่าแถลงการณ์ฝ่ายเดียวที่เราจะทำออกไปมันมีความต่อเนื่องแน่นอน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็กลับเข้าไปสู่กระบวนการทางการทูต เราไม่สามารถประกันอะไรทุกอย่างได้หรอกว่ามันจะต้องเป็นไปตามที่เราต้องการ แต่ถ้ามีความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับผู้ปฏิบัติงาน เช่น ท่านทูตกับท่านทูตคุยกัน ยิ่งถ้าคุณยิ่งลักษณ์ส่งสัญญาณบอกฮุน เซน ว่าจริงนะที่คุณอภิสิทธิ์บอกว่าเวลาที่คุยเรื่องนี้ได้มีการหารือร่วมกันมาก่อน ขอให้ท่านสบายใจได้ว่าเมื่อแถลงออกไปแล้วแต่ละฝ่ายจะดำเนินการต่อไปดังที่คุณอภิสิทธิ์ได้แถลงไว้ ” “เราอย่าลืมนะครับว่าสิ่งที่กัมพูชาเขาต้องการอะไร ก็คือเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ การเอาพื้นที่รอบตัวปราสาทมาทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเขาพยายามจะไปศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งออกมาก่อนที่ยูเนสโกจะมีมติที่กรุงปารีส แต่บังเอิญศาลใช้เวลานานกว่าที่ทุกฝ่ายคาดไว้ พอมันเป็นอย่างนี้ อนุมัติว่ามีความพยายามจะซ่อมแซมตัวปราสาทอะไรก็แล้วแต่ บัดนี้มันก็เป็นโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะมาคุยกันว่า ในเมื่อศาลสั่งและมันทำให้เราอึดอัดว่ามีบริเวณเขตปลอดทหาร เรามาร่วมมือกันดีไหม ในเมื่อตอนนี้เงื่อนงำที่มันไปงัดกันไว้ ที่ไทยบอกว่าคุณต้องถอนทหารออกไปถึงจะเอาผู้สังเกตการณ์อาเซียนออกมาได้ กัมพูชาบอกว่าเราจะไม่ถอนทหารคุณต้องเอาผู้สังเกตการณ์มาก่อน บัดนี้เมื่อมีคำสั่งศาลออกมาพร้อมๆ กันแล้วมันก็คลี่คลายไปพร้อมๆ กันถูกไหมครับ สิ่งที่เคยงัดกันมาสุดท้ายมันก็ต้องทำ เพราะว่าศาลได้สั่งมาแล้ว ฉะนั้นมันง่ายกว่าไหมถ้าเราจะบอกว่าแทนที่จะปล่อยให้ศาลค้ำหัวเรา ถอนคดีออกมา แล้วมาคุยกันเลยว่าเราจะมาบริหารพื้นที่รอบๆ กันอย่างไร วงเล็บว่าเขตแดนจะเป็นของใครเก็บไว้คุยกันทีหลัง เราเอานักท่องเที่ยวเข้ามาก่อน เราเอาประชาชนให้อยู่ดีกินดีก่อน แล้วถึงเวลานั้นมันก็ยังคุยกันได้” วีรพัฒน์ ย้ำว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ได้มีนัยเรื่องเขตแดน “ศาลย้ำอย่างชัดเจนในคำสั่งว่าคำสั่งชั่วคราวเป็นไปเพื่อทำให้ไม่เกิดการปะทะทางการทหารเท่านั้น และการที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลย้ำหลายจุดเลย อย่างน้อยก็ 3-4 จุด ในคำสั่งบอกว่าศาลจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยสิ่งที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความว่าเขตแดนต้องเป็นไปตามแผนที่หรือไม่ เขตแดนบริเวณรอบๆ ตัวปราสาทกว้างแคบแค่ไหน ศาลจะไม่ได้เข้าไปแตะในเวลานี้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องตีความในปีหน้า เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ขอให้ชัดเจนว่าสิ่งที่ศาลสั่งเป็นเรื่องชั่วคราว และอย่างที่บอกว่า เมื่อเป็นคำสั่งชั่วคราวย่อมถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตลอดเวลาหากมีความจำเป็น สมมติกัมพูชาและเอาผู้เชี่ยวชาญแต่ละฝ่ายมาคุยกันแล้วว่าถ้าขืนเราถอนอย่างนี้วุ่นวายแน่ เพราะพื้นที่มันกว้างมาก ก็อาจจะทำข้อตกลงหรือข้อสรุปร่วมกันไปขอศาลว่าศาลครับลดลงมาหน่อยได้ไหม ถ้าจะเป็นและเหมาะสมศาลอาจจะลดก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล” หากทั้งสองประเทศยังยึกยักไม่ทำตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว “มันก็จะเกิดความตึงเครียดอยู่ในบริเวณที่ทหารก็ต้องเห็นหน้ากัน แต่หลังจากศาลมีคำสั่งมาแล้วข่าววันนี้เสนอว่าในบริเวณชายแดนอื่นมีการชักธงชาติทั้งสองประเทศขึ้นพร้อมกัน ผมก็ไม่แน่ใจว่าเพราะเขาถือฤกษ์ว่าศาลมีคำสั่งออกมาแล้วหรือเปล่า แต่พอนักท่องเที่ยว ชาวบ้านเห็นว่ามีการชักธงชาติทั้งไทย-กัมพูชาขึ้นพร้อมกัน มันก็เป็นนิมิตหมายอันดีว่าถึงแม้ไม่ถอนทหาร แต่เราก็รู้ว่าบัดนี้ศาลมีคำสั่งมาแล้วมันก็น่าจะเป็นไปได้ทันทีที่รัฐบาลใหม่เข้าก็น่าจะทำให้ความตึงเครียดมันดีขึ้น รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์คุณยังเป็นรัฐบาลของคนไทยอยู่นะครับ คุณไม่ได้เป็นรัฐบาลเกียร์ว่าง คุณยังมีหน้าที่ต่อประชาชนชาวไทยที่ต้องรับผิดชอบว่าทำอย่างไรให้การสูญเสียให้การปะทะกันมันเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด ซึ่งก็ต้องทำตามที่ศาลบอก ก็คือเอาทหารออกไป อยู่ใกล้กันเดี๋ยวก็ได้ฮึ่มๆ ใส่กันอีก เอาผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามาให้เร็วที่สุด เวลาที่เถียงกันว่าคุณเตรียมจะยิงเรา ก็ถามอาเซียนว่าตกลงอาเซียนอยู่ในพื้นที่คุณเห็นว่าใครทำอะไร ใครกำลังพูดปด ใครกำลังพูดจริง และหากคุณยิ่งลักษณ์ฉลาดต้องออกมาพูดวันนี้เลยว่าท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ท่านยังเป็นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยอยู่ ดิฉันยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีดิฉันเคารพ แต่หากมีเรื่องอันใดที่ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์อยากให้ดิฉันหรือสมาชิกพรรคเพื่อไทยช่วยเหลือในเรื่องความร่วมมือกับกัมพูชา พร้อมที่จะช่วยเหลือเต็มที่ ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ว่าใครอยากจะช่วยงานรัฐบาลก็เข้าไปช่วยได้ และในวันเลือกตั้งกัมพูชาเขาก็แสดงความดีใจทั้งฮุน เซน, ฮอร์ นัมฮง ก็บอกว่าเขาเตรียมพร้อมจะเจรจาแล้ว ฉะนั้นคุณยิ่งลักษณ์กับคุณอภิสิทธิ์ก็ควรจะต้องทำงานพร้อมกันตั้งแต่วันนี้ไปเลย โดยที่ต้องชัดเจนว่าคุณอภิสิทธิ์ยังเป็นนายกฯ ของเราอยู่ แต่ว่าอะไรที่ทำไปขอให้เอาคุณยิ่งลักษณ์กับทีมความมั่นคง เข้ามาคุยกันในห้องประชุม เวลาสื่อสารไปหาฮุน เซน คุณยิ่งลักษณ์จะได้โทรศัพท์ไปบอกได้ว่าดิฉันเห็นด้วยกับท่านนายกฯ อภิสิทธิ์พูดทุกอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะถอนทหารตอนนี้ถอนได้เลย เมื่อสภาเปิดเมื่อไหร่ โปรดเกล้าฯ ครม.เมื่อไหร่ จะดำเนินการตามสิ่งที่มีการแถลงการณ์ไปแล้ว อันนี้เป็นโอกาสที่ดีมากที่คุณยิ่งลักษณ์จะพิสูจน์ฝีมือนับตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นนายกฯ เลย แต่ต้องพิสูจน์ในแง่ที่ว่าดิฉันยังเคารพนายกฯ อภิสิทธิ์ แต่พร้อมจะช่วยสนับสนุน” “ผมเชียร์เรื่องแถลงการณ์ฝ่ายเดียวเต็มที่เลย เพราะมันแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะความเป็นผู้นำของไทย และยิ่งถ้าไทย-กัมพูชาทำออกมาในงานเดียวกัน โดยมีประธานอาเซียนอยู่ด้วย มันคือความภูมิใจของอาเซียนนะครับ ประชาคมอาเซียนที่เราบอกว่าจะตั้งในปี 2015 ได้พิสูจน์ฝีมือ เพราะศาลก็มั่นใจว่าอาเซียนจะทำได้ ดังนั้นอาเซียนดำเนินเกมเต็มที่ และไทยก็ต้องเดินเกมรุกเจรจาไปล็อบบี้กับสมาชิกอาเซียนว่าหากคุณจะเข้ามาเจรจาส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาคุณต้องไม่เข้ามาในลักษณะยุ่มย่ามหรือละเมิดดินแดนไทยจนเกินไป ต้องเข้ามาในลักษณะแขกของบ้านเราซึ่งเราต้อนรับอย่างดี และกัมพูชาก็ควรจะทำในลักษณะเดียวกัน เป็นการแสดงภาวะผู้นำของแต่ละประเทศที่จะร่วมมือกันและเอาสันติภาพกลับคืนมา” “เมื่อผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามา ทหารออกไป ผมเชื่อว่าสถานการณ์ก็จะคลี่คลายดีขึ้น สุดท้ายถ้าทำอย่างนั้นได้ถามว่าใครชนะ คุณอภิสิทธิ์ก็จะมีผลงานฝากทิ้งไว้ คุณยิ่งลักษณ์ก็ได้เครดิต ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็สามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ อาเซียนก็ได้พิสูจน์ฝีมือ ภาพที่ผู้นำทั้งสองประเทศ คุณอภิสิทธิ์ คุณฮุน เซน ยืนบนโพเดียมจับมือกันและมีท่านเลขาธิการอาเซียนซึ่งเป็นคนไทยยืนอยู่ด้วย ถ่ายรูปและแถลงการณ์พร้อมกัน มันจะเป็นภาพประวัติศาสตร์ อย่างน้อยคุณอภิสิทธิ์มีผลงานฝากเอาไว้ให้ประธิปัตย์ได้บอกได้ว่าวันนี้ที่กัมพูชายอมถอนออกไปเพราะเรามีนโยบายการเจรจาที่สุขุมนุ่มลึก เอาคุณยิ่งลักษณ์เข้ามาช่วย ผมเชื่อว่าคุณยิ่งลักษณ์พร้อมที่จะช่วย” ควรจะเป็นผลงานของนายกฯ อภิสิทธิ์ฝากไว้ก่อนลงจากตำแหน่ง “ถ้าหากกลัวว่าจะเข้า 190 ก็ไม่ต้องทำเป็นหนังสือสัญญา ทำเป็นแถลงการณ์ฝ่ายเดียวจะถอนเมื่อไหร่ก็ได้ ทำได้เลยประกาศว่าผมเป็นนายกรัฐมนตรีของทุกคนอย่างที่คุณอภิสิทธิ์เคยพูดอยู่ตลอดเงลา ผมทำเพื่อพี่น้องประชาชนทุกคน และเมื่อตอนนี้สันติภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งคุณอภิสิทธิ์มีโอกาสที่จะทำก็ทำไปเลย อย่าไปมองว่าตัวเองกำลังจะเป็นฝ่ายค้าน คุณอภิสิทธิ์ยังเป็นนายกฯ ของเราอยู่ เรายังมีสิทธิ์ขอให้คุณทำงานให้พวกเราอยู่” ในแง่กฎหมายรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์น่าจะรู้ว่าไม่เข้ามาตรา 181, 190 แต่เป็นห่วงเรื่องทางการเมืองมากกว่า เดี๋ยวพันธมิตรโจมตีว่าขายชาติ “มันก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางการเมือง ถ้าผมเป็นคุณอภิสิทธิ์ ผมต้องคุยกับคุณยิ่งลักษณ์ให้ชัดเจน ว่าคุณต้องช่วยผมด้วยนะเวลาผมไปแถลงการณ์ฝ่ายเดียวมาขณะที่เป็นรัฐบาลรักษาการ จุดยืนของพรรคเพื่อไทยและคุณยิ่งลักษณ์ต้องชัดเจนว่าพร้อมที่สานต่อกระบวนการสันติภาพเหล่านี้ คุณยิ่งลักษณ์ต้องรับไม้ต่อสิ่งที่คุณอภิสิทธิ์ทำไว้ เพื่อความสงบของชาวบ้านชายแดน ซึ่งเราเห็นชัดว่าฐานเสียงเพื่อไทยซึ่งเป็นคนเสื้อแดงและเขาบอกว่าเอาความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้านตาดำๆ กลับมาดีกว่า ทำไมจะต้องให้คนที่เคยไปมาหาสู่กันไปต้องลำบาก ไปดูผลเลือกตั้งศรีสะเกษจะรู้ว่าพี่น้องประชาชนตรงนั้นเขาต้องการอะไร ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งมาแม้วันนี้สภายังไม่เปิดแต่คุณมีหน้าที่แล้ว ถ้ามันมีการดำเนินการอย่างนี้ทุกคนก็จะแฮปปี้ ทุกคนจะรู้สึกว่ารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ถึงแม้ตอนเลือกตั้งก็แข่งกัน แต่เวลาเขาทำเพื่อชาติเขาก็ทำร่วมกันได้ ถ้าทำไม่ได้ทำไม่ทันจริงๆ ก็ต้องคุยกับคุณยิ่งลักษณ์ให้ชัดเจนว่าวันนี้เราจะส่งสัญญาณไปทางกัมพูชาอย่างไร” ถามถึงบทบาทกองทัพ เพราะแม้จะต้องรับนโยบายจากรัฐบาล แต่มุมมองด้านมั่นคงของกองทัพอาจจะต้องปรับให้สอดคล้องกับกระบวนการสันติภาพ “ผมก็ต้องบอกตรงๆ ว่าเวลาพูดถึงกองทัพเราจะบอกว่ามีกองทัพที่อ่อนเอียงตามรัฐบาลทั้งหมด และไม่เคยแสดงความฮึกเหิมเข้มแข็ง ผมก็คงไม่ค่อยดีใจเท่าไหร่ ฉะนั้นผมก็ภูมิใจที่เรามี ผบ.ทบ.อย่างคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ท่านก็มีความเข้มแข็ง พูดไว้ชัดเจนว่าถ้าคุณรุกเข้ามาคุณบุกเข้ามาเราต้องโต้ตอบ อันนี้ก็เป็นบทบาทของกองทัพ แต่ผมฟังท่านสัมภาษณ์วันก่อนก็บอกว่า บัดนี้ศาลสั่งเขตปลอดทหารชั่วคราวออกมาแล้ว กองทัพก็ยังฟังอยู่ว่ากระทรงกลาโหม นายกรัฐมนตรีจะสั่งการอย่างไร ซึ่งอันนี้เป็นสัญญาณที่ถูกต้องแล้ว และถ้าเราไปฟังคำสั่งท่านประยุทธ์ชัดๆ ท่านไม่ได้โต้แย้งต่อศาลนะ ท่านบอกว่าคำสั่งของศาลเป็นเรื่องของเขตปลอดทหารชั่วคราว จึงไม่ใช่เขตแดนที่จะมาเปลี่ยนแปลงอะไร เราก็ยังยึดอธิปไตยตามที่เรายึดเพียงแต่ว่าเราถอนทหารออกไปก่อนเพื่อเลี่ยงการปะทะกัน ผมดีใจที่ท่านประยุทธ์พูดในลักษณะนั้น และยิ่งดีใจเมื่อท่านส่งสัญญาณว่าท่านเป็นทหารที่ตอบสนองประชาชน โดยที่ท่านตอบสนองผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ฉะนั้นถ้าคุณอภิสิทธิ์คุณยิ่งลักษณ์จะร่วมมือกันทำอะไรผมก็หวังว่ากองทัพต้องรู้บทบาทของตัวเอง คือพร้อมที่จะปกป้องประเทศไทยแต่ถ้ามีโอกาสที่สันติภาพเกิดขึ้นโดยการตกลงผ่านการแถลงการณ์แต่ละฝ่ายให้ถอนออกไปพร้อมกัน เอาอาเซียนเข้ามาพร้อมกัน กองทัพก็ต้องมีความชัดเจนว่าต้องมีบทบาทในการสร้างสันติภาพไม่น้อยไปกว่าบทบาทในการปกป้องความมั่นคงของประเทศชาติ” จากนี้จนถึงปีหน้ามองว่าเปอร์เซ็นต์ที่ศาลโลกจะรับตีความในคดีหลักมากน้อยแค่ไหน “ผม 50:50 เลยเพราะว่าแนวโน้มในวันนี้เราก็เห็นมาแล้ว ศาลบอกว่ามีความเป็นไปได้ในเบื้องต้นที่จะตีความได้ และเอกฉันท์ด้วยนะครับ เพราะว่าข้อแรกที่บอกว่าไม่จำหน่ายคดีออกไปแปลว่าผู้พิพากษาทุกท่านเห็นว่ามันมีมูลเบื้องต้นเห็นว่าตีความได้ แต่ว่าตีความเรื่องอะไรนี่สำคัญ เพราะถ้าบอกว่าตีความเรื่องแผนที่ภาคผนวก 1 มันมีความผูกพันมีผลทางกฎหมายหรือเปล่า ผมค่อนข้างจะมองไปในแง่ที่ว่าไทยอาจจะชนะในประเด็นนี้ คือศาลไม่น่าจะตีความเรื่องเส้นแผนที่ แต่เราก็อย่าลืมว่ามีผู้พิพากษาบางท่าน ชื่อ Joan Donoghue ผู้พิพากษาชาวสหรัฐ ท่านพูดไว้ชัดเจนเลยว่าการจะกลับมาตีความเรื่องอะไรท่านใช้คำว่า Long but Narrow ก็คือตีความย้อนกลับไปได้นาน แต่เวลาเข้าไปตีความ ต้องตีความอย่างแคบๆ” “ฉะนั้นคุณจะมาตีความสะเปะสะปะตะแบงไปในทางที่กัมพูชาต้องการมันทำไม่ได้ แต่มันต้องตีกรอบให้ชัด คำว่าตีกรอบให้ชัดก็คือศาลบอกชัดเจนในคำพิพากษาเมื่อ 2505 ว่าศาลไม่ได้เข้าไปวินิจฉัยผลทางกฎหมายของเส้นแผนที่ เส้นแผนที่ผูกพันหรือไม่ศาลไม่ได้ยกขึ้นมาพูด ฉะนั้นถ้าพูดไปตามแนวของท่าน Donoghue หรือตามแนวของท่าน Cot ก็ย่อมต้องไม่พูดเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะถ้าเกิดพูดแล้วมันมีผลขึ้นมามันทั้งยวงเลยนะ เพราะเส้นแผนที่มันยาวตลอดแนว\ “ส่วนเรื่องเขตรอบๆ ตัวปราสาทว่ากว้างไกลแค่ไหน ผมก็อยากจะตั้งข้อสังเกตว่า คำว่าเขตรอบๆ ตัวปราสาทภาษาอังกฤษใช้คำว่า vicinity แต่ขณะเดียวกันก็มีการใช้คำว่า area of the temple แต่ถ้าเราไปอ่านคำสั่งย่อหน้าที่ 61 ศาลใช้คำว่าศาลจะกำหนดเขตปลอดทหารซึ่งเรียกว่า the zone around the area of the temple แปลว่ากำหนดเขตปลอดทหารที่อยู่รอบๆ ตัวปราสาท มันแปลว่าอะไร แปลว่าบริเวณ 17-18 ตร.กม.มันกว้างกว่าเขตของตัวปราสาท ดังนั้นเขตตัวปราสาทก็ต้องเล็กว่าแผนที่สี่เหลี่ยมคางหมูที่เราเห็น ดังนั้นเราก็สบายใจอย่างหนึ่งแล้วว่าสิ่งที่ศาลกำลังพูดในวันนี้ มันต้องไม่ไกลไปถึงภูมะเขือ อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งเราสบายใจได้เปลาะหนึ่งแล้วว่าหากศาลเข้าไปตีความว่าโดยรอบๆ แล้วคืออะไรบ้าง ก็ไม่ควรจะกว้างขนาดที่เราเห็นในสี่เหลี่ยมคางหมูนี้ ฉะนั้นอย่าไปตกใจ เพราะศาลพูดไว้ชัดเจนว่ามันเป็น zone ที่อยู่รอบ area ของตัวปราสาทอีกทีหนึ่ง ก็ชัดเจนว่า area ปราสาทต้องเล็กกว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นกรอบสี่เหลี่ยมคางหมูในวันนี้ หากศาลรับตีความเฉพาะเรื่องรอบตัวปราสาทก็น่าจะเข้าข้างไปในทางเรา ก็คือไม่น่าจะกินอาณาบริเวณไปกว้าง” ทางออกที่ดีที่สุดคือมีความหวังว่าทั้งสองประเทศจะมีข้อตกลงก่อนที่ศาลจะพิจารณาว่ารับหรือไม่รับตีความคดีหลัก “เพราะถ้ากัมพูชาเขาอ่านเกมว่าสุดท้ายศาลไม่รับตีความมันก็ไม่ดีสำหรับเขา เพราะเขาอ้างมาตลอดว่าคำพิพากษาทำให้เส้นแผนที่ภาคผนวก 1 แผนที่ 1:200000 มีผลผูกพัน แต่ถ้าศาลบอกว่าศาลไม่รับตีความกัมพูชาก็เสียเปรียบ ฉะนั้นเขาก็มองเกมว่ามันอาจจะเป็นอย่างนั้นได้ ก็สู้ถอนคดีออกมาก่อนแล้วมาเจรจากันดีกว่า เพราะเจรจามันยังกำหนดกติกาเองได้ เช่นบอกว่าวันนี้เขตแดนเป็นอย่างไรเก็บไว้ก่อนนะ แต่ขอให้พ่อค้าแม่ค้ามาทำมาหากิน เอานักท่องเที่ยวฝรั่งเข้ามา มันก็ดีกับทั้งสองฝ่าย รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เข้ามาและสามารถพิสูจน์ฝีมือให้คนไทยเห็นได้ก็จะถูกจดจำเลยว่าคุณทำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมขอเน้นว่าภาคประชาชนก็ดี กลุ่มเคลื่อนไหวทั้งพันธมิตรหรือเสื้อแดงก็ดี ต้องอย่าไปเชื่อเขาหมดนะว่าเวลาเขาไปเซ็นเอ็มโอยูอะไร ต้องตามนะครับว่าคุณไปแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า แน่นอนเราคงไม่สามารถไปบอกได้ว่าคุณสร้างสันติภาพได้ เพราะคุณเอาน้ำมันในอ่าวไทยไปแลก เราพูดอย่างนั้นมันคงน่าเกลียดไปเขาอาจจะเจรจากันดีๆ ก็ได้ แต่อย่างน้อยเราก็ต้องไปติดตาม ทั้งสื่อมวลชน ภาคประชาชน” หลังจากไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลกความร่วมมือน่าจะยิ่งยากขึ้น “เรื่องมรดกโลกนี่นะครับต้องให้ชัดเจนว่า ณ วันนี้ยังไม่ได้ถอนตัวนะครับ การประกาศก็ยังไม่ได้เริ่มนับ 12 เดือนนะครับ เรายังไม่ได้ส่งเอกสารอย่างเป็นทางการ หรือส่งไปแล้วรัฐบาลก็ไม่ได้บอกประชาชน ผมมองว่ามันเป็นความพยายามช่วงก่อนเลือกตั้ง ถ้าท่านบอกว่าการถอนตัวมันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศแล้วทำไมท่านไม่ส่งเอกสารไปล่ะ ทำไมท่านพูดลอยๆ แล้วปล่อยให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไปเป็นคนตัดสิน ถ้าเขาบอกไม่ถอนฉะนั้นสิ่งที่ท่านพร่ำพูดกับประชาชนว่ามันดีอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่เกิดขึ้นใช่ไหมครับ” กระนั้นก็ตาม นักกฎหมายฮาร์วาร์ดผู้นี้เชื่อมั่นว่าปัญหาไทย-กัมพูชา มีโอกาสเดินหน้าไปสู่สันติภาพ “ผมเชื่อว่าปัญหามันจบลงได้ เพราะหนึ่งกัมพูชาไม่ได้มีโยบายแข็งกร้าวที่จะเข้ามายึดแผ่นดินไทย เขาต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องการเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว ซึ่งเขาย่อมต้องการเพื่อนบ้านที่พร้อมจะช่วยเหลือเขา ที่ผ่านมาไทยเป็นผู้สนับสนุนเม็ดเงินเข้าไปทำโครงการนั่นโครงการนี่ให้เขา กัมพูชาก็ต้องพึ่งไทย ไทยเองก็ต้องพึ่งกัมพูชา เพราะว่าจะให้สถานการณ์การเมืองถูกเอามาบี้รัฐบาลตลอดเวลา กรุงเทพฯ ก็ทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้นต่างฝ่ายต่างมีความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกัน เพียงแต่ว่าช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่มีเงื่อนไขมางัดกัน แต่วันนี้ศาลสั่งมาแล้ว และทั้งสองฝ่ายรู้ตัวว่าคนใดคนหนึ่งก็ต้องทำ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียหน้าก็ทำไปพร้อมๆ กัน แถลงการณ์ฝ่ายเดียวไปพร้อมๆ กัน มันก็ได้ทั้งสองฝ่าย” “ประเทศที่เขาอยากจะมาลงทุนเขาก็มองดูอยู่ เพราะอย่าลืมว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ เศรษฐกิจขาลงที่ยุโรป กรีซ อิตาลี จะล่มแหล่ไม่ล่มแหล่ อเมริกาก็หนี้สินทะลุ เงินทุกอย่างย้ายมาที่จีนย้ายมาที่เวียดนาม ถ้าไทยและกัมพูชาทำให้สถานการณ์สงบได้ ศัยกภาพโครงสร้างขั้นพื้นฐานของไทยแข็งอยู่แล้ว เราเคยเป็นอดีตว่าที่เสือในเอเชียมา เม็ดเงินที่จะหนีจากวิกฤติยูโรโซน ที่อเมริกาก็จะไหลมา ผมเชื่อว่าปัญหาจะจบลงได้ และสัญญาณที่ฮุน เซน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท