นักรัฐศาสตร์ชี้ รบ.ยิ่งลักษณ์อยู่ได้นานสุด 1 ปี

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา (ISIS) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “Post Election Thailand: Conflict or Compromise?” ว่าด้วยสถานการณ์การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง โดยนักวิชาการต่างมีข้อสรุปคล้ายกันว่า รัฐบาลชุดใหม่ น่าจะต้องเผชิญกับสัญญาณความขัดแย้งที่ยังคงมีมาอีกเป็นระยะ พร้อมทั้งฝากข้อเสนอแก่ชนชั้นนำ พรรคการเมือง รวมถึงสังคมบางประการ เพื่อให้สร้างความประนีประนอมให้เกิดขึ้นได้ในการเมืองไทย “ฐิตินันท์” ชี้ ความกดดันอาจบีบให้รบ. ยิ่งลักษณ์อยู่ได้ 6 เดือน – 1 ปี รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา วิเคราะห์แนวโน้มการเมืองไทยหลังเลือกตั้งว่า ถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งจะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ชัยชนะของพรรคเพื่อไทย เป็นอาณัติจากประชาชนที่ชัดเจนแต่รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ไม่นาน เนื่องจากจะเผชิญแรงกดดันและการท้าทายจากหลายฝ่าย ซึ่งอาจทำให้เธออยู่ได้เพียง 6 เดือน ถึง 1 ปีเท่านั้น และมองว่าแรงกดดันที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการที่ฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้ง ไม่ยอมรับผลที่ออกมา มิฉะนั้นสัญญาณเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น พร้อมทั้งตั้งคำถามด้วยว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งที่ผ่านมา จะมีสัญญาณที่ท้าทายจากฝ่ายต่างๆ มากเท่ากับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ “หากการเลือกตั้งในประเทศอื่น มีพรรคที่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ชัดเจนขนาดนี้ พรรคนั้นก็คงจะขึ้นมามีอำนาจอย่างชัดเจนไปแล้ว หากแต่ในประเทศไทย อาณัติที่เพื่อไทยได้รับมากลับค่อยๆ หมดลงไปเสียแล้ว” ฐิตินันท์ตั้งข้อสังเกต “ประชาธิปัตย์” ต้องหัดเอาชนะทางการเมืองให้ได้โดยไม่หวังพึ่งผู้อยู่เบื้องหลัง นอกจากนี้ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยังได้ถอดบทเรียนถึงความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า ถึงแม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์มีเงื่อนไขที่เอื้อให้กับการเอาชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้หลายอย่าง เช่น การแก้กฎหมายเลือกตั้ง แต่ก็ยังทิ้งห่างพรรคเพื่อไทยอย่างขาดลอย พรรคประชาธิปัตย์จึงจำเป็นต้องกลับไปทบทวนว่าข้อผิดพลาดคืออะไร และพยายามแข่งขันทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยให้ได้ โดยที่ใช้วิธีที่ใสสะอาดและปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและสมดุลของการเมืองในระบบเลือกตั้ง “พรรคประชาธิปัตย์ ควรใช้ประโยชน์จากความสามารถที่มีอยู่ให้มากที่สุดในการเอาชนะการเลือกตั้ง และแข่งขันทางนโยบายกับพรรคเพื่อไทย โดยไม่หวังพึ่งความช่วยเหลือพิเศษจากนอกระบบ” ฐิตินันท์เสนอแนะ ชนชั้นนำไทย จำเป็นต้องปรับตัวก่อนความขัดแย้งจะลุกลาม ฐิตินันท์ ยังวิเคราะห์ความขัดแย้งในการเมืองไทยว่า มีที่มาจากขั้วระหว่างฝ่ายสถาบันกษัตริย์นิยม และฝ่ายนิยมประชาธิปไตย อันเป็นผลจากซากที่ตกค้างสมัยสงครามเย็น โดยเขาอธิบายว่า การดำรงอยู่ของฝ่ายอำนาจเก่าหรือฝ่ายที่นิยมสถาบันฯ ตั้งแต่ในทศวรรษที่ 20 ในแง่หนึ่ง นับว่าเป็นการรักษาไว้ซึ่งการพัฒนา ระเบียบความสัมพันธ์ และป้องกันประเทศจากภัยจากคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงทศวรรษที่ 21 การขึ้นมาของทักษิณ ก็ได้ท้าทายระเบียบอำนาจเก่า ที่ทำให้ชนชั้นนำเกรงกลัวว่าความสัมพันธ์ในระบบการเมืองอาจเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ต้องอาศัยการปรับตัวและการทำงานร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อการประนีประนอม และป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้นอีก “พิชญ์” วิเคราะห์พลังประชาธิปไตยในสังคมไทยสี่แบบ ทางด้านพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้แบ่งประเภทพลังประชาธิปไตยในไทยออกเป็นสี่แบบ ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างแข่งขัน และช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง อันประกอบด้วย ประชาธิปไตยแบบไทย ซึ่งมีที่มาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ มีลักษณะเป็นชาตินิยม เน้นความมีเสถียรภาพ และศีลธรรมเชิงพุทธศาสนาเป็นตัวกำกับสังคม ประเภทที่สองคือ ประชาธิปไตยในระบบเลือกตั้ง ซึ่งมีจุดอ่อนตรงที่เน้นประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าในระยะยาว และไม่สามารถรักษาความยั่งยืนได้เสมอไป นอกจากนี้ พิชญ์ยังกล่าวถึง ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมแบบชนชั้นกลาง โดยในส่วนนี้ จะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เป็นฝ่ายที่นับว่ามีพลังและอำนาจมากกลุ่มหนึ่ง และมักมีทัศนคติว่า ประเทศไทยควรตัดสวัสดิการให้น้อยลง และเน้นการต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยคนเสื้อเหลืองและเสื้อหลากสี จัดอยู่ในพลังกลุ่มนี้ ส่วนประเภทสุดท้าย คือ ประชาธิปไตยแบบปฏิรูป ซึ่งประกอบด้วยเหล่าเอ็นจีโอ และภาคประชาสังคม ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง โดยพลังกลุ่มนี้ ประสบข้อกังขาในเรื่องความเป็นตัวแทน ความโปร่งใส และการตรวจสอบ เสนอแนะ ต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้ พร้อมปฏิรูปกองทัพ-ศาล นักวิชาการประจำภาคปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้มีข้อเสนอสี่ประการต่อข้อท้าทายที่ดำรงอยู่ในการเมืองไทย โดยเน้นว่า หากจะให้พลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ เข้าสู่กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย(Democratization) ร่วมกันได้ จำเป็นต้องมีพื้นที่ที่เปิดให้สำหรับทุกฝ่าย เช่น การทำให้การต่อต้านปัญหาคอร์รัปชั่น เป็นเรื่องที่จำเป็นทางการเมือง มิใช่โยงอยู่กับศีลธรรมอันดีเช่นที่เคยเป็นมา นอกจากนี้ ต้องทำให้ฝ่ายที่นิยมประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเข้าใจด้วยว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ทุกอย่าง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้อย่างหมดสิ้น นอกจากนี้ ได้เสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ โดยไม่ใช่ให้เพียงทหารกลับกรมกองอย่างเดียว เช่นในสมัยพฤษภาคม 2535 แต่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปให้โปร่งใส และมีการสานเสวนาและความร่วมมือระหว่างฝ่ายประชาชน รวมถึงการค้นหาความจริงเพื่อสร้างความยุติธรรม และให้มีการปฏิรูปอำนาจศาลให้มีความเป็นธรรมทางการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท