สปส.ดึงแนวร่วมค้านรวม “ประกันสังคม-บัตรทอง” เอ็นจีโอโวยถูกป้ายสีไม่ได้ยึดกองทุน

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 54 ที่ผ่านมามติชนออนไลน์รายงานว่าที่กระทรวงแรงงาน ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ทางเลือกประกันสุขภาพของแรงงานไทยและผู้ประกันตนระบบประกันสังคม : เสือหรือจระเข้” มีผู้ใช้แรงงานกว่า 300 คนเข้าร่วม ทั้งนี้ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดงานว่า ปัจจุบันมีกว่า 100 ประเทศที่ใช้ระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขแตกต่างกันไป เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันเองไม่ต้องรอหวังพึ่งใคร สำหรับประเทศไทยมีระบบประกันสังคมครบ 20 ปีในปีนี้ จุดแข็งที่สุดคือสมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของและสามารถให้ข้อคิดเห็นได้ บางครั้ง สปส.อาจใจแตกและฟุ้งเฟ้อไปบ้างแต่ก็กลับตัวกลับใจได้ ตอนนี้ถือว่ามีความมั่งคั่งและเข้มแข็ง สปส.เป็นหนุ่มหล่อที่ใครก็อยากได้ และมีการใช้วิชามารเข้ามาทำให้เกิดความเสียหาย ให้ร้ายว่าทำผิดกฎหมายบ้าง จะเก็บเงินจากสมาชิกก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทำมาตั้งนานแล้ว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายสมเกียรติกล่าวเปิดงาน ทันตแพทย์หญิงสุขุมาลย์ บุญเรืองศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มแพทย์/ทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่ตรวจและรักษาผู้ป่วยประกันสังคม เข้ายื่นหนังสือขอให้ข้อมูลความจริงจากแพทย์/ทันตแพทย์ในทีมรักษาพยาบาลผู้ป่วยประกันสังคม และบัตรทองเพื่อประกอบการพิจารณา โดยระบุว่า มีข่าวและมีข้ออ้างตามสื่อต่างๆ ในทำนองว่าระบบบัตรทองเหนือกว่าระบบประกันสังคม พร้อมทั้งรณรงค์ให้แรงงานงดการจ่ายเงินประกันสังคม ในฐานะที่พวกตนดูแลรักษาทั้งผู้ป่วยบัตรทองและประกันสังคมเห็นว่าไม่เป็นความจริง ผู้ป่วยในระบบบัตรทองไม่ดีตามที่อ้าง นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนสับสนระหว่างบัตรทองกับ สปส.ว่าอะไรดีกว่ากันเนื่องจากมีการโน้มน้าวปลุกปั่นให้หยุดจ่ายเงินสมทบเหมือนกับบัตรทอง ทางเลือกของคนอยู่บนเส้นแบ่งที่ไม่รู้จะไปซ้ายหรือขวา และความเป็นจริงที่ผ่านมาฟังจนชินหูว่าบัตรทองดีกว่าประกันสังคมเพราะเปิดอยู่เพลงเดียว ดังนั้นต้องเปิดอีกเพลงหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าเพลงไหนไพเราะกว่ากัน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. กล่าวว่า ในระบบ สปส.ให้บริการทั้งโรงพยาบาลเอกชนและรัฐบาล โดยเอกชนมีกว่า 90 แห่งที่เป็นโรงพยาบาลหลักและมีเครือข่ายอีกนับพัน แต่ สปสช.มีในกทม. 18 แห่ง ซึ่ง สปส.เน้นที่โรงพยาบาล(รพ.) แต่ สปสช.เน้นที่หน่วยปฐมภูมิ การใช้ รพ.ขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงบริการได้ตลอด แต่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมินั้น ทำงานตามเวลาราชการ นอกจากนี้การจ่ายให้ รพ.ไม่ใช่แค่เหมาจ่าย แต่ สปส.ยังจ่ายเฉพาะอีกมากมาย เช่น การล้างไตด้วยการฟอกเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูก ฯลฯ ที่นักวิชาการบางคนพยายามบอกว่า สปส.แย่กว่านั้น เป็นการจงใจให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องที่ สปส.ดีกว่ากลับไม่พูดถึง พญ.ประชุมพร บุรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป กล่าวว่า ผู้ประกันตนจำนวนมากเล่าให้ฟังว่า ยอมไม่ได้หากต้องถูกย้ายจาก สปส.ไปไว้ สปสช. เพราะระบบบัตรทองเป็นระบบโรงทานฟรี การที่บอกว่าบัตรทองเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดี ก็คงดีจริง เพราะแพทย์และพยาบาลแทบไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำเลย แม้พยายามขยับขยายแต่ก็ไม่สามารถทำได้มากกว่านี้ ขอให้ผู้ประกันตนชั่งใจกันให้ดีว่าอยากได้แบบไหน แต่เพื่อนร่วมงานทั้งหลายที่เป็นผู้ประกันตนนับพันคนไม่มีใครอยากได้บัตรทองแม้แต่คนเดียว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พญ.ประชุมพรนำภาพบรรยากาศการรักษาพยาบาลแห่งหนึ่งใน รพ.บุรีรัมย์มาฉายให้ผู้ร่วมสัมมนาดู โดยเปรียบเทียบกับ รพ.อีกแหน่งหนึ่งใน จ.สุรินทร์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงระบบบัตรทองที่มีคนไข้อย่างเนืองแน่นและต่อคิวยาว บางคนต้องนั่งรออยู่กับพื้น แตกต่างจากผู้ป่วยของ สปส.ที่กันพื้นที่พิเศษไว้ให้ผู้ป่วยของ สปส. นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กทม. กล่าวว่า สมัยเป็น ส.ว.ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้คัดค้านไม่ให้เอาระบบประกันสังคมไปรวมกับบัตรทอง รัฐบาลขณะนั้นต้องการเอาเงินทุกระบบมาไว้ด้วยกัน แต่ ส.ว.ต่อต้าน ในที่สุดประกันสังคมถูกแก้กฎหมายว่าพร้อมเมื่อไรถึงมารวม พอสิบปีให้หลังเอาอีกแล้ว น.ส.สารี (อ๋องสมหวัง) ประกาศว่าสงสารที่ทุกคนเสียเงินและให้ไปรักษาฟรีและเอาเงิน 0.8% ไปไว้ที่ประกันว่างงาน ตรงนี้อย่าไปเชื่อ เพราะไปเมื่อไร นายจ้างจะไม่ยอมจ่ายเงิน ดีชั่วอย่างไรระบบประกันสังคม ผู้ใช้แรงงานก็ตรวจสอบได้ แต่หากไปทางนั้นแทบไม่มีเสียงเลย จากการที่เคยดูแลตัวเองได้ต้องกลายไปเป็นขอทาน เพราะปัญหาสุขภาพอย่าเห็นว่าฟรีอย่างเดียว การจัดการเป็นระบบเดียวทั้งประเทศเลิกไปหมดแล้ว ใครรวมกันตรงไหนได้ก็อยู่ตรงนั้น ราชการก็อยู่ในส่วนราชการ ผู้ประกันตนก็อยู่ในส่วนของผู้ประกันตน คนที่ดูแลตัวเองได้แล้วมาเฉลี่ยกัน \สารี\" จวกปลัดแรงงานทำคนเข้าใจผิดจุดยืนเรียกร้องประกันสังคม ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมไม่ต้องจ่ายเงินสมทบค่ารักษาพยาบาล ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะเอาเงินของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มาไว้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนั้นการที่นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) ที่พูดอย่างซ้ำๆ เพราะต้องการขยายความเข้าใจผิดทั้งที่รู้ดีว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร “ขอให้สบายใจได้ว่าไม่ใช่การยึดกองทุนแน่นอน วาทะกรรมแบบนี้เป็นการจับแพะมาชนแกะ เอาคนละเรื่องเดียวกันมาทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน ตอนนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ผู้ประกันตนต้องเผชิญอยู่” น.ส.สารีกล่าว น.ส.สารี กล่าวว่า การให้ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลไม่ใช่การสร้างนิสัยรับของฟรี และไม่ได้ทำให้ประชาชนเป็นขอทาน เพราะสิทธิด้านสุขภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับอย่างเสมอหน้า ส่วนตัวเห็นว่าผู้ที่เปรียบเทียบกำลังสร้างวาทกรรมที่ดูถูกประชาชนอยู่ \"ช่วงก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง กลุ่มคนหน้าเดิมๆ ก็เคยโจมตีเช่นนี้ นั่นเพราะเขาเสียผลประโยชน์จากการเสวยสุขระบบเก่า การคัดค้านก็เพราะเห็นแก่ประโยชน์ตัวเอง และสุดท้ายก็พิสูจน์แล้วว่าระบบบัตรทองทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์\"น.ส.สารี กล่าว นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ผลการวิจัยเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่าสิทธิประโยชน์ใดที่ระบบประกันสังคมดีกว่าบัตรทอง และสิทธิใดที่บัตรทองดีกว่า ยืนยันว่าไม่ได้จงใจให้ข้อมูลด้านเดียว อย่างไรก็ตามภายหลังเปิดเผยผลการวิจัยทำให้สปส.เร่งปรับสิทธิประโยชน์หลายรายการ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจจึงถือว่าสำเร็จระดับหนึ่ง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท