Skip to main content
sharethis

16 มิ.ย. 53 - เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม สนุนข้อเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม จากฐานความผิดที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

แถลงการณ์ฉบับที่ 7

สนับสนุนข้อเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม จากฐานความผิดที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเสนอให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาชนประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) เพื่อนิรโทษกรรมผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ไม่ได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรง 
 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาน(สสส.) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การที่ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมกับ นปช. เป็นการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลและประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลที่บริหารประเทศ  จนท้ายที่สุดได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองขึ้น  ซึ่งต่อมาได้มีการจับกุม ควบคุมตัว และดำเนินคดีต่อประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก รวมทั้งผู้ที่มิได้เข้าร่วมชุมนุมด้วย ด้วยเหตุเพราะมีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  ที่ห้ามชุมนุม ให้ออกจากพื้นที่ชุมนุม หรือห้ามออกจากเคหสถาน ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท โดยที่ประชาชนดังกล่าวมิได้มีการกระทำอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และนอกจากผู้เข้าร่วมชุมนุมแล้ว ยังพบว่าข้อมูลรายชื่อผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวที่มีการเปิดเผย มีทั้งเด็กและเยาวชน ทั้งหญิงและชายถูกจับกุมและควบคุมตัวเป็นจำนวนมากเนื่องจากฝ่าฝืนพระราชกำหนดเดียวกัน โดยที่บุคคลดังกล่าวอาจมิได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมแต่อย่างใด 

2. หากมีการดำเนินคดีกับประชาชนผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างทางการเมืองซึ่งมิได้กระทำการอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอื่นใด นอกจากความผิดจากการฝ่าฝืนพระราชกำหนดดังกล่าว การดำเนินคดีต่อไปย่อมเป็นการลิดรอนเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร และไม่คำนึงถึงหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

1. ขอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวจากฐานความผิดที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ไม่ว่าจะเป็นข้อหาร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ชุมนุม และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกจากเคหสถาน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม หากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยืนยันชัดแจ้งว่าบุคคลใดเป็นผู้ใช้ความรุนแรงกระทำการหรือก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ก็มีความจำเป็นต้องนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายต่อไป

2. ดำเนินการการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเพียงพอแก่ประชาชนทั้งที่เป็นผู้ร่วมชุมนุมและมิใช่ผู้ร่วมชุมนุมที่ได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จากการบังคับใช้พระราชกำหนดดังกล่าว   เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
3. ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยทันที

กฎหมายนิรโทษกรรม และการยุติการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ จะช่วยลดแรงกดดันทางการเมือง เพื่อให้เกิดบรรยากาศการหันหน้าเข้ามาพูดคุยหารือกัน เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยไปสู่สังคมที่มีความเสมอภาค ความยุติธรรม ตามหลักการแห่งสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยต่อไป
 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net