“เราจะไม่ทอดทิ้งกัน” รายงานการเยี่ยมดารณี ชาญเชิงศิลปกุล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา เพื่อนๆ กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้า ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ดา ตอร์ปิโด’ ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ก่อนอื่นขอเล่าถึงขั้นตอนการขออนุญาตเข้าเยี่ยม เพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่คิดอยากไปจะไปเยี่ยมด้วยตัวเอง ซึ่งเราอยากชวนให้ไปกันเยอะๆด้วยเช่นกัน  สำหรับการขอเข้าเยี่ยมนั้นเราพบว่าเป็นเรื่องไม่ยุ่งยากเลย ไม่เหมือนกับที่เคยจินตนาการไว้ก่อนหน้า เพียงแค่ถือบัตรประชาชนไปติดต่อเจ้าหน้าบริเวณเคาเตอร์ติดต่อ ขอเอกสารจากเจ้าหน้าที่มากรอกอย่างละเอียด ถ่ายเอกสารบัตรประชาชนแล้วก็เซ็นต์สำเนารับรองถูกต้อง ถ้ากรอกเอกสารไม่หมดเขาก็จะเตือนให้เราทราบ เอกสารที่ให้กรอกไม่ได้ซับซ้อนและไม่ได้ขอข้อมูลอะไรมากมายนัก หลังจากนั้นพนักงานจะตรวจสอบความเรียบร้อยของบัตรประจำตัวประชาชน ว่ายังสามารถใช้ได้หรือไม่ เช่นถ้าบัตรหมดอายุก็ห้ามเยี่ยม และถ้าเขาตรวจพบว่าวันนี้นักโทษที่เราขอเข้าเยี่ยมมีคนมาเยี่ยมแล้ว ก็จะไม่อนุญาตให้เยี่ยม ทั้งนี้เพราะทางเรือนจำมีกฎอยู่ว่า นักโทษมีสิทธิให้ญาติเข้าเยี่ยมได้วันละ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งกฎข้อนี้ดูเหมือนทางเรือนจำจะเข้มงวดมาก เพราะตอนที่พวกเรากำลังติดต่อเจ้าหน้าที่อยู่ มีหญิงคนหนึ่งมาเยี่ยมนักโทษ แต่ปรากฎว่านักโทษคนดังกล่าวมีญาติมาเยี่ยมแล้วก่อนหน้าเธอ เธอบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าเธอต้องเดินทางกลับต่างจังหวัดในตอนเย็นวันเดียวกัน และอีกนานมากกว่าจะกลับมากรุงเทพฯอีก เจ้าหน้าที่ได้แต่แสดงความเห็นใจและบอกว่าเข้าใจความรู้สึกเธอดี แต่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมไม่ได้จริงๆ เพราะมันคือกฎของเรือนจำ

เมื่อกรอกเอกสารเสร็จและยื่นให้เจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะยื่นเอกสารให้เราซึ่งจะต้องเก็บเอกสารไว้กับตัวตลอด เพราะเมื่อไปยังห้องเยี่ยม เจ้าหน้าที่หน้าห้องเยี่ยมจะขอดูเอกสารดังกล่าวและขอดูบัตรประจำตัวประชาชนของเราอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นก็นั่งรอให้เจ้าหน้าที่เรียกผ่านเครื่องขยายเสียง โดยการเรียกเจ้าหน้าที่จะประกาศชื่อนักโทษที่ญาติขอเข้าเยี่ยม และจะบอกว่าให้ไปเยี่ยมที่ไหน ช่องไหน เวลาในการเยี่ยมแบ่งเป็นช่วงเช้ากับช่วงบ่าย ช่วงเที่ยงเป็นเวลาพักของเจ้าหน้าที่

เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกชื่อนักโทษที่เราขอเข้าเยี่ยม พร้อมกับหมายเลขช่อง เราก็ต้องเดินไปยังบริเวณนั้น โดยมือถือกับกระเป๋าห้ามเอาเข้าไปด้วย จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจด้านหน้า แต่ถ้าเผลอถือไป ทางเรือนจำก็มีล็อกเกอร์ไว้ให้เก็บโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การเยี่ยมแต่ละครั้งมีเวลาให้ 15 นาที เมื่อครบเวลาทางเรือนจำจะปิดไฟและเชิญนักโทษออกไปทันที ไม่มีเวลาให้อำลาเสียด้วย

วันนั้นคุณดารอเราอยู่ที่ช่อง 38 พวกเรา ดิฉัน และสมัชชาฯ ก็แนะนำตัวเพราะเราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ตอนกรอกเอกสารกับเจ้าหน้าที่ด้านหน้าซึ่งต้องระบุด้วยว่ามีความสัมพันธ์กับนักโทษในสถานะไหน พวกเรากรอกว่าเป็น “เพื่อน” ตอนแรกว่าจะกรอกว่า “เพื่อนร่วมโลก” แต่เกรงเจ้าหน้าที่จะหมั่นไส้ เลยย่อให้เหลือแค่นั้น เมื่อดิฉันแนะนำตัวจบว่ากำลังเรียนปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ คุณดาก็ชวนคุยเรื่องการเมืองปัจจุบันทันที ทั้งเรื่องการทำงานของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ปัญหาเศรษฐกิจ เงินเฟ้อเงินฝืด คุณดาดูมีความสุขมากที่ได้คุยเรื่องนี้ เธอไม่มีวี่แววว่าจะเลิกสนใจติดตามข่าวสารบ้านเมืองแม้แต่นิดเดียว ไม่มีท่าทีแขยงมันเลยแต่น้อย ทั้งที่เรื่องการเมืองพวกนี้ทำให้เธอต้องมาอยู่ที่นี่ จากนั้นดิฉันก็บอกกับเธอว่าอาจารย์ท่านหนึ่งที่อยู่แดนไกลฝากความระลึกถึงมาด้วย คุณดาก็ฝากความระลึกถึงกลับ และดิฉันก็บอกว่าคุณดาว่าเพื่อนๆอีกหลายคนก็ฝากความระลึกถึงมายังคุณดา และเธอก็ฝากขอบคุณกลับไป

นอกจากเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ และข้อความฝากที่ดิฉันทำหน้าที่เป็นเมสเซนเจอร์แล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราคุยกัน เนื่องจากเขียนจากความทรงจำ อาจจะจำสับสนไม่รู้ว่าคุยเรื่องไหนก่อนเรื่องไหนหลัง จึงขอจำแนกเป็นเรื่องๆ โดยไม่ได้เรียงตามลำดับดังนี้

ชีวิตความเป็นอยู่
คุณดาบอกว่าแออัด เพราะนักโทษในเรือนจำมีจำนวนมาก และการอยู่กันอย่างแออัด ทำให้มีผลต่อสุขภาพจิต ทำให้เกิดการรำคาญ หงุดหงิด ทะเลาะเบาะแว้งกันได้ง่าย เธอเสนอแนะว่าสำหรับบางคนไม่ควรมาอยู่ในคุก ควรมีวิธีการอื่นในการจัดการเรื่องการรับโทษ เช่นการคุมประพฤติ เพราะการให้เข้ามาอยู่ในคุกนั้นยิ่งทำให้นิสัยใจคอเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีมากขึ้น นอกจากนี้คุณดายังบอกว่า แต่ละวันไม่ค่อยมีกิจกรรมให้เธอทำ เพราะเป็นนโยบายของทางเรือนจำ คุณดาบอกว่าอยากให้พวกเราช่วยกันรณรงค์ให้นักโทษหญิงในเรือนจำคลองเปรมมีกิจกรรมทำมากกว่านี้ เช่นการขอสิทธิในการทำอาหาร การปลูกต้นไม้ ทำสวนผัก เพราะจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยฆ่าเวลาและทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองยังมีประโยชน์อยู่ เธอบอกว่านักโทษชายในเรือนจำคลองเปรมนั้นทำเรื่องพวกนี้ได้ เธอไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงห้ามไม่ให้นักโทษหญิงทำ

เธอยังชวนคุยเรื่องข้อกฎหมายในพรบ.ราชทัณฑ์ ซึ่งดิฉันเองไม่ได้รู้เรื่องข้อกฎหมายพวกนี้ ได้แต่ทำหน้าอึ้งๆที่คุณดาสามารถยกข้อกฎหมายในพรบ.ฉบับนั้นมาเล่าให้ฟัง พร้อมกับบอกว่าข้อกำหนดเหล่านั้นมันส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษอย่างไร เพราะการนำกฎหมายหมายปฏิบัติหรือบังคับใช้นั้นไม่ได้เป็นผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษเลย เธอบอกว่าต้องช่วยกันรณรงค์ ชีวิตความเป็นอยู่ในคุกมันแย่จริงๆ มันทำให้ดีกว่านี้ได้

เรื่องสุขภาพ
อย่างที่เราทราบจากทนายประเวศว่าคุณดามีปัญหาเรื่องขากรรไกร ดิฉันเลยถามเธอถึงปัญหาดังกล่าว คุณดาบอกข่าวดีว่าปีหน้าจะได้ผ่าตัดแล้ว ดิฉันเลยถามว่าผ่าตัดที่ไหน ในเรือนจำนี้หรือโรงพยาบาลข้างนอก เธอบอกว่ายังไม่แน่ อาจจะเป็นโรงพยาบาลตำรวจหรือไม่ก็โรงพยาบาลจุฬาฯ ยังไม่ได้ระบุแน่นอน เธอบอกว่าปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพและการดำเนินการรักษานักโทษที่ป่วยของเรือนจำไม่ดีเลย ต้องช่วยกันรณรงค์ เพราะนักโทษมีสิทธิเรื่องพวกนี้อยู่ เธอเล่าให้ฟังด้วยความยิ้มแย้มว่า การที่เธอได้รับข่าวดีว่าปีหน้าเธอจะได้ผ่าตัด จากที่ไม่เคยมีวันเวลาที่แน่นอนมาก่อนนั้น เพราะโครงการ แอลฟี่ ของพระองค์ภาฯ ผ่านการช่วยเหลือขององค์กรสิทธิเอเชียและอียู เธอบอกว่าการที่มีโครงการนี้ขึ้น นักโทษหญิงจะได้รับการดูแลมากขึ้นอย่างแน่นอน

ข่าวสารและความบันเทิง
แน่นอนว่าการรับข่าวสารและความบันเทิงของคนในคุกต่างจากพวกเรานอกคุกที่จะมีสิทธิและเสรีภาพเต็มที่ที่จะเลือกเสพอะไรไม่รับอะไรได้ คุณดาบอกว่าในคุกนั้นเธอถูกกีดกันออกจากข่าวสารบ้านเมือง โดยเฉพาะข่าวการเมืองนั้นดูไม่ได้เลย มือเธอไม่มีสิทธิถือรีโมททีวีจะเปลี่ยนช่อง เพราะทางเรือนจำเขียนรายการที่อนุญาตให้นักโทษดูลงบนแผ่นดีวีดี แล้วเปิดให้ดู ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งคุณดาบอกว่าในนั้นจะมีแต่เรื่องน้ำเน่า ทั้งซีรี่ย์เกาหลี ละคร คุณดาบอกว่าเอาช่องดิสคัฟเวอร์รี่ให้ดูจะดีเสียอีก นี่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

เคยได้ยินทนายประเวศเล่าเรื่องการขอรับบริจาคหนังสือ ตอนแรกที่ได้ฟังก็ไม่เข้าใจว่ามันสำคัญอย่างไร จนมาถามคุณดานั่นแหละ ว่าในนี้มีหนังสืออะไรให้อ่านบ้าง คุณดาบอกว่านักโทษไม่มีสิทธิจะเลือกอ่านได้เองหรอก ทางเรือนจำห้ามอ่านเรื่องการเมืองเด็ดขาด ที่อ่านได้ก็มีสกุลไทย ดิฉัน แพรว ฯลฯ คือนิตยสารผู้หญิงทั่วไปเท่านั้น เท่านั้นยังไม่พอ คุณดาบอกว่านอกจากจะต้องมาทนอ่านพวกนี้ที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจแล้ว นิตยสารที่มีนั้นก็เก่ามาก บางเล่มของปี 45 คุณดาบอกว่าเล่มที่ใหม่สุดก็ของปี 50 ได้ฟังถึงตรงนี้แล้วเลยเข้าใจเลยว่า นอกจากชีวิตยังต้องทนอยู่ในที่แคบๆแล้ว สมองและการรับรู้ยังถูกบังคับให้แคบตามไปด้วย คุณดาบอกว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเวลานักโทษออกไปบางคนมีวันและเวลาไม่ตรงกับคนข้างนอก เหมือนอยู่คนละโลกกันเลย ออกไปแล้วตามโลกข้างนอกไม่ทัน แล้วก็ทำให้ชีวิตในคุกแย่กว่าเดิมอีก เพราะเหมือนอยู่ไปไม่มีความหวังอะไร ไม่รู้ว่าโลกข้างนอกเป็นอย่างไร พวกเราเลยสัญญาว่าจะช่วยประกาศรับบริจาคหนังสือนิตยสารผู้หญิงให้ ซึ่งก็ประกาศตรงนี้เลยแล้วกัน ว่าท่านใดที่รับหนังสือนิตยสารผู้หญิงหรือนิตยสารบันเทิงต่างๆ ก็ร่วมด้วยช่วยกันบริจาคด้วยค่ะ โดยจะระบุว่าส่งให้แดนแรกรับซึ่งเป็นแดนที่คุณดาอยู่โดยตรง เพื่อให้เธอและเพื่อนๆ ได้อ่านหนังสือที่ทันกับสถานการณ์จริงจากโลกข้างนอกตลอดเวลา

จดหมายถึงดา
กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้ามีโครงการจดหมายถึงดา ดิฉันเลยถามเธอว่าได้รับจดหมายเยอะมั้ย เธอบอกด้วยความดีใจว่าได้รับเยอะ ตอนนี้เก็บไว้เยอะ ได้ทั้งจากเวียดนาม สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฮอลแลนด์ ฯลฯ เธอบอกว่าดีใจมากที่มีคนเขียนจดหมายมาหาเธอเยอะแยะ อยากให้เขียนมาอีก เธออยากอ่าน ซึ่งฉันก็บอกเธอไปว่าทางกลุ่มสมัชชาฯ เปิดตู้ปณ.เพื่อรับจดหมายของดาโดยตรง และรวบรวมจัดส่งให้ดา เธอบอกว่าขอบคุณมาก ขอบคุณที่ไม่ทอดทิ้งกัน

ดิฉันยังเล่าเรื่องโครงการเขียน สคส. ถึงดา ที่กลุ่มพลังรวมใจจัดขึ้น คุณดาดูมีสีหน้ายิ้มแย้มมาก เธอพูดขอบคุณบ่อยครั้งเมื่อดิฉันเล่าถึงโครงการต่างๆที่ทำให้เธอ คุณดายังฝากบอกด้วยว่าอยากให้ใช้สคส.จากเรือนจำที่นักโทษหญิงเป็นคนทำ เพื่อจะได้ช่วยเหลือนักโทษด้วย จะเป็นผลดีต่อเรือนจำด้วย วันนั้นกลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าได้ฝากเงินที่เราทำกิจกรรมให้เธอ 3000 บาท เราให้สัญญากับเธอว่าเรายังคงจะทำกิจกรรมต่อไปเพื่อไม่ให้สังคมลืมคุณดา และสัญญากับเธอว่าจะมาเยี่ยมบ่อยๆ และจะเอาเรื่องต่างๆที่คุณดาเล่ามาไปบอกให้คนข้างนอกฟังต่อ คุณดาบอกว่าดีๆ เอาไปเขียนลงในเวบไซต์ต่างๆ และพาดหัวตัวโตๆเลยนะว่า “ยิงเป้าฉันเลยจะดีกว่า” เอาแบบนี้เลยนะ มันแย่จริงๆในนี้ อย่าขังฉันเลย ยิงเป้าเลยดีกว่า จะได้ตายๆไป ดิฉันก็บอกคุณดาว่าเธอเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เป็นธรรม อย่างน้อยสิ่งที่คุณดาทำ ทำให้ทั่วโลกหรือคนในสังคมทั่วไปรับรู้เรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยมากขึ้น แต่คุณดาบอกว่าเธอเบื่อเต็มที ยิงเป้าให้จบๆไปเลยจะดีกว่า ฉันบอกว่าตอนนี้เรื่องของคุณดาเป็นที่สนใจของคนข้างนอกมากขึ้น การต่อสู้ของคุณดาจะไม่สูญเปล่า ....บทสนทนาจบลงแต่เพียงเท่านั้น และไฟในห้องก็ดับลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท