ผลตอบแทนส่วนเกินในเศรษฐกิจไทย: อำนาจเหนือตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หมายเหตุ - บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาทางวิชาการของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อ การพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประจำปี 2552 เรื่อง “การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม”(Economic Reforms for Social Justice) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายนนี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

 
 
อุตสาหกรรมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (brokerage industry) เป็นอุตสาหกรรมที่ ‘ไร้พรมแดน’ ที่สุด อุตสาหกรรมหนึ่งในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุนไหลเวียนข้ามพรมแดนอย่างรวดเร็วและในปริมาณมหาศาลมากกว่าทุกยุคที่ผ่านมา เทคโนโลยีสารสนเทศและนโยบายเปิดเสรีเอื้ออำนวยให้ตลาดการเงินทั่วโลกเชื่อมถึงกันโดยปริยาย นักลงทุนสถาบันสามารถส่งคำสั่งซื้อขายไปยังตลาดใดก็ตามที่ส่งมอบหลักทรัพย์ด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุดอำนาจทางตลาดของบริษัทหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แบบดั้งเดิมถูกสั่นคลอนจากระบบซื้อขายหลักทรัพย์ทางเลือก (Alternative Trading System: ATS) ที่มีอัตราค่าธรรมเนียมในการซื้อขายถูกกว่าตลาดหลักทรัพย์ดั้งเดิมและเน้นความรวดเร็วในการทำรายการ
 
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นล้วนกดดันให้ตลาดหลักทรัพย์ต่างพยายามลดค่าธรรมเนียมและอำนวยความสะดวกในการซื้อขายข้ามพรมแดนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุน อาทิเช่น ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับตลาดหลักทรัพย์ต่างชาติที่เคยมองว่าเป็นคู่แข่ง แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนและกระจายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและลดอิทธิพลของบริษัทหลักทรัพย์ เปิดระบบให้นักลงทุนสถาบันส่งคำสั่งซื้อขายมายังตลาดโดยตรง (Direct Market Access: DMA) หรือเปิดให้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งโดยอัตโนมัติ (algorithmic trading / black-box trading) ซึ่งการทำรายการทั้งสองแบบนี้นอกจากจะสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังไม่จำเป็นจะต้องผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ก่อน จึงช่วยลดต้นทุนที่ปกตินักลงทุนต้องจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์
 
วิธีการปรับตัวเหล่านี้ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็น “คู่แข่ง” ของบริษัทหลักทรัพย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการในกิจการทั้งสองแข่งขันบนระนาบเดียวกันยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทหลักทรัพย์จำนวนมากจะพยายามที่จะรักษาอำนาจเหนือตลาดของตนไว้ให้ได้นานที่สุด โดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ที่ยังไม่เปิดเสรีและยังไม่แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลท.”) ซึ่งยังมีระดับการครอบงำของบริษัทหลักทรัพย์ค่อนข้างสูง ผ่านทั้งโครงสร้างทางการ (มีตัวแทนเป็นกรรมการ 4 คนจากกรรมการทั้งหมด 11 คน) และการล็อบบี้ผ่านสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งมีทั้งบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนเป็นสมาชิก
 
นอกเหนือจากจะมีอำนาจเหนือโครงสร้างการบริหารจัดการของ ตลท. แล้ว บริษัทหลักทรัพย์ไทยยังมีช่องทางที่จะแสวงหาผลตอบแทนส่วนเกินในตลาด 4 ช่องทางด้วยกัน ได้แก่
 
อัตรากำไรที่สูงผิดปกติ (abnormal returns) จากการซื้อขายหลักทรัพย์ในพอร์ตลงทุนของตัวเอง (proprietary trading) ในทางที่อาศัยการร่วมมือหรือรับรู้สัญญาณระหว่างกัน ซึ่งอาจเข้าข่ายการสร้างราคาหุ้น (ผิดกฎหมาย) หรือไม่เข้าข่ายก็ได้ จากการประเมินข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ ตลท. ผู้วิจัยพบว่ามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในพอร์ตลงทุนของตนเองมีสัดส่วนต่อมูลค่าการซื้อขายรวมในตลาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 4.6 ของมูลค่าการซื้อขายในปี 2006 เป็นร้อยละ 6.3 ในปี 2007 และ 9.3 ในปี 2008 ตามลำดับ แต่ยังระบุไม่ได้ว่ามีผลตอบแทนส่วนเกินในลักษณะที่เข้าข่ายการสร้างราคาหุ้นหรือไม่ ผู้วิจัยจะทำการวิเคราะห์เชิงลึกในโอกาสต่อไป
 
การกระตุ้นให้นักลงทุนส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ถี่ผิดปกติ (artificially high churn rate) เพื่อแสวงหาผลตอบแทนส่วนเกินจากค่าธรรมเนียม ข้อมูลเบื้องต้นบางประการส่อเค้าว่ารายการนี้อาจมีนัยสำคัญใน ตลท. กล่าวคือ นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายหุ้นอย่างน้อยเดือนละครั้งมีจำนวนไม่ถึง 110,000 บัญชี แต่มีสัดส่วนการซื้อขายสูงถึงร้อยละ 62 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด อีกทั้ง ตลท. ยังมีอัตราความเร็วในการซื้อขาย (turnover velocity) หลักทรัพย์ขนาดจิ๋ว (micro cap) สูงถึง 232% ขณะที่ความเร็วในการซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ (large cap) อยู่ที่ 63% เท่ากับว่าการซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดจิ๋วมีอัตราความเร็วสูงกว่าหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ถึง 169% สูงเป็นอันดับที่ 5 ในเอเชีย รองจากตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ เซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น และโตเกียวตามลำดับ ซึ่งล้วนเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่าไทย โดยเฉพาะตลาดสองแห่งในประเทศจีน อีกทั้งตลาดเกาหลีใต้และโตเกียวก็เป็นตลาดที่มีความ ‘ลึก’ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตลาดตราสารอนุพันธ์ที่อิงราคาหุ้น อัตราความเร็วของการซื้อขายในตลาดดังกล่าวจึงมีเหตุผลรองรับมากกว่า ตลท. ข้อมูลนี้จึงบ่งชี้ว่าบริษัทหลักทรัพย์ใน ตลท. น่าจะได้รับผลตอบแทนส่วนเกินจากการกระตุ้นให้นักลงทุนซื้อขายถี่ผิดปกติจริงๆ
 
ผลตอบแทนส่วนเกินจากกฎระเบียบ (rule-based rent) ซึ่งใน ตลท. มีสามช่องทางหลัก ได้แก่ กฎหมายหลักทรัพย์ที่พิทักษ์อำนาจผูกขาดของ ตลท. และไม่เปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์, หลักเกณฑ์ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ขั้นต่ำ, รวมถึงกฎระเบียบที่เอื้อต่อผลักภาระค่าใช้จ่ายบางรายการที่เป็นต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ทั่วไปในโลก อาทิ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด ไปยังตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ดี มาตรการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมที่จะเริ่มจากการปรับเป็นขั้นบันไดในปี 2010-2011 และเปิดเสรีเต็มรูปแบบในปี 2012 ตลอดจนนโยบายเปิดเสรีตลาดหลักทรัพย์และแปลงสภาพตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชนที่จะดำเนินการในปี 2010 ตามแผนพัฒนาตลาดทุน ล้วนเป็นมาตรการที่จะช่วยลดทอนหรือกำจัดผลตอบแทนส่วนเกินประเภทนี้ได้ในอนาคต
 
การจงใจทุจริตในตลาดหลักทรัพย์ (fraud-based rent) อาทิ การใช้ข้อมูลภายใน การสร้างราคาหุ้น ไม่ว่าจะด้วยการใช้พอร์ตลงทุนของตนเองหรือร่วมมือกับลูกค้า รวมถึงกระบวนการทุจริตที่อยู่นอกเหนือจากการซื้อขายหลักทรัพย์ อาทิ การช่วยบริษัทจดทะเบียนปกปิดข้อมูล ตกแต่งบัญชี หรือสมคบคิดกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในการออกแบบกระบวนการฉ้อโกงผู้ถือหุ้นรายย่อยในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้วิจัยจะทำการประเมินขนาดและผลกระทบจากผลตอบแทนส่วนเกินประเภทนี้ในโอกาสต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท