Skip to main content
sharethis

หลังเจ้าหน้าที่ไทยระดับท้องถิ่นกดดันให้ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงซึ่งหนีทหารพม่าและ DKBA กลับประเทศ องค์กรสตรีกะเหรี่ยง (KWO) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยอย่าส่งกลับผู้อพยพดังกล่าวเนื่องจากเสี่ยงจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เรียกร้องรัฐบาลไทยให้เคารพหลักการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังดินแดนที่พวกเขาจะถูกคุกคาม

 
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา องค์กรสตรีกะเหรี่ยง (KWO – Karen Women Organization) ออกแถลงการณ์ฉบับล่าสุด แสดงความวิตกกังวลต่อการบังคับโยกย้ายครอบครัวของผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงให้พ้นจากชายแดนไทย โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ระบุว่า องค์กรสตรีกะเหรี่ยง มีความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่เมื่อ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไทยระดับท้องถิ่นพยายามจะส่งผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงกลับเขตพม่าด้วยวิธีการบังคับ หลังจากเพิ่งเข้ามาในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
 
ในแถลงการณ์ องค์กรสตรีกะเหรี่ยงยังแสดงความวิตกกังวลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสตรีและเด็กซึ่งเพิ่งหนี้ภัยการสู้รบในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง โดยองค์กรสตรีกะเหรี่ยงเกรงว่าหากเจ้าหน้าที่ไทยบังคับอพยพผู้ลี้ภัยกลับไปฝั่งพม่า บรรดาผู้หญิงเหล่ากะเหรี่ยงจะเสี่ยงต่อการถูกข่มขืน นอกจากนี้ยังมีเด็กๆ ผู้ลี้ภัยซึ่งเพิ่งเหนื่อยล้าจากการหนีภัยสงครามอีกด้วย
 
องค์สตรีกะเหรี่ยงเตือนว่า เหตุการณ์ที่สตรีชาวกะเหรี่ยง 2 คนถูกทหารพม่าฆ่าข่มขืนเมื่อไม่นานมานี้ สร้างความกลัวให้กับสตรีกะเหรี่ยงเป็นอย่างมาก และอาจเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นอีก หากมีการบังคับโยกย้ายเกิดขึ้น
 
ในแถลงการณ์ องค์กรสตรีกะเหรี่ยงยังเรียกร้องไปยังประชาคมนานาชาติให้ช่วยเหลือเท่าที่พวกเขาจะทำได้เพื่อหยุดยั้งการบังคับอพยพผู้ลี้ภัยกลับไปฝั่งพม่าโดยเจ้าหน้าที่ไทยและทหารไทย
 
องค์กรสตรีกะเหรี่ยง ยังเรียกร้องต่อรัฐบาลและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้พัฒนาอย่างเร่งด่วนในขั้นตอนการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยทั้งเรื่องการส่งกลับประเทศ และการสอบถามเรื่องการอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งต้องมีวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและได้รับความยินยอมจากผู้ลี้ภัย องค์กรสตรีกะเหรี่ยงยังเรียกร้องให้ UNHCR ต้องสร้างความมั่นใจว่ามีมาตรการที่เพียงพอในการปกป้องชาวบ้านจากการถูกส่งกลับประเทศด้วยวิธีการบังคับ
 
องค์กรสตรีกะเหรี่ยงร้องขอต่อรัฐบาลไทยอย่าส่งผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงที่เพิ่งเข้ามาใหม่กลับประเทศ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพหลักการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังดินแดนหรือถิ่นที่ชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาจะถูกคุกคาม (หลัก law of non-refoulement)
 
องค์กรสตรีกะเหรี่ยงยังเรียกร้องต่อคนทุกกลุ่มที่ห่วงใยเรื่องสิทธิมนุษยชนในพม่าช่วยกันกดดันรัฐบาลไทยเพื่อให้รัฐบาลอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ได้จนกว่าจะเกิดสันติภาพในพม่าและผู้ลี้ภัยสมัครใจที่กลับหมู่บ้านของเขา
 
นางดา เอ เกลอ (Dah Eh Kler) เลขาธิการองค์กรสตรีกะเหรี่ยงกล่าวว่า “อย่างน้อย เจ้าหน้าที่ไทยควรเฝ้ารอคอยสถานการณ์ในพื้นที่ การส่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับในช่วงฤดูฝนและส่งไปในพื้นที่ๆ ที่มีอันตรายในทุกๆ ด้านต่อความเป็นอยู่ของเขานั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีมนุษยธรรมและละเมิดต่อสิทธิของผู้ลี้ภัยอย่างรุนแรง” เธอยังกล่าวต่อด้วยว่า “ประชาชนเหล่านี้เพิ่งหนีเข้ามาได้ไม่กี่สัปดาห์ ด้วยความกลัว และยังมีความจำฝังใจเรื่องการสงคราม”
 
ถ้าพวกเขาถูกส่งกลับ พวกเขาต้องเผชิญการข่มขู่โดยทหารกะเหรี่ยง DKBA และทหารพม่า ทั้งเรื่องเกณฑ์แรงงาน การทรมาน การปล้นสะดม การข่มขืน หรือแม้แต่ถูกฆ่า นางดา เอ เกลอ กล่าว
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไทยระดับท้องถิ่น ได้เรียกร้องบ่อยครั้งเพื่อให้ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงที่เพิ่งเข้ามาหลังการโจมตีของรัฐบาลพม่ากลับเข้าไปลี้ภัยในพม่า โดยอ้างว่าไม่มีการเหตุการณ์สู้รบแล้ว ด้านกะเหรี่ยงพุทธ DKBA ซึ่งแยกตัวจากทหารกะเหรี่ยง KNU และไปเข้ากับรัฐบาลพม่า ก็ข่มขู่ครอบครัวผู้อพยพเหล่านี้ว่าจะทำลายที่ดินและทรัพย์สินของพวกเขาหากไม่ยอมกลับไปอยู่ในหมู่บ้าน
 
ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. ทหารพม่าราว 5 กองพัน และทหารกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) 3 กองพันได้สนธิกำลังและระดมโจมตีหมู่บ้านกะเหรี่ยงใกล้ชายแดนไทย ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของกะเหรี่ยงเคเอ็นยูซึ่งต่อต้านรัฐบาลพม่า ทำให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงราว 3,500 คนจาก 20 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรีอพยพข้ามแม่น้ำเมยเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทย
 
ผู้อพยพเหล่านี้ยังไม่ได้เข้าไปอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัย ขณะนี้อยู่ใน 3 พื้นที่ได้แก่บ้านนุโพ บ้านแม่สลิด และบ้านอุตุโคละ โดยการดูแลของทหารไทย ขณะที่ผู้อพยพในขณะนี้ต้องเผชิญกับฝนที่ตกหนัก และอาศัยอยู่ในพื้นที่ลี้ภัยด้วยความยากลำบาก
 
องค์กรสตรีกะเหรี่ยงเป็นองค์กรทางประชาสังคมของสตรีกะเหรี่ยงที่ทำงานด้านการพัฒนาและให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทย และช่วยเหลือผู้อพยพภายในประเทศ (Internally Displaced Persons – IDPs) ที่ลี้ภัยอยู่ในเขตพม่าด้วย สำหรับองค์กรสตรีกะเหรี่ยงมีเป้าหมายเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรีกะเหรี่ยงในทุกๆ ด้านของชีวิต ทั้งการศึกษา มาตรฐานความเป็นอยู่พื้นฐาน และพัฒนาองค์ความรู้ของสตรีรวมถึงพัฒนาทักษะทางการเมืองและการเป็นผู้นำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net