Skip to main content
sharethis

ขยายเขตประมงห้ามอวนลากอวนรุนสะดุด กลุ่มอวนลาก อวนรุนยื้อ เผยมี 7 จังหวัดชายฝั่งยอมให้ขยาย ประมงพังงาชี้ฝั่งทะเลอันดามันลึกกว่าอ่าวไทย กลุ่มอวนลากเดือดร้อนแน่ สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านเตรียมรุกต่อ


 


นายพิศ นพรัตน์ ประมงจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งให้ทางจังหวัดสงขลาจัดประชุมคณะกรรมการพหุภาคีจังหวัด กรณีขยายเขตห้ามทำการประมงอวนลาก อวนรุนออกไปเป็น 3 ไมล์ทะเล หรือ 5,400 เมตร จากชายฝั่ง ใหม่อีกครั้ง เนื่องจาก มติเดิมของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 50 ที่ให้ขยายเขตนั้น ได้กำหนดเงื่อนไขให้มีการรับซื้อเครื่องมือประมงอวนลากอวนรุนไว้ด้วย แต่กรมประมงไม่ต้องการให้มีเงื่อนไข เนื่องจากไม่ทราบว่าจะสามารถดำเนินการได้เมื่อใด


 


นายพิศ เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้กำลังประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เพื่อกำหนดวันประชุม คาดว่าจะประชุมได้ภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม 2550 ก่อนที่จะนำเสนอต่อกรมประมง เพื่อใช้พิจารณาประกาศกำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนรุน อวนลาก ที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมงใหม่ต่อไป


 


นายพิศ เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดจันทบุรี ที่กรมประมงสั่งให้มีการประชุมใหม่อีกครั้ง จึงทำให้กรมประมงยังไม่สามารถประกาศเขตห้ามทำการประมงอวนลากอวนรุนในขณะนี้ได้


 


เหตุที่ที่ประชุมคณะกรรมการพหุภาคีของจังหวัดสงขลามีมติเช่นนั้น เนื่องจากตัวแทนของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยแจ้งว่า องค์การอาหารโลก หรือ เอฟเอโอ (FAO) มีโครงการที่จะรับซื้อเครื่องมือประมงประเภททำลายทรัพยากร เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลได้มีโอกาสฟื้นตัว ซึ่งจะสร้างความมั่นคงทางอาหารให้โลกได้


 


นายธีระ อ่างสมบูรณ์ ประมงจังหวัดพังงา กล่าวว่า เหตุที่มีมติไม่ให้ขยายนั้น เนื่องจากในพื้นที่อ่าวพังงา มีประกาศห้ามอวนลากอวนรุนปี 2541 คลุมอยู่แล้ว ส่วนชายฝั่งทะเลอันดามันด้านทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ไหล่ทวีป ชายฝั่งมีความลึกมาก หากขยายเขตออกไป จะทำให้ประมงอวนลากไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปลาป่น เป็นต้น ส่วนอวนรุนไม่มีแล้ว


 


นายวิโชติศักดิ์ รณรงค์ไพรี กองเลขานุการ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เปิดเผยว่า กรมประมงได้รับปากว่า จะดำเนินการประกาศขยายเขตห้ามทำการประมงอวนลาก อวนรุนออกไปเป็น 3 ไมล์ทะเลสำหรับจังหวัดที่มีมติให้ขยายเขตภายในเดือนกันยายน 2550 แต่ขณะยังไม่ปรากฏว่ามีการประกาศแล้ว ทางสมาพันธ์ฯ ต้องหารือกันอีกครั้งถึงมาตรการในการเรียกร้องหรือกดดันเพื่อให้กรมประมงดำเนินการตามที่รับปากไว้ต่อไป


 


สำหรับผลการประชุมของคณะกรรมการพหุภาคี ทั้ง 22 จังหวัดริมชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งดำเนินการประชุมกันในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. 50 ที่ผ่านมา มีดังนี้ จังหวัดที่มีมติเห็นชอบให้ขยายเขต มี 7 จังหวัด ประกอบด้วย ระยอง ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี กระบี่ และตรัง


 


จังหวัดที่มีมติไม่เห็นชอบให้ขยายเขต มี 13 จังหวัด คือ ตราด ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา และสตูล


 


สำหรับจังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้จัดประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 50 ไม่สามารถลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบได้ เนื่องจากมีความเห็นแตกแยกเป็นสองอย่างคือ กลุ่มประมงพื้นบ้านเห็นด้วยที่จะให้ขยาย ส่วยกลุ่มประมงพาณิชย์ไม่ต้องการให้ขยายเขต ส่วนจังหวัดนราธิวาส ต้องประชุมกันอีก เนื่องจากการประชุม เมื่อวันที่ 10 ก.ย.50 ไม่ครบองค์ประชุม


 


การขยายเขตห้ามทำการประมงอวนลากอวนรุน 3 ไมล์ทะเลดังกล่าว เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสมัชชาคนจน ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 50 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีนายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน


 


ทั้งนี้ เนื่องจากสมัชชาคนจนนำโดยนายชัยพันธุ์ ประภาสะวัต และตัวแทนอีก 35 คน ได้ขอเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปัญหาประมงพื้นบ้าน รวมทั้งปัญหาเขื่อน ที่ดินทำกิน และเกษตรกรรมทางเลือก สืบเนื่องจากที่นายกรัฐมนตรีได้ลงไปพบกับสมัชชาคนจนที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 23 เม.ย.50


 


ที่ประชุมได้ข้อยุติเกี่ยวกับปัญหาประมงพื้นบ้านว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนรุน อวนลาก ที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง ลงวันที่ 20 ก.ค. 15 โดยให้ขยายแนวเขตหวงห้ามจากสามพันเมตร เป็น 5,400 เมตร หรือ 3 ไมล์ทะเล โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน


 


นอกจากนี้ ในกรณีเครื่องมืออวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง สมัชชาคนจนและกรมประมงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรยกเลิกโดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำเรื่องยกเลิก หากไม่สามารถยกเลิกได้ ให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณายกเลิก


 


ส่วนกรณีเครื่องมืออวนลากที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายที่ชัดเจนในการลดจำนวนลง และมีมาตรการควบคุมโดยใช้หลักบริหารจัดการ ส่วนอวนครอบ อวนช้อน อวนยกจับปลากระตักประกอบแสงไฟล่อยังไม่มีข้อยุติ


 


สำหรับโครงการพัฒนาฐานการผลิตอาหารทะเลของประเทศ (Sea Food Bank) นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณายกเลิกโครงการ


 


แต่สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบนายธีระ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 50 เพื่อคัดค้านบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันทั้ง สภาพภูมิประเทศ การประกอบอาชีพและวัฒนธรรม ไม่ควรออกประกาศในลักษณะภาพรวมทั้งประเทศ นายธีระจึง ให้พิจารณาในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม ทางกรมประมงจึงให้ทั้ง 22 จังหวัดริมชายฝั่งทะเลตั้งคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นมาเพื่อ พิจารณาในเรื่องนี้ขึ้น


 


นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการประมง มีความเห็นสอดคล้องกันและเห็นชอบในหลักการที่จะให้มีการขยายเขตหวงห้ามออกไป แต่ขอให้มีการศึกษาผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net