Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ- 21 ธ.ค.47 นักวิชาการวิพากษ์แผนแม่บทฯ บนพื้นที่สูงล้มเหลว เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 จนทำให้เกิดปัญหาชนเผ่าถูกริดลอนสิทธิเสรีภาพในวิถีชีวิตและการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง

ดร.ชูพินิจ เกษมณี อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยว่า แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม และการควบคุมพืชเสพติดบนพื้นที่สูง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2540-2544 ที่ผ่านมานั้น เป็นช่วงคาบเกี่ยวกันระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ทำให้มีข้อสังเกตคือ แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญและแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 อย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นแผนพัฒนาที่ถูกกำหนดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียว ไม่มีภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยเลย จนทำให้เกิดปัญหารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

"กระบวนการจัดทำแผนแม่บทบนพื้นที่สูง ไม่สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ในมาตรา 46,56,79 ซึ่งเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งมาตรา 59 ในเรื่องสิทธิในการรับรู้ข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผล จากหน่วยงานของรัฐทั้งหมด จึงทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ปัญหาการขาดสิทธิในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ ปัญหาการขาดความมั่นคงในถิ่นที่อยู่อาศัย รวมทั้งปัญหาอื่นๆ" ดร.ชูพินิจ กล่าว

ดร.ชูพินิจ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา รัฐยังคงมีทัศนคติแบบเดิมอยู่ ยังมองว่าชาวเขาเป็นตัวปัญหา แต่พวกเขากลับบอกว่า แท้จริงแล้วพวกเขากลับกลายเป็น ผู้รับเคราะห์ มากกว่า เพราะถูกรัฐพยายามละเมิดสิทธิกลั่นแกล้ง ยัดเยียดความผิดนั้นให้มาโดยตลอด

"ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนพัฒนาฯบนพื้นที่สูงในลักษณะพิเศษ ต้องมีการระดมการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะจากภาคประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อสามารถตอบสนองได้ตรงต่อปัญหาและความต้องการของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐเป็นผู้สนับสนุน ติดตามและตรวจสอบการทำงานมากกว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว" ดร.ชูพินิจ กล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์อาศัยอยู่หลายกลุ่ม ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง อยู่กระจัดกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่ภาคเหนือไปจนถึงภาคตะวันตก ประมาณ 20 จังหวัด โดยมีจำนวนประชากรชนเผ่ากะเหรี่ยง จำนวน 411,670 คน เผ่าม้ง จำนวน 145,196 คน เผ่าลาหู่ จำนวน 95,917 คน เผ่าอาข่า จำนวน 65,595 คน เผ่าเมี่ยน จำนวน 43,017 คน เผ่าถิ่น จำนวน 42,782 คน เผ่าลีซู จำนวน 33,171 คน เผ่าลัวะ จำนวน 18,585 คน เผ่าขมุ จำนวน 10,540 คน และเผ่ามลาบรี จำนวน 276 คน รวมประชากรชนเผ่าในประเทศไทยทั้งหมด 866,749 คน

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net