Skip to main content
sharethis
Event Date

SLEEPOVER#2: DISCOMFORT
โดย SOUTHEAST OF NOW: Directions in Contemporary and Modern Art
5 - 26 มิถุนายน 2559
เสวนา 5 & 11 มิถุนายน 14:00-16:00น.
ที่ The Reading Room สีลม 19

SOUTHEAST OF NOW: Directions in Contemporary and Modern Art (SEON) คือวารสารวิชาการฉบับใหม่ที่จะออกในปี 2559 ก่อตั้งโดยกลุ่มนักวิชาการและภัณฑารักษ์ที่มีเป้าหมายในการพิจารณาประเด็นทางศิลปะอันคลุมเครือต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเชิงประวัติศาสตร์ วารสารนำเสนอมุมมองอันหลากหลายที่มีต่อศิลปะร่วมสมัยและศิลปะสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งมุ่งทำความเข้าใจอัตลักษณ์ ศักยภาพ และข้อจำกัดของภูมิภาคนี้ทั้งในฐานะหมุดหมายทางภูมิศาสตร์และลักษณะเชิงความคิด โดยและเป็นกิจกรรมครั้งที่สองของโปรเจ็ค SLEEPOVER ที่ห้องสมุด The Reading Room ตั้งแต่วันที่ 5-26 มิถุนายน 2559

SOUTHEAST OF NOW: Directions in Contemporary and Modern Art ฉบับปฐมฤกษ์ประกอบด้วยข้อเขียนต่างๆ ที่ทำการสำรวจหัวข้อ “DISCOMFORT” หรือ “ความไม่สบาย” ในฐานะพาหนะของการคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะและการคัดสรรผลงานที่สัมพันธ์กับความเป็นพื้นถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราแสวงหาการตรวจสอบ รื้อฟื้น ท้าทาย และสร้างนิยามใหม่ของคำว่า “สมัยใหม่” และ “ร่วมสมัย” ผ่านการอ่านงานศิลปะที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

SLEEPOVER: DISCOMFORT ที่ The Reading Room เป็นการเปิดพื้นที่เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับการคิด การเขียน และการอ่านศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านกิจกรรมสามครั้งสามรูปแบบดังนี้

PLATFORM 1: ความ(ไม่)สามารถ: ว่าด้วยการเขียนและการทำสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยและศิลปะสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2559, เวลา 14.00-16.00 น.
ผู้ร่วมเสวนา เคโกะ เซ (documenta12), ธนาวิ โชติประดิษฐ (มหาวิทยาลัยศิลปากร/ SEON), วุธ ลีโน่ (SA SA ART PROJECT/SEON)
ดำเนินรายการและแปลเป็นภาษาไทยโดย นันท์นรี พานิชกุล

PLATFORM 2: What does it mean to be Avant-Garde?: Claiming the Potential of Art and Public in Manila in the Seventies
วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2559, เวลา 14.00-16.00 น.
บรรยายเป็นภาษาอังกฤษโดย แพทริค ดี. ฟลอเรส (Professor of Art History, Theory and Criticism, University of Philippines Diliman) (มีการแปลเป็นภาษาไทย)

ในปี 1969 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งฟิลิปปินส์ (Cultural Center of the Philippines: CCP) ได้เปิดตัวสู่สาธารณชนในฐานะโครงการอันยิ่งใหญ่ของอิเมลด้า มาร์กอส สตรีหมายเลขหนึ่ง ภรรยาของประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1965 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งฟิลิปปินส์กลายเป็นบริบทที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานศิลปะในฟิลิปปินส์ ด้านหนึ่งนั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่าเป็นกลไกของอำนาจรัฐ อีกด้านหนึ่งก็เป็นพื้นที่แห่งการทดลองทั้งในแง่รูปแบบและประสบการณ์ใหม่ๆ ทางศิลปะ ทั้งที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมแห่งฟิลิปปินส์ที่อ่าวมะนิลาบนพื้นดินที่เกิดจากจากการถมทะเลและรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสากล (international style) ของตัวอาคารเป็นประจักษ์พยานของความทะเยอทะยานของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเศรษฐกิจโลกผ่านทุนนิยมของศิลปะ การบรรยายนี้มุ่งอภิปรายโครงการต่างๆ ของศูนย์วัฒนธรรมแห่งฟิลิปปินส์เพื่อสะท้อนถึงเงื่อนไขต่างๆ ของความเป็น “หัวก้าวหน้า” ของศิลปะฟิลิปปินส์ในยุคหลังอาณานิคมและในโลกศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

*การบรรยายนี้มาจากบทความของแพทริค ดี. ฟลอเรส ที่จะตีพิมพ์ในฉบับปฐมฤกษ์ของ SOUTHEAST OF NOW: Directions in Contemporary and Modern Art

PLATFORM 3: Mini-Library หนังสือและสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยและศิลปะสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


เกี่ยวกับโปรเจ็ค SLEEP OVER
SLEEPOVER เป็นกิจกรรมที่ The Reading Room เชิญชวนให้บุคคลและองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรมเข้ามาสร้างพื้นที่และกิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปทุกเดือน ตั้งแต่พฤษภาคมถึงตุลาคม เพื่อสร้างบทสนทนากับพื้นที่ ความรู้ และชุมชนของห้องสมุด ผ่านกิจกรรมสาธารณะหลากหลายไม่จำกัดรูปแบบและเนื้อหาตามแต่ความถนัดและความสนใจของผู้ร่วมโปรเจ็ค เพิ่มความหลากหลายและความสร้างสรรค์ในการเข้าถึงเนื้อหาและกิจกรรม รวมถึงสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสาขาและชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์

ผู้ร่วมงานทั้งหกเดือน นอกจากจะเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญในสาขางานของตนแล้ว ยังทำงานที่ส่งอิทธิพลข้ามสาขาไปยังชุมชนสังคมวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ และมีความสนใจในประเด็นร่วมสมัย เพื่อเปิดพื้นที่ในการวิเคราะห์ วิพากษ์ และเสริมสร้างบทสนทนาอย่างเปิดกว้าง ดังนี้

พฤษภาคม: สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา (ศิลปิน)
มิถุนายน: กลุ่ม Southeast of Now (กลุ่มนักประวัติศาสตร์ศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
กรกฏาคม: ทีปกร วุฒิพิทยามงคล (นักเขียน นักวาดภาพ บล็อคเกอร์)
สิงหาคม: ปราบดา หยุ่น (นักเขียน)
กันยายน: เครือข่ายพลเมืองเน็ต, สถาบันเทคโนโลยีเพื่อนวัตกรรมสังคม และ บุญมีแล็บ (องค์กรด้านสื่อ/เทคโนโลยี)
ตุลาคม: อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ผู้กำกับภาพยนตร์)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net