Skip to main content
sharethis
Event Date

B - Floor Theatre

เสนอ

 

‘สถาปนา’

 

ผลงานแสดงเดี่ยวชิ้นล่าสุดของธีระวัฒน์ มุลวิไล

ศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับทุนจาก 2 องค์กรระหว่างประเทศ

ในการศึกษาวิจัยด้าน Censorship and Performing Arts


            “หมอกสีขาว ถังสีแดง เปลวไฟสีน้ำเงิน เราจะก้าวข้ามผ่านมันไปได้หรือไม่ เราจะเดินต่อ จะยอม หรือจะหันหลังกลับ?”

ในประเทศไทย มีศิลปินการละครอยู่ไม่มากนักและในจำนวนนั้นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานประเด็นการเมือง ก็มีน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย ‘ธีระวัฒน์ มุลวิไล’ อาจจะเป็นศิลปินและผู้กำกับการแสดงเพียงคนเดียวในประเทศนี้ ที่ทำงาน ทางด้านนี้อย่างจริงจังมาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ ผลงานของเขาหลายต่อหลายชิ้น นำเสนอเรื่องความรุนแรง ในระดับโครงสร้าง ความไม่เป็นธรรม และความรุนแรงที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ มีหลายชิ้นได้รับการจัดแสดงในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ไต้หวัน อียิปต์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฯลฯ

ล่าสุด Artistic Director แห่งกลุ่มบีฟลอร์ผู้นี้กำลังจะมีผลงานแสดงเดี่ยวชุดใหม่ล่าสุดหลังจากได้รับทุนจาก 2 องค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ANA (Art Network Asia) และ API (Asian Public Intellectual) ในการเดินทางไปสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลศิลปินในหลายประเทศ ทั้งไทย ลาว พม่า ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย เกี่ยวกับ Censorship and Performing Arts ประเด็นของการห้ามและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกโดยรัฐ สังคม และ Self-censorship ซึ่งก็คงจะไม่ต่างอะไรไปจากศิลปินที่ธีระวัฒน์ได้พบปะ (ศิลปินในประเทศพม่าถูกคุมขังเพราะวิจารณ์รัฐ และในยุคซูฮาร์โตที่ศิลปินอินโดนีเซียต่างก็หาวิธีในการพูดถึงสังคมผ่านงานศิลปะของตนอย่างไม่กลัวเกรงแม้จะอยู่ในช่วงเวลายากลำบาก) ธีระวัฒน์เห็นว่า ”ศิลปะคือปราการด่านหน้าที่จำเป็นจะต้องมีเสรีภาพ”  ไม่ใช่เพราะว่าเป็นหน้าที่ของศิลปิน แต่เพราะพลเมืองที่มองเห็นความพิกลพิการที่เกิดขึ้นจึงต้องพูดออกมา แม้ว่าจะต้องเสี่ยงชีวิตก็ตาม

‘สถาปนาโปรเจ็กต์’ คือผลงานแสดงเดี่ยว ชุดที่  3 ต่อจาก ‘Medusa Life Without Snakes’ ในปี 2001 และ ‘Goda Gardener’ ในปี 2005 ผลงานใหม่ล่าสุดชิ้นนี้เกิดจากการที่ธีระวัฒน์ได้มองย้อนกลับไปในชีวิตวัยเยาว์ของตน และค้นพบว่าสาเหตุที่เขาเติบโตขึ้นในโลกของศิลปะและมาถึง ณ จุดนี้ได้ก็เพราะเกิดความรุนแรงในครอบครัว การบังคับ การห้าม ความสัมพันธ์ตึงเครียดภายในบ้านที่นำไปสู่การแสดงออกผ่านศิลปะ ภาพของพ่อที่เป็นรัฐและลูกคือประชาชน คือภาพเสมือนที่ซ้อนทับกันระหว่างเครื่องแบบและอำนาจรัฐ ผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ซึ่งมักจะสถาปนาอำนาจที่มองไม่เห็น แต่มักจะได้ผลทุกครั้งนั่นคือ‘ความกลัว’ เพื่อใช้ในการควบคุม เพราะมันทำให้คนเลือกที่จะจำกัดเสรีภาพของตน และสยบสมยอมต่ออำนาจนั้น

ในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตที่เราได้ยินข่าวถึงวิธีการจัดการกับคนที่เห็นต่างจากรัฐ ทั้งการใช้ทั้งกฎหมายหรือไม่ก็ปืน การถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ การผลักตกเขา การเผาด้วยถังแดง การจับกุมคุมขัง และการทำให้หายไป ‘สถาปนา’ คือเรื่องราวส่วนตัวที่อาจจะสะท้อนเรื่องราวใหญ่ๆ  ซึ่งเรื่องราวภายในบ้านและสังคมนอกบ้านกลายเป็นสิ่งเดียวกัน

การแสดงชุด ‘สถาปนา’ นำเสนอออกมาภายใต้รูปแบบศิลปะการเคลื่อนไหว ละครหน้ากาก ประกอบวิดิทัศน์และศิลปะการจัดวาง โดยจะแบ่งการจัดแสดงเป็น 2 เฟส 2 ตอน ดังนี้

 

Chapter 1  ‘ถังแดง’ (Red Tank) จัดแสดง  ณ หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ สุขุมวิท 55 (ซ.ทองหล่อ) BTS สถานีทองหล่อ วันที่ 10, 11, 12 ตุลาคม (ศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์)เวลา 20.00 น. (3 รอบการแสดง เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลศิลปะ นานาพันธุ์) บัตรราคาโอน 450 บาท จ่ายหน้างาน 500 บาท บัตรนักศึกษา 400 บาท

 

Chapter 2 ‘ภูเขาน้ำแข็ง‘ (Iceberg) จัดแสดง ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  ใน

วันที่ 30-31 ตค. เวลา 19.30 น.  และวันที่ 1 พย. เวลา 14.00 น. (3 รอบการแสดง ระหว่างงาน เทศกาลละครกรุงเทพฯ​) บัตรราคา 600 บาท นักศึกษา 300 บาท

 

สำรองบัตรหรือข้อมูลเพิ่มเติมที่ 0891674039 หรือทาง bfloortheatre@gmail.com หรือ Facebook :B-Floor theatre

 

ประวัติผู้แสดง

  • เป็นศิลปินด้าน Contemporary Performance ที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็น Artistic Director ของกลุ่มละคร Physical Theatre แนวหน้าของเมืองไทย B-Floor Theatre
  • เป็นผู้ได้รับรางวัลปีติศิลป์สันติภาพ ประจำปี 2554 โดยสถาบันปรีดี พนมยงค์
  • เป็นศิลปินนักการละครที่มากไปด้วยความสามารถ ผลงานของเขาอัดแน่ไปด้วยพลังศิลป์ที่มีความคมชัดต่อสารที่ต้องการสื่อ ทั้งในฐานะนักแสดง นักเต้น และผู้กำกับการแสดง ที่มุ่งเสนอรูปแบบผลงานแนว Physical Theatre ที่มีองค์ประกอบของ Dance Theatre ขณะเดียวกันได้ใช้ท่วงทำนองเสมือนหนึ่งการร่ายบทกวีมาผสมผสานได้อย่างน่าอัศจรรย์
  • และในปีนี้ ธีระวัฒน์ มุลวิไล คือศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับทุนระหว่างประเทศที่สำคัญถึง 2 ทุน ได้แก่  ANA (Art Network Asia) และ API (Asian Public Intellectual) ในการเดินทางไปสัมภาษณ์และเก็บข้อมูล ศิลปินในหลายประเทศ ทั้งไทย ลาว พม่า ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย เกี่ยวกับ Censorship and Performing Arts ประเด็นของการห้าม และการจำกัดเสรีภาพ ใน การ แสดงออกโดยรัฐ สังคม และ Self-censorship

 

ซึ่งล่าสุดธีระวัฒน์ กำลังจะมีงานแสดงเดี่ยวของตัวเองในชื่อชุด “สถาปนา” ซึ่งเป็นงานแสดงเดี่ยวครั้งที่สามของเขา เป็นการแสดงที่เน้นเรูปแบบการเคลื่อนไหวร่างกาย, หน้ากาก, VDO Art  และงาน Installation

 ซึ่งจะเกิดขึ้นในงานเทศกาลทางศิลปะร่วมสมัยที่สำคัญของประเทศไทยถึง 2 เทศกาลในตอนนี้ นั่นคือ เทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ ที่สถาปันปรีดี พนมยงค์ และเทศกาลละครกรุงเทพ ประจำปี 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net